24 กันยายน 2564
นับว่าเป็นข่าวใหญ่ของวงการลูกยางเมืองไทย หลังจากที่ สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย รับหน้าเสื่อเป็น “เจ้าภาพ” จัดการแข่งขันทัวร์นาเมนต์สำคัญระดับเอเชียอย่าง วอลเลย์บอลสโมสรชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย (2021 Asian Club Volleyball Championship) แบบต่อเนื่อง 2 รายการติดต่อกัน เริ่มจากประเภททีมหญิงจะแข่งขันระหว่างวันที่ 1 – 7 ตุลาคม และประเภททีมชายจะเล่นกันระหว่างวันที่ 8 – 15 ตุลาคม
แน่นอนว่าในฐานะ “เจ้าภาพ” ตัวแทนจากเมืองไทยจะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันเพิ่มอีกประเภทละ 1 ทีม เท่ากับว่าทั้ง 2 รายการจะมีตัวแทนจากไทยลงสนามแข่งขันทั้งหมด 4 สโมสร ประกอบด้วย ทีมชาย ได้แก่ นครราชสีมา นำโดย วันชัพ ทัพวิเศษ และ อมรเทพ คนหาญ, ไดมอนด์ฟู้ดฯ นำโดย กิตติคุณ ศรีอุทธวงศ์, กันตพัฒน์ คูณมี ส่วนทีมหญิง ได้แก่ นคราชสีมา นำโดย นุศรา ค้อมคำ และ ชัชชุอร โมกศรี, สุพรีม ชลบุรีฯ นำโดย ปลื้มจิตร ถินขาว และ วิลาวัลย์ อภิญญาพงศ์
“ไทย” ชาติแรกที่เป็น “เจ้าภาพ” พร้อมกัน 2 รายการ
ย้อนกลับไปเมื่อ 23 ปีที่แล้ว วอลเลย์บอลสโมสรชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย จัดการแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 1999 แต่ว่านับถึงปัจจุบันรายการนี้แข่งขันกันมาทั้งหมด 21 ครั้ง(2021) เนื่องจากมีการยกเลิกไปทั้งสิ้น 2 ครั้ง โดยเมื่อปี 2003 ยกเลิกไปเพราะการแพร่ระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง “ไข้หวัดซาร์” ส่วนครั้งล่าสุดในปี 2020 ยกเลิกไปเพราะการแพร่ระบาดของ “โควิด-19”
โดยอดีตที่ผ่านมา “ไทย” รับหน้าเสื่อเป็น “เจ้าภาพ” จัดการแข่งขันมาแล้วทั้งหมด 6 ครั้ง แยกเป็นประเภททีมชาย 1 ครั้ง และประเภททีมหญิง 5 ครั้ง มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของเอเชียเท่ากับ จีน และน้อยกว่าเพียงแค่ เวียดนาม ชาติเดียวเท่านั้นที่เคยเป็น “เจ้าภาพ” ไปทั้งหมด 7 ครั้ง ส่วนทาง เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น 2 มหาอำนาจแห่งวงการลูกยางเอเชีย กลับไปเคยเสนอตัวเป็น “เจ้าภาพ” เลยแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีชาติใดเป็น “เจ้าภาพ” ครบทั้ง 2 รายการในปีเดียวกันมาก่อน “ไทย” คือชาติแรกในประวัติศาสาตร์
หนุ่มอิหร่าน-สาวจีน ยอดทีมแห่งสโมสรเอเชีย
ตลอดการแข่งขัน 20 ครั้งที่ผ่านมา ตัวแทนจากไทยประสบความสำเร็จและคว้าแชมป์ “สโมสรเอเชีย” มาครองได้ทั้งหมด 6 ครั้ง และเป็นการแข่งขันในประเภททีมหญิงหมดทั้ง 6 ครั้ง ประกอบด้วย สโมสรเฟเดอร์บรอย 2 ครั้งเมื่อปี 2009, 2010, สโมสรสุพรีม ชลบุรีฯ 2 ครั้งเมื่อปี 2017, 2018, สโมสรช้าง 1 ครั้ง เมื่อปี 2011 และ สโมสรบางกอกกล๊าสฯ 1 ครั้งเมื่อปี 2015 ส่วนในประเภททีมชายผลงานดีที่สุดคือ อันดับที่ 4 (2000, 2006)
ชาติมหาอำนาจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในวอลเลย์บอลสโมสรชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ประเภททีมชาย คือ อิหร่าน โดยที่ผ่านมา ตัวแทนจากอิหร่าน สามารถคว้าแชมป์ “สโมสรเอเชีย” มาครองได้มากที่สุดถึง 14 ครั้ง ประกอบด้วย เปกาน เตหะราน 7 ครั้ง(2002, 2006, 2007, 2008, 2009, 2010, 2011), ชาห์ดารี่ วารามิน 2 ครั้ง(2014, 2019), ซามาเยห์ แบงค์ 2 ครั้ง(2016, 2017), ซานัม เตหะราน 1 ครั้ง(2004), คาลเลห์ มาซานดาราน(2013) และ คาห์ตัม อาดาห์คาน 1 ครั้ง(2018)
ประเภททีมหญิง “บิ๊กเนม” แห่งวงการลูกยางเอเชีย คือทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดใน วอลเลย์บอลสโมสรชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย โดยที่ผ่านมา สโมสรจากจีน คว้าแชมป์ไปครองได้ทั้งหมด 8 สมัย ประกอบด้วย เทียนจิน โบไฮ แบงค์ 5 สมัย(2005, 2006, 2008, 2012, 2019), เซี่ยงไฮ้ ไบร์ทฯ 2 สมัย(2000, 2001) และ กว่างตง เอเวอร์แกรนเด้ 1 สมัย(2013)
สุพรีมฯ ตัวแทนจากไทยที่ผ่านเข้าชิง 3 สมัย
จากผลงานที่ผ่านมาของ ตัวแทนประเทศไทย ในวอลเลย์บอลสโมสรชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย สุพรีมฯ นับว่าเป็นทีมที่ผ่านเข้าสู่ รอบชิงชนะเลิศ มากที่สุดของเมืองไทย โดยสามารถผ่านเข้าสู่ รอบชิงชนะเลิศ ได้ติดต่อกัน 3 ครั้ง(2017, 2018, 2019) และสามารถคว้าแชมป์มาครองได้ 2 สมัย โดยในปีนี้ “โลมาสีชมพู” จะมีโอกาสได้ลงล่าแชมป์อีก 1 สมัย
เริ่มจากในปี 2017 สุพรีมฯ เอาชนะ ฮิซามิสึ สปริงส์ จากญี่ปุ่น 3-1 เซต โดยในครั้งนั้น ฟาตู ดิอุ๊ค ตบสาวชาวเซเนกัลของ สุพรีมฯ ได้รับเลือกเป็น MVP, ในปี 2018 สุพรีมฯ เอาชนะ เอ็นอีซี เรด ร็อคเก็ตส์ 3-2 เซต และทาง อัจฉราพร คงยศ ได้รับเลือกเป็น MVP ก่อนจะผ่านเข้าชิงเป็นครั้งที่ 3 ในปี 2019 สุพรีมฯ พ่ายต่อ เทียนจิน โบไฮ แบงค์ 1-3 เซต(หลี่ หยิงหยิง ตบสาวทีมชาติจีน คว้ารางวัล MVP)
ทำเนียบเเชมป์ทีมหญิง
1999 - แอลจี คาลเท็ก(เกาหลีใต้)
2000 - เซี่ยงไฮ้ฯ (จีน)
2001 - เซี่ยงไฮ้ฯ (จีน)
2002 - ฮิซามิสึ สปริงส์(ญี่ปุ่น)
2004 - ราฮัทฯ (คาซัคสถาน)
2005 - เทียนจินฯ (จีน)
2006 - เทียนจินฯ (จีน)
2007 - ราฮัทฯ (คาซัคสถาน)
2008 - เทียนจินฯ (จีน)
2009 - เฟเดอร์บรอย (ไทย)
2010 - เฟเดอร์บรอย (ไทย)
2011 - ช้าง (ไทย)
2012 - เทียนจินฯ (จีน)
2013 - กว่างตกฯ (จีน)
2014 - ฮิซามิสึ สปริงส์ (ญี่ปุ่น)
2015 - บางกอกกลาสฯ(ไทย)
2016 - เอ็นอีซี เรดฯ (ญี่ปุ่น)
2017 - สุพรีม ชลบุรีฯ (ไทย)
2018 - สุพรีม ชลบุรีฯ (ไทย)
2019 - เทียนจินฯ (จีน)
ทำเนียบเเชมป์ทีมชาย
1999 - เสฉวน (จีน)
2000 - ซัมซุง ไฟร์ (เกาหลีใต้)
2001 - ซัมซุง ไฟร์ (เกาหลีใต้)
2002 - เปกาน เตหะราน (อิหร่าน)
2004 - ซานัม เตหะราน (อิหร่าน)
2005 - ราฮัทฯ (คาซัคสถาน)
2006 - เปกาน เตหะราน (อิหร่าน)
2007 - เปกาน เตหะราน (อิหร่าน)
2008 - เปกาน เตหะราน (อิหร่าน)
2009 - เปกาน เตหะราน (อิหร่าน)
2010 - เปกาน เตหะราน (อิหร่าน)
2011 - เปกาน เตหะราน (อิหร่าน)
2012 - อัล อะราบี (กาตาร์)
2013 - คัลเลห์ มาซานดารัน (อิหร่าน)
2014 - มาติน วารามิน (อิหร่าน)
2015 - ไต้ชุง แบงค์ (ไต้หวัน)
2016 - ซาร์มาเยห์ เตหะราน (อิหร่าน)
2017 - ซาร์มาเยห์ เตหะราน (อิหร่าน)
2018 - คาห์ตัม อาร์ดาคาน (อิหร่าน)
2019 - ชาห์รดารี่ วารามิน (อิหร่าน)
TAG ที่เกี่ยวข้อง