13 สิงหาคม 2564
ในที่สุด ทางสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือเอเอฟซี ก็ได้มีการจัดพิธีจับสลากแบ่งสายการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย 2022 รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี รอบคัดเลือกครั้งใหม่ ก่อนจะได้บทสรุปออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ทาง เกาหลีเหนือ นั้นตัดสินใจประกาศถอนทีมออกจากทัวร์นาเม้นต์
โดยกลุ่ม J ของทีมชาติไทยของเรานั้นยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลังจับสลากใหม่ โดยยังมี มาเลเซีย, ลาว และมองโกเลีย เป็นเจ้าภาพอยู่เหมือนเดิม ในขณะที่ผลการจับสลากกลุ่มอื่นๆ มีดังนี้
กลุ่มจี : ออสเตรเลีย, จีน, อินโดนีเซีย, บรูไน
กลุ่มเอช : เกาหลีใต้, สิงคโปร์, ติมอร์-เลสเต, ฟิลิปปินส์
กลุ่มไอ : เวียดนาม, เมียนมา, ไต้หวัน
กลุ่มเจ : ไทย, มาเลเซีย, สปป.ลาว, มองโกเลีย
กลุ่มเค : ญี่ปุ่น, ฮ่องกง, กัมพูชา
หากเรามาวิเคราะห์กัน จะเห็นได้ชัดว่า ไทย ยังถือได้ว่าโชคดีที่ได้อยู่ในกลุ่มนี้ หากเทียบกับเพื่อนร่วมภูมิภาคอาเซียนอย่าง อินโดนีเซีย ที่มีกระดูกชิ้นโตทั้ง ออสเตรเลีย และจีน ยืนขวางอยู่ เช่นเดียวกับ ฟิลิปปินส์ กับ สิงคโปร์ ที่ต้องมาตัดกันเอง แถมยังมียักษ์ใหญ่อย่าง เกาหลีใต้ อยู่ในกลุ่ม ขณะที่ เวียดนาม เองก็ยังไม่สามารถประมาท เมียนมา กับ ไต้หวัน ได้เลยแม้แต่วินาทีเดียว
ด้วยเงื่อนไขการหาแชมป์กลุ่มทั้ง 11 กลุ่ม พร้อมด้วยรองแชมป์กลุ่มที่ดีที่สุด 4 จาก 11 กลุ่ม ผ่านเข้ารอบสุดท้ายไปแข่งขันที่ประเทศอุซเบกิสถาน ดังนั้น หากจะมองให้ปลอดภัยที่สุด ทัพ “ช้างศึก” เองก็คงไม่มีเป้าหมายอื่นนอกจากต้องทำทุกอย่างเพื่อการันตีแชมป์กลุ่มให้ได้สถานเดียว
หากมองดูเผินๆ แน่นอนว่าเราเองค่อนข้างจะเป็นต่อในแง่ของชื่อชั้น แต่ทว่าฟุตบอลในยุคปัจจุบันนั้นถูกบีบช่องว่าง และมาตรฐานให้แคบลงจนกูรูลูกหนังมากมายต่างไม่กล้าฟันธงเน้นๆ ว่าสุดท้ายแล้วใครกันที่จะคว้าบัลลังก์แชมป์กลุ่ม พร้อมกับตั๋วผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายไปครอง
เพราะอย่าลืมว่านี่คือการแข่งขันของนักเตะรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ที่ฝ่ายจัดการแข่งขันระบุไว้ชัดเจนว่า นักเตะที่มีคุณสมบัติสามารถลงทะเบียนเล่นในทัวร์นาเมนต์นี้ทั้งในรอบคัดเลือก และรอบสุดท้ายได้นั้นจะต้องเกิดหลังจากวันที่ 1 มกราคม 1999
นั่นจึงเป็นเหตุให้ทางฝ่ายเทคนิค รวมถึงทีมสต๊าฟชุดนี้ต้องเร่งประชุมเกี่ยวกับแผนการเตรียมทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี เพื่อเตรียมทำการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี รอบคัดเลือกเป็นการด่วน พร้อมกับการเตรียมระดม 82 แข้งฝีเท้าดีเพื่อเข้ามาเก็บตัวช่วงปลายเดือนนี้
แน่นอนว่าปัจจัยแรกที่จะทำให้เราไปถึงเป้าหมาย และประสบความสำเร็จในรอบคัดเลือกนั่นก็คือ “การบริหารจัดการนอกสนาม ภายใต้สถานการณ์โควิด-19”
นี่คือสิ่งที่สำคัญมากๆ เพราะอย่าลืมว่านับตั้งแต่ที่โลกใบนี้ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทีมชาติไทยในระดับเยาวชนของเราก็ยังไม่เคยเดินทางออกไปแข่งขันในทัวร์นาเมนต์หลักๆ เลย
หากแต่ประสบการณ์ของทีมงานทีมชาติไทยชุดใหญ่ กับการเดินทางไปลงทำศึกฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก โซนเอเชีย ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา น่าจะช่วยให้การบริหารจัดการทัพ “ช้างศึก U23” ชุดนี้ดูลงตัวมากขึ้น เพราะอย่าลืมว่างานหลังบ้านนอกสนามนั้นมีอะไรที่จำเป็นต้องการผ่านวางแผนมาเป็นอย่างดี และไม่สามารถให้เกิดข้อผิดพลาดได้เลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะงานด้านเอกสาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนังสือเดินทาง, การฉีดวัคซีน, วัคซีนพาสปอร์ต ตลอดจนแผนการด้านเทคนิคเช่น แผนการเก็บตัว, รูปแบบการฝึกซ้อม, การวางแผนเรื่องการเดินทาง ตลอดจนเรื่องจิตวิทยาให้กับนักฟุตบอลที่ต้องแบกรับความกดดัน และความคาดหวัง แน่นอนว่า “การบริหารจัดการนอกสนาม ภายใต้สถานการณ์โควิด-19” คือส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายได้จริงๆ
นอกจากนี้ การตัดสินใจเลือกนักเตะ และการตีโจทย์เรื่องแทคติกให้แตกในช่วงการเก็บตัวของทีมสต๊าฟ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยทำให้เราการันตีตั๋วผ่านเข้าไปสู่รอบสุดท้ายได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเชื่อได้ว่ากุนซืออย่าง “โค้ชหระ” อิสสระ ศรีทะโร ตลอดจนทีมงานนั้นได้ทำการบ้านเตรียมตัวโดยเฉพาะลิสต์นักเตะทั้ง 82 คน
ที่สำคัญ นักเตะที่เคยผ่านมือ “โค้ชหระ” จากศึกฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี ในปี 2018 ที่เกือบจะคว้าตั๋วไปลุยศึกฟุตบอล U20 ชิงแชมป์โลกได้ล้วนแต่เข้าข่ายที่สามารถลงเล่นในทัวร์นาเมนต์นี้ได้ (ต้องเกิดหลังจากวันที่ 1 มกราคม 1999) บวกกับแข้งฝีเท้าดีที่โผล่ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะทำให้ “โค้ชหระ” นั้นมีตัวเลือกที่มากพอที่จะหาขุนพลที่ไปลุยยัง มองโกเลีย ได้
แต่ก็ยังมีเงื่อนไขที่อาจจะทำให้ทีมสต๊าฟชุดนี้จำเป็นต้องวางแผนสองเอาไว้ก็คือ การเรียกตัวนักเตะที่เราต้องไม่ลืมว่า ณ ปัจจุบัน หลายๆ คนนั้นได้ก้าวขึ้นมาเป็นแข้งตัวหลักของสโมสรใหญ่ๆ ในไทยลีกกันหมดแล้ว บางคนไปไกลถึงการเป็นนักเตะทีมชาติไทยชุดใหญ่ แถมช่วงเวลาของการเรียกเก็บตัวนั้นยังไปคาบเกี่ยวกับโปรแกรมนัดเปิดสนามของศึกไทยลีก 1 และ 2 อีก ซึ่งเป็นไปได้ว่า “โค้ชหระ” อาจจะต้องหาทางออกเผื่อไว้ในกรณีที่แข้งเหล่านั้นไม่สามารถเดินทางมาร่วมทีมชุดนี้ได้
หากเราสามารถจัดการกับสองประเด็นหลักข้างต้นได้ดี เชื่อได้เลยว่าโอกาสที่เราจะลงไปสู้กับ มาเลเซีย, ลาว และมองโกเลีย พร้อมกับเก็บผลการแข่งขันที่ต้องการได้ก็มีสูงเหมือนกัน
หากแต่ “ความประมาท คือหนทางแห่งความตาย” ยังคงเป็นวลีอมตะที่ใช้ได้กับทุกสถานการณ์อยู่เสมอ ฟุตบอลไทยก็เช่นเดียวกัน เราคงไม่อาจลงไปในสนามด้วยความประมาทคู่ต่อสู้ได้ และสุดท้ายไม่ว่าคู่ต่อสู้ที่อยู่ตรงหน้านั้นจะเป็นใคร ทัศนคติเดียวที่นักเตะทีมชาติไทยชุดนี้ทุกคนจะต้องแบกลงไปภายใต้ยูนิฟอร์มที่มีตรา “ช้างศึก” อยู่ตรงอกซ้ายก็คือ “สู้ให้สุดใจในทุกๆ วินาที” เพื่อศักดิ์ศรีทีมชาติไทย และแฟนบอลไทยทั้งประเทศที่พร้อมจะหนุนหลังคุณ
นี่จะเป็นโอกาสทองของทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ในศึกฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย 2022 รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี รอบคัดเลือก เพื่อสานต่อความสำเร็จไปสู่การแข่งขันในรอบสุดท้ายได้หรือไม่ ตุลาคมนี้เราจะได้รู้กัน...
สำหรับการแข่งขันรอบคัดเลือกนั้นจะลงทำการแข่งขันระหว่างที่ 23-31 ตุลาคม 2564 โดยจะหาทีมแชมป์กลุ่ม 11 กลุ่ม พร้อมด้วยรองแชมป์กลุ่มที่ดีที่สุด 4 จาก 11 กลุ่ม ผ่านเข้ารอบสุดท้ายไปแข่งขันที่ประเทศอุซเบกิสถาน ระหว่างวันที่ 1-19 มิถุนายน 2565 ต่อไป
โปรแกรมการแข่งขันของทีมชาติไทย ในรอบคัดเลือก (แข่งขันกันที่ประเทศมองโกเลีย)
วันที่ 27 ตุลาคม 2564 - ทีมชาติไทย พบ ทีมชาติมองโกเลีย
วันที่ 29 ตุลาคม 2564 - สปป.ลาว พบ ทีมชาติไทย
วันที่ 31 ตุลาคม 2564 - ทีมชาติไทย พบ ทีมชาติมาเลเซีย
โดยจะมีการยืนยันเรื่องเวลาที่ทำการแข่งขัน และสนามแข่งขันให้ทราบในภายหลัง
TAG ที่เกี่ยวข้อง