stadium

ธนา อิซอ “เราต้องพัฒนาตัวเองก่อนจะไปแข่งขันกับคนอื่น”

24 สิงหาคม 2564

ธนา อิซอ “เราต้องพัฒนาตัวเองก่อนจะไปแข่งขันกับคนอื่น”

#ChangsuekAttitude

โดย ช้างศึก x Play Now Thailand

 

เมื่อฤดูกาลก่อนนักเตะดาวรุ่งอย่าง “นัน” หรือ ธนา อิซอ ยังลงเล่นให้สโมสรอัสสัมชัญ ยูไนเต็ด ในไทยลีก 3 อยู่เลย ผ่านพ้นแค่ข้ามปี ขณะนี้เขากำลังเฝ้ารออย่างตื่นเต้นที่จะได้ลงสนามสัมผัสเกมไทยลีก กับต้นสังกัดใหม่อย่างทีมเชียงใหม่ ยูไนเต็ด

 

แฟนฟุตบอลไทยลีกอาจยังไม่คุ้นกับชื่อนี้สักเท่าไร แต่เส้นทางของเขาไม่ธรรมดา เพราะธนาเคยผ่านการติดทีมชาติไทยชุดเยาวชนมาแล้วอย่างโชกโชน ตั้งแต่รุ่น U-14 จนถึง U-19 ในตำแหน่งปีกหรือตัวรุกริมเส้น แม้ตัวค่อนข้างเล็กแต่ทดแทนด้วยหัวใจสู้ และความเร็วจัดจ้านทะลุทะลวง จนได้รับฉายาว่า “ปีกจรวด”

 

การก้าวขึ้นมาสู่ไทยลีกขณะที่ตัวเองยังมีอายุน้อยเพียง 20 ปี ประกอบกับเชียงใหม่ ยูไนเต็ด ก็เพิ่งเลื่อนชั้นจากลีกรองขึ้นสู่ลีกสูงสุดได้เป็นครั้งแรก ธนายอมรับว่าเขารู้สึกกดดันและตื่นเต้นมาก แต่ขณะเดียวกันก็คิดว่ามันเป็นความท้าทายใหม่ๆ ที่ทำให้เขากระหายอยากลงสนามไปสร้างผลงานเพื่อพิสูจน์ตนเอง

 

“นักฟุตบอลทุกคนมีสองขาเหมือนกัน ถ้าคนอื่นทำได้ ทำไมผมจะทำไม่ได้” นักเตะหนุ่มจากแดนสงขลากล่าวอย่างมุ่งมั่น

 

นักฟุตบอลที่พ่อปั้นมา

            

“ผมวิ่งเร็วมาตั้งแต่เด็กครับ” ปีกจรวดเล่าความเป็นมาของตัวเองสมัยเป็นเด็กอยู่ภาคใต้ บ้านเกิดของธนาอยู่ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

            

“ผมเป็นเด็กซนอยู่แล้วครับ ชอบวิ่ง เล่นสารพัดตั้งแต่เด็ก วิ่งเล่นกับเพื่อน ชีวิตนี้เกิดมาเล่นครับ เล่นอย่างเดียว เรื่องเรียนไม่เอาไหน พักเที่ยงก็เตะบอลบ้าง วิ่งไล่จับกับเพื่อนบ้าง แล้วคุณครูน่าจะเห็นแวว เลยจับผมไปเล่นกีฬาวิ่งแข่งให้โรงเรียน ผมก็ได้ที่หนึ่ง แต่ผมชอบเตะบอลมากกว่า ตอน ป.1 ผมเล่นสามอย่างครับ ผมต่อยมวยด้วย วิ่ง แล้วก็เตะบอล”

            

ธนาเป็นเด็กใต้ที่เข้ามาเติบโตในกรุงเทพฯ เพราะตอนอยู่ชั้น ป.2 ก็ต้องย้ายตามพ่อที่เข้ามาทำงานในเมืองหลวง

            

พูดได้ว่าพ่อคือบุคคลสำคัญที่คอยสนับสนุนและเคี่ยวเข็ญเพื่อปลุกปั้นให้เขาเป็นนักฟุตบอล

            

“แต่ก่อนตอนพ่อเป็นวัยรุ่น เขาเป็นนักบอลครับ เล่นฟุตบอลตำบลหรือบอลเขต แต่โอกาส (ในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ) มันไม่ได้มีเหมือนสมัยนี้ พ่อเลยมุ่งไปทางเรียนและทำงาน ตอนหลังเขาถึงมาปั้นผมให้เล่นฟุตบอล”

            

เด็กชายธนาได้เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนบ้านบางกะปิ นอกจากเล่นฟุตบอลกับเพื่อนที่โรงเรียน พ่อส่งเขาไปฝึกที่อะคาเดมีแถวบ้าน แล้วยังฝึกส่วนตัวให้เขาอีกต่างหาก

            

“ตอนซ้อมกับพ่อ ถ้าเดาะบอลไม่ได้ 1,000 ครั้ง พ่อไม่ให้เข้าบ้าน” ธนาเล่าความเข้มงวดของพ่อ “ผมเล่นบอลวิ่ง วิ่งเร็ว แต่ถูกจับฝึกเบสิกทุกวัน บางช่วงผมงอแง ไม่อยากซ้อม ประมาณชั้น ป.4 ผมบอกแม่ว่าไม่อยากไปซ้อมแล้ว ไม่อยากไปอะคาเดมี พ่อก็งอนครับ แต่สุดท้ายผมก็ยอมไป เพราะผมชอบเตะบอล”

            

ธนาเล่าให้ฟังว่า ในวัยเด็กเขายังไม่มีความคิดที่จะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ การได้ไปฝึกซ้อมที่อะคาเดมี หรือลงแข่งฟุตบอลให้กับทางโรงเรียน ก็ทำไปเพราะใจรักชอบเล่นฟุตบอลมากกว่า

            

รวมทั้งตอนที่ไปทดสอบฝีเท้ากับโรงเรียนดังด้านฟุตบอลนักเรียนอย่าง โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ก็เป็นเพราะอยากเข้าโรงเรียนที่ได้เล่นฟุตบอลมากๆ นั่นเอง

 

โลกใบใหม่ของฟุตบอลนักเรียน

           

ตอนที่เรียนชั้นประถมปลาย ธนาเคยไปฝึกซ้อมกับเมืองทอง ยูไนเต็ด อะคาเดมีอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วมีโอกาสได้ลงเล่นอุ่นเครื่องกับทีมโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี โค้ชจากทีมคู่แข่งได้เห็นฝีเท้าของเขาจึงชวนไปลองคัดตัว

            

“ผมไปคัดตัววันเดียวก็ผ่านครับ” ธนาเล่า “ผมเข้ามาอัสสัมฯ ตอนแรกยังไม่รู้เลยครับว่าโรงเรียนมีชื่อเสียงด้านฟุตบอลแค่ไหน เออ โรงเรียนใหญ่ดี ก็ตื่นเต้น ผมต้องมาอยู่หอ พยายามปรับตัวเข้าหาเพื่อน เข้าหาผู้ใหญ่ โค้ช ตอนแรกๆ ไม่ชินเท่าไหร่ ยังอยากกลับบ้าน”

            

นอกจากการปรับตัวด้านชีวิตประจำวัน เขาพบโลกฟุตบอลที่แตกต่างจากเดิม

            

“ตอนอยู่ ป.5-ป.6 ส่วนใหญ่ผมเล่นฟุตซอล บอล 7 คน และบอลเดินสาย ยืนเป็นกองหน้า เลี้ยงหลบคู่แข่ง 3-4 คนสบาย แต่พอมาอยู่อัสสัม ต้องเล่นบอล 11 คน ช่วงแรกยังกะจังหวะไม่ถูก แล้วเจอบอลระบบด้วย ผมยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่โดนฝึกทุกวันจนเข้าใจไปเอง” 

            

“ผมได้เรียนรู้ฟุตบอลหลายแนว คือพอเราโตขึ้น ฟุตบอลจะเปลี่ยนไปทีละขั้น อย่างตอนผมอยู่รุ่นเด็ก 12-13 ปี จะเล่นบอลความเร็ว เลี้ยง-เปิด-ส่ง-ยิง แต่พอสัก 15-16 ฟุตบอลจะเป็นระบบมากขึ้น ใช้การฝากบอล แล้ววิ่งช่อง จังหวะไหนเลี้ยงได้ค่อยเลี้ยง ส่วนมากเพื่อนเปิดบอลเข้าพื้นที่ว่าง ผมวิ่งไปเอาบอล”

            

“จากตอนแรกที่ผมยังไม่ชินกับบอลระบบ เดี๋ยวนี้ผมคิดว่ามันดีมาก อย่างถ้าทีมเสียบอล รีบลงมารับตามตำแหน่ง มันง่ายที่จะไล่บอลคืน” 

            

เขากล่าวอีกว่า “โรงเรียนนี้ให้ผมทุกอย่างครับ ไม่ขาดเลย ผมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง โค้ชสอนเรื่องทัศนคติด้วย ว่าต้องไม่ขี้เกียจ ถ้าทำตัวเองเป็นน้ำเต็มแก้วก็จะไปไม่ถึงฝัน ผมเคยครับ ช่วงเด็กๆ พวกผมชนะบ่อย ชนะจนเหลิงครับ คิดว่าตัวเองเก่ง ก็เลยขี้เกียจบ้างอะไรบ้าง ตอนรุ่น 15-16 ก็เริ่มแพ้จนเขว ก็เลยมุ่งมั่นกลับมาซ้อมกันใหม่”

            

การได้พัฒนาฝีเท้าและร่วมทีมโรงเรียนลงแข่งฟุตบอลเยาวชนรายการต่างๆ ทำให้ธนาเริ่มถูกจับตามอง กระทั่งมีชื่อติดทีมชาติไทยชุดเยาวชน ตั้งแต่รุ่นอายุไม่เกิน 14 ปี

 

โลดแล่นในทีมชาติชุดเยาวชน

            

“ผมติดทีมชาติครั้งแรก ทัวร์นาเมนต์ AFC U-14 ที่ประเทศบรูไน พอรู้ว่ามีชื่อตัวเองก็ตื่นเต้นครับ แล้วได้เห็นพ่อแม่ยิ้มมีความสุข ผมก็มีความสุขครับ” ธนายังจำความรู้สึกตอนติดทีมชาติครั้งแรกได้ดี

            

“ตอนนั้นพอออกไปเจอบอลต่างประเทศ มันมีการแข่งขันสูง เราเคยคิดว่าตัวเองเก่ง พอเจอบางทีมเช่นมาเลเซีย เขาเก่งจนเราตกใจ บางคนสกิลสูง แต่ผมเป็นคนชอบดูคนที่เก่งกว่า แล้วไปทำบ้าง ถ้าเขาทำได้ ผมต้องทำได้แบบเขา เช่นคนนี้เลี้ยงบอลตัดเข้าใน แล้วแตะออกข้าง ใช้สปีดความเร็ว ลองทำแบบเขาสิ ว่าเราทำได้มั้ย แต่แบบไหนลองแล้วไม่โอเค ผมก็ไม่ใช้ครับ”

            

หลังจากนั้น ธนา อิซอ ก็โลดแล่นติดทีมชาติไทยมาแล้วตั้งแต่รุ่น U-14 จนถึง U-19 ในทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลเยาวชนทีมชาติทั้งในระดับอาเซียนและเอเชีย นอกจากนั้นเขายังมีโอกาสได้ไปฝึกซ้อมและแข่งขันที่บาร์เยิร์น มิวนิก ประเทศเยอรมนี และที่สโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ประเทศอังกฤษอีกด้วย

            

“ผมได้รับประสบการณ์มากครับจากการเล่นให้ทีมชาติ อย่างทีมจากอาเซียน พวกผมเจอกันตั้งแต่อายุ 14 จนถึง 19 พัฒนาการมันรู้กันครับ บางทีมเราชนะตอนเด็ก โตมาพวกผมแพ้” ธนาเผยประสบการณ์ตรง “ตอนรุ่น 14-15 ผมว่าทีมไทยเก่งนะครับ สู้กับพวกญี่ปุ่นหรือยุโรปได้เลย แต่พอมารุ่น 18-19 เริ่มเห็นความแตกต่างเยอะ ผมเคยเล่นบอล U-19 เจอทีมเกาหลีใต้ เขาตัวสูงใหญ่ แข็งแกร่ง น่าจะพัฒนาดีกว่าเราครับ”

            

“ผมว่าการเล่นให้ทีมชาติกดดันครับ เพราะมีธงชาติติดที่อกซ้าย ไปต่างประเทศก็ไม่อยากแพ้ ไม่อยากกลับมาได้ยินคนพูดใส่ว่าแพ้ ผมไม่ชอบครับ แต่เวลาชนะก็ดีใจและภูมิใจสุดๆ ผมเคยได้แชมป์ฟุตบอลนักเรียนไทย 15 ปี และ 18 ปีครับ โคตรดีใจเลยที่ได้แชมป์ระดับประเทศ”

            

“เวลาเล่นให้ทีมชาติไทยแล้วแพ้ ผมอยากแก้ตัว กลับมาชนะให้ได้ คืออยากแก้ไข อยากสู้ใหม่ แล้วก็กลับมาติดทีมชาติอีกเรื่อยๆ ”

 

นักเตะอาชีพและความท้าทายครั้งใหม่ของไทยลีก

            

ระหว่างที่ธนาเติบโตและบ่มเพาะฝีเท้าอยู่ในรั้วโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ได้เห็นตัวอย่างรุ่นพี่คนแล้วคนเล่าก้าวไปเป็นนักฟุตบอลอาชีพ มันทำให้เขาตั้งเป้าจะทำอย่างนั้นบ้าง

            

โอกาสของเขามาถึง ในขณะที่ยังเรียนไม่จบชั้น ม.6 ธนาก็ถูกดึงตัวไปเล่นให้สโมสรอัสสัมชัญ ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นทีมของโรงเรียนที่เล่นในไทยลีก 3

           

“จากบอลนักเรียนพอมาเล่นบอล ที 3 แตกต่างครับ เพราะเจอบอลผู้ใหญ่ ทีมเขี้ยวๆ ช่วงแรกๆ พวกผมโดนทีมอื่นขู่ใส่ แต่ผมไม่ค่อยกลัวนะครับ เพราะนักบอลมีขาสองข้างเหมือนกัน”

            

“สมัยเรา 14-15 ผมคิดว่าเร็วกว่าเพื่อนในรุ่น ตอนขึ้นมาเล่น ที 3 แรกๆ ผมเลี้ยงใส่เลยครับ เจอเหลี่ยมเก๋าพวกผู้ใหญ่ บางทีเขาบังทางวิ่งผม บางทีผมเลี้ยงหลบหนึ่ง หลบสอง โดนเตะ เรียบร้อยเลยครับ หลังๆ ผมคิดว่าทำยังไงถึงจะชนะเขา ก็เล่นชั้นเชิง ฝากบอล ชิ่งบอลหนึ่ง-สอง บางทีผมไม่ต้องเลี้ยงเยอะ ใช้การวิ่งช่อง เพื่อนจ่ายบอลให้ แล้วผมผ่านบอลให้เพื่อนทำประตู แบบนี้ไม่ต้องเปลืองตัวเลี้ยงไปปะทะ ชน หรือโดนเตะ”

            

“การเล่นฟุตบอล ที 3 ทำให้ผมโตขึ้นเยอะครับ ได้พัฒนาด้านความแข็งแกร่ง แรงปะทะ เข้าโรงยิม เล่นเวท ฟิตเนส สมัยบอลนักเรียนเราก็ทำครับ แต่ไม่ได้จริงจังขนาดนี้”

            

ธนาลงเล่นให้กับอัสสัมชัญ ยูไนเต็ด ในไทยลีก 3 ฤดูกาล 2020 ราว 14 แมตช์ ก่อนจะเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนมีการตัดจบไทยลีก 3 รอบแบ่งโซน ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคม 2564

            

แทนที่ชีวิตจะหยุดชะงัก ไม่นานหลังจากนั้น ธนากลับได้ข่าวที่ทำให้เขาดีใจแทบช็อก...

            

เมื่อทีมเชียงใหม่ ยูไนเต็ด โดยการคุมทีมของ “โค้ชอั๋น” สุรพงษ์ คงเทพ ซึ่งเพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นสู่ไทยลีกในฤดูกาล 2021/22 ให้ความสนใจในตัวธนา กระทั่งบรรลุสัญญาซื้อตัวเขาเข้าสู่สโมสร

            

“ผู้ใหญ่จากอัญสัมฯ โทรมาบอก ให้ผมไปอยู่ทีมเชียงใหม่นะ ผมช็อก ตกใจ และดีใจสุดๆ โวยวายแทบบ้านแตกครับ พ่อผมก็ดีใจ แม่ซื้อของมากินฉลองกันอยู่ในบ้าน เพราะเป็นช่วงโควิด” ธนาเล่าถึงความตื่นเต้นตอนนั้น

            

จากเด็กสงขลาที่มาเติบโตในกรุงเทพฯ ธนาต้องโบยบินต่อสู่ภาคเหนือเพื่อลงเล่นฟุตบอลไทยลีกครั้งแรกในชีวิต แน่นอนว่าเขาต้องพบความท้าทายใหม่ๆ ที่ยากลำบากกว่าที่เคยเจอมา

            

“ตอนนี้ผมพยายามปรับตัวกับพวกพี่เขา การฝึกซ้อมมีรายละเอียดเยอะ สปีดบอลก็เร็วกว่าที 3 ผมเลี้ยงบอลจะผ่านคนหนึ่งยังยากเลยครับ คือระบบมันเป็นทรง เหมือนเลี้ยงไปแล้วถูกต้อนให้เข้ามุม”

            

“ผมมาอยู่ที่เชียงใหม่ได้สามเดือน ได้เรียนรู้เยอะมากๆ เรื่องการยืนตำแหน่ง เรื่องระบบฟุตบอล ผมเป็นคนยิงบอลไม่ดี ก็โดนจับซ้อมยิงประตูทุกวัน แล้วผมยังตัวบางสำหรับไทยลีก ผมโดนเทรนฟิตเนส เล่นเวทเพิ่มกล้ามเนื้อ และกินโปรตีนเสริม”

            

“เป็นการซ้อมหนักกว่าที่เคยเจอ แต่ผมก็พยายามทำตัวให้พร้อมมากที่สุดสำหรับไทยลีก ถ้าผมได้รับโอกาส ผมจะพยายามทำให้ดีที่สุด เพราะผมไม่มีอะไรต้องเสีย ผมพร้อมรับทุกอย่าง มันจะเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ล้ำค่า ผมพร้อมเรียนรู้ทุกอย่างครับ”

            

“ผมคิดว่าปีนี้ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะมาก เจอความท้าทายใหม่ แน่นอนว่าตื่นเต้นมาก กดดันด้วย เพราะเราเป็นน้องเล็กในทีมน้องใหม่ของไทยลีก แต่ผมอยากพิสูจน์ตัวเอง และไม่กลัวแพ้ ฟุตบอลยังไม่เตะ ยังบอกอะไรไม่ได้หรอก” ธนากล่าวอย่างกระตือรือร้น

            

“สิ่งสำคัญตอนนี้คือต้องแข่งขันกับตัวเองครับ ตั้งแต่ไหนแล้วที่ผมไม่คิดจะแข่งกับใคร เราต้องพัฒนาตัวเองก่อนที่จะไปแข่งขันกับคนอื่น” เขาบอกอีกว่า “ผมรู้ตัวตั้งแต่เด็กแล้วว่าเรียนไม่เอาไหน ก็ต้องมุ่งมาเอาดีด้านฟุตบอล แล้วก็อยากพัฒนาฝีเท้าตัวเองให้ดีขึ้นทุกวัน อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทุกวัน”

            

ขณะที่ฟุตบอลไทยลีกฤดูกาล 2021/22 ใกล้จะเปิดฉากในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้แล้ว

            

บางคนที่รู้จักฝีเท้าของ ธนา อิซอ บอกว่าจำชื่อนี้ไว้ให้ดี เพราะดาวรุ่งรายนี้อาจได้โชว์ลีลาบุกทะลวงคู่แข่งด้วยความเร็วราวจรวด ให้แฟนบอลไทยลีกได้ตื่นเต้นไปตามๆ กัน


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

Play Now Thailand

Play Now Content Creator

โฆษณา