stadium

6 เรื่องควรรู้ก่อนเชียร์แบดมินตันไทยในศึก ออล อิงแลนด์ 2022

15 มีนาคม 2565

แบดมินตัน ออล อิงแลนด์ รายการเก่าแก่ที่มีอายุถึง 123 ปี จัดแข่งเป็นครั้งที่ 114 ที่สังเวียนเบอร์มิงแฮมอารีน่า เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ รายการระดับเวิลด์ทัวร์ ซูเปอร์ 1000 ระหว่างวันที่ 16-20 มีนาคม ในปีนี้มีเรื่องราวอะไรน่าสนใจบ้าง ติดตามไปพร้อมกัน

 

 

เงินรางวัลเพิ่มขึ้น

 

ออล อิงแลนด์ คือ 1 ใน 3 บิ๊กอีเว้นท์รายการระดับเวิลด์ทัวร์ ซูเปอร์ 1000 จัดเป็นรายการแรกของปี จัดขึ้นทุกเดือนมีนาคม โดยในปีนี้ชิงเงินรางวัลรวม 1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 33,450,000 บาท ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วถึง 250,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8 ล้านบาท อย่างไรก็ตามยังเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าปี 2020 อยู่ 1 แสนเหรียญสหรัฐ

 

แชมป์ในประเภทเดี่ยวจะได้รับเงินรางวัล 69,300 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.3 ล้านบาท ส่วนรองแชมป์รับเงินรางวัล 33,660 เหรียญสหรัฐ  หรือ ประมาณ 1.1 ล้านบาท

 

ขณะที่แชมป์ในประเภทคู่รับเงินรางวัล 73,260 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.5 ล้านบาท ส่วนรองแชมป์รับ 34,650 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.2 ล้านบาท

 

 

ขนไก่ไทย ดีสุดรองแชมป์ 9 ครั้ง

 

ในอดีต 113 ครั้ง ออล อิงแลนด์ มีนักแบดมินตันไทยผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศได้ทั้งหมด 9 ครั้ง มีเพียง เจริญ วรรธนะสิน กับ รัชนก อินทนนท์ ที่ผ่านเข้าชิงคนละ2 ครั้ง แต่น่าเสียดายตรงที่ยังไม่มีใครได้สุขสมหวังเลยแม้แต่หนเดียว  

 

เจริญ วรรธนะสิน ประเภทชายเดี่ยว เข้าชิง 2 สมัย (1960, 1962)

ชาญณรงค์ รัตนแสงสรวง ประเภทชายเดี่ยว เข้าชิง 1 สมัย (1963)

รัชนก อินทนนท์ ประเภทหญิงเดี่ยว เข้าชิง 2 สมัย (2013, 2017)

ณรงค์ พรฉิม กับ ระพี กาญจนระพี ประเภทชายคู่ เข้าชิง 1 สมัย (1962)

สุดเขต ประภากมล กับ สรารีย์ ทุ่งทองคำ ประเภทคู่ผสม เข้าชิง 1 สมัย (2011)

เดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ประเภทคู่ผสม เข้าชิง 1 สมัย (2020)

พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์ ประเภทหญิงเดี่ยว เข้าชิง 1 สมัย (2021)

 

 

บาส-ปอป้อ งานไม่ง่าย

 

ถูกคาดหวังจากแฟนๆ แน่นอนที่จะคว้าแชมป์ในปีนี้ ด้วยฟอร์มที่กำลังดีวันดีคืน เพิ่งคว้าแชมป์เยอรมัน โอเพ่น ในสัปดาห์ก่อน คว้าแชมป์ 6 รายการติดต่อกัน ถือเป็นความสำเร็จต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว

 

ด้วยองค์ประกอบหลายๆ อย่าง ทั้งความเข้าใจเกม สภาพร่างกาย ความมั่นใจ สมาธิ เรียกได้อยู่ในช่วงพีคสุดๆ สมราคาแชมป์โลก แต่การจะคว้าแชมป์ออล อิงแลนด์ ในปีนี้กลับไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อคู่นี้ผสมจีน 2 คู่อย่าง เจิ้ง ซีเว่ย กับหวง หย่า ฉง คู่มือ 2 ของโลก และ หวัง ยี่ลู่ กับ หวง ตงปิง คู่มือ 3 ของโลก เริ่มกลับมาคืนสนามกันอีกครั้ง แม้ฟอร์มของจีนทั้ง 2 คู่จะยังไม่ลงตัวเหมือนช่วงก่อนโควิดที่ไร้เทียมทาน แต่ก็ยังจัดว่าเป็นกระดูกชิ้นโตที่ต้องเคี้ยวให้ได้หากจะเป็นแชมป์

 

 

“วิว” กุลวุฒิ ปลดล็อก

 

ถูกคาดหวังว่าไว้สูงมากว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นนักแบดแถวหน้าของชายเดี่ยวต่อจาก บุญศักดิ์ พลสนะ โดย กุลวุฒิ วิทิตศานต์ นักแบดมินตันวัย 20 ปี ค่อยๆ ยกระดับขึ้นมาอย่างน่าสนใจ 

ระหว่างที่เข้ารายการระดับร่วมเวิลด์ ทัวร์ ในปี 2020-21 เขาผ่านเข้าชิงได้ถึง 3 รายการ แต่น่าเสียดายที่แพ้ต่อ วิคเตอร์ อเซลเซ่น มือ 1 ของโลกทั้ง 3 รายการ (เวิลด์ทัวร์ 300 ชิง 2 ครั้ง และเวิลด์ ทัวร์ ไฟน่อล 1 ครั้ง)

 

อย่างไรก็ตามพอเข้าปี 2022 เพียงแค่อีเว้นท์แรง “วิว” กุลวุฒิ ก็ปลดล็อก นับ 1 ความสำเร็จ คว้าแชมป์เยอรมัน โอเพ่น โดยเป็นล้มมืออันดับโลกที่เหนือกว่าเขาเกือบตลอดเส้นทาง เริ่มต้นจากชนะ ปารุปัลลี กาชยาพ อดีตมือ 6 ของโลกในรอบแรก, รอบสองชนะ โจนาธาน คริสตี้ มือ 8 ของโลก, ชนะก่อนรองชนะเลิศ ล้ม เคนตะ นิชิโมโตะ มือ 19 ของโลก รอบรองชนะเลิศ เอาชนะ ลี ซี เจี๋ย มือ 7 ของโลก และรองชิงก็โค่น ลัคย่า เซน มือ 12 ของโลก

 

เชื่อว่าความสำเร็จครั้งนี้จะช่วยเรียกความมั่นใจในแมตช์ใหญ่มากขึ้น งานนี้เราอาจได้เห็น “วิว” ล้มยักษ์อีกครั้งก็ได้

 

 

 

ไทยไร้หญิงเดี่ยวถึง 3 คน

 

ในช่วงหลายปีมานี้ ในประเภทหญิงเดี่ยว เรามีนักแบดฝีมือดีก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับท็อป 20 อยู่หลายคน แต่น่าเสียดายที่ไวรัสโควิด-19 ทำให้เราต้องเสียมือดีไปถึง 3 รายการ "เมย์" รัชนก อินทนนท์ มือ 8 ของโลก ที่ตรวจพบเชื้อระหว่างแข่งเยอรมัน โอเพ่น ขณะที่ "จิว" พิทยาภรณ์ ไชยวรรณ รุ่นน้องจากบ้านทองหยอด และ "หมิว" พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์ มือ 10 ของโลก รองแชมป์เก่า ต่างก็เกมตั้งแต่ก่อนเดินทางไปประเทศอังกฤษ จนต้องถอนตัวไปอย่างน่าเสียดาย

 

 

เชียร์ 18 นักแบดมินตันไทย ลบคำสาป

 

ออล อิงแลนด์ ปีนี้มีนักแบดมินตันไทยเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 18 คนจาก 5 ประเภท มาลุ้นกันว่าจะมีใครลบคำสาปและก้าวขึ้นสู่ทำเนียบแชมป์เป็นคนแรกได้หรือไม่

 

ประเภทหญิงเดี่ยว 

"ครีม" บุศนันทน์ อึ๊งบำรุงพันธุ์ มืออันดับ 11 ของโลก, "จิว" พิทยาภรณ์ ไชยวรรณ มืออันดับ 21 ของ, "เมย์" ศุภนิดา เกตุทอง มืออันดับ 29 ของโลก

 

ประเภทคู่ผสม 

"บาส" เดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับ "ปอป้อ" ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย คู่มืออันดับ 1 ของโลก, "เอ็ม" สุภัค จอมเกาะ กับ "เฟม" ศุภิสรา เพียวสามพราน คู่มืออันดับ 26 ของโลก

 

ประเภทชายเดี่ยว

 "กัน" กันตภณ หวังเจริญ มืออันดับ 21 ของโลก, "วิว" กุลวุฒิ วิทิตศานต์ มืออันดับ 20 ของโลก, "โอ๊ต" สิทธิคมน์ ธรรมศิลป์ มืออันดับ 31 ของโลก

 

ประเภทหญิงคู่ 

"กิ๊ฟ" จงกลพรรณ กิติธารากุล กับ "วิว" รวินดา ประจงใจ คู่มืออันดับ 8 ของโลก, "มูนา" เบญญาภา กับ "อันนา" นันทกาญจน์ เอี่ยมสอาด คู่มืออันดับ 35 ของโลก, "เอิร์ธ" พุธิตา สุภจิรกุล กับ  "เฟม"ศุภิสรา เพียวสามพราน

 

ประเภทชายคู่ 

"เอ็ม" สุภัค จอมเกาะ กับ "สกาย" กิตตินุพงษ์ เกตุเรน คู่มืออันดับ 46 ของโลก

 

ภาพจาก : Badminton Photo

 


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

โฆษณา