stadium

"นักเตะลูกครึ่ง" อาวุธลับใหม่ของอาเซียน

9 ธันวาคม 2564

นักเตะลูกครึ่ง ถือเป็นกระแสความนิยมที่ยังได้รับความสนใจ มีนักเตะเชื้อสายผสมมากหน้าหลายตา เข้ามาเป็นพ่อค้าแข้งให้กับบรรดาสโมสรในลีกไทย ทั้งในระดับ ไทยลีก 1, ไทยลีก 2 และ ไทยลีก 3 ตลอดช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา แฟนบอลต่างคาดหวังจากกลุ่มนักเตะเหล่านี้ ว่าจะเข้ามายกระดับ และสามารถพาทีมประสบความสำเร็จได้ เพราะโปรไฟล์ รวมถึงจุดเริ่มต้นของบรรดาแข้งลูกครึ่งที่อิมพอร์ตเข้ามานั้น ส่วนใหญ่ผ่านการขัดเกลาจากสถาบันลูกหนังของสโมสรชั้นนำของโลก และผ่านการเล่นในลีกอาชีพของทวีปชั้นนำ อย่างเช่น ทวีปยุโรป เป็นต้น

 

ยกตัวอย่างในรายของ ชารีล ชัปปุยส์ ดาวเตะหน้าหล่อลูกครึ่งไทย-สวิตเซอร์แลนด์ ที่เคยพาทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี คว้าแชมป์โลก รวมถึงผ่านการเล่นอาชีพ ให้ กราสซอปเปอร์ส และ ลูกาโน่ 2 ทีมชั้นนำของ สวิซ ซุปเปอร์ ลีก จากนั้นการย้ายมาค้าแข้งในลีกไทย และลงสนามให้กับทีมชาติไทย ก็ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนหลากหลายแขนง ทั้งยังช่วยปลุกกระแสของฟุตบอลไทย ให้กลับมาคึกคัก ได้รับการตอบรับจากแฟนบอลไทย ทั้งชาย และ หญิง ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สร้างมูลค่าให้กับฟุตบอลไทยได้เป็นอย่างดี

 

และในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน หรือ เอเอฟเอฟ ซูซุกิ คัพ 2020 ที่จะประเดิมหวดกันในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ หลายชาติที่ร่วมแข่งขัน ที่ต้องการจะยกระดับประสิทธิภาพให้แกร่งขึ้น เพื่อลงชิงชัยกับคู่แข่งทีมอื่นๆ ได้อย่างไม่เป็นรอง  ก็เลือกกลุ่มนักเตะลูกครึ่ง เข้ามาเป็นอาวุธเด็ด เพื่อต่อยอดไปสู่เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

 

 

เริ่มจาก ทีมชาติไทย กับเป้าหมายทวงความเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียน มีกลุ่มนักเตะลูกครึ่งในตำแหน่งเกมรับ ได้แก่ ทริสตอง โด (ฝรั่งเศส) มานูเอล ทอม เบียร์ (เยอรมัน) ฟิลิป โรลเลอร์ (เยอรมัน) เอเลียส ดอเลาะห์ (สวีเดน) รวมถึงดาวรุ่งที่ทำผลงานได้โดดเด่นให้กับทีมชาติไทย ชุดอายุไม่เกิน 23 ปี อย่าง โจนาธาน เข็มดี กองหลัง วัย 19 ปี (เดนมาร์ก) 

 

ส่วน ฟิลิปปินส์ ทีมร่วมกลุ่มในรอบแรกของทีมชาติไทย เป็นทีมที่มีนักเตะลูกครึ่งจากชาติต่างๆ มากที่สุด หรือจะเรียกว่า ทีมลูกครึ่งสหประชาขาติ เลยก็ว่าได้ เริ่มจากตำแหน่งผู้รักษาประตู ควินชี คัมเมอร์ราอัด (เนเธอร์แลนด์) เควิน เรย์ เมนโดซ่า (เดนมาร์ก) เบิร์นด์ ชิพแมน (เยอรมัน) 

 

ตำแหน่งกองหลัง จัสติน บาส (เนเธอร์แลนด์) เจสเปอร์ ไนล์โฮม (สวีเดน) ไดสุเกะ ซาโตะ (ญี่ปุ่น) มาร์ติน สตูเบิล (สวิตเซอร์แลนด์) เจฟเฟอร์สัน ทาบินาส (กาน่า) 

 

ตำแหน่งกองกลาง โอลิเวอร์ เบียส (เยอรมนี) เคนชิโร่ ดาเนียล (อังกฤษ) แฮร์รี่ โฟล (เยอรมัน) เควิน อินเกรโซ่ (เยอรมนี) ออสคารี เคคโคเน่น (ฟินแลนด์) อมิน นาซารี (สวีเดน) ไมค์ อ็อต (เยอรมนี) เอียน แรมซีย์ (ออสเตรเลีย) สตีเฟ่น ชร็อก (เยอรมนัน)

 


ด้าน “เลือเหลือง” มาเลเซีย คู่ปรับตลอดกาลของทีมขาติไทย ก็มีตัวหลักที่คุ้นหน้าคุ้นตาแฟนบอลไทยเป็นอย่างได้ ได้แก่ 2 เซ็นเตอร์ฮาร์ฟ จูเนียร์ เอลด์สตาล (สวีเดน)  กับ โดมินิก ตัน (สิงคโปร์)  รวมถึง 2 แบ็คขวา เควนติน เซง (ออสเตรเลีย)  และ  ดิออน โจฮันส์-คูลส์ (เบลเยี่ยม) ดาวเตะวัย 25 ปี จาก มิดทิลแลนด์ ทีมยักษ์ใหญ่ของเดนมาร์ก  

 

ทางฝั่ง ”อิเหนา” อินโดนีเซีย  หนนี้ พวกเขาได้ตัว เอลคาน บักกอต (อังกฤษ) เซ็นเตอร์แบ็ค จาก อิปสวิช ทาวน์ บวกกับ ริวจิ อูโตโมะ (ญี่ปุ่น) ที่จะช่วยกันเก็บกวาดป้องกันแนวรับ ส่วนอีกหนึ่งเป็นกองหน้าลูกครึ่งเนเธอร์แลนด์ ที่ผ่านสถาบันเพาะบ่มลูกหนังชั้นนำของโลก อย่าง อาแจ๊กซ์ อัมสเดอร์ดัม มาแล้ว อย่าง เอซร่า วาเลี่ยน ก็น่าจับตามองเช่นกัน

 

ปิดท้ายที่ กัมพูชา ที่มี เลง โนร่า กองหน้าดาวรุ่งวัย 17 ปี ลูกครึ่ง กาน่า เป็หหนึ่งในขุนพล “อังกอร์ วอริเออร์” ลุยทัวร์นาเม้นต์รายการนี้ 

 

โดย เมียนมาร์, สิงคโปร์, เวียดนาม และ สปป.ลาว ยังยึดมั่น และเชื่อใจในคุณภาพของบรรดานักเตะเลือดเนื้อเชื้อไขของพวเขาเองว่าดีพอ ไม่ต้องเสริมเลเวลด้วยนักเตะลูกครึ่ง ส่วน ติมอร์ เลสเต้ อย่างที่ทราบกันว่าพวกเขาใช้นักเตะโอนสัญญาจากโปรตุเกส และบราซิล มาใช้งาน

 

 

ย้อนกลับมาที่แนวทางการเลือกใช้นักเตะลูกครึ่งเพื่อเข้ามายกระดับประสิทธิภาพของแต่ละทีมในศึกชิงแชมป์อาเซียนหนนี้นั้น ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นนักเตะในเกมรับกว่า 70 % หากมองในมุมของการเล่นเกมรับ ก็จะช่วยเพิ่มความเหนียวแน่นได้มากขึ้น และกับฟุตบอลทัวร์นาเม้นต์ หากว่าคุณซื้อความเหนียวแน่นในเกมรับ และใข้จังหวะจบสกอร์ที่มีได้คุ้มค่า สุดท้ายบั้นปลายอาจจะได้ชูถ้วยฉลองแชมป์ก็เป็นได้

 

หากมองในมุมกลับ การที่เสริมประสิทธิภาพเพียงแค่เกมรับ โดยเกมรุกยังด้อยประสิทธิภาพ ขาดสสกอร์ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่อาจจะต้องจอดป้ายเพียงแค่รอบแรกได้เช่นกัน

 

สำหรับการแข่งขันในระดับอาเซียน การที่แต่ละชาติเสริมศักยภาพของทีม ด้วยบรรดาแข้งลูกครึ่งฝีเท้าดี มองกันในแง่บวก ก็ช่วยเพิ่มความเข้มข้นของการแข่งขัน สามารถเอื้อประโยชน์ให้กับทีม เพื่อประสบความสำเร็จในบั้นปลายได้ และหากชาติใดที่มีกลุ่มนักเตะเหล่านี้หลากหลาย ก็ถือว่าเป็นข้อใดเปรียบของชาตินั้นอีกด้วย

 

 

แต่อีกด้านก็คือ การพัฒนาของนักเตะภายในประเทศจะถูกปิดกั้น และได้รับโอกาสน้อยลงตามไปด้วย นอกจากนั้นการต่อยอดไปสู่การแข่งขันในระดับที่สูงกว่า อย่างระดับเอเชีย รวมถึงระดับนานาชาติ วิธีการโอนสัญชาติ รวมถึงดึงแข้งลูกครึ่ง มาใช้งานนั้น ยังไม่ตอบโจทย์ถึงความสำเร็จในระดับนี้ บรรดาทีมที่ผงาดชูถ้วยแชมป์ฟุตบอลระดับทวีป และ ฟุตบอลโลก ไม่ว่าจะเป็น บราซิล, อาร์เจนติน่า, อิตาลี, เยอรมัน หรือ ฝรั่งเศส ล้วนแล้วแต่ใช้นักเตะท้องถิ่นขอพวกเขาเองเป็นกำลังหลักทั้งสิ้น

 

ซึ่งทั้งหมดนั้นเกิดจากการให้ความสำคัญในการพัฒนานักเตะลูกหลานรากหญ้า ระบบอะคาเดมี ที่มีการส่งต่อนักเตะขึ้นไปรุ่นต่อรุ่น การมีเวทีให้นักเตะเยาวชนได้บ่มเพาะ ฝึกปรือฝีเท้า อย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนา และแก้ไขจุดด้อยที่เกิดขึ้นระหว่างของนักเตะแต่ละรุ่น เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้เล่นที่ดีขึ้นในอนาคต  สิ่งเหล่านั้นน่าจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ต่อความสำเร็จของทีมฟุตบอล แบบยั่งยืน


stadium

author

StadiumTh Team Content

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose