29 มิถุนายน 2564
มีข่าวหนาหูแพม ๆ ออกมาจากหน้าสื่อไซเบอร์เกี่ยวกับทิศทางของทีมชาติไทยในอีกไม่กี่วันข้างหน้าว่าอาจเกิดเหตุการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ชนิด “ล้างไพ่” ทั้งระบบ(เนื้อข่าวที่มีคนส่งมาให้อ่าน เขียนถึงขนาดที่ว่าการเปลี่ยนแปลงหนนี้นอกจากเรื่องของหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติชุดใหญ่บวกทีมงานแล้ว ยังหมายรวมไปถึงกลุ่มดูแลรากฐานฟุตบอลเยาวชนอย่าง เอ็คโคโน่ ด้วยที่อาจต้องอัปเปหิออกจากสารบบบอลไทย โดยสมาคมฯเล็งทีมงานชุดใหม่ที่เป็นคนไทยล้วนๆเข้ามาดูแลแทน)
“จริงหรอ!?”
ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ช้าก็เร็วมันจะต้องเกิดขึ้นแน่ ๆ อยู่แล้ว เพราะอย่างว่าผลงานทีมชาติในคัดบอลโลกที่ผ่านมาก็อย่างที่เรา ๆ ท่าน ๆ เห็น ๆ กันอยู่ บวกกับกระแสด้านลบที่กำลังถาโถมเข้าใส่สมาคมฯ การอยู่เงียบ ๆ แล้วปล่อยให้ความเงียบส่งเสียงคำรามดัง ๆ แบบไม่ทำอะไรเลยคงเป็นสิ่งที่จะทำให้สถานการ์ณเดินไปสู่จุดล่อแหลมมากขึ้น
ถ้าข่าวที่ว่าเป็นจริง มุมนึงผมก็เข้าใจฝ่ายที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่หรอกนะ เพราะอย่างว่าด้วยค่าจ้างที่ต้องจ่ายออกไปต่อปีหลักหลายสิบล้านในส่วนของอาจาร์ยนิชิโนะ บวกอีกหลายสิบล้านต่อปีกับทีมงานเอ็คโคโน่กับสิ่งที่เราได้รับกลับมาอย่างการตกรอบแบบบอลไม่มีทรง, เสมอบ๊วยอินโดฯและกล้า ๆ แพ้ได้แม้แต่ทีมอย่างมาเลย์, อันดับโลกส่อแววรูดลงไปมากถึง15อันดับ ในขณะที่ทีมชาติชุดเยาวชนก็ควานหาความสำเร็จไม่ได้เลยซักกะชุด หากประเมินเคพีไอกันตามนี้คงไม่มีคำพิพากษาอื่นนอกจาก “ไม่ผ่าน”
ยิ่งสถานการ์ณโควิดระบาดระลอกสามมีแววจะลากยาวนานไปอีกหลายสัปดาห์ส่งผลโดยตรงให้บรรดาสปอนเซอร์ต่าง ๆ ต้องออกมาตราการรัดเข็มขัด นั่นก็จะเท่ากับว่าเรื่องสตุ้งสตางค์ที่จะไหลเวียนเข้าสู่สมาคมฯอย่างที่มันควรจะเป็นต้องมีอันชะงักแน่ๆ และสภาวะ “กระเป๋าแบนแฟนทิ้ง” ก็คงจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า
ผมมีข้อห่วงใยเล็ก ๆ หากเราจะเลือก “อันดู(UNDO)” เพื่อกลับเข้าสู่โหมด “ไทยๆ” ที่เราเคยใช้กันมาในหลายยุคหลายสมัยอีกครั้ง(ใช้โค้ชไทยดูแลแบบครบวงจรทั้งหมด ไล่ไปตั้งแต่ชุดเยาวชนจนไปถึงทีมชุดใหญ่)
ข้อห่วงใยแรกเลย คือ ไทยแลนด์เวย์จากนี้ไปให้ใครทำดี?
มีคนเคยบอกเอาไว้ว่า “หากติดกระดุมเม็ดแรกผิดที่เหลือก็ไม่ต้องพูดถึง!”
ผมมักพูดอยู่เสมอว่าชาติส่วนใหญ่ที่มักประสบความสำเร็จในรายการสำคัญ ๆ มักเริ่มต้นจากอะไรง่าย ๆ อย่างการกำหนดรูปแบบและวิธีการเล่นที่ทำให้ทีมตัวเองได้เปรียบ
ไม่ต้องไปดูคนอื่นคนไกลเอาแค่ง่ายๆดูทีมจากในเอเชียอย่าง “ออสเตรเลีย” นี่แหละ
ออสเตรเลียใช้ความด้านเปรียบจากสรีระจึงเป็นที่มาของฟุตบอลพละกำลังและบอลโยน ถึงขนาดที่ว่าในหนังสือชื่อ “หลักสูตรทีมชาติ:เส้นทางสู่ความสำเร็จในระดับนานาชาติ(The National Football Curriculum: Road map to International Success)” ที่เขียนโดยฝ่ายเทคนิคของสมาคมฟุตบอลของพวกเขาเอง ซึ่งหนังสือที่ว่าจะแจกให้บรรดาสโมสร, อะคาเดมี่ และมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศ โดยตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้มีการกำหนดให้แต่ละอะคาเดมี่ต้องบรรจุแบบฝึกซ้อม “ลองบอล(long ball)” และ “การเข้าทำด้วยลูกโหม่ง(Scoring by heading)” ไว้ในโปรแกรมการฝึกสำหรับเยาวชนตั้งแต่อายุ 9 ปีเป็นต้นไป และจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 เซสชั่น(15-30นาที) ในการฝึกต่อกลุ่มต่อรอบทุกครั้งด้วย
กลับมามองตัวเราต้องถามตรง ๆว่าบอลไทยในเวลานี้เราค้นหาตัวเองเจอแล้วหรือยัง? อะไรคือสิ่งที่เรามีและเราขาด? โค้ชไทยที่มีคุณภาพและมีประสบการ์ณในตอนนี้มีเยอะมั้ย? ใครเหมาะจะมาเป็นคนดูแลฝ่ายเทคนิคและบอลเยาวชน(กรณีเราอัปเปหิทีมงานจากสเปนกลับบ้านทั้งหมด)? และสุดท้ายใครจะเป็นคนกำหนดไทยแลนด์เวย์? นี่คือชุดคำถามที่น่าสนใจทั้งนั้น
อีกข้อห่วงใยที่ปฎิเสธไม่ได้เลย คือ การเตรียมทีมและเรียกนักเตะแบบไทยไทยจะกลับมาด้วยหรือไม่?
ต้องยอมรับว่าระบบ “ดรีมทีม” หรือที่แฟนบอลรู้กันว่ามันคือการเก็บตัวในแคมป์ทีมชาตินาน ๆ กับชุดนักเตะหน้าเดิม ๆ ระบบนี้เราเคยใช้ได้ผลในสมัยก่อน แต่ระบบที่ว่าก็สร้างปัญหาอยู่ไม่น้อยเหมือนกันกับที่มาของคำว่า “ลูกรัก” ซึ่งมันไม่ก่อให้เกิดสภาวะการแข่งขันกันของนักเตะไทยที่อยากติดทีมชาติ ทำให้ลิสทีมชาติที่เรา ๆ ท่าน ๆ มักจะได้เห็นกันก็มักจะเวียนวนอยู่แค่ชื่อเดิมๆซึ่งเป็นที่มาของข้อจำกัดในรูปแบบการเล่นและการแก้เกม(เพราะใคร ๆ ก็เดาออกว่าใครจะได้ลงและจะได้ลงเมื่อไหร่)
ยิ่งในโลกของฟุตบอลในยุคปัจจุบันที่ปฎิทินการแข่งขันฟุตบอลภายในประเทศบวกกับระเบียบว่าด้วยเรื่องการปล่อยตัวนักเตะเข้าแคมป์ทีมชาติของฟีฟ่าทำให้ทีมชาติไม่อาจเรียกนักเตะมาล่วงหน้าได้เป็นสัปดาห์ ๆ ดังนั้นหากใช้โค้ชไทยเขาคนนั้นจะรับมือกับเรื่องนี้ได้มั้ย(ไม่ใช่ต้องเลื่อนลีกหรือต้องร่อนจ.ม.ขอสโมสรปล่อยตัวล่วงหน้ากันวุ่น)?
ก็แค่เสียงเล็กๆจากแฟนบอลคนหนึ่ง และไม่ว่าสมาคมฯจะตัดสินใจแบบไหน เราก็มีหน้าที่ต้องเชียร์ทีมชาติของเรากันต่อไป...
ว่าแต่ท่านผู้อ่านล่ะ...อยากให้กด “อัน-ดู” มั้ย?
TAG ที่เกี่ยวข้อง