stadium

5 เรื่องต้องรู้ก่อนดู โธมัส-อูเบอร์ คัพ 2022

6 พฤษภาคม 2565

แบดมินตันทีมชายชิงแชมป์โลก หรือ โธมัส คัพ และทีมหญิงชิงแชมป์โลก หรือ อูเบอร์ คัพ กำลังจะจัดขึ้นที่เมืองไทยในวันที่ 8-15 พฤษภาคมนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่บ้านเราได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ

 

ทั้ง 2 รายการนี้มีความน่าสนใจอย่างไร ชาติใดคว้าแชมป์มากที่สุด และจะเชียร์นักกีฬาไทยทางใดได้บ้าง ติดตามได้ที่นี่

 

 

"โธมัส - อูเบอร์ คัพ คืออะไร"

 

ในกีฬาแบดมินตันแบ่งการแข่งขันชิงแชมป์โลกออกเป็น 2 รายการหลักคือ ชิงแชมป์โลกประเภทส่วนบุคคล และชิงแชมป์โลกประเภททีม ซึ่งอย่างหลังนั้นแบ่งย่อยออกมาเป็น 3 รายการคือ โธมัส คัพ หรือ ชิงแชมป์โลกประเภททีมชาย, อูเบอร์ คัพ หรือ ชิงแชมป์โลกประเภททีมหญิง และ สุธีรมาน คัพ หรือชิงแชมป์โลกประเภททีมผสม

 

สำหรับ โธมัส คัพ ถือเป็นการแข่งขันแบดมินตันชิงแชมป์โลกรายการเก่าแก่ที่สุด โดยเริ่่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1948-49 และได้รับการตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ เซอร์ จอร์จ โธมัส ตำนานผู้ก่อตั้งและประธานสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติ (สหพันธ์แบดมินตันโลกในปัจจุบัน) ซึ่งต้องการให้วงการลูกขนไก่มีการแข่งขันประเภททีมชิงแชมป์โลกเหมือน เดวิส คัพ ของกีฬาเทนนิส ก่อนจะจัดแข่งขันรายการนี้ขึ้นทุก ๆ 3 ปี จนถึงปี 1982 จึงเปลี่ยนเป็นจัดแข่งแบบปีเว้นปีจนถึงปัจจุบัน (ยกเว้นปี 2020 ที่ต้องเลื่อนแข่งมาเป็นปี 2021 เนื่องจากปัญหาไวรัสโควิด)

 

ขณะที่ อูเบอร์ คัพ เกิดขึ้นให้หลัง โธมัส คัพ เกือบ 10 ปี จากความคิดริเริ่มของ เบ็ตตี้ อูเบอร์ ตำนานลูกขนไก่ชาวสหราชอาณาจักรที่อยากให้มีการชิงแชมป์โลกประเภททีมหญิงเหมือนอย่างทีมชาย ก่อนจะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1956-57 และตั้งชื่อเป็นเกียรติให้กับเธอ โดยจัดแข่งทุก ๆ 3 ปีจนถึงปี 1984 ที่รวมกับ โธมัส คัพ จึงเปลี่ยนมาจัดแข่งแบบปีเว้นปี

 

 

"มหาอำนาจ โธมัส-อูเบอร์ คัพ"

 

นับตั้งแต่จัดแข่งมาทั้งหมด 31 ครั้ง มีเพียง 5 ชาติที่เคยได้เป็นแชมป์ โธมัส คัพ ส่วนชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือ อินโดนีเซีย เจ้าของแชมป์ 14 สมัย จากการเข้าชิง 19 ครั้ง และเข้าถึงรอบรองชนะเลิศเป็นอย่างน้อยเกือบทุกสมัย นับตั้งแต่เข้าร่วมการแข่งขันในปี 1958 พลาดเพียงครั้งเดียวคือในปี 2012 ขณะที่แชมป์หนล่าสุดของพวกเขาคือเมื่อปีที่แล้ว หลังเว้นว่างไปนานเกือบ 20 ปี นอกจากนั้นยังเคยคว้าแชมป์ 4 สมัยติดกันในปี 1970-1979 และ 5 สมัยติดในปี 1994-2002  

 

ส่วน จีน คือชาติที่คว้าแชมป์ โธมัส คัพ มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ทำได้ 10 สมัย รวมถึง 5 สมัยซ้อนในปี 2004-2012 ถัดมาคือ มาเลเซีย 5 สมัย และ เดนมาร์กกับญี่ปุ่นชาติละ 1 สมัย  

 

ขณะที่ศึก อูเบอร์ คัพ ที่แข่งมาแล้ว 28 ครั้ง ไม่มีชาติใดประสบความสำเร็จไปมากกว่านัดแบดสาวจากแดนมังกร เมื่อจีนคว้าแชมป์ไปถึง 15 สมัย รวมถึงครั้งล่าสุดที่ประเทศเดนมาร์ก โดยจีนเคยคว้าแชมป์ 5 สมัยติดในปี 1984-1992 และ 6 สมัยติดช่วงปี 1998-2008 นอกจากนั้นจีนยังเข้ารอบชิงได้เกือบทุกสมัยนับตั้งแต่เข้าร่วมการแข่งขันในปี 1984 ยกเว้นปี 2018 ที่ตกรอบรองชนะเลิศจากการแพ้ไทยเจ้าภาพ 2-3 คู่

 

ส่วน ญี่ปุ่น คือชาติที่คว้าแชมป์ อูเบอร์ คัพ มากที่สุดรองลงมา หลังทำได้ 6 สมัย ตามด้วย อินโดนีเซียกับสหรัฐฯ ชาติละ 3 สมัย และ เกาหลีใต้ 1 สมัย

 

 

อ่านเพิ่มเติม : 

เช็กฟอร์ม 12 นักแบดมินตันไทยชุดอูเบอร์ คัพ 2022

เช็กฟอร์ม 12 นักแบดมินตันไทยชุดโธมัส คัพ 2022

 

 

"ระบบคัดเลือกหายอดทีมลงชิงชัย"

 

การจัดสรรโควตาแต่ละทวีปเพื่อหา 16 ยอดทีมเข้าร่วมการแข่งขัน ทั้ง โธมัส และ อูเบอร์ คัพ ใช้รูปแบบเดียวกันคือ 4 ชาติจากเอเชีย และ 4 ชาติจากยุโรป ส่วน แอฟริกา, โอเชีย เนีย และ อเมริกา ได้ทวีปละ 1 โควตาเท่ากัน เจ้าภาพและแชมป์เก่าได้โควตาอัตโนมัติ ส่วนที่เหลืออีก 3 ที่นั่งมอบให้ชาติที่มีอันดับโลกดีที่สุด คำนวณจากอันดับโลกของนักแบดประเภทเดี่ยว 3 อันดับแรกและประเภทคู่ 2 อันดับแรกของประเทศ

 

สำหรับโควตาในแต่ละทวีปใช้วิธีการคัดเลือกตามแต่ละสมาพันธ์พิจารณา เช่น เอเชียมอบให้กับ 4 ชาติที่เข้าถึงรอบรองชนะเลิศการแข่งขันประเภททีมชิงแชมป์เอเชีย เช่นเดียวกับ แอฟริกา และอเมริกาที่ให้สิทธิ์แชมป์ทวีป ส่วน ยุโรป และ โอเชีย มอบให้กับทีมที่มีอันดับโลกดีที่สุด  

 

 

"ศึกแห่งฝีมือและกลยุทธ์"

 

แน่นอนว่าเมื่อได้ชื่อเป็นรายการชิงแชมป์โลกแล้ว แต่ละชาติย่อมขนเอายอดนักตบลูกขนไก่ชั้นนำของประเทศมาประชันฝีมือ ซึ่งด้วยระบบการแข่งขันประเภทเดี่ยว 3 แมตช์ สลับกับประเภทคู่ 2 แมตช์ รวมถึงสามารถส่งรายชื่อผู้เล่นไปได้ 12 คน ทำให้ไม่ใช่แค่เรื่องฝีมือเฉพาะตัวของนักกีฬาเท่านั้นที่จะตัดสินชัยชนะ แต่ยังขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การวางตัวนักกีฬาลงแข่งขัน ที่อาจพลิกสถานการณ์จากอันดับโลกที่เป็นรอง เก็บชัยชนะ 3 จาก 5 คู่ที่ต้องการได้สำเร็จ

 

 

"เชียร์สดได้ทั้งหน้าจอและติดขอบสนาม"

 

ศึกโธมัส-อูเบอร์ คัพ ที่ อิมแพ็ค อารีนา เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 8-15 พฤษภาคม 2565 เปิดให้แฟนกีฬาลูกขนไก่เข้าชมจำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ของความจุสนามโดยจัดเป็นแบบ 1 ที่นั่ง เว้น 1 ที่นั่ง และเว้นระยะตามข้อกำหนดของทางราชการ รวมถึงมีมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิ, แสดงผลตรวจ ATK, เช็กประวัติการได้รับวัคซีนป้องกัน ฯลฯ  

 

ผู้ที่สนใจเข้าชมสามารถซื้อบัตรได้ที่ “ไทยทิคเก็ตเมเจอร์” ทุกสาขา บัตรเข้าชมทุกที่นั่งจะได้รับการ์ดเป็นภาพนักกีฬามือระดับโลกเป็นที่ระลึก ส่วนผู้ที่ไม่สามารถเดินทางเข้าชมที่สนามได้ ติดตามการถ่ายทอดสดได้ทางทรูวิชั่นส์ตลอดการแข่งขัน และชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันของนักกีฬาทีมชาติไทย ทางทรูโฟร์ยู ช่อง 24 และทาง https://true4u.com/live

 

โปรแกรมการลงสนามของทีมแบดมินตันไทยในศึก “โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ บีดับเบิลยูเอฟ โธมัส-อูเบอร์ คัพ 2022” ที่อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี ในรอบแบ่งกลุ่ม มีดังนี้

วันอาทิตย์ที่ 8 พ.ค. 65

เวลา 14.00 น. ทีมหญิงอูเบอร์ คัพ ไทย พบกับ อียิปต์ (คอร์ต 4)

เวลา 19.00 น. ทีมโธมัส คัพ ไทย พบกับ เกาหลีใต้ (คอร์ต 1)

 

วันจันทร์ที่ 9 พ.ค.65  

เวลา 14.00 น. ทีมหญิงอูเบอร์ คัพ ไทย พบกับ มาเลเซีย (คอร์ต 1)

เวลา 19.00 น. ทีมชายโธมัส คัพ ไทย พบกับ อินโดนีเซีย (คอร์ต 1)

 

วันอังคารที่ 10 พ.ค.65

เวลา 19.00 น. ทีมหญิงอูเบอร์ คัพ ไทย พบกับ เดนมาร์ก (คอร์ต 2)

 

วันพุธที่ 11 พ.ค.65

เวลา 14.00 น. ทีมชายโธมัส  คัพ ไทย พบกับ สิงคโปร์ (คอร์ต 3)


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose