stadium

4 Level Group Stage ด่านทดสอบ “ช้างศึก” ดีพอทวงเจ้าอาเซียนหรือไม่?

3 ธันวาคม 2564

นี่คือทัวร์นาเมนต์แรกของ “มาโน โพลกิง” ในฐานะหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยชุดใหญ่ หลังจากได้รับมอบหมายให้เข้ามาทำหน้าที่แทน อากิระ นิชิโนะ กับภารกิจที่พลาดไม่ได้ในศึกแห่งศักดิ์ศรี “AFF Suzuki Cup 2020” ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยทัพ “ช้างศึก” ต้องเจอกับ 4 ด่านทดสอบในรอบแบ่งกลุ่ม (Group Stage) เพื่อพิสูจน์ว่ายังดีพอที่จะกลับมาทวงบัลลังก์ “เจ้าอาเซียน” เป็นสมัยที่ 6 ได้หรือไม่?

 

 

 

Level 1 : ติมอร์-เลสเต 

 

ส่องผลงาน : 194 คือฟีฟ่าแรงกิ้งคู่แข่งด่านแรกของ “ช้างศึก” ซึ่งถือว่าต่ำสุดในทัวร์นาเมนต์นี้ โดยชาติเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนเกาะได้แยกตัวเป็นอิสระจากอินโดนีเซีย เมื่อปี 2002 และสามารถผ่านเข้ามาเล่นในรอบสุดท้ายรายการนี้ได้เป็นครั้งที่ 3 ต่อจากปี 2004 และ 2018 ซึ่งเดิมทีครั้งนี้พวกเขาต้องเล่นรอบเพลย์ออฟกับบรูไน แต่คู่แข่งขอถอนตัวด้วยเหตุผลการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผลงาน 2 ครั้งที่ผ่านมาติมอร์-เลสเตยังไม่เคยผ่านรอบแบ่งกลุ่มไปได้ แถมแพ้รวด 8 นัด และทั้ง 2 ครั้ง พวกเขาอยู่กลุ่มเดียวกับทีมชาติไทย ซึ่งครั้งแรกในปี 2004 โดน “ช้างศึก” ยำใหญ่ 8-0 บนแผ่นดินเสือเหลือง มาเลเซีย ก่อนที่ครั้งล่าสุดในปี 2018 จะถูกถล่มไปอีก 7-0 ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน จากผลงานของ อดิศักดิ์ ไกรษร เหมาคนเดียวถึง 6 ประตู 

 

เจาะขุมกำลัง : ติมอร์-เลสเตชุดนี้มี ฟาบิโอ มาเกรา กุนซือชาวบราซิลวัย 44 ปี ที่เคยมาค้าแข้งกับบางกอกกล๊าสและศรีสะเกษ คุมทัพ โดยผู้เล่นตัวหลักยังคงยึดจากชุดปี 2018 ที่ตอนนั้นมีอายุเฉลี่ยราว 20-21 ปี ผสมผสานกับขุนพล 23 ปี ชิงแชมป์เอเชีย 2022 รอบคัดเลือก ล่าสุดที่สิงคโปร์ เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งทำผลงานได้ยอดเยี่ยม เสมอสิงคโปร์ 2-2, แพ้ เกาหลีใต้ 0-6 และชนะฟิลิปปินส์ 1-0 จบอันดับ 3 ของกลุ่ม ด้วยการมีแต้มเท่ากับสิงคโปร์ แต่ประตูได้เสียเป็นรอง 

 

วิเคราะห์ : แม้ติมอร์-เลสเตจะทำผลงานได้ดีขึ้นและประสบการณ์มากขึ้น แต่ด้วยศักยภาพตัวผู้เล่นยังเป็นรอง “ช้างศึก” แน่นอนว่าพวกเขาคงจะเน้นเกมรับเต็มรูปแบบ และหวังทีเด็ดจากลูกตั้งเตะ ซึ่งจุดนี้ทีมชาติไทยจะประมาทไม่ได้

 

ฟันธง : ทีมชาติไทย ชนะ 95% เสมอ 5% แพ้ 0%

 

 

 

Level 2 : เมียนมา

 

ส่องผลงาน : ศึก AFF ไม่ใช่ทัวร์นาเมนต์ที่น่าจดจำนักสำหรับเมียนมา โดยทีมฟีฟ่าแรงกิ้ง 148 โลก ทำผลงานดีสุดคือการผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศได้แค่ 2 ครั้ง ในปี 2004 และ 2016 โดยปี 2004 อยู่กลุ่มเดียวกับไทยและเสมอกัน 1-1 ก่อนพวกเขาจะเข้ารอบในฐานะแชมป์กลุ่ม ส่วนไทยตกรอบด้วยการจบอันดับ 3 อย่างไรก็ตามเมียนมาไปแพ้สิงคโปร์ ด้วยสกอร์รวม 5-8 และพ่ายมาเลเซียในนัดชิงที่ 3 ด้วยสกอร์ 1-2 ส่วนปี 2016 เมียนมาเข้ารอบด้วยการจบอันดับ 2 ของกลุ่ม มาเจอกับไทย แชมป์อีกกลุ่ม ปรากฏว่าเมียนมาแพ้ทั้งเหย้าและเยือน ด้วยสกอร์ 0-2 และ 0-4 ก่อนที่ทีมชาติไทยจะคว้าแชมป์ในปีนั้น ขณะที่ครั้งล่าสุดในปี 2018 เมียนมาชนะกัมพูชา 4-1 และชนะ ลาว 3-1 ก่อนเสมอเวียดนาม 0-0 แต่นัดสุดท้ายไปแพ้มาเลเซีย 0-3 ทำให้ตกรอบแบ่งกลุ่มอย่างน่าเสียดาย 

 

เจาะขุมกำลัง : เมียนมาชุดนี้มี แอนโทนี เฮย์ เฮดโค้ชชาวเยอรมันคุมทัพ แต่ไม่มี 3 ดาวเตะที่ค้าแข้งในไทยลีกอย่าง อ่อง ธู (บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด), คยอ โคโค (แพร่ ยูไนเต็ด) และ ซอ มิน ตุน (ตราด เอฟซี) เนื่องจากทั้งหมดตัดสินใจอำลาทีมไปแล้ว นอกจากนั้นผู้รักษาประตูอย่าง คยอ ซิน ฮเตต ประกาศหยุดเล่นเพื่อต่อต้านการทำรัฐประหารในประเทศ ทำให้ชุดนี้มีนักเตะหน้าใหม่เอี่ยมอ่อง รวมทั้งติดทีมชาติไม่เกิน 5 นัดกว่าครึ่งทีม แต่ก็ยังมีตัวเก๋าอย่าง เดวิด ฮตัน, ฮเลียง โบ โบ และ หม่อง หม่อง ลวิน รับหน้าที่กัปตันทีม

 

วิเคราะห์ : ถือเป็นการก้าวสู่ยุคใหม่ของเมียนมาที่ใช้นักเตะดาวรุ่งหลายคน อย่างไรก็ดีทีมชุดนี้มีโอกาสได้ไปเก็บตัวที่ตุรกีร่วม 1 เดือน ทำให้มีความพร้อมเต็มร้อย อีกทั้งความแข็งแรงของร่างกาย พร้อมวิ่งไล่เพรสบดขยี้ ซึ่ง “ช้างศึก” ต้องเตรียมแผนรับมือให้ดี

 

ฟันธง : ทีมชาติไทย ชนะ 70% เสมอ 20% แพ้ 10%

 

 

 

Level 3 : ฟิลิปปินส์

 

ส่องผลงาน : แม้จะมีฟีฟ่าแรงกิ้ง 126 โลก และรั้งอันดับ 3 อาเซียน เป็นรองแค่เวียดนามกับไทย แต่ฟิลิปปินส์ยังไม่เคยคว้าแชมป์รายการนี้ โดยผลงานดีที่สุดคือผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ 4 ครั้ง ในปี 2010, 2012, 2014 และ 2018 ซึ่งผลงานล่าสุดเมื่อ 3 ปีก่อน อยู่กลุ่มเดียวกับทีมชาติไทย และเสมอกันไป 1-1 ที่บาโคลอด ก่อนจะกอดคอกันเข้ารอบตัดเชือก แต่ฟิลิปปินส์พ่ายให้กับทีมแชมป์ เวียดนาม ด้วยสกอร์รวม 2-4 ทำให้ครองที่ 3 ร่วมกับทีมชาติไทยที่แพ้มาเลเซีย ด้วยกฎอเวย์โกล หลังเสมอกัน 2-2 

 

เจาะขุมกำลัง : “ดิ อัซกัลส์” ภายใต้การคุมทีมของ สกอตต์ คูเปอร์ กุนซือชาวอังกฤษ ที่เคยผ่านงานคุมทีมในลีกไทย ได้เรียกนักเตะจากไทยลีกมาติดทีม 7 คน ประกอบไปด้วย เบนด์ ชิฟแมน (ราชบุรี เอฟซี), อามานี อากีนัลโด (หนองบัว พิชญ เอฟซี), ไดสุเกะ ซาโตะ (สุพรรณบุรี เอฟซี), มาร์ติน สตูเบิล (เมืองกาญจน์ ยูไนเต็ด), เควิน อินเกรโซ (บีจี ปทุม ยูไนเต็ด), เอียน แรมซีย์ (หนองบัว พิชญ เอฟซี), แพทริก ไรเซลท์ (สุพรรณบุรี เอฟซี) นอกจากนี้ยังมีบรรดาดาวรุ่งจาก Azkals Development Team ในลีกฟิลิปปินส์ ติดทีมมากที่สุดถึง 9 คน โดยมี สเตฟาน ชร็อค จอมเก๋าวัย 35 ปี ได้รับความไว้วางใจให้สวมปลอกแขนกัปตันทีม

 

วิเคราะห์ : ฟิลิปปินส์เริ่มเดินหน้าพัฒนาทีมผู้เล่นอายุน้อยอย่างจริงจัง จึงเกิด Azkals Development Team ขึ้นมาสำหรับอนาคต เมื่อรวมกับตัวหลักจากไทยลีก บวกกับกุนซือที่รู้ไส้ฟุตบอลไทยเป็นอย่างดี ทำให้ “ช้างศึก” จะประมาทไม่ได้เด็ดขาด 

 

ฟันธง : ทีมชาติไทย ชนะ 50% เสมอ 30% แพ้ 20%

 

 

 

Level 4 : สิงคโปร์

 

ส่องผลงาน : แม้จะมีฟีฟ่าแรงกิ้ง 160 และเป็นอันดับ 5 ของอาเซียน แต่สิงคโปร์คือทีมที่ประสบความสำเร็จในรายการนี้มากสุดเป็นอันดับ 2 รองจากทีมชาติไทย ด้วยการคว้าแชมป์มาแล้ว 4 สมัย จากการเข้าชิง 4 ครั้ง ในปี 1998, 2004, 2007 และ 2012 โดยเฉพาะ 2 ครั้งหลังสุดสามารถเอาชนะทีมชาติไทย ด้วยสกอร์รวม (เล่นแบบเหย้า-เยือน) 3-2 ทั้งสองครั้ง อย่างไรก็ตาม 3 ครั้งหลังสุด (2014, 2016, 2018) พวกเขาต้องยุติเส้นทางแค่รอบแบ่งกลุ่ม โดยครั้งล่าสุดสิงคโปร์อยู่กลุ่มเดียวกับทีมชาติไทย และได้เจอกันนัดสุดท้ายที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งทัพ “ช้างศึก” เอาชนะไป 3-0 จากผลงานของ พรรษา เหมวิบูลย์, ศุภชัย ใจเด็ด และ อดิศักดิ์ ไกรษร พร้อมดับฝันการเข้ารอบของนักเตะแดนลอดช่อง 

 

เจาะขุมกำลัง : “เดอะ ไลออนส์” ภายใต้การคุมทัพของ ทัตสึมะ โยชิดะ เฮดโค้ชชาวญี่ปุ่น ได้เรียก 2 แข้งไทยลีกอย่าง อิรฟาน ฟานดี กองหลัง บีจี ปทุม ยูไนเต็ด และ ซูลฟาห์มี อารีฟิน กองกลางจากสุโขทัย เอฟซี มาร่วมทัพ นอกจากนั้นยังมี อิคห์ซาน ฟานดี กองหน้าดาวรุ่งวัย 22 ปี ที่ได้รับการจับตามองจากการได้ไปเล่นกับ FK Jerv ในลีกดิวิชัน 1 นอร์เวย์ โดยมี ฮาริส ฮารุน มิดฟิลด์จอมเก๋าที่ติดทีมชาติทะลุ 100 นัด รับบทกัปตันทีม

 

วิเคราะห์ : ด้วยความคาดหวังจากแฟนบอลที่อยากเห็นความสำเร็จกลับมาสู่สิงคโปร์อีกครั้ง ทำให้นักเตะมีความมุ่งมั่น บวกกับแรงเชียร์จะเป็นตัวช่วยกระตุ้นอย่างดี แม้จะมีความกดดันสูง แต่การได้เจอทีมชาติไทยเป็นด่านสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่ม อาจเป็นแมตช์ชี้ชะตาการเข้ารอบของทั้งคู่ หากเจ้าถิ่นหลังพิงฝา คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ “ช้างศึก” จะบุกมาเอาชนะได้

 

ฟันธง : ทีมชาติไทย ชนะ 30% เสมอ 40% แพ้ 30%

 

 

สำหรับโปรแกรมการแข่งขัน AFF Suzuki Cup 2020 รอบแบ่งกลุ่ม ของทีมชาติไทย มีดังนี้

 

5 ธันวาคม 2564 เวลา 16.30 น. พบ ติมอร์-เลสเต

11 ธันวาคม 2564 เวลา 19.30 น. พบ เมียนมา

14 ธันวาคม 2564 เวลา 16.30 น. พบ ฟิลิปปินส์

18 ธันวาคม 2564 เวลา 19.30 น. พบ สิงคโปร์

 

ทุกนัดถ่ายทอดสดทางช่อง 7HD

 


stadium

author

Play Now Thailand

StadiumTH Content Creator / เพจ Play Now Thailand

โฆษณา