3 กรกฎาคม 2564
2 สมัย คือจำนวนที่ “กว่างโซ้งมหาภัย” ได้โอกาสโชว์สกิลลูกหนังบนเวทีเอเชีย ในศึกเอเอฟซี เเชมเปี้ยนส์ ลีก รอบแบ่งกลุ่ม แม้ครั้งแรก (ฤดูกาล 2020/21) จะหมดลุ้นเข้ารอบตั้งเเต่ 3 เกมแรก หลังผ่านครึ่งทาง (3 นัด) ในครั้งดังกล่าวยังไม่มีเเต้มติดมือ… แต่ครั้งนี้ไม่ใช่แบบนั้นเพราะพวกเขาเก็บได้ถึง 4 คะแนน จาก 3 เกมที่ลงเล่น...
ต้องยอมรับว่า กลุ่มเอช ของ เชียงรายฯ ในเอซีแอล หนนี้คือ “กรุ๊ปออฟเดธ” อย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะคู่แข่งร่วมกลุ่มหากไม่ใช่ยอดทีมจากลีกชั้นนำของเอเชีย ก็เป็นยอดทีมของประเทศนั้นๆ ทั้งสิ้น ไล่จาก ชุนบุค ฮุนได มอเตอร์ส แชมป์เคลีกปีล่าสุด (2020) และเจ้าของแชมป์เอซีแอล 2 สมัย ในปี 2006 และ 2016 นอกจากนี้ยังมี กัมบะ โอซาก้า รองแชมป์เจลีก 2020 และ เเทมปีเนส โรลเวอร์ส ยอดทีมจากสิงคโปร์
แน่นอนว่าการมีคู่แข่งระดับท็อปร่วมกลุ่ม มันคือบทพิสูจน์ของ “กว่างโซ้งมหาภัย” ว่าจะทะลายขีดจำกัดของตนเองได้หรือไม่ และวันนี้ สิงห์ เชียงรายฯ แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขากำลังท้าทายยักษ์ใหญ่ในเอเชียได้อย่างสนุก และเบื้องหลังของฟอร์มอันสุดแกร่งนี้มาจากกอะไร เราไปวิเคราะห์กัน...
4 ปีหลังสุด “กว่างโซ้งมหาภัย” คือหนึ่งในทีมที่ก้าวขึ้นมาทะลายความสำเร็จในการผูกขาดแชมป์ของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด โดยเฉพาะรายการฟุตบอลถ้วยภายในประเทศ เพราะพวกเขาได้แชมป์ทั้ง 4 ครั้งที่เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ แบ่งเป็น เอฟเอ คัพ 3 สมัย และ ลีก คัพ 1 ครั้ง ส่วนครั้งอื่นๆ ที่ไปไม่ถึงตำแหน่งแชมป์อย่างน้อยก็การันตีผ่านเข้าสู่รอบควอเตอร์ไฟน่อล…
นี่คือมาตรฐานสำคัญที่ เชียงรายฯ ทำให้เห็นว่า ฟุตบอลถ้วยไม่ได้พึ่งเพียงคำว่าโชค แต่มันคือกึ๋นของทีมที่จะงัดวิธีคิด และระบบการเล่นใดให้เหมาะสมกับแต่ละเกมเพื่อเป็นผู้ชนะหลังสิ้นเสียงนกหวีดจบเกมดังขึ้น
สิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าพวกเขา “มาถูกทาง” ในเอซีแอลหนนี้ คือ “การเข้าบอลอันดุดัน” แน่นอนครับการอยู่ร่วมกลุ่มกับยอดทีมจาก เกาหลีใต้, ญีปุ่น และสิงคโปร์ หากวัดจากมาตรฐานตามตรง “กว่างโซ้งมหาภัย” คงไม่สามารถเล่นฟุตบอลสไตล์สวยงามได้เพราะนี่คือรายการฟุตบอลถ้วยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย มุมมองหรือมาตรฐานการตัดสินอาจต่างจากที่เราเคยเห็น ฉะนั้น การเข้าแท็คเกิ้ลเพื่อสกัดเกมรุกคู่แข่งหนักๆ ในหลายครั้งจึงเป็นเรื่องปกติที่ทำได้โดยไม่ถูกเป่าฟาวล์
ถ้าเราดูผู้เล่นเกมรับของ เชียงราย ยูไนเต็ด โดยเฉพาะ 3 ปราการหลังตัวหลักอย่าง บรินเนอร์ เอ็นริเก้ ที่มีส่วนสูง 189 เซนติเมตร มีลูกล่อลูกชนตามสไตล์เกมรับบราซิเลี่ยน, ธนะศักดิ์ ศรีใส แนวรับจอมเก๋าที่มีส่วนสูง 183 เซนติเมตร พร้อมวิธีการเล่นที่ดุดัน และชินภัทร ลีเอาะ เซนเตอร์ฮาล์ฟวัย 24 ปี ที่มีส่วนสูง 181 เซนติเมตร ซึ่งมีจุดเด่นคือการเข้าปะทะที่หนักหน่วง คือส่วนสำคัญที่ทำให้ “กว่างโซ้งมหาภัย” ถูกซัลโวประตูไปเพียง 2 ประตูจาก 3 เกมแรก ส่งผลให้มีโอกาสผ่านเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้าย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จในโลกลูกหนังสมัยใหม่คือการใช้เงินทุ่มซื้อสตาร์เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างความสำเร็จ แต่น้อยทีมนักที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาวหากปราศจากการผสมผสานระบบลูกหนังเยาวชน แนวทางของ เชียงรายฯ ในช่วงหลังค่อยๆ พัฒนาตามระบบ แม้ไม่หวือหวา ไม่ได้ดึงสตาร์ที่มีค่าตัวราคาแพงดั่งหลายปีก่อนหน้า แต่ใช้ “ทีมเวิร์ค” ที่ทุกคนพร้อมทุ่มเทให้ “กว่างโซ้งมหาภัย” ทำตามเป้าหมายที่วางไว้ให้สำเร็จ
ไล่มาตั้งแต่ผู้รักษาประตู ไม่ว่าจะเป็น สรานนท์ อนุอินทร์ หรือ อภิรักษ์ วรวงษ์ คือสองนายทวารที่อยู่กับทีมมานาน สำหรับ สรานนท์ ปี 2021 คือ ปีที่ 4 ที่เจ้าตัวเฝ้าเสาให้ “กว่างโซ้งมหาภัย” เช่นกันกับ อภิรักษ์ ที่อยู่กับทีมมาตั้งแต่เป็นแข้งเยาวชน
ส่วนเกมรับหลังต้องเสีย วิคเตอร์ คาร์โดโซ่ ซึ่งเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของทีมไปหลังเสร็จภารกิจไทยลีก 2018 ปีถัดมา เชียงรายฯ เดินหน้าเสริม บรินเนอร์ เอ็นริเก้ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะทดแทน คาร์โดโซ่ ได้หรือไม่ แต่สุดท้ายก็สยบเสียงเหล่านั้นด้วยการพาทีมคว้าแชมป์ลีกได้ตั้งแต่ปีแรกที่ลงเล่น ด้วยสถิติเกมรับที่เสียไปเพียง 28 ประตู (น้อยที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่เลื่อนชั้นสู่ไทยลีก 1 ในปี 2011) ขณะที่ ธนะศักดิ์ ศรีใส และ ชินภัทร ลีเอาะ ปี 2021 คือซีซั่นที่ 3 และ 4 ของพวกเขาในสีเสื้อ “กว่างโซ้งมหาภัย”
แดนกลางตัวหลักๆ อย่าง พิธิวัตต์ สุขจิตธรรมกุล กัปตีนทีม และ “ซ้ายสั่งตาย” ศิวกรณ์ เตียตระกูล วาดลวดลายบนฟลอร์หญ้าให้ “กว่างโซ้งมหาภัย” ปีนี้ เป็นปีที่ 4 ส่วนหัวหอกคนสำคัญ อย่าง บิลล์ โรซิมาร์ ก็ลงล่าตาข่ายให้ เชียงรายฯ มาตั้งแต่ปี 2018 นี่ยังไม่รวมเจ้าชายกว่างโซ้งที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขเป็นชาวล้านนาอย่าง เอกนิษฐ์ ปัญญา ซึ่งกับอยู่ทีมตั้งแต่เป็นแข้งเยาวชน
ยอมรับว่า ชื่อชั้นทั้งแข้งไทยและต่างชาติของ เชียงรายฯ หากเทียบกับ บีจีพียู และ การท่าเรือ อาจสู้ไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่พาพวกเขามาไกลในเอซีแอลครั้งนี้คือ “ทีมเวิร์ค” แม้จะครองบอลน้อยกว่าคู่แข่งทั้งสามเกมแรกที่ลงเล่น แต่ผลการแข่งขันที่ออกมากลับพูดได้เต็มปากว่า “พวกเขากำลังใจท้าทายทีมจากเอเชียได้อย่างสนุก” และไม่แปลกใจที่เราจะได้เห็นนักเตะเชียงรายทุกคนช่วยกันวิ่งทั้งขณะมีและไม่มีบอล พร้อมซัพพอร์ตกันทุกเมื่อ
หากเทียบมาตรฐานคู่แข่งร่วมกลุ่ม ของ เชียงรายฯ โดยรวมพวกเขาไม่ได้เป็นต่อแต่อย่างใด เพราะทุกสโมสรที่ได้สิทธิ์เข้าร่วมในรายการนี้ล้วนมีเขี้ยวเล็บในแบบฉบับของตนเอง การได้แต้มในแต่ละเกมจึงไม่ใช่งานง่าย
ทั้ง 4 คะแนนที่เกิดขึ้นใน เอซีแอล 2021 ของ “กว่างโซ้งมหาภัย” ถ้าไม่นับประตูของ เอกนิษฐ์ ช่วงนาทีที่ 68 ในเกมแรก ที่เหลือมาจากช่วงท้ายเกมทั้งหมด ไล่จากประตูชัยในเกมกับ แทมปิเนส โรเวอร์ส ของ ศิวกรณ์ เตียตระกูล นาทีที่ 87 และประตูตีเสมอที่ช่วยคว้า 1 แต้มสำคัญกับ กัมบะ โอซาก้า ของ บิลล์ โรซิมาร์ นาทีที่ 90+4 แสดงให้เห็นว่าแม้ก่อนหน้านั้นต้องเจอกับเกมที่กดดัน สปีดบอลที่เร็วในระดับเอเชีย ความแข็งแกร่ง และการปะทะที่หนักหน่วง แต่พวกเขายังสู้ไม่ถอยจนวินาทีสุดท้าย กระทั่งเปลี่ยนความพยายามตลอดทั้งเกมเป็น 2 ประตูสำคัญ สู่การพูดได้อย่างเต็มปาก ณ ขณะนี้ ว่าพวกเขาใกล้เคียงกับการผ่านเข้าสู่รอบน็อคเอาต์ ศึกเอเอฟซี เเชมเปี้ยนส์ ลีก ที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร
ไม่ว่า “กว่างโซ้งมหาภัย” จะไปได้ไกลแค่ไหนใน เอซีแอล 2021 แต่ผ่านมาถึงตรงนี้พวกเขาทำให้เห็นแล้วว่า สโมสรจากไทยที่ชื่อ สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด กำลังท้าทายยักษ์ใหญ่ในเอเชียได้อย่างสนุกจริงๆ
TAG ที่เกี่ยวข้อง