stadium

ประวัติศาสตร์ทัพขนไก่ไทยใน โธมัส & อูเบอร์ คัพ

8 พฤษภาคม 2565

นับตั้งแต่มีการแข่งขัน โธมัส คัพ ครั้งแรกเมื่อกว่า 73 ปีที่แล้ว จนถึงครั้งที่ 32 ในปัจจุบัน ทีมลูกขนไก่ชายไทยฝ่าฝันเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายได้ทั้งหมด 15 ครั้ง ขณะที่ทีมหญิงคว้าตั๋วลุยรอบสุดท้าย อูเบอร์ คัพ 8 สมัย จากการแข่งขันทั้งหมด 29 ครั้ง

 

ถึงแม้ว่าทีมไทยจะยังไม่เคยประสบความสำเร็จถึงขั้นคว้าแชมป์ แต่ในหน้าบันทึกประวัติศาสตร์แบดมินตันเราเคยไปถึงรอบชิงมาแล้วทั้งทีมหญิงและชาย ซึ่งผลงานในอดีตที่ผ่านมาของทัพขนไก่ไทยในศึก โธมัส & อูเบอร์ คัพ เป็นอย่างไรบ้างนั้น ติดตามได้ที่นี่

 

 

ย้อนรอยผลงานทีมไทยใน โธมัส คัพ

ทัพขนไก่ชายไทย ผ่านรอบคัดเลือกโซนเอเชีย เข้ามาเล่นใน โธมัส คัพ รอบสุดท้าย ครั้งแรกปี 1958 โดยมีขุนพลสำคัญคือ เจริญ วรรธนะสิน และ ธนู ขจัดภัย ซึ่งทำผลงานเซอร์ไพรส์ไปได้ไกลถึงรอบรองชนะเลิศ ก่อนแพ้ อินโดนีเซีย ที่ก้าวไปเป็นแชมป์ในปีดังกล่าว แต่ผลงานที่ดีที่สุดคืออีก 3 ปีต่อมา ทีมไทยถึงแม้จะขาดตัวหลักจากครั้งก่อนทั้ง เจริญ วรรธนะสิน และ ธนู ขจัดภัย แต่ได้ ชาญณรงค์ รัตนแสงสรวง, สมสุข บุญยสุขานนท์, ณรงค์ พรฉิม, ระพี กาญจนรพี, ชวเลิศ ชุ่มคำ และ ชูชาติ วัฒนธรรม ชนะ ออสเตรเลีย และ เดนมาร์ก กรุยทางถึงรอบชิงชนะเลิศไปเจอแชมป์เก่าคือ อินโดนีเซีย ที่กรุงจาการ์ตา และแพ้ไป 3-6 คู่อย่างน่าเสียดาย

 

หลังจากนั้นทีมไทยเข้ารอบรองชนะเลิศอีก 3 ครั้งในปี 1964, 1973 และ 1976 ที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพหนแรก ก่อนจะเว้นว่างไปนานจนมาคว้าสิทธิ์เล่นรอบสุดท้ายได้อีกครั้งในปี 1992 แต่ก็ไม่สามารถไปได้ไกลเกินกว่ารอบแบ่งกลุ่ม เช่นเดียวกับในปี 1994 และปี 2002 อย่างไรก็ตามใน 3 ครั้งถัดมาที่เราเข้ารอบสุดท้ายได้สำเร็จคือปี 2004, 2008 และ 2014 ทัพขนไก่หนุ่มไทยที่นำโดย "ซูเปอร์แมน" บุญศักดิ์ พลสนะ เข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศได้ทั้ง 3 ครั้ง ส่วนในปี 2016 และ 2018 ที่เราเป็นเจ้าภาพ ทีมไทยที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายสายเลือดใหม่ทำได้เพียงคว้าอันดับของ 3 รอบแบ่งกลุ่มไม่ได้ผ่านเข้าสู่รอบน็อกเอาต์

 

มาถึงการแข่งครั้งล่าสุดที่เมืองอาร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก เมื่อปีที่แล้ว ทีมชายไทยที่ไม่มีมือวางติด 1 ใน 10 ของโลกแม้แต่รายเดียว ทำเซอร์ไพรส์คว้าอันดับ 2 ของกลุ่ม เอ ที่มี อินโดนีเซีย, ไชนีส ไทเป และแอลจีเรีย ได้อย่างยอดเยี่ยม ก่อนจะแพ้ทีมแกร่งอย่างจีน ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ซึ่ง กุลวุฒิ วิทิตศานต์, กันตภณ หวังเจริญ, อดุลรัชย์ นามกูล, เฉลิมพล เจริญกิจอมร และ นันทกานต์ ยอดไพสง ที่อยู่ในทีมชุดนั้น ล้วนมีชื่อลุย โธมัส คัพ 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้

 

อ่านเพิ่มเติม : 

ส่องขุมกำลังคู่แข่งไทยใน โธมัส&อูเบอร์ คัพ 2022

5 เรื่องต้องรู้ก่อนดู โธมัส-อูเบอร์ คัพ 2022

เช็กฟอร์ม 12 นักแบดมินตันไทยชุดอูเบอร์ คัพ 2022

เช็กฟอร์ม 12 นักแบดมินตันไทยชุดโธมัส คัพ 2022

 

 

ย้อนรอยผลงานทีมไทยใน อูเบอร์ คัพ

ทีมขนไก่สาวไทยได้ผ่านเข้าไปเล่น อูเบอร์ คัพ รอบสุดท้ายครั้งแรกในปี 1969 แต่ตกรอบแรก ก่อนจะเว้นช่วงไปยาวนานถึง 25 ปี กว่าที่จะคว้าตั๋วเข้ารอบสุดท้ายได้อีกครั้งในปี 1994 ซึ่งตกรอบแบ่งกลุ่ม จากนั้นทีมไทยห่างหายจากรายการนี้อีกครั้ง คราวนี้ใช้เวลา 18 ปี แต่นับจากนั้นเป็นต้นมาทีมไทยผ่านเข้ารอบสุดท้ายได้ทุกสมัยรวมทั้งยังผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์ทุกครั้งอีกด้วย  

 

หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทีมแบดมินตัน อูเบอร์ คัพ ไทย ยกระดับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเพราะอุดมไปด้วยนักกีฬามือดีทัดเทียมกับระดับโลก เริ่มจากปี 2012 ทีมไทยที่เพิ่งคว้าเหรียญทองซีเกมส์ประเภททีมหญิงปี 2011 ต่อจากการคว้าเหรียญเงิน เอเชียน เกมส์ 2010 กำลังอยู่ในช่วงมั่นใจสุดขีด มีมือเดี่ยวอย่าง รัชนก อินทนนท์ ที่พกดีกรีแชมป์โลกรุ่นเยาวชน 3 สมัยซ้อน บวกกับ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย เหรียญทองยูธโอลิมปิกปี 2010 และ พรทิพย์ บูรณะประเสริฐสุข เหรียญทองแดงหญิงเดี่ยวซีเกมส์ 2011 ประเภทคู่มี ดวงอนงค์ อรุณเกษร / กุลชลา วรวิจิตรชัยกุล ที่เคยขึ้นเป็นมือ 4 ของโลก และ สราลีย์ ทุ่งทองคำ คว้าแชมป์กลุ่มได้สำเร็จ ก่อนจะเอาชนะเดนมาร์กในรอบ 8 ทีมสุดท้าย แต่พ่ายจีนตัวเต็งในรอบรองชนะเลิศ

 

หลังจากนั้นทีมไทยเข้ารอบสุดท้ายในฐานะทีมวางอันดับต้น ๆ ของการแข่งขันมาตลอด ซึ่งในปี 2014 และ 2016 ทีมไทยผ่านรอบแบ่งกลุ่มตามคาด แต่ตกรอบก่อนรองชนะเลิศจากการแพ้ เกาหลีใต้ และ อินเดีย ตามลำดับ มาถึงปี 2018 ที่เราเป็นเจ้าภาพ ทีม อูเบอร์ คัพ ไทย นำโดย รัชนก อินทนนท์, ณิชชาอร จินดาพล, บุศนันท์ อึ๊งบำรุงพันธุ์, ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย, พุธิตา ศุภจิรกุล, จงกลพรรณ กิติธรากุล และ รวินดา ประจงใจ โชว์ฟอร์มได้ใจกองเชียร์ เก็บชัย 3 แมตช์รวดในรอบแบ่งกลุ่ม ตามด้วยเอาชนะ อินโดนีเซีย ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ก่อนหักปากกาเซียนโค่น จีน เจ้าของสถิติแชมป์สูงสุดในรอบตัดเชือกแบบที่ต้องลุ้นถึงคู่สุดท้าย ผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศกับญี่ปุ่นที่ฟอร์มกำลังแกร่ง ซึ่งไทยพ่ายไป 0-3 คู่ คว้ารองแชมป์อย่างน่าเสียดาย แต่นับเป็นผลงานที่ใกล้เคียงที่สุดของทีมขนไก่สาวไทย

 

ขณะที่การแข่งขันเมื่อปีที่แล้ว ทีมไทยยังคงมีฟอร์มที่แข็งแกร่งโดยเฉพาะ พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์ ที่พัฒนาฝีมือจนขึ้นมาเป็นหนึ่งในตัวหลักของทีมร่วมกับ รัชนก อินทนนท์ เอาชนะ สกอตแลนด์, สเปน และ อินเดีย 5-0 คู่ 3 แมตช์รวดในรอบแบ่งกลุ่ม เข้าไปย้ำแค้นอินโดนีเซียในรอบ 8 ทีมสุดท้ายอีกครั้ง แต่ในรอบรองชนะเลิศถูกจีนล้างตาเอาชนะไปได้ 3-0 คู่ คว้าอันดับ 3 ไปครองเป็นหนที่ 2 ต่อจากปี 2012 ส่วนการแข่งขันในปีนี้ทีมไทยใช้ผู้เล่นชุดเดียวกับครั้งที่แล้วเกือบยกชุดทั้ง รัชนก, พรปวีณ์, บุศนันท์, จงกลพรรณ, รวินดา รวมถึง พิทยาภรณ์ ไชยวรรณ, ศุภนิดา เกตุทอง, เบญญาภา และ นันทกานต์ เอี่ยมสอาด เปลี่ยนแปลงเพียง 3 รายคือ ผไทมาส เหมือนวงศ์, ลักษิกา กัลละหะ และ พิชฌามลณ์ โอภาสนิพัทธ์ ดาวรุ่งวัย 15 ปีที่เข้ามาเสริมทีม


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose