4 พฤษภาคม 2565
นักกีฬาไทยในระดับอินเตอร์และระดับโลกในวันนี้ ล้วนแล้วแต่เริ่มต้นด้วยความรักในการเล่นกีฬา ใฝ่ฝันอยากจะติดทีมชาติ และคว้าชัยชนะมาครอง โดยกีฬาซีเกมส์เป็นหนึ่งในเวทีที่จุดประกายให้เขาและเธอเหล่านั้น เหรียญทองที่คว้ามาคล้องคอ มีส่วนสำคัญที่ส่องแสงบนเส้นทางที่นำไปสู่การเป็น “สุดยอดนักกีฬา”
รัชนก อินทนนท์
สาวน้อยมหัศจรรย์แห่งวงการแบดมินตันไทย “เมย์” รัชนก อินทนนท์ ด้วยวัย 12 ปี ลงแข่งขันแบดมินตันชิงแชมป์ประเทศไทย ปี 2550 ครั้งนั้นเธอได้เหรียญทองแดง, ปี 2551 เธอได้เหรียญเงิน และปี 2552 เธอได้เหรียญทอง
“บันได 3 ขั้น” ส่งให้ “เมย์” ก้าวต่อไป ในการแข่งขันแบดมินตันเยาวชนโลก 2008 “บีดับเบิลยูเอฟ เวิลด์จูเนียร์แชมเปี้ยนชิพ” สามารถเข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้าย ก่อนที่เธอจะคว้าเหรียญทองมาครองในปี 2009 ที่มาเลเซีย ,2010 ที่เม็กซิโก และ 2011 ที่ไต้หวัน สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักแบดมินตันอายุน้อยที่สุดที่ได้แชมป์รายการนี้ และได้ถึง 3 สมัยติดต่อกัน
ปี 2010 “เมย์” เริ่มลงแข่งขันในทัวร์ใหญ่ และคว้าแชมป์ รายการระดับกรังด์ปรีซ์ กรังด์ปรีซ์ โกลด์ และซูเปอร์ซีรีส์ ตามด้วยเหรียญเงินประเภททีมหญิง กีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 16 ที่กวางโจว แม้จะแพ้จีน เจ้าภาพอย่างราบคาบในรอบชิงชนะเลิศ แต่จีนก็ต้องจับตามองนักแบดมินตันดาวรุ่งของไทยอย่างใกล้ชิด
ชื่อของ รัชนก อินทนนท์ กลายเป็นนักหวดลูกขนไก่คนสำคัญของทีมชาติไทยตั้งแต่อายุยังน้อย
ปี 2011 “เมย์” ร่วมทัพทีมชาติไทยไปแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 26 ที่ประเทศอินโดนีเซีย และสามารถคว้าเหรียญทองประเภททีมหญิงมาครอง บวกกับ 1 เหรียญทองแดง (หญิงเดี่ยว) โดยเหรียญทองแบดมินตันในกีฬาซีเกมส์ ไม่ว่าจะมาจากประเภทใด ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีชาติที่แข็งแกร่งอย่างอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ขวางทางอยู่ แต่สาวนักหวดไทยก็ทำสำเร็จ และถึงตอนนี้ไม่มีใครสงสัยอีกต่อไป ในชื่อของ “เมย์” สาวน้อยนักแบดมินตันไทยที่กำลังจะเขย่าวงการแบดมินตันโลก
ปี 2013 อีกครั้งที่กวางโจว สิ่งที่วงการแบดมินตันจีนหวั่นวิตกก็เป็นจริง เมื่อ รัชนก อินทนนท์ เอาชนะ หลี่ เสี่ยวเร่ย มือ 1 ของโลกในรอบชิงชนะเลิศ คว้าตำแหน่งแชมป์โลกมาครอง พร้อมกับทำสถิติเป็นแชมป์โลกหญิงเดี่ยว ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วยวัยแค่ 18 ปี พร้อมทั้งก้าวขึ้นมาเป็นมือ 3 ของโลก
ปี 2015 สาวไทยไม่ลืมที่จะคว้าแชมป์แบดมินตันเอเชียมาครองที่อู่ฮั่น จากนั้น ปี 2016 รัชนก สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยการเป็นนักแบดมินตันคนแรกที่ได้แชมป์ซูเปอร์ซีรีส์ 3 รายการในช่วง 3 สัปดาห์ติดต่อกัน ที่อินเดีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ทำให้ “เมย์” ครองตำแหน่งมือ 1 ของโลกด้วยวัย 21 ปี
แม้จะไม่เคยได้เหรียญทองซีเกมส์ประเภทหญิงเดี่ยว แต่ “เมย์” ยกระดับทีมแบดมินตันหญิงไทยให้อยู่ในระดับสูงสุดในอาเซียน ด้วยการคว้าเหรียญทองประเภททีมหญิงได้อีก 2 เหรียญทอง ในซีเกมส์ ครั้งที่ 28 ที่สิงคโปร์ ปี 2015 และ ครั้งที่ 30 ที่ฟิลิปปินส์ ปี 2019
ช่วงเวลา “5 ปีทองคำ” จากปี 2009 ถึงปี 2013 จากแชมป์เยาวชนโลก มาสู่ทีมชุดใหญ่ การคว้าเหรียญทองซีเกมส์ 2011 ประเภททีมหญิง คือการจุดประกายและสร้างความเชื่อมั่นให้ รัชนก อินทนนท์ ก้าวผ่านบันไดแห่งความสำเร็จทีละขั้น จากอาเซียน ไปสู่เอเชีย และสู่ตำแหน่งสูงสุดของโลก
พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ
"เทนนิส" ที่ใคร ๆ เรียกสั้น ๆ ว่า “นิด “หรือ “นิส” เด็กน้อยจากสุราษฎร์ธานี ตัวเล็ก ๆ ผอม ๆ แขนขายาว ดูเก้งก้าง ไม่มีใครรู้ว่าเธอกลายเป็น “คนเตะคน” ไปได้อย่างไร
พาณิภัคเริ่มเล่นกีฬาเทควันโดตั้งแต่อายุ 9 ขวบ เข้าสู่การเป็นนักกีฬาเทควันโดเยาวชนทีมชาติในปี 2554 ขณะมีอายุเพียง 13 ปี จากการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 27 ที่ จ.อุตรดิตถ์ โดยคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันเทควันโด รุ่นไม่เกิน 42 กก.หญิง
เตะครั้งนั้น ทำให้ ชเว ยองซอก ผู้ฝึกสอนเทควันโดทีมชาติไทย เรียกตัว “เทนนิส” เข้ามาฝึกซ้อมและคัดเลือกเป็นนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย “โค้ชเช” คิดว่า “เทนนิส” มีโอกาสจะเป็นเหมือน “วิว” เยาวภา บุรพลชัย เจ้าของเหรียญทองแดงเทควันโด โอลิมปิกเกมส์ 2004 “เอเธนส์เกมส์” หรืออาจจะไปไกลกว่านั้น
“เทนนิส” เตะตามไอดอลของตัวเองทั้ง “วิว” เยาวภา และ “เล็ก” ชนาธิป ซ้อนขำ จอมเตะสาวรุ่นพี่ เจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิกเกมส์ 2012 “ลอนดอนเกมส์” ที่พาณิภัคเป็นคู่ซ้อมให้ด้วย โดย “เทนนิส” เริ่มติดเยาวชนทีมชาติไทยตั้งแต่ปี 2011 ก่อนไปคว้าเหรียญเงิน เอเชียนยูธเกมส์ 2013 ที่นานกิง และในปีเดียวกันนั้นเอง เธอติดทีมชาติไทย ร่วมการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 27 ที่ประเทศเมียนมาร์ โดยในรุ่น 46 กก.หญิง รอบชิงชนะเลิศ พาณิภัค พ่ายคะแนนให้กับนักกีฬาเจ้าภาพแบบค้านสายตา แม้จะมีการประท้วงแต่ก็ไม่เกิดผลใด ๆ
ไม่ใช่เหรียญทองซีเกมส์ แต่เหรียญเงิน “เนปิดอว์เกมส์” นั้น มีค่าสำหรับพาณิภัคยิ่งกว่า เพราะมันเป็นบทเรียนสำคัญ และทำให้จอมเตะสาวไทยมุ่งมั่นกว่าเดิมนับร้อยนับพันเท่า
พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เตะคนไม่หยุด เธอคว้าเหรียญทอง ยูธโอลิมปิกเกมส์ 2014 ที่นานกิง และเมื่อถึงปี 2016 “เทนนิส” ก็คว้าเหรียญทองแดงโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่ ริโอ เดอ จาเนโร มาครอง แต่นั่นยังไม่ใช่จุดสูงสุดของเธอ เพราะเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ต่างหากคือ สุดยอดปรารถนา
จากความพ่ายแพ้ใน “ริโอเกมส์” และได้เหรียญทองแดงปลอบใจ พาณิภัค เริ่มสะกดคำว่า “แพ้” ไม่เป็น โดยในซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ที่มาเลเซีย ปี 2017 และครั้งที่ 30 ที่ฟิลิปปินส์ ปี 2019 จอมเตะสาวไทยเคลียร์ความรู้สึกได้หมดสิ้นด้วยการคว้าเหรียญทองมาครอง แถมด้วยเหรียญทองเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่อินโดนีเซีย ปี 2018 ก้าวสู่การเป็นจอมเตะหมายเลข 1 ของโลก และไปบรรลุความสำเร็จในการคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ กีฬาเทควันโดโอลิมปิกเกมส์ 2020 “โตเกียวเกมส์” ที่แข่งขันในปี 2021
สาวเสียงเล็ก ๆ ตัวผอม ๆ ดูเก้งก้างคนเดิม ยังไม่หยุดฝันที่จะคว้าเหรียญโอลิมปิกเกมส์เป็นเหรียญที่ 3 ชัยชนะและทุกความสำเร็จบนโลกใบนี้ เธอคว้ามันมาได้ทั้งหมดแล้ว และเธอได้เข้าไปอยู่ในทำเนียบสุดยอดนักกีฬาไทยตลอดกาล
หากแต่จุดเปลี่ยนที่มีส่วนสำคัญในการผลักดัน “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ อาจจะมาจาก “เหรียญเงินซีเกมส์” หม่น ๆ อันนั้น
สุธิยา จิวเฉลิมมิตร
ผู้หญิงที่คิดจะจับปืนผาหน้าไม้ คงไม่มีใครเห็นด้วยง่าย ๆ เช่นเดียวกับ “ณี” สุธิยา จิวเฉลิมมิตร ที่ครอบครัวไม่เห็นด้วยเพราะเกรงว่าจะเกิดอันตราย จะมีก็เพียง “บังอร จิวเฉลิมมิตร” คุณอาที่เป็นนักแม่นปืนเป้าบินทีมชาติไทย ชวนเธอไปสนามซ้อมที่ สมาคมกีฬายิงเป้าบินแห่งประเทศไทย ภายในการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) หัวหมาก
เมื่อลองได้จับปืน ได้ลองยิงนัดแรกแห่งชีวิตและถูกเป้าทันที เป็นใคร ๆ ใครก็ชอบ และมันทำให้เธอต้องยิงปืนนัดต่อไป และต่อ ๆ ไป
กว่าจะรู้ตัว สุธิยา จิวเฉลิมมิตร ก็ติดทีมชาติไทยตอนอายุราว 16 ปี และไต่เต้าไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเธอไปคว้าเหรียญทองซีเกมส์ ครั้งที่ 22 ที่เวียดนาม ปี 2003 นำมาซึ่งความปลาบปลื้มใจ และคิดว่าได้เดินมาถูกทางแล้ว เพราะนั่นเป็นช่วงเวลาเดียวกับการที่คุณพ่อสร้างสนามยิงปืนให้ฝึกซ้อมที่บ้าน และ “ณี” ก็คว้าเหรียญทองซีเกมส์ ครั้งที่ 23 ที่ฟิลิปปินส์ ปี 2005 และครั้งที่ 24 ที่ จ.นครราชสีมา ปี 2007
เธอคือ นักแม่นปืนแชมป์ซีเกมส์ 3 สมัยซ้อน ในอาเซียนไม่มีความท้าทายอีกแล้ว
สุธิยาได้ไปลั่นกระสุนในโอลิมปิกเกมส์ 2008 ที่ปักกิ่ง และเกือบจะทำสำเร็จในการคว้าเหรียญโอลิมปิกเกมส์ประวัติศาสตร์มาได้ แต่ก็พลาดไปโดยทำได้เพียงคว้าอันดับ 5 มาครอง จากนั้นก็ยังรักษามาตรฐานด้วยการผ่านเข้าไปแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ 2012 “ลอนดอนเกมส์”, โอลิมปิกเกมส์ 2016 “ริโอเกมส์” และ โอลิมปิกเกมส์ 2020 “โตเกียวเกมส์”
กีฬายิงเป้าบินสกีตหญิง สุธิยา จิวเฉลิมมิตร สร้างความสำเร็จได้นับไม่ถ้วน นอกจากเหรียญทองซีเกมส์ 3 สมัยซ้อน ยังมีเหรียญทองเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่อินโดนีเซีย ปี 2018 ,เอเชี่ยนเคลย์ชู้ตติ้ง แชมเปี้ยนชิพ, กีฬามหาวิทยาลัยโลก,ชิงแชมป์เอเชีย และเวิลด์คัพ สนามต่าง ๆ โดย ในศึก “ไอเอสเอสเอฟ 2016” ที่บราซิล “ณี” คว้าแชมป์มาครอง และตามด้วยรายการเดียวกันในสนามที่ ซานมาริโน จากการคว้าชัย 2 สนาม ทำให้ สหพันธ์ยิงเป้าบินนานาชาติ (ไอเอสเอสเอฟ) ได้ประกาศการจัดอันดับคะแนนของ นักยิงเป้าบินสกีตหญิง เดือนกรกฎาคม ปี 2016 สุธิยา จิวเฉลิมมิตร ได้เป็นหมายเลข 1 ของโลก
ถ้าไม่มุ่งมั่นในการเดินทางสายนี้อย่างจริงจัง ไม่มีทางที่เธอจะมาถึงจุดนี้
กีฬาเป้าบิน เป็นการแข่งขันของกีฬาที่ต้องมีสมาธิ และอยู่กับตัวเองค่อนข้างมาก เมื่อขึ้นสู่จุดสูงสุด ก็ต้องตกลงมาสักวัน แล้วก็อาจจะกลับขึ้นไปอยู่บนนั้นได้ใหม่ อยู่ที่หัวจิตหัวใจที่ไม่ยอมแพ้
ย้อนกลับไปในปี 2012 สุธิยา ได้สูญเสียคุณพ่อ “สวัสดิ์ จิวเฉลิมมิตร” ที่ประสบอุบัติเหตุในโรงงานที่ จ.สระแก้ว ไม่มีโอกาสได้เห็นความสำเร็จของลูกสาวที่มีอย่างต่อเนื่อง ในฐานะนักยิงปืนเป้าบินสาวมือ 1 ไทย แต่อย่างน้อยที่สุด คุณพ่อก็ไม่ต้องเป็นห่วงกังวลใด ๆ ในตัวลูกสาวคนนี้ เหมือนครั้งที่ “ณี” จับปืนเป็นครั้งแรก
เพราะกระสุนที่ลั่นออกไป แต่ละนัดล้วนยิงไปสู่เป้าหมาย
“ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง
คำว่า “แจ้งเกิด” ในซีเกมส์ ไม่มีนักกีฬาไทยคนไหนเหมาะสมเท่ากับ “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง
แฟนบอลไทยไม่มีใครลืมเกมฟุตบอลทีมชาย นัดชิงชนะเลิศกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 17 ที่สิงคโปร์ เมื่อปี 1993 ระหว่าง ไทย กับ พม่า โดยทีมชาติไทยร้างตำแหน่งแชมป์มา 8 ปี
เกมนั้น ไทยนำ 3-1 ก่อนจะถูกตามตีเสมอ 3-3 ยิ่งเล่นนักเตะไทยยิ่งป้อแป้ ฝันทำท่าจะสลาย จนกระทั่ง เด็กหนุ่มขอนแก่น วัย 20 ปี ถูกส่งลงสนาม และโหม่งลูกสุดมหัศจรรย์เป็นประตูชัยให้ทีมชาติไทย ชนะ พม่า 4-3 ได้เหรียญทองสุดดราม่า พร้อมกับการแจ้งเกิดของ “ศูนย์หน้าจอมตีลังกา” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง
“ซิโก้” เกิดวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2516 ที่อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี แต่ย้ายตามครอบครัวไปภูมิลำเนาเดิมที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จึงถือว่าเขาเป็นชาวจังหวัดขอนแก่นอย่างเต็มตัว ฉายาเต็มจึงต้องเป็น “ซิโก้ขอนแก่น”
ซิโก้เริ่มต้นติดทีมชาติไทยจากชุดเยาวชน กระทั่งปี 2536 ก็ติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ครั้งแรก ในการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 24 แต่ไฮไลท์สำคัญคือ ศึกซีเกมส์ ที่เขาได้เหรียญทอง 4 สมัยติดต่อกันในครั้งที่ 17 สิงคโปร์, ครั้งที่ 18 เชียงใหม่, ครั้งที่ 19 อินโดนีเซีย และครั้งที่ 20 บรูไน ก่อนที่ซีเกมส์จะมีการกำหนดอายุนักเตะเข้าแข่งขันจนถึงปัจจุบัน
กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 20 ที่บรูไน เมื่อปี 1999 รอบแบ่งกลุ่ม “ซิโก้” ตอกย้ำความเป็นศูนย์หน้าเบอร์ 1 อาเซียนด้วยการระเบิดแฮททริค นัดที่ไทย ถล่ม ฟิลิปปินส์ 9-0
ในระดับเอเชียนเกมส์ “ซิโก้” อยู่ในชุดอันดับ 4 ถึง 2 สมัยติดกัน ในครั้งที่ 13 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ 1998 และ ครั้งที่ 14 ที่ปูซาน เกาหลีใต้ ปี 2002 และคว้าแชมป์รายการที่ควรจะได้มาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคิงส์คัพ, อาเซียนคัพ ตลอดจนถึงรอบสุดท้ายของฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก โซนเอเชีย เรียกว่าอยู่ในยุคสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดช่วงหนึ่งของวงการฟุตบอลไทย
เมื่อแขวนสตั๊ด “ซิโก้” ก็เข้าสู่วงการโค้ชจากระดับสโมสร ก็มารับหน้าที่คุมทัพ “ช้างศึก” ไปคว้าเหรียญทองซีเกมส์ ครั้งที่ 27 ที่เมียนมาร์ หลังจากทีมไทยไม่ได้แชมป์มา 6 ปี จากนั้นก็ทำแบบเดียวกับสมัยที่เขาเป็นนักเตะ ด้วยการสร้างความสำเร็จทุกอย่างให้ทีมชาติไทยตามรอยที่เขาเคยทำได้ทั้งหมด
สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) บันทึกว่าซิโก้เป็นผู้ทำประตูสูงสุด ให้แก่ทีมชาติไทยชุดใหญ่ ที่ 71 ประตู จากการลงเล่น 134 นัด ในการแข่งขันอย่างเป็นทางการที่รับรองโดยฟีฟ่า โดย "เดอะ มิเรอร์" สื่อชั้นนำของประเทศอังกฤษ ได้บันทึกว่า “ซิโก้” อยู่ในทำเนียบนักเตะที่ยิงประตูสูงสุดในนามทีมชาติ โดยในระหว่างปี 2535–2550 ติดทีมชาติ 131 นัด ยิง 70 ประตู
ซิโก้ เคยถูกผลักดันให้ไปเล่นสโมสรอาชีพที่อังกฤษ โดยได้ไปทดสอบฝีเท้ากับทีมมิดเดิลสโบรจ์ห ก่อนจะมาลงเอยกับ ฮัดเดอร์ฟิลด์ ความฝันของแฟนบอลไทยลุกโชนที่จะได้เห็นคนไทยโชว์ฝีเท้าในเวทีฟุตบอลอังกฤษเมื่อ “ซิโก้” พูดในโฆษณาชิ้นหนึ่งว่า “ประตูต่อไปผมจะยิงที่เวมบลีย์”
นักฟุตบอลไทยคนหนึ่ง ที่เป็นหมายเลข 1 ของประเทศ อาจจะไปไม่ถึงแกนกลางของโลกฟุตบอลอย่างที่ใฝ่ฝัน แต่สำหรับ “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ความสำเร็จของเขาที่ “แจ้งเกิด” จากกีฬาซีเกมส์ จนกลายมาเป็นหนึ่งในตำนานนักเตะทีมชาติไทย ที่ป๊อปปูลาร์ที่สุดตลอดกาล ก็นับว่าเพียงพอแล้ว
TAG ที่เกี่ยวข้อง