stadium

10 เรื่องควรรู้ก่อนเชียร์ช้างศึกทวงแชมป์ AFF SUZUKI CUP 2020

2 ธันวาคม 2564

ฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020” จะเริ่มระเบิดศึกวันที่ 5 ธันวาคมนี้เป็นแมตช์แรก รายการนี้ถือเป็นการฟาดแข้งที่เหล่าพี่น้องประชาคมลูกหนังอาเซียนรอคอยจะได้รับชมว่าชาติใดจะเป็นหนึ่ง และรอคอยความตื่นเต้นเร้าใจที่ได้ชมทีมรักลงแข่งขัน ระยะเวลายาวกว่า 1 เดือน จนไปถึงรอบชิงชนะเลิศ ดังนั้นก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น ไปติดตาม 10 เรื่องที่ต้องรู้ก่อนดูศึกอาเซียนคัพ 2020 ครั้งนี้กัน

 

 

เกือบไม่ได้จัดแข่งขัน

 

เดิมทีฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ” ครั้งนี้เกือบจะไม่ได้ชิงความเป็นหนึ่งกัน เนื่องจากกำหนดเดิมคือ แข่งระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน ถึง 31 ธันวาคม ปี 2020 แต่เนื่องจากโควิด-19 โจมตีทั้งโลกจึงต้องเลื่อนมาครั้งแรกกลางปี 2021 แต่ก็ยังไม่สามารถจัดได้ จนบางช่วงเหมือนจะถอดใจไม่จัดในวาระในปี 2020 และข้ามไปจัดในปี 2022 เลย แต่สุดท้ายสหพันธ์ฟุตบอลแห่งอาเซียนก็จัดให้โหวต ก่อนจะเลือกสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ เตะกันที่เดียวจบ เพื่อหมดปัญหาการเดินทางเข้า-ออกประเทศ โดยจัดแข่งระหว่างวันที่ 5 ธันวาคม 2021 - 1 มกราคม 2022 แต่ยังคงใช้ชื่อว่า “ซูซูกิ คัพ หรือ อาเซียน คัพ 2020” 

 

 

รอบชิงยังเตะ 2 แมตช์

 

บรูไนถอนตัวไปไม่ได้ร่วมแข่งขันในครั้งนี้ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องความพร้อมในการเตรียมทีม เกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 ในประเทศ การแข่งขันแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มเอ ไทย แชมป์ 5 สมัย, เมียนมา, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ แชมป์ 4 สมัย, ติมอร์ เลสเต ที่ไม่ต้องเล่นรอบคัดเลือกกับบรูไนซึ่งถอนตัวไป

 

กลุ่มบี เวียดนาม แชมป์เก่าและแชมป์ 2 สมัย, มาเลเซีย แชมป์ 1 สมัย, อินโดนีเซีย, กัมพูชา และลาว รอบแรกเตะพบกันหมด ทีมที่คะแนนมากที่สุด 2 ทีมแรกของกลุ่มเอและบี เข้ารอบรองชนะเลิศ ส่วนในรอบรองชนะเลิศและรอบชิงชนะเลิศ แม้จะแข่งที่ประเทศสิงคโปร์ ยังคงเล่นรอบละ 2 นัด เหย้า-เยือน เท่ากับจำนวนแมตช์ยังเท่าเดิม แม้จะเตะกันที่สนามกลางประเทศเดียวก็ตาม

 

 

ไม่มี VAR 

 

แม้ว่าเทคโนโลยี VAR (Video Assistant Referee) หรือวิดีโอช่วยผู้ตัดสิน จะถูกนำมาใช้ในฟุตบอลไทยลีกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้ว ในขณะที่หลายๆ ลีกทั่วโลกหรือการแข่งขันในระดับทวีปก็นำมาใช้แล้ว แต่ฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน 2020 จะยังไม่นำ “วีเออาร์” มาใช้ โดยนายพาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า วีเออาร์ไม่ใช่ว่าแค่เอาเครื่องมาตั้งและสามารถใช้ได้เลย เพราะต้องมีใบอนุญาตใช้งานด้วย และยังรวมถึงบุคลากรที่ต้องฝึกอบรม ทำให้ยังไม่พร้อมใช้ในครั้งนี้ 

 

ซึ่งทำให้แฟนบอลบางส่วนที่เสพติด “วิดีโอช่วยผู้ตัดสิน” ต้องจินตนาการย้อนอดีตไปยังจุดเดิมที่ยังไม่มีเทคโนโลยีนี้ไปก่อน

 

 

ส่งชื่อนักเตะได้ 30 คนเปลี่ยนได้ทุกนัด

 

ด้วยความที่ต้องเตะยาวกัน 1 เดือน เข้าบับเบิลตามมาตรการกักตัวในประเทศสิงคโปร์ ทำให้ “ซูซูกิ คัพ 2020” อนุมัติให้แต่ละชาติส่งรายชื่อผู้เล่นได้มากถึง 30 คน ดังที่ มาโน โพลกิง กุนซือทีมชาติไทยประกาศรายชื่อออกมา อย่างไรก็ตามแต่ละแมตช์จะยังคงส่งชื่อผู้เล่นได้ 23 คนตามเดิม เพียงแค่ว่าสามารถเปลี่ยนรายชื่อผู้เล่นได้ทุกนัด โดยหยิบจาก 30 คนนั้น นอกจากนี้แต่ละนัดจะเปลี่ยนตัวสำรองได้ 5 คน แต่ไม่เกิน 3 ครั้ง โดยรอบน็อกเอาต์ ถ้ามีต่อเวลา เปลี่ยนเพิ่มได้อีก 1 คน

 

 

ทีมชาติไทยส่งรายชื่อชุดใหญ่

 

แม้แฟนบอลบางส่วนหรือผู้สันทัดกรณี รวมถึงกูรู โค้ชบางคน เชียร์ให้สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ มองข้ามอาเซียนไป ไม่จำเป็นต้องส่งผู้เล่นชุดใหญ่ร่วมชิงความเป็นหนึ่งในรายการนี้ แต่นโยบายของ “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการทีม ต้องการกู้ศรัทธาฟุตบอลไทยกลับมา เนื่องจากระยะหลังห่างความสำเร็จไป ทั้งชวดแชมป์อาเซียน 2018 ตกรอบแรกซีเกมส์ 2019 และไปไม่ถึงรอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบ 12 ทีมสุดท้าย ของศึกฟุตบอลโลก 2022 จึงเรียกผู้เล่นชุดใหญ่และชุดที่ดีที่สุดมาทวงบัลลังก์ นำโดย “เจ” ชนาธิป สรงกระสินธ์, “อุ้ม” ธีราทร บุญมาทัน, “มุ้ย” ธีรศิลป์ แดงดา, “กัน” ธนวัฒน์ ซึ้งจิตถาวร ซึ่งทีมชุดนี้ถือว่าดูภาพรวมอาจจะดีกว่าชุดคัดฟุตบอลโลก 2022 เสียด้วยซ้ำ

 

 

 

“ธีรศิลป์” จ่อสร้างตำนาน

 

“มุ้ย” ธีรศิลป์ แดงดา กองหน้าทีมชาติไทยวัย 33 ปี มีลุ้นสร้างตำนานใหม่แห่งการแข่งขันรายการนี้ เนื่องจากเวลานี้ดาวยิงบีจี ปทุม ยูไนเต็ด พังไปแล้ว 15 ประตูในศึกชิงเจ้าอาเซียนเท่ากับ “โค้ชโย่ง” วรวุธ ศรีมะฆะ อดีตหัวหอกทีมชาติไทยอีกราย และยิงประตูสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ตลอดกาลในรายการนี้ เป็นรอง นอร์ ลัม ชาร์ ตำนานสิงคโปร์ ที่เลิกเล่นไปแล้วเพียงแค่คนเดียว โดยลัม ชาร์ ทำไป 17 ประตู ซึ่งหากมุ้ยยิงได้อีก 3 ประตู จะกลายเป็นผู้สร้างสถิติยิงสูงสุดในรายการนี้ 

 

 

ทีมช้างศึกยังใช้ธงชาติไม่ได้

 

จากการที่องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency: WADA) หรือ วาด้า ได้มีบทลงโทษประเทศไทย เนื่องจากยังไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมนูญของวาด้าในด้านการบังคับใช้กฎหมาย เพราะสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาของไทย ยังไม่เป็นอิสระจากหน่วยงานของภาครัฐ ทำให้ในการศึกครั้งนี้จะเป็นรายการที่ 2 ต่อเนื่องของทีมช้างศึกที่จะไม่สามารถใช้ธงชาติไทยปรากฏได้ในการแข่งขัน จนกว่าปัญหาข้อกฎหมายเรื่องนี้จะได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานในประเทศไทยต่อไป แต่ธงชาติไทยที่ปรากฏบนชุดแข่งขันได้รับการยกเว้นเช่นเดียวกับเพลงชาติไทยที่สามารถเปิดได้ในการแข่งขัน

 

 

อาถรรพ์ที่ “มาโน” ต้องทำลาย

 

มาโน โพลกิง ได้รับการเลือกจาก “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการทีม และสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ให้เข้ามาทำหน้าที่คุมทีมชุดนี้ชั่วคราวไปก่อน เพื่อประเมินกันอีกครั้งว่าจะสอบผ่านได้รับสัญญาถาวรหรือไม่ อย่างไรก็ตามสำหรับการแข่งขันรายการนี้ถือเป็นของแสลงของโค้ชต่างชาติที่คุมทีมชาติไทย เพราะมีกุนซือนอกรายเดียวที่พาทีมคว้าแชมป์ได้ก็คือ ปีเตอร์ วิธ โดยได้แชมป์ถึง 2 สมัย ในปี 2000 และ 2002 ส่วน ซิกกี้ เฮลด์ ตกรอบแรกปี 2004

 

ปีเตอร์ รีด ได้รองแชมป์ปี 2008 ขณะที่ ไบรอัน ร็อบสัน ก็พาทีมตกรอบแรกในปี 2010 ด้าน วินฟรีด เชเฟอร์ ได้รองแชมป์ปี 2012 คนล่าสุดคือ มิโลวาน ราเยวัช ตกรอบรองชนะเลิศในปี 2018

 

 

ตัดสินแชมป์อาเซียนตัวจริงอีกครั้ง

 

หลังจากที่ปล่อยให้เวียดนามเถลิงแชมป์อย่างเหมาะสมในปี 2018 ทำให้ระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา พลพรรคดาวทองสยายปีกและคุยได้ทั่วอาเซียนอย่างเต็มภาคภูมิว่า พวกเขาคือเจ้าอาเซียน หรือเบอร์ 1 อาเซียนของจริง ได้โปรดอย่าเถียง เพราะผลลัพธ์ก็บอกอยู่ ซึ่งตลอดช่วงระยะกว่า 4 ปีหลัง ทีมชาติเวียดนามภายใต้การคุมทีมของ ปาร์ก ฮัง ซอ เติบโตและแข็งแกร่งขึ้นมาก จนเป็นชาติเดียวในอาเซียนที่ไปถึงรอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบ 12 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโลก 2022 

 

“อาเซียน คัพ 2020” นอกเหนือจากการวัดความเป็นเจ้าอาเซียนใน พ.ศ. ปัจจุบันแล้ว การได้ดวลกับสิงคโปร์อีกครั้งยังถือเป็นการวัดด้วยว่าชาติใดเป็นเจ้าแห่งภูมิภาคตลอดกาล เพราะไทยได้แชมป์ไปแล้ว 5 ครั้ง ส่วนทีมลอดช่องชูถ้วยไป 4 ครั้ง ซึ่งการลุยศึกครั้งนี้ของสิงคโปร์ ภายใต้การคุมทีมของ ทัตสึมะ โยชิดะ จริงจังเป็นอย่างมาก มีการเตรียมตัวล่วงหน้าด้วยการไปเก็บตัวที่ดูไบถึง 10 วัน มีแมตช์อุ่นเครื่องกับทีมชาติคีร์กีซสถานและทีมชาติโมร็อกโกทีมเอไปแล้ว ในขณะที่ทีมชาติไทยอาจจะมีเวลาซ้อมอย่างจริงๆ จังๆ ก่อนแมตช์แรกเพียง 3 วันเท่านั้น

 

 

อัดฉีดไทยแชมป์ทะลุ 30 ล้าน

 

เงินรางวัลในการแข่งขันชิงแชมป์อาเซียนครั้งนี้ สหพันธ์ฟุตบอลแห่งอาเซียน หรือ “เอเอฟเอฟ” มีเงินรางวัลไว้ให้สำหรับทีมที่สามารถเข้าถึงรอบรองชนะเลิศได้รวม 4 ทีม โดยในรอบแรกไม่มีโบนัสสำหรับทีมที่ชนะหรือเสมอ

 

ขณะที่เงินรางวัลที่เอเอฟเอฟกำหนดไว้คือ ทีมแชมป์จะรับเงินรางวัล 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 9.6 ล้านบาท) เท่ากับปี 2018 รองแชมป์ได้ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.2 ล้านบาท) ส่วนทีมที่ตกรอบรองชนะเลิศ รับเงิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.6 ล้านบาท)

 

ขณะเดียวกัน “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการทีมชุดนี้ได้ประกาศอัดฉีดเพิ่มอีก 20 ล้านบาท หากนักเตะไทยยืนหนึ่งอาเซียนได้สำเร็จ รวมเบ็ดเสร็จ ถ้าคว้าแชมป์ได้ จะมีเงินอัดฉีดทะลุถึงหลัก 30 ล้านบาท


stadium

author

Play Now Thailand

StadiumTH Content Creator / เพจ Play Now Thailand

โฆษณา