13 พฤษภาคม 2565
มหกรรมกีฬาในโลกเริ่มต้นจากพิธีเปิดการแข่งขันโดยชาติเจ้าภาพต้องการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับผู้มาเยือน และประกาศศักยภาพของตนเองในเวทีระดับสากล การจุดไฟในกระถางคบเพลิงคือสัญลักษณ์แห่งความโชติช่วง ซึ่งยึดถือกันเป็นประเพณีปฏิบัติ จนกระทั่งก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 90
พิธีเปิดการแข่งขันไม่ได้เป็นเพียงแต่เป็นการโชว์ศิลปะ ประเพณี วัฒนธรรม นวัตกรรม และเทคโนโลยี แต่คือ การผนวกความคิดสร้างสรรค์ บนความกล้า และความท้าทาย ที่นำมาใส่ในฉากแรกที่จะเป็นความสำเร็จของเมืองที่จัดการแข่งขัน นั่นคือความภาคภูมิใจของประเทศ คือ ประวัติศาสตร์ที่จะถูกบันทึกไว้ตลอดกาล
โลกไม่เคยลืมพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 1992 ที่บาร์เซโลนา กับการยิงธนูจุดไฟในกระถางคบเพลิง และทำให้พิธีเปิดการแข่งขันมหกรรมกีฬาทุกที่ในโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
…เช่นเดียวกับกีฬาซีเกมส์ของชาวอาเซียน
ซีเกมส์ 1995 เชียงใหม่
กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 18 ถูกจัดขึ้นนอกเมืองหลวงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยประเทศไทย กำหนดให้ จ.เชียงใหม่เป็นเจ้าภาพวันที่ 9-17 ธันวาคม พ.ศ.2538 พร้อมกับการก่อสร้างสนามกีฬาเฉลิมฉลอง 700 ปี นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ในนาม “สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในขณะดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2538 ด้วยการแสดง และแสงสีเสียงอันตระการตา เริ่มต้น “เชียงใหม่เกมส์” ที่ประสบความสำเร็จทุกอย่าง ทั้งการจัดการแข่งขันที่สมบูรณ์แบบ กระแสความตื่นตัวทางการกีฬา และความสำเร็จอันท่วมท้นของทัพนักกีฬาไทยที่ครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทองด้วยการทำได้ 157 เหรียญทอง
“พี่เบิร์ด” ธงไชย แมคอินไตย์ ซูเปอร์สตาร์อันดับ 1 ของเมืองไทย ร่วมการแสดงในพิธีเปิดการแข่งขัน เหมือนเป็นการเปิดคอนเสิร์ตในสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ท่ามกลางลมหนาวแห่งฤดูกาลด้วยเพลง “เปลวไฟในไอหมอก”
ไฮไลท์สำคัญในการจุดไฟในกระถางคบเพลิง มี 2 นักกีฬาแห่งอนาคตของไทย “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง นักฟุตบอลทีมชาติไทย ผู้โหม่งทำประตูสำคัญในนัดชิงชนะเลิศให้ทีมไทยคว้าแชมป์ซีเกมส์ ครั้งที่ 17 ที่สิงคโปร์ ปี 1993 และ “แทมมี่” แทมมารีน ธนสุกาญจน์ นักเทนนิสสาวผู้คว้ารองแชมป์เทนนิส “จูเนียร์ วิมเบิลดัน 1995” ที่ออลอิงแลนด์ ร่วมจุดไฟบนหางพญานาค ขึ้นพ่นไฟในกระถางคบเพลิงเป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ที่จะนำพาให้วงการกีฬาไทยให้โชติช่วงต่อไป
ความตระการตาของ “เชียงใหม่เกมส์” มหากาฬพลุไฟ ยังส่องสว่างและดังก้องอยู่ในหัวใจมาจนทุกวันนี้
ซีเกมส์ 2007 นครราชสีมา
มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งอาเซียน “ซีเกมส์ 2007” ในปี พ.ศ.2550 ที่ จ.นครราชสีมา จัดขึ้นในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 24 “นครราชสีมาเกมส์” วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2550 ที่ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 การแสดงชุด "มหัศจรรย์ใต้ร่มพระบารมี" เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา สื่อให้เห็นว่า ผู้ชมในสนามสวมเสื้อสีเหลืองและโบกธงตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติเต็มอัฒจันทร์ พร้อมใจเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ไม่ขาดสาย
พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เสด็จนำทัพนักกีฬาทีมชาติไทยเข้าสู่สนามในพิธีเปิดการแข่งขัน ใน “นครราชสีมาเกมส์” ซึ่งทัพนักกีฬาไทยสามารถคว้าเหรียญทองมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่เคยทำได้สูงถึง 183 เหรียญทอง ครองตำแหน่งเจ้าซีเกมส์
การจุดไฟในกระถางคบเพลิงมี 2 ฮีโร่นักกีฬาโคราช สุริยา ปราสาทหินพิมาย นักมวยสากลสมัครเล่น เหรียญทองแดงกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2004 ที่ เอเธนส์ ส่งคบเพลิงให้ อุดมพร พลศักดิ์ นักยกน้ำหนักหญิงเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2004 จุดไฟที่ ตราสัญลักษณ์กีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 24 ที่เป็นรูป 11 ห่วง และเรือใบประเภทโอเค ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงชนะเลิศในแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 เมื่อปี พ.ศ.2510 เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ ทำหน้าที่จุดไฟสัญลักษณ์ซีเกมส์
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชดำรัสเปิดการแข่งขันใจความว่า "ขอให้การแข่งขันกีฬาอันเป็นนิมิตรหมายแห่งความสมัครสมานสามัคคี ดำเนินลุล่วงไปได้ด้วยดีบรรลุผลตามอุดมการณ์ที่เป็นบันไดนำไปสู่การสร้างเสริมความเป็นมิตรให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไป
ซีเกมส์ 2009 เวียงจันทน์
กีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 25 "เวียงจันทน์เกมส์ 2009" เป็นมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ สปป.ลาว ระหว่างวันที่ 9-18 ธันวาคม พ.ศ.2552 ด้วยคำขวัญ Generosity, Amity, Healthy lifestyle "ความมีน้ำใจ ไมตรีจิต ชีวิตสดชื่น" บ่งบอกถึงแนวคิดการจัดกีฬาซีเกมส์ให้เป็นเกมแห่งมิตรภาพ เหนือการแข่งขันอันร้อนแรง และเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสที่กีฬาซีเกมส์จัดการแข่งขันครบ 50 ปี
การเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาสำคัญครั้งนี้ สปป.ลาวได้รับความช่วยเหลือจากมิตรประเทศคือ จีนที่ให้งบประมาณสร้างสนามกีฬา 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่ ในขระที่ประเทศไทย ในฐานะที่มีประสบการณ์จัดกีฬาซีเกมส์มาหลายครั้ง ได้ร่วมสนับสนุน ในการส่งบุคลากร และอุปกรกณ์กีฬา รวยมถึงการปรับปรุงสนามแข่งขันบางแห่ง นับเป็นการสานสัมพันธ์ไทย-ลาว ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
พิธีเปิดการแข่งขัน “เวียงจันทน์เกมส์” มีนายจูมมะลี ไซยะสอน ประธานประเทศลาว เป็นประธาน ท่ามกลางประชาชนทั้งชาวลาวและชาวต่างประเทศที่เข้ามาชมกันอย่างล้นหลามในวันสำคัญยิ่งของประวัติศาสตร์ชาติลาว ที่เรียกแผ่นดินของตนเองว่าเป็น “ดินแดนแห่งความอิสระ”
การจุดไฟเปิดการแข่งขัน โพไท อะพัยลาด นักกีฬาวูซู ประเภทต่อสู้ทีมชาติลาว เจ้าของเหรียญเงิน กีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 15 ที่ประเทศกาตาร์ ปี 2006 ส่งไฟต่อให้ พุดลำไพ เทียมพะสอน อดีตนักยิงธนูแห่งลาวสวมบท “สินไซ” ตัวละครเอกในวรรณคดีสุดคลาสสิค ที่คนไทยรู้จักดีในนาม “สังศิลป์ชัย” แผลงศรขึ้นไปบนคบเพลิงขนาดใหญ่จุดไฟโชติช่วง เป็นสัญลักษณ์เปิดกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 25
สปป.ลาว ใช้วิธีจุดคบเพลิงรูปแบบเดียวกับ “บาร์เซโลน่าเกมส์ 1992” นับเป็นการใช้วิธีที่เรียบง่าย ผสมผสานกับศิลปวัฒธรรมประจำชาติ แต่มีความน่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งวิธีนี้กลับมาอีกครั้งในคราวที่ เมียนมาร์ เป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ครั้งที่ 27 ปี 2013
ซีเกมส์ 2019 มะนิลา
กีฬาซีเกมส์กลับมาจัดที่ ฟิลิปปินส์อีกครั้งในการแข่งขันครั้งที่ 30 เจ้าภาพจัดพิธีเปิดการแข่งขันที่ ฟิลิปปินส์ อารีนา สนามกีฬาในร่มที่มีความจุมากกว่า 55,000 ที่นั่ง ซึ่งถือเป็นสนามกีฬาในร่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก
พิธีเปิดซีเกมส์ที่ดูเหมือนจะเรียบง่าย โดย โรดรีโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีแห่งฟิลิปปินส์ ผู้เป็นประธานพิธีเปิด ได้กล่าวคำสั้นที่สุดว่า “ขอเปิดการแข่งขัน ณ บัดนี้”
หากแต่บุคคลที่ทำหน้าที่จุดไฟในกระถางคบเพลิง “มะนิลาเกมส์ 2019” คือ แมนนี่ ปาเกียว ยอดนักชกแชมป์โลกผู้ยิ่งยง เจ้าของแชมป์มวยโลก 8 รุ่นคนแรกของโลก และสมาชิกวุฒิสภาของฟิลิปปินส์ โดยร่วมกับ เนสธี เปเตซิโอ นักกีฬามวยสากลหญิง อดีตแชมป์สมัครเล่นโลก ทำหน้าที่อันสำคัญในพิธีเปิดการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 30
ภายหลังพิธีเปิด “มะนิลาเกมส์” ได้มีการเปิดเผยว่า ภาพการจุดคบเพลิงของ “เดอะแพคแมน” เป็นการถ่ายทำล่วงหน้า ไม่ใช่ภาพที่เกิดขึ้นในสนามแต่อย่างใด โดยผู้กำกับการแสดงแจ้งว่า ทีมงานต้องเตรียมความพร้อมสำหรับสภาพอากาศที่แปรปรวนจากพายุไต้ฝุ่น จึงต้องใช้ “วิธีการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์” แบบนั้น เพื่อความปลอดภัย และทำให้งานลุล่วงไปได้ด้วยดี
ซีเกมส์ ครั้งที่ 30 เปิดฉากอย่างเรียบง่าย ตามความต้องการของเจ้าภาพ จึงไม่มีความหวือหวา ตื่นตาตื่นใจอย่างที่แฟนกีฬาอยากจะเห็น แต่นับเป็นกีฬาซีเกมส์ที่มียอดนักกีฬาระดับ “สะท้านโลก” ร่วมพิธีเปิดแบบที่จะหาชาติใดในอาเซียนเทียบเคียงได้ยาก
TAG ที่เกี่ยวข้อง