9 พฤษภาคม 2565
เหนือกว่าคำว่า “เก่ง” หรือ “แข็งแกร่ง” หรือ “สุดยอด” ในวงการกีฬาคำว่า “ไร้เทียมทาน” สำนวนจีนที่หยิบยกขึ้นมาใช้นั้น ย่อมหมายถึง “ไม่มีใครสู้” หรือ “ไร้คู่ต่อกร”
ประเทศไทยคือ หนึ่งในชาติผู้ร่วมก่อตั้งกีฬาแหลมทอง (เซียพเกมส์ สู่ ซีเกมส์) และเป็นชาติอันดับหนึ่งที่กวาดเหรียญทองได้มากที่สุดเหนือทุกชาติในอาเซียน ด้วยผลงานของนักกีฬาไทยที่แสดงความเป็นหนึ่ง ชนิดที่คู่ต่อสู้ไม่สามารถต้านทานได้ จนกว่าที่จะไปถึงคำว่า “ไร้เทียมทาน” ได้นั้น มาตรฐานแห่งความสุดยอดคือ การได้เหรียญทองอย่างน้อย 10 เหรียญ และโชว์ศักยภาพได้ต่อเนื่องยาวนานเกินทศวรรษ
ฟุตบอล “หนึ่งในอาเซียนที่ไม่อยากก้าวข้าม”
ทีมชาติไทย ครองอาเซียนตั้งแต่ยุคที่เป็นกีฬาแหลมทอง โดยได้เหรียญทองฟุตบอลครั้งแรกในกีฬาแหลมทอง (เซียพเกมส์) ครั้งที่ 3 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ปี 1965 ด้วยการเป็นแชมป์ร่วมกับ พม่า (เสมอ 2-2 ในนัดชิงชนะเลิศ) จากนั้นได้แชมป์กีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 8 ปี 1975 ที่กรุงเทพมหานคร จนเมื่อการแข่งขันเปลี่ยนเป็น “ซีเกมส์” ทีมไทยได้แชมป์อีก 14 สมัย
ซีเกมส์ ครั้งที่ 11 ปี 1981 (ฟิลิปปินส์), ซีเกมส์ ครั้งที่ 12 ปี 1983 (สิงคโปร์), ซีเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1985 (ไทย), ซีเกมส์ ครั้งที่ 17 ปี 1993 (สิงคโปร์) ,ซีเกมส์ ครั้งที่ 18 ปี 1995 (ไทย), ซีเกมส์ ครั้งที่ 19 ปี 1997 (อินโดนีเซีย), ซีเกมส์ ครั้งที่ 20 ปี 1999 (บรูไน), ซีเกมส์ ครั้งที่ 21 ปี 2001 (มาเลเซีย), ซีเกมส์ ครั้งที่ 22 ปี 2003 (เวียดนาม), ซีเกมส์ ครั้งที่ 23 ปี 2005 (ฟิลิปปินส์), ซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ปี 2007 (ไทย), ซีเกมส์ ครั้งที่ 27 ปี 2013 (เมียนมา), ซีเกมส์ ครั้งที่ 28 ปี 2015 (สิงคโปร์), ซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ปี 2017 (มาเลเซีย)
ช่วงเวลาที่ “ช้างศึก” ครองความยิ่งใหญ่แบบไร้เทียมทาน คือการคว้าเหรียญทอง 8 สมัยติดต่อกัน ในครั้งที่ 17-24 ในช่วงเวลา 16 ปี แห่งความสุขกับเหรียญทองที่สำคัญที่สุดในความรู้สึกของแฟนกีฬาไทย ไม่ว่าประเทศไทยจะได้เจ้าซีเกมส์หรือไม่ก็ตาม
ในเกมเตะนัดชิงชนะเลิศซีเกมส์หลายครั้ง “ช้างศึก” ต้องประสบความยากลำบาก กว่าจะได้เหรียญทองก็ต้องเค้นศักยภาพบนความกดดันมหาศาล โดยเฉพาะการชิงชนะเลิศกับเจ้าภาพด้วย เพราะรู้ดีว่า หากพลาดเหรียญทอง นอกจากจะถือเป็นความล้มเหลวอันนำมาซึ่งความผิดหวังรุนแรงแล้ว ยังจะมีความเปลี่ยนแปลง และ “ดราม่า” เกิดขึ้นตามมาสุดจะคาดเดาอีกด้วย
การคว้าแชมป์ซีเกมส์ 16 สมัย ตอกย้ำว่า นักเตะไทยที่ลงสนามซีเกมส์มีเป้าหมายเดียวคือเหรียญทองเท่านั้น คำว่า “ก้าวข้ามอาเซียน” ยังไม่เกิดขึ้นจริง ซึ่งสถิติที่น่าเหลือเชื่ออีกอย่างหนึ่ง แข้งไทยถ้าไม่ได้เหรียญทอง ก็ตกรอบแรกไปเลย โดยซีเกมส์ ครั้งล่าสุดที่ไทยไม่ตกรอบแรกแต่ไม่ได้เหรียญทอง คือ กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 16 ที่ฟิลิปปินส์ เมื่อปี 1991 โดยทีมไทย แพ้ จุดโทษ อินโดนีเซีย 3-4 (เสมอ 0-0) ในนัดชิงชนะเลิศ
ไม่มีใครจำได้กับเหรียญเงินฟุตบอลซีเกมส์ เหรียญที่ไม่มีใครต้องการ
"ซูเปอร์เอ็กซ์" ธีรัช โพธิ์พานิช “ราชาแห่งซีเกมส์”
นักกีฬาไทยสักคนที่ได้ชื่อว่า “ราชาแห่งซีเกมส์” ในยุคที่กีฬาซีเกมส์ทรงคุณค่า และเปี่ยมไปด้วยมนต์ขลัง ชื่อของ “ซูเปอร์เอ็กซ์" ธีรัช โพธิ์พานิช ก็ปรากฏขึ้นในฐานะตำนานแห่งวงการกีฬายิมนาสติกของไทย สุดยอดนักกีฬาหนึ่งเดียวที่โกยเหรียญทองและความสำเร็จแบบนับไม่หวาดไม่ไหว
ใครต่อใครเรียกเขาว่า “ราชายิมนาสติก” ในกีฬาซีเกมส์ กีฬาสากลที่ตัดสินกันด้วยสายตา ธีรัช โพธิ์พานิช เริ่มต้นกีฬาซีเกมส์ครั้งแรกของเขาด้วยอายุเพียง 13 ปี ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 11 ที่ฟิลิปปินส์ ปี 1981 ทำได้ 2 เหรียญทอง (ทีมชาย,ม้าหู) ก่อนที่ซีเกมส์ ครั้งที่ 12 ที่สิงคโปร์ จะไม่มีการจัดแข่งขันยิมนาสติก
ซีเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพฯ “ซูเปอร์เอ็กซ์” กวาด 6 เหรียญทอง (ฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์, ม้าหู, บาร์เดี่ยว, บาร์คู่, ทีมชายและบุคคลรวมอุปกรณ์), ซีเกมส์ ครั้งที่ 14 ที่อินโดนีเซีย 5 เหรียญทอง (ทีมชาย, ห่วง, บาร์คู่, บาร์เดี่ยว และบุคคลรวมอุปกรณ์), ซีเกมส์ ครั้งที่ 15 มาเลเซีย 5 เหรียญทอง (ทีมชาย, บุคคลรวมอุปกรณ์, ม้าหู, ห่วง และบาร์เดี่ยว), ซีเกมส์ ครั้งที่ 16 ที่ฟิลิปปินส์ 4 เหรียญทอง (ทีมชาย, บุคคลรวมอุปกรณ์, ม้าหู และม้ากระโดด)
ในฐานะที่เป็นนักข่าวกีฬา หากใครถามถึงผลงานในซีเกมส์ “ซูเปอร์เอ็กซ์” จะแจ้งตอบเสียงดังฟังชัดว่า ผมนักกีฬายิมนาสติกทีมชาติไทย แข่งซีเกมส์ 5 สมัย 22 เหรียญทอง 555 (ตัวเลข 555 คือเสียงหัวเราะด้วยความภาคภูมิใจ)
บันทึกประวัติศาสตร์วงการกีฬาไทยของ ธีรัช โพธิ์พานิช คือสถิติตลอดกาล ไม่ว่าจะมีนักกีฬาไทยที่ทำเหรียญทองซีเกมส์ได้มากกว่าเขา แต่ยากที่จะหานักกีฬายิมนาสติกคนหนึ่งคนใดที่เข้าร่วมแข่งขันซีเกมส์ 5 สมัย แต่กวาดเหรียญทองกลับบ้านเป็นกระบุงโกย
น่าเสียดายที่เหรียญทองซีเกมส์ทั้ง 22 เหรียญของ “ซูเปอร์เอ็กซ์” สูญหายไปตามกาลเวลา หลักฐานแห่งความสำเร็จอยู่ไม่ครบจนถึงวันนี้ มีเพียงความทรงจำอันเด่นชัด และบันทึกประวัติศาสตร์ของวงการกีฬาไทยในกีฬาซีเกมส์ ผลงานในการแข่งขันที่เป็น “ความภาคภูมิใจอันไร้เทียมทาน” ที่ไม่มีวันเลือนหายไป
ตะกร้อ “เหรียญทองเท่านั้น เหรียญอื่นไม่เอา”
กีฬาคลาสสิคที่อยู่คู่กับกีฬาซีเกมส์ ตะกร้อเป็นหนึ่งในกีฬาไม่กี่ชนิดที่เป็นการชิงแชมป์โลกในระดับ “เวิลด์คลาส” เมื่อสองชาติมหาอำนาจ ไทย กับ มาเลเซีย เข้าห้ำหั่นกัน เพื่อแย่งชิงเหรียญทอง แฟนกีฬาแทบไม่ต้องทำอะไร เมื่อได้ชมการชิงชัยประเภททีมชุด ที่ยังไม่ได้นับแต้มแบบแรลลี่พอยท์ กว่าจะได้เหรียญทองต้องชิงกัน 3 ทีม (เอ บี ซี) เตะกันครึ่งค่อนวัน
ตะกร้อทีมชุด เป็นการแสดงถึงความแข็งแกร่งของทีมอย่างแท้จริง และตั้งแต่รุ่นเตะลูกหวายเก้าเส้นมาจนเปลี่ยนเป็นลูกพลาสติก ทีมตะกร้อไทยกวาดเหรียญทองมาถึง 17 สมัย และเป็นแชมป์ได้ 14 สมัยติดต่อกัน โดยที่คู่รักคู่แค้นตลอดกาลอย่าง “เสือเหลือง” มาเลเซีย ก็มีบ้างที่อ่อนแรงลงไป และมีคู่แข่งใหม่อย่างเมียนมาขึ้นมาแทน
หากแต่นักเตะไทย ยังคงยืนหยัดเพื่อความเป็นหนึ่ง จากรุ่นสู่รุ่น เหรียญทองซีเกมส์ของกีฬาตะกร้อ คงความเข้มขลัง และความศักดิ์สิทธิ์สูงสุดไม่แพ้กีฬาชนิดใด เหรียญเงินนั้นไม่มีความหมาย
พรชัย เค้าแก้ว นักตะกร้อทีมชาติไทย นักตะกร้อที่ประสบความสำเร็จสูงสุดที่กวาดความสำเร็จในระดับ ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ และคิงส์คัพ สร้างสถิติที่ยากจะหาทำลายได้ โดยในกีฬาซีเกมส์คว้าเหรียญทองไปแล้วได้ถึง 16 เหรียญ เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กไทยอยากจะเป็นนักตะกร้อทีมชาติที่ประสบความสำเร็จอย่าง “พี่ปุ้ย”
นับจากซีเกมส์ ครั้งที่ 22 ที่เวียดนาม ปี 2003 พรชัย เค้าแก้ว ประเดิมคว้า 2 ทองจากประเภททีมเดี่ยว และทีมชุด จากนั้นก็เริ่มนับเลขประวัติศาสตร์, ครั้งที่ 24 ไทย 2 ทอง (ทีมเดี่ยว-ทีมชุด), ครั้งที่ 25 ลาว 1 ทอง (ทีมชุด), ครั้งที่ 26 อินโดนีเซีย 2 ทอง (ทีมเดี่ยว-ทีมชุด), ครั้งที่ 27 เมียนมา 2 ทอง (ทีมเดี่ยว-ทีมชุด)ครั้งที่ 28 สิงคโปร์ 2 ทอง (ทีมคู่-ทีมชุด), ครั้งที่ 29 มาเลเซีย 3 ทอง (ทีม 4 คนชาย-ทีมคู่ชาย-ทีมชุด), ครั้งที่ 30 ฟิลิปปินส์ 2 ทอง (ทีมเดี่ยว-ทีมชุด)
การพัฒนากีฬาตะกร้อได้มีการแบ่งประเภทออกไปมากมาย จากประเภททีมเดี่ยวและทีมชุด ก็มีการเพิ่มเติมการชิงชัยประเภททีมคู่, ทีม 4 คน กระทั่งตะกร้อชายหาด แต่ไม่ว่าจะแข่งขันกันกี่ประเภท เมื่อเดินลงสนาม นักตะกร้อทุกคนจะคิดถึงคำขวัญที่ยึดถือในสมาคมกีฬาตะกร้อแห่งประเทศไทยก็
คือ “เหรียญทองเท่านั้น เหรียญอื่นไม่เอา”
วอลเลย์บอล “ยอดหญิงสิงห์นักตบ”
ทีมนักตบลูกยางสาวไทย ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาจนกลายเป็นทีมกีฬาที่ดีที่สุดทีมหนึ่งในประวัติศาสตร์ของวงการกีฬาไทย จากการผ่านเข้าสู่การแข่งขันวอลเลย์บอลชิงแชมป์โลกได้เป็นครั้งแรก ในปี 1998 กระทั่งได้เข้าไปโชว์เพลงตบในเวที เวิลด์กรังด์ปรีซ์ ที่สามารถคว้าอันดับ 4 ในปี 2012
แต่ก่อนหน้านั้นไม่มีใครลืมการครองเจ้าเอเชียในปี 2009 ที่ประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพ ด้วยการเอาชนะทีมมหาอำนาจอย่างจีนลงได้ 3-1 เซต ในรอบชิงชนะเลิศ ไม่มีใครคิดว่า ทีมลูกยางสาวไทยจะไปได้ถึงจุดสูงสุดของระดับทวีป และเป็นทีมชั้นแนวหน้าของโลก
ในกีฬาซีเกมส์ ทีมสาวไทยคว้าเหรียญทองวอลเลย์บอลได้ถึง 14 สมัย โดยประเดิมเหรียญทองครั้งแรก ในซีเกมส์ ครั้งที่ 15 ที่มาเลเซีย ปี 1989 และป้องกันแชมป์ได้ในซีเกมส์ ครั้งที่ 16 ปี 1991 ที่ฟิลิปปินส์ ก่อนจะว่างเว้นไป 1 สมัย (ซีเกมส์ ครั้งที่ 17 ที่สิงคโปร์ ปี 1993 ไทยได้เหรียญเงิน) จากนั้น สาวไทยก็ไม่พลาดเหรียญทองซีเกมส์ 12 สมัยติดต่อกัน โดยกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 20 ที่บรูไน ปี 1999 ไม่บรรจุกีฬาวอลเลย์บอลแข่งขัน
นับเป็นเวลาร่วม 3 ทศวรรษ ที่วอลเลย์บอลหญิงไทยครองความยิ่งใหญ่ มิใช่เพียงเหรียญทองเท่านั้น แต่ยังสร้างนักกีฬาระดับซูเปอร์สตาร์จำนวนมากขึ้นมาประดับวงการเป็น “7 เซียน” ที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดแฟนกีฬาลูกยางทั้งในและต่างประเทศ และเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการพัฒนากีฬาวอลเลย์บอลของเมืองไทย
“กัปตันกิ๊ฟ” วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ หนึ่งใน 7 เซียน ผู้คว้าแชมป์วอลเลย์บอลทีมหญิงซีเกมส์ ได้ถึง 10 สมัยซ้อน ในช่วงเวลารุ่งเรืองถึงขีดสุดของกีฬาตบลูกยางในเวทีซีเกมส์ เมื่อเธอลงสนามพร้อมเพื่อนร่วมทีม ทุกคนจะมีความมั่นใจสูงล้ำว่าความพ่ายแพ้จะมิมากล้ำกราย
จากเหรียญทองกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 21 ที่มาเลเซีย ปี 2001, ครั้งที่ 22 ที่เวียดนาม ปี 2003, ครั้งที่ 23 ที่ฟิลิปปินส์ ปี 2005, ครั้งที่ 24 ที่ ไทย ปี 2007, ครั้งที่ 25 ที่ ลาว ปี 2009, ครั้งที่ 26 ที่อินโดนีเซีย ปี 2011, ครั้งที่ 27 ที่เมียนมา ปี 2013, ครั้งที่ 28 ที่สิงคโปร์ ปี 2015, ครั้งที่ 29 ที่มาเลเซีย ปี 2017 และครั้งที่ 30 ที่ฟิลิปปินส์ 2019
“กัปตันกิ๊ฟ” อำลาทีมชาติไทย พร้อมทีม 7 เซียน ในขณะที่ทีมลูกยางสาวไทย ยังครองความเป็นหนึ่งในอาเซียน ที่จะสานความสำเร็จต่อไป
แต่ถ้าใครเห็นเสื้อนักตบสาวประทับหมายเลข 10 ก็ขอให้นึกถึง วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ ตำนานนักกีฬาวอลเลย์หญิงทีมชาติไทย เจ้าของเหรียญทองซีเกมส์ 10 สมัยซ้อน
TAG ที่เกี่ยวข้อง