stadium

ย้อนรอยเรื่องราวเหตุการณ์ “ดราม่า” ในซีเกมส์

10 พฤษภาคม 2565

กีฬาซีเกมส์ที่ผูกพันกับความรู้สึกของคนไทยมายาวนาน วันที่ชนะคือวันแห่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจ วันที่แพ้ คือวันเศร้าโศก ผิดหวัง แต่มีหลายครั้งที่ซีเกมส์แข่งขันจบแล้ว แต่นอกสนาม และความรู้สึกยังไม่จบ อันทำให้เกิดเหตุการณ์ “ดราม่า” ตามมา

 

 

 

ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน แพะรับบาปถูกหาว่า “ล้มบอล”

 

ดราม่าซีเกมส์ อันดับ 1 ในใจคนไทย และวงการกีฬาไทย ไม่มีเหตุการณ์ใดเหนือไปกว่า กรณี“เพชฌฆาตหน้าหยก” ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน นักฟุตบอลทีมชาติไทย โดนข้อกล่าวหา “ล้มบอล” ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 15 ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อปี 2532 (ค.ศ.1989) 

 

“เดอะตุ๊ก” ช่วยทีมชาติไทย คว้าเหรียญทองซีเกมส์ 3 สมัยซ้อนในครั้งที่ 11 ฟิลิปปินส์ (ปี 1981), ครั้งที่ 12 สิงคโปร์ (ปี 1983) และครั้งที่ 13 ไทย (ปี 1985) ก่อนจะมาเสียแชมป์ให้อินโดนีเซีย ในซีเกมส์ ครั้งที่ 14 ปี 1987 ทำให้ในซีเกมส์ ครั้งที่ 15 ทีมชาติไทยต้องการเหรียญทองกลับคืนมาอีกครั้ง 

 

“ห้วงเวลาในถ้ำเสือ” ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ศูนย์หน้าอันดับ 1 ของเมืองไทย ไปค้าแข้งกับสโมสรปาหัง ของมาเลเซีย ในขณะเดียวกัน เจ้าผู้ครองรัฐปาหัง เป็นประธานสโมสรฟุตบอลทีมปาหัง เป็นนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศมาเลเซีย พร้อมประกาศว่า “เสือเหลือง” จะต้องได้เหรียญทองซีเกมส์ในบ้านของตนเอง

 

เกมรอบรองชนะเลิศระหว่าง ไทย กับ มาเลเซีย สูสีสุดประมาณ ก่อนที่ เจ้าถิ่นจะเฉือนชนะไป 1-0 จากประตูชัยของ “ไอ้ตูดงอน” ไซนัล อาบิดีน ส่งผลให้ มาเลเซีย ก้าวต่อไปเอาชนะ สิงคโปร์ 3-1 ในนัดชิงชนะเลิศได้เหรียญทองสมใจ ส่วนทีมไทย ไปแพ้การดวลจุดโทษเกมชิงเหรียญทองแดงกับ อินโดนีเซีย 8-9 กลับบ้านอย่างบอบช้ำแบบไม่ได้อะไรเลย

 

ซีเกมส์ ครั้งที่ 15 จบลง แต่ที่เมืองไทยไม่จบ มีการกล่าวหาว่า ทีมไทย “ล้มบอล” โดยชื่อของ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ตกเป็นจำเลยหมายเลข 1 ในยุคมืดของวงการฟุตบอลอาเซียนที่พัวพันกับการพนันอย่างดิ้นไม่หลุด

 

“ฟุตบอลเล่นกัน 11 คน แต่พอทีมแพ้ กลับมาโทษผมคนเดียว” ปิยะพงษ์ ตัดพ้อ

 

ทางออกสุดท้ายเกิดขึ้น เมื่อมีคนเปรยออกมาว่า “กล้าไปสาบานไหม” เดอะตุ๊ก รับคำพร้อมออกเดินทางไปทันที

 

ภาพประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลเมืองไทยเกิดขึ้น เมื่อนักเตะทีมชาติไทย เดินทางไปสาบานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในประเทศไทยที่ต้องตัดสินคดีความของวงการกีฬาฟุตบอล

 

ปิยะพงษ์ คุกเข่าพนมมือ ที่พระอุโบสถ สถานที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต กล่าวคำสาบานด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้ล้มบอล หากล้มบอลขอให้มีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา ผู้คนที่ได้เห็นภาพนั้น เกิดความรู้สึกที่แตกต่างกันไป 

 

บางคนเชื่อว่าปิยะพงษ์ล้มบอลจริง รู้สึกสะใจแต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านั้น แต่ยังมโนนึกเห็นภาพนักเตะทีมชาติไทยในเงามืด เดินขึ้นรถยนต์หรูที่มารับออกไปจากโรงแรมที่พัก ในคืนก่อนเกมตัดเชือกกับเสือเหลือง

 

 

 

ในขณะที่บางคนร้องไห้เพราะสงสาร ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน นักฟุตบอลคนหนึ่ง ต้องมาทำอะไรแบบนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในโลกลูกหนังบุบ ๆ เบี้ยว ๆ

 

ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน หยุดเล่นฟุตบอลเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ เส้นทางทีมชาติอาจจะกลายเป็นคู่ขนาน แต่ในช่วงเวลาไม่นาน “เพชฌฆาตหน้าหยก” ก็กลับมายิงประตูอีกครั้ง  เขาคว้าเหรียญทองซีเกมส์ได้อีก 2 ครั้ง ในซีเกมส์ครั้งที่ 17 ที่สิงคโปร์ และ ครั้งที่ 19 ที่อินโดนีเซีย ยิงประตูสำคัญในการเล่นคิงส์คัพ และฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก ในช่วงสุดท้ายของชีวิตการค้าแข้ง ก่อนจะแขวนสตั๊ด และยังสร้างประโยชน์ในให้แก่การกีฬาของชาติ เป็นแรงบันดาลใจอันดับ 1 ของวงการฟุตบอลในฐานะตำนานลูกหนังไทยตลอดกาล

 

“เดอะตุ๊ก” ได้พิสูจน์ทุกอย่างหมดสิ้นเท่าที่เขาจะทำได้ กับชายที่ชื่อ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน, นักฟุตบอลทีมชาติไทย, ศูนย์หน้าอันดับ 1,เพชฌฆาตหน้าหยก, ดาราเอเชีย, ลูกไขว้บันลือโลก, ซูเปอร์สตาร์ลูกหนัง, นายแบบ, ดาราหนัง-ละคร, นักร้องเจ้าของอัลบั้ม “ซัลโว” ฯลฯ ใครจะเรียกเขาว่ายังไงก็ได้

 

แต่หากจะมีใครเอ่ยถามถึงคำว่า “ล้มบอล” ปิยะพงษ์ ก็ตอบได้ด้วยสิ่งที่เขาทำมาทั้งหมดนั้นแล้ว

 

 

 

“ช้างศึก” ตกรอบแรกซีเกมส์ 2 ครั้งรวด

 

แชมป์ซีเกมส์ 8 สมัยติดต่อกัน (ครั้งที่ 17-24) ไม่มีชาติไหนในอาเซียนทำได้ ทำให้ดูเหมือนแข้ง “ช้างศึก” จะยึดเหรียญทองฟุตบอลทีมชายเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว

 

ในซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ที่ สปป.ลาว ปี 2009 แข้งไทย ในฐานะแชมป์เก่า 8 สมัยซ้อน มีเวลาเตรียมทีมไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก่อนเดินทางข้ามแม่น้ำโขงไปป้องกันแชมป์ ลงสนาม 3 นัด เสมอ เวียดนาม 1-1, ชนะ กัมพูชา 4-0, ชนะ ติมอร์เลสเต 9-0 สถานการณ์ไม่น่ากดดันอะไร ความหายนะยังไม่น่าจะมาเยือน เพราะเสมอ มาเลเซีย นัดสุดท้าย ก็จะเข้ารอบตัดเชือก

 

ไทยยิงนำก่อนด้วย แต่กลับมาโดนยิงแซงช่วงท้ายเกม “ช้างศึก” โดน “เสือเหลือง” กัด 2-1 ผลการแข่งขันที่ไม่ซับซ้อนอะไร เวียดนาม กับ มาเลเซีย ได้เข้ารอบรองชนะเลิศ ส่วนไทยตกรอบแรก หากแต่แฟนบอลบางคนยังไม่แน่ใจ ต้องเช็คแล้วเช็คอีก คนถามต้องถามแล้วถามอีกว่า “ไทยตกรอบเหรอ”

 

แข้งไทยได้แชมป์มา 8 สมัย ถึงไม่ได้แชมป์ก็ยังอยู่ใน 4 ทีมเพื่อลุ้นเหรียญ นี่เป็นสถานการณ์ที่เราไม่คุ้นเคยมาก่อน โดยต้องย้อนไปถึงสมัยที่ยังเป็นกีฬาแหลมทองครั้งที่ 7 ที่สิงคโปร์ เมื่อปี 1973 ถึงจะไม่มีทีมฟุตบอลไทยในรอบ 4 ทีมสุดท้าย

 

“ใช่ เราตกรอบแรก” คนตอบเสียงอ้อมแอ้ม

 

 

ผ่านเวลาไป 2 ปี ในซีเกมส์ ครั้งที่ 26 ที่อินโดนีเซีย ปี 2011  ความหลอนกลับมาเยือน เหมือนเราไม่จดจำบทเรียนที่เจ็บปวดจากเมืองลาว นักเตะไทยลงสนาม แพ้ มาเลเซีย 1-2, ชนะ กัมพูชา 4-0 ก่อนลงเตะ นัดที่สาม กับเจ้าภาพอินโดนีเซีย

 

“อุ้ม" ธีราทร บุญมาทัน นักเตะทีมชาติไทยชุดใหญ่ ที่เพิ่งจะถูกใบแดงในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกกับ ซาอุดิอาระเบีย บินด่วนกลับมาร่วมทีมทำศึกซีเกมส์นัดชนอิเหนา กลับต้องโดน 2 ใบเหลือง ถูกไล่ออกตั้งแต่ในครึ่งแรก  กลายเป็นฝันร้ายที่เป็นสถิติโลก โดน 2 ใบแดง  ในรอบ 3 วัน ทีมไทยแพ้ อินโดนีเซีย 1-3 และแพ้ สิงคโปร์ อีก 0-2 ตกรอบแรกซีเกมส์อย่างเจ็บปวดเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน 

 

“ผมอยากจะขอโทษแฟนบอลชาวไทยทุกคนที่ทำให้ผิดหวัง แต่ทุกคนทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว” นักเตะผู้ตกเป็นจำเลยพูดได้เพียงเท่านั้น 

 

ฝันร้ายของ ธีราทร บุญมาทัน กลายเป็นหนึ่งในตราบาปของยอดแบ็คซ้ายชาวไทย ชื่อของ ธีราทร คือความหมายของการเป็น “แบดบอย” ของวงการฟุตบอลไทย ทุกครั้งที่ลงสนาม เขามักจะเป็นเป้าการโจมตีและยั่วยุอารมณ์โดยตลอด

 

การต่อสู้เมื่อเวลาผ่านไป ธีราทร บุญมาทัน เอาชนะได้สำเร็จ ไม่เพียงแต่ชนะในเกมด้วยการคว้าเหรียญทองซีเกมส์ ครั้งที่ 27 ที่เมียนมา แต่ก้าวไปคว้าแชมป์อาเซียน, แชมป์คิงส์คัพ, เป็นกำลังหลักของ “ช้างศึก”, สวมปลอกแขนกัปตันทีมชาติไทย, ไปตะลุยฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก, เป็นนักเตะไทยคนแรกที่ได้แชมป์เจลีก กับ โยโกฮาม่า เอฟ มารินอส

 

เขาเอาชนะใจแฟนบอลด้วยเท้าซ้ายข้างฉมัง และจิตใจที่ไม่ยอมแพ้

 

 

 

“ปุ้ย” ญาณิศา ต่อรัตนวัฒนา “สู้เพื่อพ่อ” 

 

นอกจากมวยไทย และมวยสากล แฟนกีฬาไทยยังไม่ “อิน” กับกีฬาต่อสู้มากนัก โดยเฉพาะกีฬา คาราเต้ ที่ดูเหมือนค่อนข้างห่างไกล และยังเชียร์ไม่ได้เต็มที่ จนกระทั่ง “ปุ้ย” ญาณิศา ต่อรัตนวัฒนา นักกีฬาคาราเต้สาว ที่ไปคว้าเหรียญทอง ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 23 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ในปี 2005 ประเภทบุคคลหญิง ไม่จำกัดน้ำหนัก ได้เป็นเหรียญแรกในชีวิต และเป็นเหรียญทองประวัติศาสตร์ ของคาราเต้ไทย

 

“ปุ้ย” ดีใจและปลาบปลื้มสุด ๆ ใบหน้าของพ่อลอยมาก่อนที่เธอจะได้รับเหรียญทองด้วยซ้ำไป และตั้งใจจะนำเหรียญทองนี้กลับไปฝาก อ.กิตติพงษ์ ต่อรัตนวัฒนา ผู้เป็นบิดา แต่หลังจากนั้นกลับต้องทราบข่าวร้าย เมื่อพ่อถูกลูกชายแท้ ๆ ซึ่งเป็นพี่ของญานิศาทำร้ายจนเสียชีวิต เนื่องจากปัญหาภายในครอบครัว

 

สาวนักคาราเต้ไทยดีใจและเสียใจสุดชีวิตในช่วงเวลาห่างกันไม่นาน เธอพบหน้าพ่อเป็นครั้งสุดท้ายที่สนามบินดอนเมือง ด้วยความเชื่อมั่นของผู้เป็นพ่อว่าลูกสาวนักสู้จะมีเหรียญคล้องคอแน่นอนในซีเกมส์ครั้งนี้ เพียงแต่จะได้เหรียญสีอะไรเท่านั้น แต่เมื่อถึงวันที่ได้เหรียญทอง พ่อกลับไม่สามารถอยู่เพื่อชื่นชมชัยชนะร่วมกัน

 

ถ้าเป็นไปได้ เธออยากแลกเหรียญทองซีเกมส์ แล้วนำชีวิตของพ่อกลับคืนมา

 

คืนที่ทราบข่าวร้าย ญานิศา หลับไปทั้งคราบน้ำตา ก่อนจะเดินทางจากฟิลิปปินส์ กลับประเทศไทยทันทีเพื่อร่วมพิธีสวดอภิธรรมศพคุณพ่อ ที่วัดสุทธิวราราม พร้อมทั้งมอบเหรียญทองประวัติศาสตร์นั้นให้ผู้ที่มีส่วนสำคัญที่สุดในการผลักดันให้เธอเป็นแชมป์ซีเกมส์

 

ถ้าไม่มีพ่อ ชื่อของ ญานิศา ก็จะไม่เป็นแบบนี้ เหรียญทองซีเกมส์เหรียญนั้น ต้องแลกมาด้วยชีวิต

 

 

เมื่อแลกแล้วไม่สามารถแลกกลับคืนได้ ความรู้สึกของ “ปุ้ย” ช่วงนั้นสับสนไปหมด จากความมุมานะฝึกซ้อมด้วยความเหนื่อยยาก และบาดเจ็บ เพื่อเป้าหมายคว้าเหรียญทอง แต่เมื่อประสบความสำเร็จกลับต้องสูญเสียบุคคลที่รักที่สุดในชีวิต เหรียญทองที่เคยอยากได้ กลับไม่อยากได้อีกแล้ว

 

พลันความคิดตกผลึก คำตอบของชีวิตคือ “ปุ้ย” จะเล่นคาราเต้ต่อไป เพื่อทำตามความฝันของพ่อ

 

ญาณิศา ต่อรัตนวัฒนา จึงเดินหน้าต่อไป ในฐานะสุดยอดนักกีฬาคาราเต้ทีมชาติไทย แชมป์ซีเกมส์ และเป็นผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย แม้ในวันที่เธอไม่ได้ร่วมทีมคาราเต้ทีมชาติไทยแล้ว เธอก็คือกองเชียร์ทีมชาติไทย ที่อยากจะเห็นนักคาราเต้ไทยคว้าเหรียญทองซีเกมส์

 

ด้วยความรู้สึกจากใจ เธออยากได้เหรียญทองคาราเต้ซีเกมส์ พ่อก็อยากได้ เช่นเดียวกับคนไทยทั้งประเทศ

 

 

จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม “กระสุนทระนง”

 

“เอ็กซ์” จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม คือ นักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย ที่ยากจะหาใครเสมอเหมือน จอมแม่นกระสุนที่มาพร้อมกับอารมณ์ติสท์ ความมั่นใจที่สูงล้ำ ความมุทะลุดุดัน ความตลกโปกฮา และความเดียวดายที่เจ้าตัวต้องเผชิญ

 

นักแม่นปืนต้องมีสมาธิสูงอยู่กับตัวเอง จิตใจไม่ว่อกแว่กก่อนจะระเบิดกระสุนไปสู่เป้าหมาย นั่นคืองานที่ “เอ็กซ์” จักรกฤษณ์ ทำได้ดีมาตลอด ในฐานะบุตรชายของ มานพ พณิชย์ผาติกรรม นักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย เจ้าของเหรียญทองระดับเอเชียนเกมส์

 

จักรกฤษณ์ เดินตามรอยพ่อ ด้วยการติดทีมชาติในวัยเพียง 18 ปี จากนั้นในกีฬาซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ โอลิมปิกเกมส์ ต้องมีชื่อของเขาอยู่ในทีมชาติตลอดทั้งการเป็นนักกีฬาตัวหลักที่สร้างความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นสีสันของทัพนักกีฬาไทย 

 

ในระดับซีเกมส์ “เอ็กซ์” จักรกฤษณ์ กวาดเหรียญมานับไม่ถ้วน โดยในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ที่ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพปี 2007 เขาช่วยทีมคว้าเหรียญทองได้สำเร็จ แต่ไม่สามารถอยู่รับเหรียญรางวัลได้ มีคนกล่าวหาเขาว่าไม่ให้เกียรติการแข่งขัน แต่เมื่อ จักรกฤษณ์กลับมาที่สนามอีกครั้ง สอบถามได้ความว่า เขาไปรับงานอีเวนท์การกุศล ที่เลื่อนไปไม่ได้จริง ๆ ไม่มีใครต่อว่าเขาอีก เพราะเขาได้ทำหน้าที่โดยสมบูรณ์และต้อง “เอ็กซ์” จักรกฤษณ์ คนเดียวเท่านั้นถึงจะทำอะไรแบบนี้ได้

 

ในซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ที่ สปป.ลาว “เอ็กซ์” จักรกฤษณ์ ถูกสมาคมกีฬายิงปืนแห่งประเทศไทย ตัดสิทธิออกจากการแข่งขัน จากกรณีมีปัญหากับผู้จัดการทีม เมื่อ “เอ็กซ์” พยายามจะเปิดแถลงข่าวในสนามแข่งขัน เจ้าหน้าที่ของลาวได้แจ้งว่า ไม่มีสิทธิใช้สถานที่เนื่องจากบัตรประจำตัวนักกีฬาถูกยกเลิก ก่อนนักแม่นปืนเจ้าปัญหาจะถูกควบคุมตัว และส่งกลับเมืองไทยทั้งที่ยังแข่งขันไม่จบโดย จักรกฤษณ์ คว้าไป 1 เหรียญทอง จากปืนสั้นอัดลม 10 เมตรทีมชาย และยังเหลืออีก 4 ประเภทให้ชิงชัย แต่ก็ต้องจบการแข่งขันไปก่อนเวลาอันควร

 

 

จักรกฤษณ์ เป็นคนตรงไปตรงมา อะไรเห็นว่าไม่ถูกไม่ควร ก็พร้อมจะต่อสู้และต่อต้าน จนเกิดปัญหากับ สมาคมฯ และผู้คนรอบข้างอยู่ตลอด แต่เมื่อถึงเวลาสำคัญในเกมกีฬา จักรกฤษณ์ มักจะสร้างผลงานระดับยอดเยี่ยมได้เสมอ กระทั่งในระดับกีฬาโอลิมปิกเกมส์ที่เขาได้ตั๋วไปแข่งขันแบบสบาย ๆ และเข้าถึงรอบไฟนอลชิงเหรียญให้แฟนกีฬาไทยได้ลุ้นกัน 

 

จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม จากไปด้วยการถูกลอบสังหาร เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2556 คนร้ายขี่มอเตอร์ไซค์ ประกบยิงเสียชีวิตคารถปอร์เช่สีดำ บริเวณหน้าวัดบางเพ็งใต้ สุขาภิบาล 3 เขตมีนบุรี โดยผู้จ้างวานฆ่าเป็นคนใกล้ชิดและผู้ตายไว้ใจนั่นเอง 

 

ชีวิตอันโชกโชนของ “เอ็กซ์” จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม มีทั้งคนรัก และคนเกลียด เขาไม่เคยแยแสกับความพ่ายแพ้และความเลวร้ายที่ต้องประสบ หรือความน่ารำคาญที่พยายามเข้ามารบกวน ขอเพียงสามารถปฏิบัติตามภารกิจ ทำหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุด 

 

เขาคือ นักกีฬาคนหนึ่งที่ลั่นกระสุนไปให้ตรงสู่เป้าหมาย ด้วยจิตใจที่ทระนง


stadium

author

พลชาติ เก่งระดมกิจ

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose