stadium

เจาะสถิติ ไทย - อินโดนีเซีย คู่ชิงอาเซียนคัพ 2020

28 ธันวาคม 2564

เดินทางมาถึงรอบสุดท้ายของการแข่งขันกับรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลอาเซียน คัพ หรือ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020 ระหว่าง ทีมชาติไทย แชมป์ 5 สมัย อันดับ 115 ของโลก พบกับ ทีมชาติอินโดนีเซีย อดีตรองแชมป์ 5 สมัย อันดับ 164 ของโลก เหลือการแข่งขันอีกเพียง 2 นัด เราก็จะรู้แล้วว่าแชมป์อาเซียนในปีนี้จะเป็นแชมป์หน้าเก่า สมัยที่ 6 ของประเทศไทย หรือว่าแชมป์หน้าใหม่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลของอินโดนีเซีย 

 

วันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจมาฝากกัน ติดตามพร้อมกันได้ที่นี่

 

 

เทียบดาวซัลโวของทีม

 

เริ่มที่ฝั่งของทีมชาติไทย ที่มีดาวยิงตัวเก๋าอย่าง "มุ้ย" ธีรศิลป์ แดงดา ลงแข่งไป 5 นัด ทำได้ 4 ประตู เพิ่งทุบสถิติและครองดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลในรายการนี้ไปเรียบร้อยแล้วที่ 19 ประตู ทุกประตูที่เกิดขึ้นหลังจากนี้จะทำให้เขาส้รางสถิติส่วนตัวขึ้นมาใหม่อีกหลายอย่าง อาทิ ลุ้นดาวซัลโวสมัยที่ 4, ทำสิถิติยิงประตูสูงสุดตลอดกาล อาเซียน คัพ (19 ประตู), ทำสถิติยิงประตูสูงสุดให้ไทยตลอดกาล อาเซียนคัพ (19 ประตู), ยิงประตูใส่อินโดนีเซียสูงสุดตลอดกาล อาเซียน คัพ (วรวุธ ศรีมะฆะ 5 ประตู, ธีรศิลป์ 5 ประตู)

 

อินโดนีเซีย นำมาด้วยปีกขวาตัวจิ๊ดอย่าง อีร์ฟัน จายา ลงเล่น 6 นัด ยิงได้ 3 ประตู  2 แอสซิสต์ โดยปีกขวาวัย 25 ปี มีจุดเด่นด้านความเร็วและหาพื้นที่ว่างได้ดี อีกทั้งเจ้าตัวยังเป็นส่วนสำคัญในการพาทัพการูดาโค่นสิงค์โปร์ลงในรอบรองชนะเลิศ หลังเรียกฟาล์วให้ทีมได้เปรียบตัวผู้เล่นถึง 2 คน และยิงอีก 1 ประตู

 

 

เทียบผลงานตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่ม

 

ทีมชาติไทย ผลงานในทัวร์นาเม้นท์นี้ 6 นัด ชนะ 5 เสมอ 1 ยิงทั้งหมด 96 ครั้ง ตรงกรอบ 39 ครั้ง ได้ 12 ประตู เสีย 1 ประตู เก็บคลีนชีตได้ 5 เกม มีสถิติผ่านบอล 2,986 ครั้ง แม่นยำ 84%, เคลียร์บอล 103 ครั้ง

 

ขณะที่ทีมชาติอินโดนีเซีย แข่ง 6 นัด ชนะ4 เสมอ 2 สร้างโอกาสทำประตูได้ทั้งหมด 115 ครั้ง ยิงตรงกรอบ 37 หน ได้ 18 ประตู  เสีย 7 ประตู เก็บคลีนชีตได้แค่นัดเดียว ผ่านบอล 2,306 ครั้ง แม่นยำ 79%, เคลียร์บอล 102 ครั้ง

 

จากตัวเลขแสดงให้เห็นว่าเกมรุกของอินโดนีเซียนั้นดุดัน ทำประตูได้มากสุดในรายการนี้ แต่เกมรับก็ยังมีข้อผิดพลาดจากการที่เก็บคลีนชีตได้แค่นัดเดียว ขณะที่ช้างศึกแม้จะยิงประตูได้น้อยกว่า แต่ก็ทำประตูไม่ได้เพียงแค่นัดเดียว คือเกมล่าสุดที่เสมอเวียดนาม 0-0  ส่วนเกมรับก็เสียประตูแค่ลูกเดียวเท่านั้น

 

 

เทียบสไตล์โค้ช

 

มาโน โพลกิง โค้ชชาวบราซิล-เยอรมนี คลุกคลีกับวงการฟุตบอลไทยมาตั้งแต่ปี 2012 เคยได้รองแชมป์อาเซียนคัพ 2012 กับทีมชาติไทยสมัยที่เป็นผู้ช่วยของ วินฟรีด เชเฟอร์ ในปีดังกล่าว

 

แต่ครั้งนี้แตกต่างกันตรงที่เขาขยับขึ้นมาเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนเต็มตัวแล้ว และถึงแม้จะมีเวลาเตรียมทีมน้อย แต่การได้ผู้เล่นมาแบบฟูลทีมครั้งแรกในรอบ 2-3 ปี บวกกับสไตล์การทำทีมที่ขึ้นชื่อเรื่องการครองบอลเล่นเกมรุกเป็นทุนเดิม เพิ่มเติมคือการเล่มเกมรับที่เหนียวแน่น จะเห็นได้ว่าในรายการนี้ทีมไทยชาติเสียไปแค่ประตูเดียว รวมไปถึงเกมที่พบกับเวียดนามทั้ง 2 นัด ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าแทคติคของ มาโน โพลกิง พัฒนาขึ้นจนมีความยืนหยุ่นและหลากหลายมากกว่าในอดีต

 

ด้าน ชิน แท ยอง อดีตโค้ชทีมชาติเกาหลีใต้ ในวัย 51 ปี ที่เคยพาทีมชาติเกาหลีชนะเยอรมันไป 2-0 แบบหักปากกาเซียน ในศึกฟุตบอลโลก 2018 นอกจากนั้นยังมีผลงานเด่นๆ ในอดีตอื่นๆ อีกคือการพาทีม ซองนัม อิลฮวา คว้าแชมป์ เอเอฟซี แชมเปียนลีกส์ 2010 , คว้าแชมป์ เอฟเอคัพ เกาหลีใต้ 2011 และพาทีมชาติเกาหลีใต้คว้าแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติเอเชียตะวันออก 2017 

 

ก่อนที่จะตัดสินใจเข้ามากุมบังเหียนทีมชาติอินโดนีเซียในช่วงปลายปี 2019 มาพร้อมกับการสร้างทีมชาตอินโดนีเซียยุคใหม่ โดยลูกทีมของเขาชุดนี้มีอายุเฉลี่ยเพียง 23.8 ปี เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับไทย (27.1 ปี) แม้ประสบการณ์และเทคนิคของนักเตะจะเป็นรอง แต่บอลของ ชิน แท ยอง มีพร้อมทั้งความเหนียวแน่นตามสไตล์เกาหลี และลูกบ้าของพลังวัยรุ่นก็พร้อมเปิดหน้าแลกเหมือนที่เราเห็นในเกมกับสิงคโปร์และมาเลเซียมาแล้ว

 

 

เทียบสถิติการพบกัน

 

สถิติการพบกันตลอดรวมทุกรายการ 79 ครั้ง ทีมชาติไทยเอาชนะไปได้ 39 ครั้ง เสมอ 14 ครั้ง ส่วนอินโดนีเซียชนะไป 26 ครั้ง หากนับเฉพาะใน "อาเซียนคัพ" คู่นี้พบกันทั้งหมด 12 ครั้ง ปรากฎว่า ทีมชาติไทย เป็นฝ่ายอาชนะไปได้มากกว่าคือ 9 ครั้ง ส่วนอินโดนีเซีย ชนะได้เพียง 3 ครั้ง

 

ขณะที่การพบกัน 5 ครั้งหลังสุดของทีมชุดใหญ่ ก็ยังเป็นทัพช้างศึกที่ทำผลงานได้ดีกว่า โดยเอาชนะไปได้ 3 ครั้ง เสมอ 1 ครั้ง โดยผลชนะเกิดขึ้นใน อาเซียนคัพ 2016 ทัพช้างศึกในยุคโค้ชซิโก้ เอาชนะอินโดนีเซียในบ้านได้ 2-0,  อาเซียนคัพ 2018 ในยุคราเยวัตส์ เปิดบ้านเอาชนะไปได้ 4-2 และเกมคัดบอลโลก 2022 ในยุค อากิระ นิชิโนะ ที่บุกไปเอาชนะอินโดนีเซียถึงถิ่น 3-0 และเสมอไปในเกมเลกสอง 2-2 ส่วนเกมที่ไทยแพ้อินโดนีเซียเกิดขึ้นใน อาเซียนคัพ 2016 เกมแรกที่ไทยบุกไปแพ้ 1-2 แต่ก็พลิกคว้าแชมป์มาครองได้สำเร็จ

 

 

จะแชมป์สมัยที่ 6 หรือ แชมป์สมัยแรก

 

ทีมชาติไทยผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศมาแล้ว 8 ครั้ง คว้าแชมป์ไปได้ 5 สมัยมากที่สุดในอาเซียน โดยการคว้าแชมป์ 3 ใน 5 ครั้งที่คว้าแชมป์ได้มาจากการเอาชนะอินโดนีเซียในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งเกิดขึ้นใน อาเซียนคัพ 2000 ที่เอาชนะไป 4-1 ในฐานะเจ้าภาพพร้อมสร้างสถิติเป็นทีมเดียวที่เอาชนะทุกนัดตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่มจนถึงนัดชิงชนะเลิศ, อาเซียนคัพ 2002 ไทยเอาชนะจุดโทษไป 4-2 และอาเซียนคัพ 2016 โดยนัดแรกเป็นทางอินโดนีเซียเปิดบ้านเอาชนะไปก่อน 2-1 ก่อนที่นัดสองจะได้ 2 ประตูจาก สิโรจน์ ฉัตรทอง พลิกแซงเอาชนะไป 3-2 

 

ขณะที่อินโดนีเซียผ่านเข้าชิงชนะเลิศรายการนี้ 5 ครั้ง มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน เป็นรองเพียงแค่ประเทศไทย แต่ไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาจะยังไม่เคยคว้าแชมป์มาได้เลยสักครั้ง โดย 3 ครั้งที่แพ้ให้กับไทยเกิดขึ้นในปี 2000, 2002 และ 2016 แพ้ให้กับสิงคโปร์ในปี 2004 และแพ้มาเลเซียปี 2010 เพราะฉะนั้นอย่าได้แปลกใจหากเราเห็นนักเตะอินโดนีเซียวิ่งสู้ฟัดแบบลืมตายในรอบชิงสมัยที่ 6 ของเขา

 

บทสรุปในปีนี้จะเป็นช้างศึกที่ทวงความสำเร็จนอนกอดแชมป์สมัยที่ 6 หรือว่าอินโดนีเซียจะเปิดฉากยุคใหม่ด้วยแชมป์สมัยแรก อีกเพียงแค่ 2 นัดก็รู้ผลกันแล้ว รอบชิงชนะเลิศ นัดแรกฟาดแข้งกันในวันที่ 29 ธันวาคม 2021 และนัดที่สองวันที่ 1 มกราคม 2022


stadium

author

StadiumTh Team Content

StadiumTH Content Creator

โฆษณา