stadium

ย้อนรอยชิงแชมป์อาเซียน ช้างศึก “เปิดหัว” และ “ลงท้าย” อย่างไร

15 ธันวาคม 2564

การโรมรันเพื่อยืนหนึ่งในสังเวียนลูกหนังอาเซียน เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1996 หรือ พ.ศ. 2539 เมื่อ 25 ปีก่อน จัดขึ้นในชื่อ “ไทเกอร์ คัพ” ตามชื่อของไตเติ้ลสปอนเซอร์ แข่งขันกันเรื่อยมาจนถึงครั้งล่าสุดซึ่งเดิมต้องจัดในปี 2020 แต่เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนมาจัดในปี 2021 ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 13 แล้ว โดย 12 ครั้งที่ผ่านมานักเตะทีมชาติไทยเปิดหัวในศึกชิงแชมป์อาเซียนได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน และตอนจบสุดท้ายก็น่าสนใจเช่นเดียวกัน

 

 

 

ครั้งที่ 1 ปี 1996 (นัดแรก ชนะฟิลิปปินส์ 5-0 / จบ แชมป์)

 

สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพเพียงชาติเดียว ผู้เล่นจากแดนสยามอยู่ในกลุ่มบี ในชุดนั้น มี “บิ๊กหอย” ในชื่อเดิม ธวัชชัย สัจจกุล รับหน้าที่หลักในการดูแลทีม เป็นหัวหน้าใหญ่ของทีมสตาฟ มี “น้าติ๊ก” สมชาติ ยิ้มศิริ และ สมศักดิ์ เซ็นเชาวนิช เป็นผู้ช่วยโค้ช ผู้เล่นชุดนั้นมีดาวดัง อาทิ “อัลเฟรด” เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์, “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, วัชรพงศ์ สมจิตร, พิทยา สันตะวงศ์, นที ทองสุขแก้ว เป็นกัปตันทีม โชว์ฟอร์มนัดแรกสุดแสนประทับใจ ด้วยการถล่มฟิลิปปินส์เป็นกระบุงถึง 5-0 โดยได้ประตูจากพิทยาและเนติพงษ์คนละ 2 ประตู ส่วนซิโก้ทำเพิ่มอีกลูก

 

ก่อนที่ทีมคลาสสิกชุดนั้นจะเฉือนมาเลเซียในรอบชิงชนะเลิศ 1-0 จากประตูชัยของ “ซิโก้” ที่ลากไปกดจากนอกเขตอย่างสุดสวยตั้งแต่ 9 นาทีแรก ท่ามกลางผู้ชมที่เข้ามาเต็มความจุสนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ คว้าแชมป์ครั้งแรกไปครองได้ในที่สุด

 

 

ครั้งที่ 2 ปี 1998 (นัดแรก เสมอเมียนมา 1-1 / จบได้อันดับ 4)

 

เวียดนามเป็นเจ้าภาพ ซึ่งครั้งนั้นได้เกิดเหตุการณ์อื้อฉาวขึ้นด้วยในแมตช์สุดท้ายรอบแรก ระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย เมื่อผู้เล่นอิเหนาตั้งใจยิงประตูตัวเองเพื่อไม่ต้องการเป็นแชมป์กลุ่ม เพราะต้องเดินทางไกลและหนีเจ้าภาพในรอบรองชนะเลิศ โดยเกมนัดเปิดสนามเมื่อปี 1998 ทีมชาติไทยชุดนั้นเสมอกับเมียนมา 1-1 โดย วรวุธ ศรีมะฆะ ทำให้ทีมขวานทองนำก่อน แต่มาโดนทีมหม่องตีเสมอในครึ่งหลัง

 

เมื่อไปถึงรอบรองชนะเลิศ ทีมชาติไทยไปแพ้ทีมดาวทองเละเทะ 0-3 ต้องไปชิงอันดับ 3 กับอินโดนีเซียอีกที แต่ก็แพ้ในการดวลจุดโทษ ทำให้ได้เพียงอันดับ 4 ส่วนแชมป์ในครั้งนั้นตกเป็นของสิงคโปร์ที่ผงาดขึ้นแท่นเจ้าอาเซียนเป็นครั้งแรก

 

 

 

ครั้งที่ 3 ปี 2000 (นัดแรก ชนะเมียนมา 3-1 / จบ แชมป์)

 

ไทเกอร์ คัพ ยุคมิลเลนเนียมครั้งนี้ ประเทศไทยรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ จัดกันที่กรุงเทพฯ, จังหวัดสงขลา และจังหวัดเชียงใหม่ โดยกลุ่มเอของไทยไปเตะกันที่สนามสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี นัดเปิดสนาม ช้างศึกที่มี ปีเตอร์ วิธ คุมทัพ เอาชนะเมียนมา 3-1 ได้ประตูจาก เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, “เจมส์” เศกสรรค์ ปิตุรัตน์ และ สุรชัย จตุรภัทรพงศ์

 

ครั้งนี้ทีมช้างศึกโชว์ฟอร์มเป็นพระเอก เพราะต้องการทวงคืนความเป็นหนึ่งของอาเซียนอีกครั้ง และลบเรื่องราวไม่ดีจากครั้งก่อน ก่อนที่รอบชิงชนะเลิศที่ราชมังคลากีฬาสถาน จะไปเอาชนะอินโดนีเซีย 4-1 จากการทำแฮตทริกของ วรวุธ ศรีมะฆะ ซึ่งได้รับรางวัลดาวซัลโวไปครองด้วย ทีมชาติไทยเป็นแชมป์อาเซียนสมัยที่ 2

 

 

ครั้งที่ 4 ปี 2002 (นัดแรก ชนะลาว 5-1 / จบ แชมป์)

 

ปีเตอร์ วิธ ยังคงต่อยอดความสำเร็จอีกครั้งด้วยการคุมทีมเป็นเจ้าอาเซียนได้ 2 สมัยติดต่อกัน และเป็นสมัยที่ 3 อีกด้วย โดยนัดเปิดสนามที่ประเทศสิงคโปร์เจ้าภาพร่วม ช้างศึกถล่มลาว 5-1 เกมนั้นซิโก้ทำแฮตทริก ขณะที่ “โย่ง” ไม่น้อยหน้า จัดไป 2 เม็ด แม้ว่าหลังจากนั้นทีมชาติไทยจะฟอร์มหลุดไปบ้าง แต่ก็มาถึงรอบชิงชนะเลิศ และเอาชนะอินโดนีเซียได้อีกแล้วในการดวลจุดโทษ ทำเอาเสียงเชียร์ในเสนายันจากกองเชียร์อิเหนานับแสนเงียบสนิท หากยังจำกันได้ วันนั้น ดุสิต เฉลิมแสน ยิงประตูตัดสินด้วย “ปาเนนก้า” ก่อนจะเก๊กหล่อ เป็นภาพจำมาจวบจนปัจจุบัน

 

 

 

ครั้งที่ 5 ปี 2004 (นัดแรก เสมอเมียนมา 1-1 / จบ ตกรอบแรก)

 

จัดในถิ่นเสือเหลืองที่เป็นเจ้าภาพร่วมกับเวียดนาม ทีมชาติไทยมี ซิกกี้ เฮลด์ ปรมาจารย์โค้ชชาวเยอรมันเป็นกุนซือ แต่ว่าผลงานในครั้งนั้นถือว่ายังติดตาแฟนบอล เพราะเป็นครั้งแรกที่ทีมชาติไทยตกรอบแรกรายการนี้ โดยชุดนั้นมีการใช้ผู้เล่นดาวรุ่งไปหลายคน อาทิ โกสินทร์ หทัยรัตนกุล, ศักดิ์ดา เจิมดี, ศรายุทธ ชัยคำดี โดยมีสองพี่ใหญ่คือ เทิดศักดิ์ ใจมั่น และ นิเวส ศิริวงศ์ แต่ผลงานตั้งแต่ออกสตาร์ตก็สะดุด ทำได้เพียงเสมอกับเมียนมา 1-1 ซึ่งผลจากการไม่ได้ 3 คะแนนในเกมนัดแรก และมาแพ้มาเลเซีย เจ้าภาพ ในนัดที่ 3 ด้วยสกอร์ 1-2 ทำให้ทีมชาติไทยหมดลายแชมป์ 3 สมัย

 

สุดท้ายต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้าน หลังจากมี 7 คะแนนจาก 4 นัดในรอบแรก ส่งให้เมียนมาและมาเลเซียเข้ารอบรองชนะเลิศแทน ส่วนเจ้าอาเซียนในหนนั้นตกเป็นของสิงคโปร์ที่ได้แชมป์เป็นครั้งที่ 2

 

 

ครั้งที่ 6 ปี 2007 (นัดแรก เสมอเมียนมา 1-1 / จบ รองแชมป์)

 

ไม่ได้จัดในชื่อ ไทเกอร์ คัพแล้ว เพราะหมดสัญญาสปอนเซอร์ โดยไทยร่วมเป็นเจ้าภาพกับสิงคโปร์ ใช้สนามศุภชลาศัยและสนามกีฬากองทัพบกเป็นสนามเตะที่ประเทศไทย

 

ทีมชุดนั้น มี “โค้ชหรั่ง” ชาญวิทย์ ผลชีวิน เป็นหัวหน้าโค้ช แดนกลางมี “เด็กระเบิด” ดัสกร ทองเหลา, สุเชาว์ นุชนุ่ม ในวัยหนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยว กองหน้า “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ในวัย 33 ปียืนค้ำ ร่วมกับ สุธี สุขสมกิจ นักเตะคู่บุญโค้ชหรั่ง ทีมชุดนั้นเปิดสนามด้วยการเสมอเมียนมาแบบทุลักทุเล 1-1 โดยสุเชาว์ยิงตีเสมอในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ

 

แต่ทีมชาติไทยก็ไปถึงรอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จ เตะกันแบบ 2 นัด เหย้า-เยือน ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีกฎการยิงประตูทีมเยือน สกอร์เท่ากันต้องต่อเวลาและยิงจุดโทษ

 

นัดแรก ไทยออกไปแพ้สิงคโปร์มาก่อน 1-2 พอมานัด 2 ดูเหมือนจะเข้าทางช้างศึกในการกรีฑาทัพสู่การเป็นแชมป์สมัย 4 เมื่อ พิพัฒน์ ต้นกันยา ยิงให้ไทยนำนาทีที่ 37 สกอร์ 2 นัดเท่ากันที่ 2-2 อาจต้องต่อเวลาพิเศษ แต่กองเชียร์สนามศุภชลาศัยและประชาชนในย่านมาบุญครองรวมถึงหน้าจอทีวีต้องเงียบสนิท เมื่อไทยมาโดนสิงคโปร์ตีเสมอในนาทีที่ 81 จาก ไครูล อัมรี ตัวแสบของทีมลอดช่อง ทำให้รวมผล 2 นัด ไทยแพ้สิงคโปร์ 2-3 ได้เพียงแค่รองแชมป์แบบน่าเจ็บปวด เพราะเป็นการเล่นต่อหน้าแฟนบอลในบ้านที่ต้องปาดน้ำตาดูสิงคโปร์ชูถ้วยแชมป์เป็นสมัยที่ 3 ในถิ่นแทน

 

 

 

ครั้งที่ 7 ปี 2008 (นัดแรก ชนะเวียดนาม 2-0 / จบ รองแชมป์)

 

เป็นครั้งแรกที่ “ซูซูกิ” เข้ามาเป็นไตเติ้ลสปอนเซอร์ จัดเตะสองประเทศที่อินโดนีเซียและไทยเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง โดยโยกไปเตะที่สนามสุระกุล จังหวัดภูเก็ต แม้ว่าจะจุคนได้น้อยก็ตาม ทีมช้างศึกในยุคใส่สีเหลืองทั้งชุด ซึ่งมี ปีเตอร์ รีด คุมทัพ ออกสตาร์ตราวกับเครื่องยนต์รถสปอร์ตด้วยการอัดเวียดนาม 2-0 ในเกมกลุ่มบี ได้ประตูจาก สุธี สุขสมกิจ และ สุเชาว์ นุชนุ่ม

 

ทีมชุดนั้นฟอร์มยอดเยี่ยมชนะรวดเสียไปเพียงแค่ลูกเดียว ยิงไปถึง 14 ประตู จนถึงรอบชิงชนะเลิศ ต้องดวลกับเวียดนาม 2 นัด แบบยังไม่ใช้กฎอเวย์โกล นัดแรกย้ายมาเตะที่ราชมังคลากีฬาสถาน ไทยเปิดบ้านแพ้เวียดนามก่อน 1-2 นัดที่ 2 ไปเตะที่เวียดนาม ไทยนำก่อนจาก ธีรศิลป์ แดงดา ตั้งแต่นาทีที่ 21 เกมทำท่าจะต้องต่อเวลา แต่ก็มาโดนทีเด็ดลูกโขกของ เล คอง วินห์ ดาวดังเวียดนามในตอนนั้นช่วงทดเวลาเจ็บ ทำให้สกอร์รวม 2 นัด พลพรรคดาวทองชนะไทยไป 3-2 ผงาดเป็นเจ้าอาเซียนครั้งแรก

 

 

ครั้งที่ 8 ปี 2010 (นัดแรก เสมอลาว 2-2 / จบ ตกรอบแรก)

 

ทีมช้างศึกยังใช้กุนซือสายอังกฤษ คือ ไบรอัน ร็อบสัน เป็นหัวหน้าโค้ช รอบแรกต้องยกพลไปเตะกันที่อินโดนีเซีย เจ้าภาพร่วม เปิดสนามในกลุ่มบี ด้วยการเสมอลาว 2-2 โดยที่ไทยต้องไล่ตีเสมอแบบหืดจับในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ จากการโขกของ “โจ้ 5 หลา” ศรายุทธ ชัยคำดี

 

จากนั้นอีก 2 แมตช์รอบแรก ไทยก็ยังไม่ฟื้น เสมอมาเลเซีย 0-0 และนัดตัดสินไปแพ้อินโดนีเซีย 1-2 ตกรอบแรก ส่วนแชมป์ครั้งนั้นตกเป็นของมาเลเซียที่ได้แชมป์เป็นสมัยแรก

 

 

 

ครั้งที่ 9 ปี 2012 (นัดแรก ชนะฟิลิปปินส์ 2-1 / จบ รองแชมป์)

 

ทีมชาติไทยเปลี่ยนหัวหน้าโค้ชอีกครั้งเป็น “วินนี่” วินฟรีด เชเฟอร์ กุนซือระดับมันสมองจากแดนอินทรีเหล็ก รอบแรก ไทยเป็นเจ้าภาพร่วม และส่งชื่อ “เจ” ชนาธิป สรงกระสินธ์ ดาวรุ่งวัย 19 ปีติดอยู่ในทีมด้วย ก่อนจะเปิดสนามด้วยการเฉือนชนะฟิลิปปินส์ 2-1 จากประตูของ จักรพันธ์ พรใส และ อนุชา กิจพงษ์ศรี

 

อย่างไรก็ตามแม้จะโชว์ฟอร์มได้อย่างสวยสดไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ แต่จากการที่นัดแรกไทยบุกไปแพ้สิงคโปร์มาถึง 1-3 ทำให้เป็นงานหนักของช้างศึกในนัดที่ 2 ซึ่งทีมชนะได้เพียงแค่ 1-0 จากประตูของ กีรติ เขียวสมบัติ ทำให้ทีมชาติไทยได้เพียงแค่รองแชมป์ และสิงคโปร์มาฉลองถ้วยอาเซียนในสนามศุภชลาศัยอีกครั้ง ทำให้สิงคโปร์ได้แชมป์สมัยที่ 4 แซงไทยไปแล้ว

 

 

ครั้งที่ 10 ปี 2014 (นัดแรก ชนะสิงคโปร์ 2-1 / จบ แชมป์)

 

“โค้ชซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง เป็นผู้ปลุกกระแสให้คนในวงกว้างหันมาเกาะติดหน้าจอทีวีดูฟุตบอลไทยอีกครั้ง หลังพาทีมได้แชมป์ซีเกมส์ 2013 เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี ที่ทีมชาติไทยกลับไปยืนในจุดเดิม ต่อด้วยการรับงานใหญ่ พาทีมได้อันดับ 4 เอเชียนเกมส์ 2014 รับงานต่อเนื่องมาในรายการชิงแชมป์อาเซียน ปลายปีเดียวกัน ทุกสายตาจับจ้อง เพราะผลงานแข้งช้างศึกกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น

 

ไทยอยู่ในกลุ่มบี ประเดิมสนามด้วยการเอาชนะสิงคโปร์ เจ้าภาพร่วม 2-1 ได้ประตูจาก “จ่าเย็น” มงคล ทศไกร และจุดโทษของ ชาริล ชัปปุยส์ ทีมชุดนั้นเล่นกันได้อย่างเข้าขารู้ใจ แม้จะไม่ใช่ชุดที่ดีที่สุด ไม่มีทั้ง ธีรศิลป์ แดงดา และ ธีราทร บุญมาทัน แต่ก็เล่นกันด้วยสไตล์ที่โค้ชซิโก้เรียกว่า “ติ๊กต๊อก” คล้ายกับ “ติกี้ตาก้า” อันโด่งดัง เคาะบอลกันสวยๆ ตามช่องจนทะลุไปคว้าแชมป์สมัยที่ 4 ได้สำเร็จ 

 

หลังสร้างปาฏิหาริย์ที่บูกิตจาลิล ในรอบชิงชนะเลิศนัดที่ 2 โดนเสือเหลือขย่มไปก่อน 3-0 ก่อนจะยิงไล่มา 2-3 จนสกอร์รวม 2 นัด ชนะมาเลเซีย 4-3 สร้างความดีใจให้คนไทยอย่างที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะห่างหายจากถ้วยรายการนี้ไปนานถึง 12 ปี ดูได้จากขบวนรถแห่ เสียงโห่ร้องยินดี ปรบมือ รวมถึงจำนวนผู้คนที่แน่นขนัด มารอยินดีกับเหล่านักเตะ ทำให้กระแสบอลไทยกลับมาฟีเวอร์อีกครั้งแบบถึงขีดสุด

 

 

 

ครั้งที่ 11 ปี 2016 (นัดแรก ชนะอินโดนีเซีย 4-2 / จบแชมป์)

 

ยังคงเป็นโค้ชซิโก้ที่ทำหน้าที่กุนซือใหญ่พาทีมชิงความเป็นหนึ่งในอาเซียนอีกครั้ง คราวนี้เรียก ธีรศิลป์ แดงดา และ ธีราทร บุญมาทัน ที่ยังไม่เคยได้ครองถ้วยรายการนี้มาติดทีมด้วย พร้อมกับมอบปลอกแขนกัปตันทีมให้กับ “มุ้ย” นำทัพ นัดแรกในกลุ่มเอ เตะกันที่ฟิลิปปินส์ ไทยชนะอินโดนีเซีย 4-2 ธีรศิลป์ไม่ทำให้ผิดหวัง ทำแฮตทริกได้สำเร็จ ทีมชุดนี้กรุยทางไปสะดุดในรอบชิงชนะเลิศนัดแรก เพราะไปแพ้อินโดนีเซียแบบฟอร์มไม่ดีนัก 1-2 จนต้องมากดดันก่อนเตะในแมตช์ที่ 2 สีหน้าแววตาบ่งบอกออกมาจากทั้งโค้ชและผู้เล่น

 

แต่สุดท้ายทุกคนมุ่งมั่นและช่วยกันเล่น ก่อนที่ สิโรจน์ ฉัตรทอง จะเหมาคนเดียว 2 ประตูนาทีที่ 38 และ 47 ทีมช้างศึกเอาชนะอินโดนีเซียด้วยผลรวม 2 นัด 3-2 ได้ถ้วยนี้ไปครองเป็นสมัยที่ 5 แซงหน้าสิงคโปร์ ยืนหนึ่งอาเซียนเรียบร้อย นับเป็นยุคทองของวงการฟุตบอลไทยอีกระลอก

 

 

ครั้งที่ 12 ปี 2018 (นัดแรก ชนะ ติมอร์-เลสเต 7-0 / จบ รอบรองชนะเลิศ)

 

สมาคมกีฬาฟุตบอลเพิ่งเริ่มยุคใหม่ได้แต่งตั้ง มิโลวาน ราเยวัช กุนซือเซิร์บผู้เคยพากานาไปถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโลก 2010 มาแล้ว ราเยวัชเข้ามาพร้อมกับเครดิตและความไว้วางใจด้วยดีกรีที่เหนือกว่าใครๆ แต่ทีมชุดนั้นไม่มี ธีรศิลป์ แดงดา, ชนาธิป สรงกระสินธ์ และ ธีราทร บุญมาทัน ที่ต่างติดภารกิจกับสโมสรต้นสังกัดในเจลีก แต่ยังมี อดิศักดิ์ ไกรษร, ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์, สุมัญญา ปุริสาย, พรรษา เหมวิบูลย์

 

ในปีนั้นเริ่มเตะแบบไม่มีเจ้าภาพ ทุกทีมจะได้สิทธิแบ่งกันเล่นในบ้านรอบแรกกันทั้งหมด ทีมช้างศึกเปิดตัวได้สวยสดงดงาม หลังถล่มติมอร์ ไป 7-0 “กอล์ฟ” อดิศักดิ์ ทำคนเดียว 6 ประตู แต่รอบรองชนะเลิศ มาพบกับมาเลเซีย ที่ทีมชุดนั้นก็ไม่ธรรมดา นัดแรกที่บ้านมาเลเซีย เสมอกัน 0-0 ก่อนกลับมาเล่นในบ้าน พลพรรคช้างศึกนำอยู่ 2-1 จนทำท่าจะประคองเอาชนะได้ใน 90 นาที แต่มาโดนทีเด็ดของ นอร์ชาห์รูล ซัดตีเสมอ 2-2 นาทีที่ 71 แม้จะพยายามบุก แต่ไทยก็ยิงประตูขึ้นนำไม่ได้ ต้องตกรอบตัดเชือกไปด้วยกฎการยิงประตูทีมเยือน

 

เท่ากับผ่านมา 12 ครั้งในศึกชิงแชมป์อาเซียน ทีมช้างศึกเปิดหัวด้วยการชนะ 8 ครั้ง เสมอ 4 ครั้ง ไม่เคยแพ้ และเมื่อใดที่ออกตัวด้วยผลเสมอ ทีมชาติไทยไม่เคยไปถึงฝั่งฝันเลย แต่กลับกันปีที่ได้ถ้วยนี้ไปครองจะออกตัวด้วยชัยชนะทั้ง 5 ครั้ง

 

ส่วนครั้งที่ 13 ปี 2021 ทีมชาติไทยเริ่มด้วยการชนะติมอร์-เลสเต 2-0 ไปแล้ว แต่ตอนจบยังคงต้องติดตามเชียร์กันต่อไป

 


stadium

author

Play Now Thailand

StadiumTH Content Creator / เพจ Play Now Thailand

La Vie en Rose