stadium

ชบาแก้ว : ช่วงเปลี่ยนถ่าย แต่เป้าหมายไม่เปลี่ยน

23 กันยายน 2564

สำหรับกีฬาประเภททีม อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้นั่นคือเรื่องเวลา เพราะแม้จะมีทีมที่แข็งแกร่งไร้เทียมทานเพียงใด แต่วันหนึ่งก็ต้องถึงเวลาที่ใบไม้ผลัดใบ เนื่องจากไม่มีใครฝืนสังขารได้

 

คำถามคือ เมื่อถึงเวลานั้น เราจะสร้างทีมเพื่อสานต่อความสำเร็จได้อย่างไร สายเลือดใหม่จะเข้ามาทดแทนได้ดีขนาดไหน และเป้าหมายจะเปลี่ยนไปหรือไม่  

 

ในกีฬาประเภทบุคคล เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะเมื่อมีนักกีฬาคนหนึ่งประสบความสำเร็จ ก็จะสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นต่อมา ทำให้มีตัวเลือกมากขึ้น การแข่งขันภายในสูงขึ้น ได้ผลลัพธ์เป็นหัวกะทิมารับช่วงต่อไม่ขาดสาย ซึ่งกรณีนี้เห็นได้ชัดเจนในนักกีฬาหญิงของไทย  

 

ไล่ตั้งแต่กีฬายกน้ำหนัก เราได้เห็น จอมพลังหญิงหลายต่อหลายคนตั้งแต่ เกษราภรณ์ สุตา, อุดมพร พลศักดิ์, ปวีณา ทองสุก, อารีย์ วิรัฐถาวร, วันดี คำเอี่ยม, ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล, พิมศิริ ศิริแก้ว, ศิริภุช กุลน้อย, โสภิตา ธนสาร, สุกัญญา ศรีสุราช คว้าเหรียญโอลิมปิกตั้งแต่ปี 2000-2016

 

ในกีฬาเทควันโด เยาวภา บุรพลชัย คว้าเหรียญทองแดงจากโอลิมปิกที่เอเธนส์ ปี 2004 ตามด้วย บุตรี เผือดผ่อง ในปี 2008, ชนาธิป ซ้อนขำ ปี 2012 ก่อนที่ "น้องเทนนิส" พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ จะมาคว้าเหรียญทองใน โตเกียว 2020 หลังจากได้เหรียญทองแดงใน ริโอ เกมส์

 

ขณะที่กีฬากอล์ฟ "โปรเม" เอรียา จุฑานุกาล ที่คว้าแชมป์ระดับเมเจอร์ รวมทั้งขึ้นไปถึงมือ 1 ของโลกใน แอลพีจีเอ ทัวร์ ก่อนที่ โปรแพตตี้ หรือโปรเหมียว ปภังกร ธวัชธนกิจ จะสามารถคว้าแชมป์เมเจอร์ได้สำเร็จในปีนี้ และทำผลงานได้ดีต่อเนื่องตามรอยรุ่นพี่  

 

 

ส่วนกีฬาประเภททีม เรามี วอลเลย์บอลหญิง ที่แข็งแกร่งระดับทวีป และฟุตบอลหญิงที่ไปฟุตบอลโลกมาแล้ว 2 หน แต่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายสายเลือดใหม่ทั้งคู่ โดยทัพลูกยาวสาวไทยไม่น่าเป็นห่วงเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากมีลีกภายในที่แข็งแกร่ง รวมทั้งมีการผสมผสานผู้เล่นเก่าและใหม่ในทีมมาต่อเนื่องหลายปี ทำให้สามารถสานต่อความสำเร็จได้ไม่ว่าจะเป็นรองแชมป์เอเชียปี 2019 หรือเหรียญทองซีเกมส์ในปีเดียวกัน  

 

ในทางกลับกัน สำหรับทีมฟุตบอลหญิง ตัวเลือกทดแทนหาได้ยากกว่า และมีขอบเขตจำกัด ทั้งที่ตัวหลักซึ่งผ่านเวทีฟุตบอลโลกมาแล้วอย่าง สุนิสา สร้างไธสง, วิลัยพร บุตรด้วง, พิสมัย สอนไสย์ และกาญจนา สังข์เงิน ต่างอยู่ในวัย 30 กว่า ๆ แล้วทั้งนั้น จึงเป็นโจทย์ยากสำหรับทีมงานที่จะสานต่อความสำเร็จ ส่งผลให้ได้เพียงรองแชมป์ซีเกมส์ รวมทั้งรองแชมป์อาเซียนหนล่าสุด  

 

อย่างไรก็ตาม ในฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชียปี 2022 รอบคัดเลือก กลุ่ม เอช ที่ประเทศปาเลสไตน์ เราได้เห็นสัญญาณอันดีหลายอย่างว่า เป้าหมายที่จะไปฟุตบอลโลกสมัยที่ 3 ติดต่อกันนั้น มีโอกาสเป็นไปได้ไม่น้อยไปกว่าครั้งที่ผ่านมา

 

ถึงแม้ในนัดแรกจะเจอคู่แข่งที่เรียกว่าเป็นวัวเคยค้าม้าเคยขี่อย่างมาเลเซียประเทศเพื่อนบ้าน แต่ในสกอร์ 4-0 นั้น มีอะไรน่าประทับใจมากมาย

 

ทั้งการประเดิมคุมทีมของ มิโยะ โอกาโมโตะ เฮดโค้ชชาวญี่ปุ่น ดีกรีอดีตผู้ช่วยผู้ฝึกสอนทีมชาติญี่ปุ่นหญิง รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ชุดแชมป์โลกในปี 2018 และเป็น 1 ใน 8 ผู้ฝึกสอนหญิงระดับ JFA S License (เทียบเท่า AFC Pro License) ในประเทศญี่ปุ่น ที่ยกระดับทัพชบาแก้วของไทยด้วยระบบการเล่นที่แข็งแกร่ง  

 

 

รวมทั้งการแจ้งเกิดของ 2 นักเตะดาวรุ่ง ทั้ง กัญญาณัฐ เชษฐบุตร กองหน้าวัย 21 ปีที่ทำแฮตทริก และ ณัฐวดี ปร่ำนาค กองกลางวัย 20 ปี จาก ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ แคโรไลนา ที่ทำ 1 ประตู รวมทั้ง อมรรัตน์ อุดไชย, อุไรพร ยงกุล และ ชัชวัลย์ รอดทอง ที่ได้ลงสนามเช่นกัน อีกทั้งยังมีดาวรุ่งวัยเพียง 18 ปีอย่าง พลอยชมพู สมนึก และ จณิสตา จินันทุยา ที่รอโอกาสบนม้านั่งสำรอง

 

ขณะเดียวกันนักเตะประสบการณ์โชกโชนทั้ง สุนิสา สร้างไธสง, ศิลาวรรณ อินต๊ะมี กัปตันทีม และ ธนีกานต์ แดงดา ต่างรักษามาตรฐานของตัวเอง พร้อมประคองรุ่นน้องในทีมได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะ พิสมัย สอนไสย์ ที่ถูกปรับไปยืนกองหลัง ทั้งที่เป็นกองหน้ามาตลอด ก็ตอบสนองความต้องการของ โอกาโมโตะ ได้อย่างดีเยี่ยม

 

เพราะฉะนั้นจากที่เคยกังวลว่า ช่วงเปลี่ยนถ่ายจะทำให้ทัพชบาแก้วเสียศูนย์ต่อเนื่อง แต่บอกได้เลยว่าฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยชุดนี้ เราเชียร์กันไปได้อีกยาว ๆ

 

สำหรับโปรแกรมนัดต่อไป ฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยจะพบกับ ปาเลสไตน์ ที่สนาม ไฟซอล อัล ฮุสเซนี ในวันที่ 25 กันยายน 2564 เวลา 19.30 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ถ่ายทอดสดทาง  AIS PLAY


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

MAR 2024 KV