stadium

ส่องเพื่อนบ้าน 11 ชาติในซีเกมส์ เก่งกีฬาชนิดใดกันบ้าง

6 พฤษภาคม 2565

กีฬาแหลมทอง (เซียพเกมส์) ครั้งที่ 1 เมื่อปี 1959 มาสู่กีฬาซีเกมส์  เป็นมหกรรมกีฬาแห่งภูมิภาคอาเซียน ที่มีจุดเริ่มต้นจากชาติสมาชิกผู้ก่อตั้ง 6 ชาติ ไทย มลายา เวียดนามใต้ ลาว พม่า และ กัมพูชา  ก่อนจะเพิ่มเป็น 11 ชาติในปัจจุบัน เข้าร่วมชิงชัยความเป็นเลิศในเกมกีฬา 

 

นักกีฬาอาเซียน มีความเก่งกาจ และเชี่ยวชาญ แต่ละชาติแตกต่างกันไป  การช่วงชิงตำแหน่งเจ้าเหรียญทอง และกีฬายอดนิยมที่มีความหมาย ทำให้มหกรรมกีฬาแห่งภูมิภาคนี้ จึงมีความดุเดือด และเข้มข้นที่แตกต่างกันไปในแต่ละครั้งเช่นกัน 

 

กีฬาที่เป็นที่นิยม แต่อาจจะไม่หมายความว่าจะก้าวไปสู่ความเป็นเลิศได้  ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับชาตินั้น ๆ จะพัฒนากีฬาอย่างไร เดินไปในทิศทางไหน เพื่อไปสู่เป้าหมายคือคำว่า “ชัยชนะ” อย่างแท้จริง

 

 

 

 

บรูไน

 

บรูไนเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางเหนือของเกาะบอร์เนียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกเหนือจากชายฝั่งทะเลจีนใต้แล้ว ยังล้อมรอบด้วยรัฐซาราวักของมาเลเซียอย่างสมบูรณ์

 

กีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรูไน คือ  ฟุตบอล โดยทีมฟุตบอลบรูไนเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ในปี  1969 และภายในประเทศก็มีฟุตบอลลีกอาชีพอย่าง บรูไนซูเปอร์ลีก และบรูไนพรีเมียร์ลีก

 

บรูไนเปิดตัวในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 1996  “แอตแลนตาเกมส์” ที่สหรัฐอเมริกา ได้เข้าแข่งขันในแบดมินตัน ยิงปืน ว่ายน้ำ และกรีฑา แต่ยังไม่ได้รับเหรียญใด ๆ ในขณะเดียวกันก็ยังส่งนักกีฬาแข่งขันเอเชียนเกมส์อย่างต่อเนื่อง และไปได้ถึงระดับเหรียญทองแดง

 

มหกรรมกีฬาสำคัญที่ส่งผลต่อบรูไนมากที่สุดคือ ซีเกมส์ ครั้งที่ 20 ในปี 1999 ในฐานะเจ้าภาพ บรูไน ทำได้ 4 เหรียญทอง 12 เหรียญเงิน 31 เหรียญทองแดง (ได้อันดับ 7 ) มากที่สุดเท่าที่บรูไนจะทำได้ในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งเดียว และเมื่อนับรวมกีฬาซีเกมส์ ทุกครั้ง (บรูไนแข่งซีเกมส์ ครั้งแรกในครั้งที่ 9 ปี 1977 ที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย) บรูไนได้รับเหรียญรางวัลทั้งหมด 14 เหรียญทอง 55 เหรียญเงิน และ 163 เหรียญทองแดง

 

สำหรับกีฬายอดฮิตของ บรูไน อย่างฟุตบอล คงต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะก้าวขึ้นมาท้าชิงเหรียญทอง เนื่องจากเป็นสุดยอดปรารถนาของทุกชาติ

 

 

 

กัมพูชา

 

ฟุตบอล ถือเป็นกีฬาแห่งมวลชนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในกัมพูชา ด้วยการนำพาเข้ามาของชาวฝรั่งเศส แต่ฟุตบอลอาชีพไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะปัญหาสภาพเศรษฐกิจ  อย่างไรก็ตาม ทีมชาติกัมพูชาเคยครองตำแหน่งที่ 4 ในฟุตบอลเอเชียนคัพ 1972 แต่การพัฒนาได้ชะลอตัวลงตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมือง และในเวลาต่อมา มีนักเตะเขมร เดินทางมาเล่นฟุตบอลในประเทศไทยด้วย

 

ที่ลืมไม่ได้คือ กัมพูชา มีแชมป์โลกกีฬาเปตองหลายรุ่น แต่สำหรับกีฬาสากล อื่น ๆ นั้น เคยส่งนักกีฬาขี่ม้าเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 1956 ที่เมลเบิร์น นอกจากนี้ กีฬา บาสเกตบอล วอลเลย์บอล เพาะกาย ฮอกกี้ รักบี้ฟุตบอล กอล์ฟ และเบสบอล ก็เป็นที่นิยมเล่นในกัมพูชา โดยวอลเลย์บอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ในขณะที่ กีฬาพื้นเมืองอย่าง เรือประเพณี,  มวยปล้ำเขมร และ Bokator (ศิลปะการต่อสู้) ซึ่งจะได้เห็นมากขึ้นในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพในปี 2023

 

 

 

อินโดนีเซีย

 

หนึ่งในชาติที่มีนักกีฬากีฬาระดับโลก นั่นคือ แบดมินตัน ที่นักหวดลูกขนไก่อิเหนาเคยคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ และ แชมป์โธมัสคัพ-อูเบอร์คัพ  ซึ่งอินโดนีเซียนั้นเป็นชาติมหาอำนาจในมหกรรมกีฬาอาเซียน กวาดเหรียญทองซีเกมส์ได้แทบทุกชนิดกีฬา ครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทอง ได้ 10 สมัยจากทั้งหมด 30 สมัย จำนวนเหรียญทองซีเกมส์ตลอดกาลนั้น สูสีและไล่ล่ากับประเทศไทยในอันดับ 1-2 มาโดยตลอด

 

ในกีฬาซีเกมส์ ไม่ว่าชนิดใด ชาติใดก็ไม่สามารถประมาทนักกีฬาอิเหนาได้

 

ฟุตบอลที่เป็นกีฬายอดนิยม  ในประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า อินโดนีเซีย เป็นทีมเอเชียทีมแรกที่เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลก 1938 ที่ฝรั่งเศส  ในชื่อ ดัตช์ อีส อินดีส์ (Dutch East Indies)  ส่วนในระดับภูมิภาค  ทีมลูกหนังอินโดนีเซีย เคยได้เหรียญทองแดง กีฬาเอเชียนเกมส์ 1958 ที่โตเกียว และ 2 เหรียญทองในซีเกมส์ ครั้งที่ 14 ปี 1987 ที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพ และซีเกมส์ ครั้งที่ 16 ปี 1991 ที่ฟิลิปปินส์  และในเวทีลูกหนังเอเชียนคัพ สามารถทะลุเข้ารอบไปเตะรอบสุดท้ายได้สำเร็จในปี 1996  ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์

 

 

 

ลาว

 

“เวียงจันทน์เกมส์”  กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ในปี 2009 นับเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสที่กีฬาซีเกมส์จัดการแข่งขันครบรอบ 50 ปี สปป.ลาว รับหน้าที่จัดการแข่งขัน ด้วยความช่วยเหลืออย่างดียิ่งจากมิตรประเทศอย่าง จีน และไทย ทำให้ ลาวประสบความสำเร็จทั้งการจัดการแข่งขัน และกวาดไป 33 เหรียญทอง 25 เหรียญเงิน 52 เหรียญทองแดง  ได้อันดับ 7

 

ลาว มีศิลปะการต่อสู้ประจำชาติอย่างมวยลาว (คล้ายคิกบ็อกซิ่ง และมวยไทย) ในขณะเดียวกัน ก็ชื่นชอบ ฟุตบอล เป็นอย่างมาก และมีลีกฟุตบอลอาชีพเช่นกัน โดยใน ลีก ลาว “อาร์มี่ เอฟซี” เป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดถึงคว้าแชมป์ลีกได้ 8 สมัย มากที่สุดองประเทศ

 

 

 

มาเลเซีย

 

ชนชาติชั้นแนวหน้าของกีฬาซีเกมส์ ทั้งการเป็นเจ้าภาพและผลงานความสำเร็จในการครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทอง กีฬายอดนิยมในมาเลเซีย ได้แก่ แบดมินตัน ซึ่งมีนักกีฬาระดับโลก ตามด้วย ฮอกกี้ โบว์ลิ่ง เทนนิส สควอช ขี่ม้า เรือใบ และสเกตบอร์ด

 

ฟุตบอลยังเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่ง “เสือเหลือง” มีโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการเสนอตัวให้อาเซียนเป็นเจ้าภาพร่วมศึกฟุตบอลโลก 2034 ในขณะที่กีฬาระดับโลกอย่างกีฬามอเตอร์สปอร์ต มาเลเซียก็มีสนามแข่งรถสูตรหนึ่ง  Formula One ของตัวเอง ที่เซปัง Sepang International Circuit และเคยจัดกีฬาเครือจักรภพ “คอมมอนเวลล์เกมส์” เมื่อปี 1998 รวมทั้งเคยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2008 มาแล้ว   

 

ที่ลืมไม่ได้ มาเลเซีย คือ หนึ่งในมหาอำนาจกีฬาตะกร้อ ที่ขับเคี่ยวชิงชัยกับไทยมาโดยตลอด

 

 

 

เมียนมา

 

“พม่า”  หรือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หนึ่งในชาติผู้ก่อตั้งกีฬาแหลมทอง เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ใหญ่ที่สุด มีพรมแดนติดกับบังคลาเทศและอินเดีย (ทางตะวันตกเฉียงเหนือ) จีน (ทางตะวันออกเฉียงเหนือ) ลาว และไทย (ทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้) และฝั่งอันดามัน ทะเลและอ่าวเบงกอลไปทางทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ เมืองหลวงของประเทศคือ เนปิดอว์ และเมืองที่ใหญ่ที่สุดคือ ย่างกุ้ง

 

กีฬาที่คุ้นเคยของพม่า เป็นกีฬาประจำชาติเป็นศิลปะการต่อสู้ และตะกร้อโบราณ (ชินลง) ส่วนฟุตบอลยอดนิยมนั้น เคยยิ่งใหญ่ และพุ่งทะยานสู่ความสำเร็จสูงสุด ด้วยการครองแชมป์กีฬาแหลมทองถึง 5 สมัยติดต่อกันในช่วงการแข่งขัน ครั้งที่ 3-7 (ปี 1965, 1967,1969,1971,1973)

 

พม่า เคยครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทอง กีฬาแหลมทอง “เซียพเกมส์” 2 ครั้งใน การแข่งขันครั้งที่ 2 ที่ ย่างกุ้ง เป็นเจ้าภาพเองในปี 1961 และครั้ง 1969 ที่ ย่างกุ้งเช่นกัน

 

ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 27 ที่ เมียนมาร์ ได้กลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง โดยจัดขึ้นที่เนปิดอว์ เมืองหลวงแห่งใหม่ เจ้าภาพได้อันดับ 2 ทำได้ 86 เหรียญทอง 62 เหรียญเงิน 85 เหรียญทองแดง ซึ่งการได้อันดับ 2 ในซีเกมส์เหมือนพม่า หรือ เมียนมาร์ได้กลับมาอยู่ในที่ที่คุ้นเคยอีกครั้ง

 

 

 

ฟิลิปปินส์

 

ไม่มีกีฬาชนิดใดที่จะได้รับความนิยมในฟิลิปปินส์ เท่ากับ บาสเกตบอล ที่มีการเล่นทั้งในระดับสมัครเล่นและระดับอาชีพ เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในฟิลิปปินส์ตลอดกาล และไม่มีกีฬาใดเทียบเท่า

 

ในปี 2010 “เดอะแพคแมน” แมนนี่ ปาเกียว ยอดกำปั้นแชมเปี้ยนโลกผู้ยิ่งยงของฟิลิปปินส์  ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น "นักสู้แห่งทศวรรษ" ในยุค 2000 โดยสมาคมนักข่าวแห่งสหรัฐอเมริกา ในฐานะเป็นยอดนักกีฬาที่มาจากอาเซียนและเขย่าวงการมวยโลก

 

ส่วนกีฬาพื้นเมืองของฟิลิปปินส์ ยังมี ศิลปะการต่อสู้และกีฬาประจำชาติของประเทศ คือ อาร์นิส  และการชนไก่ ที่เป็นความบันเทิงยอดนิยมอีกอย่างหนึ่งในหมู่ชาวตากาล็อค

 

แฟนกีฬายังได้เห็น มวยสากล, กรีฑา, ว่ายน้ำ (หรือแม้แต่ฟุตบอล) ในกีฬาซีเกมส์ ที่นักกีฬาฟิลิปปินส์ ต้องการทำผลงานให้ได้ดีที่สุด

 

 

 

สิงคโปร์

 

การพัฒนากีฬาในสิงคโปร์ เริ่มขึ้นในยุคอาณานิคมของศตวรรษที่ 19 โดยมีการก่อตั้งสโมสรคริกเก็ต ,ว่ายน้ำ และคลับสโมสรกีฬาเพื่อการสันทนาการ

 

กีฬาทางน้ำเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสิงคโปร์  โดยในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2016 โจเซฟ สคูลลิ่ง ได้รับเหรียญทองโอลิมปิกครั้งแรกของสิงคโปร์ ในท่าผีเสื้อ 100 เมตร ชาย ทำสถิติใหม่ได้  50.39 วินาที

 

ในกีฬาซีเกมส์ สิงคโปร์ครองความเป็นเลิศการแข่งขันว่ายน้ำ โปโลน้ำ เทเบิลเทนนิส (นักกีฬาจีนโอนสัญชาติ) รวมถึงแบดมินตันก็เพิ่งมีแชมป์โลกคนแรกคือ โหล เคียน หยู 

 

ในปี 2010 สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเยาวชนฤดูร้อน “ยูธโอลิมปิกเกมส์” ครั้งแรก โดยมีนักกีฬา 3,600  คนจาก 204  ประเทศเข้าร่วมแข่งขันใน 26 กีฬา นอกจากนั้น สิงคโปร์ ยังเป็นที่ตั้งของ ONE Championship ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

 

 

 

ติมอร์เลสเต

 

สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต  เป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนเกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ถูกล้อมรอบโดยพื้นที่ของประเทศอินโดนีเซีย ก่อนแยกตัวเป็นอิสระ และได้รับเอกราช ในปี 2002 และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ พร้อมทั้งส่งนักกีฬาร่วมการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 22 ปี 2003 ที่เวียดนาม ทำให้กีฬาซีเกมส์มีชาติสมาชิกแข่งขันทั้ง 11 ชาติ โดยในซีเกมส์ครั้งแรก ติมอร์ เลสเต ยังไม่ได้รับเหรียญรางวัลใด ๆ

 

ซีเกมส์ ครั้งที่ 23 ที่ฟิลิปปินส์ ปี 2005 ติมอร์เลสเต ได้ 3 เหรียญทองแดง ก่อนจะมาประสบความสำเร็จ ได้เหรียญทองเป็นครั้งแรกในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 26 ที่อินโดนีเซีย ปี 2011 จากผลงานของ จูเลียนโต เปไรรา และ ดอร์เซยานา บอร์เกส ซึ่งเอาชนะคู่ต่อสู้จากอินโดนีเซีย ในรอบชิงชนะเลิศการแข่งขันกีฬาศิลปะการต่อสู้ เคมโป ประเภทคู่ผสม  เป็นเหรียญแห่งประวัติศาสตร์ของชาติน้องใหม่ในซีเกมส์

 

ติมอร์เลสเต ยังต้องมีการพัฒนากีฬาบุคคล โดยเฉพาะกีฬาต่อสู้ ให้แผ่ขยายออกไปในวงกว้าง ส่วนกีฬาประเภททีมยอดนิยมอย่างฟุตบอล ก็ส่งเข้าร่วมแข่งขันอย่างสม่ำเสมอ โดยมีเป้าหมายทำเหรียญทองให้มากขึ้น และเสนอตัวเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ในอนาคต

 

 

 

 

ไทย

 

มวย กับ ฟุตบอล คือกีฬาที่เป็นชีวิตของคนไทย

 

มวยไทยเป็นกีฬาศิลปะการต่อสู้ของไทยที่รุนแรงที่อันตราย และแพร่หลายทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่โบราณกาล มาจนถึงปัจจุบัน ผู้ที่ชอบชอบ “Muaythai” ต้องรู้จักชื่อของ พุฒ ล้อเหล็ก, ผุดผาดน้อย วรวุฒิ  สามารถ พยัคฆ์อรุณ, ดีเซลน้อย ช ธนสุกานต์, อภิเดช สิทธิหิรัญ มาจนถึง บัวขาว บัญชาเมฆ  โดย มวยไทย ได้รับการบรรจุแข่งขันในซีเกมส์หลายครั้ง

 

สำหรับฟุตบอล เป็นกีฬาที่มีคนติดตามมากที่สุด อยู่ในชีวิตประจำวันของแฟนบอลแทบทุกลมหายใจ ทั้งฟุตบอลไทย และต่างประเทศ โดยในกีฬาซีเกมส์ แข้งไทยครองแชมป์มากที่สุดถึง 16 สมัย และเคยทำสถิติคว้าแชมป์ติดต่อกัน 8 สมัย มากที่สุดตลอดกาล ตั้งแต่ซีเกมส์ ครั้งที่ 17-24 ชนิดที่ยากที่จะหาชาติใดมาทำลายสถิตินี้ได้

 

ทัพนักกีฬาไทย จัดกีฬาซีเกมส์แล้ว 6 ครั้ง เป็นชาติแรกที่นำกีฬาซีเกมส์จัดแข่งขันในเมืองที่ไม่ใช่เมืองหลวง ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่ จ.เชียงใหม่ ปี 1995 ได้ครองเจ้าเหรียญทองซีเกมส์ 13 สมัย และอยู่ในอันดับ 1 การคว้าเหรียญทองในซีเกมส์มากที่สุดใน  30 ครั้ง 1,885 เหรียญทอง

 

ไทย เป็นหนึ่งในชาติที่ก่อตั้งกีฬาแหลมทอง และเป็นชาติผู้นำในสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ ที่ต้องการผลักดันมหกรรมกีฬาอาเซียนในนาม “ซีเกมส์” เป็นการแข่งขันกีฬาสากลอย่างแท้จริง แม้อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในการครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทองแต่ละครั้ง แต่ต้องเป็นเลิศในชนิดกีฬาสากล หรือ “โอลิมปิกสปอร์ต”

 

 

 

เวียดนาม

 

เวียดนาม คือ ชาติที่มีการพัฒนาที่น่าจับตามองมากที่สุดในอาเซียน

 

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของประเทศ ได้แชมป์อาเซียนคัพ 2 ครั้ง ในปี 2008 และ 2018 เข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศของ เอเชียน คัพ 2019 ทีมอายุต่ำกว่า 23 ปี ได้รองแชมป์เอเชีย 2018  ได้อันดับ 4 เอเชียนเกมส์ 2018 และทีมชุดใหญ่ได้เข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย

 

เวียดนาม ท้าทายคู่แข่งสำคัญอย่างไทย ด้วยการพัฒนากีฬาอื่น ๆ  ขึ้นมา ทั้ง แบดมินตัน เทนนิส วอลเลย์บอล เทเบิลเทนนิส ไม่เว้นกระทั่ง หมากรุก โดย เวียดนามเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ตั้งแต่ปี 1952  แม้จะประสบปัญหาภายในประเทศ ก่อนที่ คณะกรรมการโอลิมปิกเวียดนามปัจจุบันได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1976

 

ซีเกมส์ ครั้งที่ 22 ปี 2003 เวียดนามเป็นเจ้าภาพครั้งแรก และครองความยิ่งใหญ่ได้เกือบทั้งหมด มีเพียงฟุตบอลทีมชายที่ยังแพ้ไทยในนัดชิงชนะเลิศ  ก่อนที่ แข้งเวียดนามจะได้เหรียญทองซีเกมส์สมใจในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ปี 2019 ที่ฟิลิปปินส์

 

เวียดนามได้เป็นเจ้าภาพซีเกมส์อีกครั้งใสรอบ 19 ปี โดยในครั้งที่ 31 นี้ต้องเลื่อนมาแข่งขันในปี 2022   เป้าหมายคือ การครองเจ้าเหรียญทอง และได้เหรียญทองฟุตบอลทีมชายแบบพลาดไม่ได้


stadium

author

พลชาติ เก่งระดมกิจ

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose