stadium

ศฤงคาร พรมสุภะ “ถ้ากายเหนื่อยแต่ใจไม่เหนื่อย เราทำได้ทุกอย่าง”

20 มิถุนายน 2564

ศฤงคาร พรมสุภะ “ผมคิดว่าเราต้องสู้ ถ้ากายเหนื่อยแต่ใจไม่เหนื่อย เราทำได้ทุกอย่าง”

#ChangsuekAttitude

โดย ช้างศึก x Play Now Thailand

 

ช่วงเวลาแห่งการถ่ายเลือดใหม่ของทีมเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ในฟุตบอลไทยลีกฤดูกาล 2020/21 ที่ผ่านมา ศฤงคาร พรมสุภะ นับเป็นดาวรุ่งอีกคนหนึ่งที่ก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของทีมกิเลนผยองในแผงกองหลัง ความสำเร็จดังกล่าวทำให้เขาภาคภูมิใจ เพราะรู้ดีว่าชีวิตตนเองเริ่มมาจากศูนย์ ในวัยเด็กผ่านความลำบาก เคยทำงานทั้งเป็น รปภ. และขับรถบรรทุกส่งสินค้า เพื่อหารายได้ช่วยครอบครัว ศฤงคารไม่เคยผ่านอะคาเดมีฟุตบอลหรือโรงเรียนกีฬาชื่อดังใดๆ แต่ไต่เต้ามาจากเป็นนักฟุตบอลโนเนมในลีกรอง ก่อนก้าวไปติดทีมชาติชุด U19 และ U23 สามารถทำผลงานได้ดีจนมีโอกาสย้ายมาสู่ทีมในไทยลีกอย่างเมืองทอง ซึ่งทำให้เขามีรายได้มั่นคงเพียงพอจะปลูกบ้านหลังใหม่ให้พ่อแม่ที่ต่างจังหวัด

            

เรื่องราวของ ศฤงคาร พรมสุภะ หรือ “เหน่ง” จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของเด็กหนุ่มที่มีความกตัญญู ต่อสู้ชีวิต และไม่ลังเลจะคว้าโอกาสที่เข้ามา เพื่อจะก้าวไปบนเส้นทางนักฟุตบอลอาชีพที่เขาเลือก

            

พื้นเพของเหน่งเป็นคนอีสาน บ้านอยู่ จ. ศรีสะเกษ ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาเยือนตอนเขาอายุราว 14 ปี เมื่อครอบครัวประสบปัญหาหนี้สิน เขาต้องตามพ่อและแม่ที่ย้ายถิ่นไปทำงานโรงงานที่ จ. ระยอง

            

“จะพูดว่าล้มละลายเลยก็ได้ เพราะมันไม่เหลืออะไรเลย บ้าน รถ ต้องเอาไปขายหมด พ่อกับแม่เลยต้องออกจากบ้านมาหางานทำที่ จ.ระยอง แต่ผมอยู่ในอำเภอที่ไม่ติดทะเล บรรยากาศมันเป็นนิคมอุตสาหกรรม แล้วพื้นที่ส่วนหนึ่งคล้ายทางอีสาน เป็นไร่มันสำปะหลัง ผมเลยไม่ต้องปรับตัวมาก”

            

ศฤงคารเล่าว่าเขาชอบเล่นฟุตบอลตั้งแต่ยังเด็กที่ศรีสะเกษ พอย้ายมา จ. ระยอง เข้าเรียนที่โรงเรียนปลวกแดงพิทยาคม นอกจากเล่นฟุตบอลโรงเรียนแล้ว เขายังตระเวนเล่นบอลเดินสายกับเพื่อนๆ

            

ขณะเดียวกันด้วยฐานะการเงินทางบ้านยังไม่ดี เขาต้องแบ่งเวลาไปหางานทำ หนักเอาเบาสู้ ทั้งงานขับรถบรรทุกและเป็น รปภ.

            

“ช่วงแรกที่มาระยอง พ่อผมทำงานเป็นคนขับรถบรรทุก แม่เป็นแม่บ้าน ผมไปช่วยพ่อเป็นเด็กรถ ไปกับพ่อทุกที่ จนพ่อเริ่มสอนให้เราขับ เพราะมองว่าเป็นอาชีพหาเงินได้ ตอนนั้นผมอายุ 15-16 ปี ก็ได้ขับรถบรรทุกส่งของอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งรถไม่ค่อยเยอะ ส่วนใหญ่เป็นรถบรรทุกเหมือนกัน ตอนหลังมีประสบการณ์แล้ว ก็ได้ขับจากระยองมาส่งของที่ท่าเรือแหลมฉบัง คือพอเลิกเรียนก็มาช่วยพ่อขับรถกะกลางคืน ตอนดึกเรานอนในรถ ตอนเช้ามืดพ่อก็มาส่งผมที่บ้าน ตอนนั้นไม่รู้สึกว่าเหนื่อย แต่สนุกที่ได้ออกจากบ้านไปเปิดหูเปิดตา”

            

ส่วนงาน รปภ. นั้น ศฤงคารเล่าว่าเพื่อนๆ ชวนเขาไปทำงานนี้ในช่วงโรงเรียนปิดเทอมเป็นเวลา 1 เดือน

            

ชีวิตของเขาในวัยนั้น นอกจากเรียนหนังสือ ทำงานหารายได้พิเศษ ศฤงคารยังเป็นนักฟุตบอลโรงเรียนปลวกแดงพิทยาคม ผ่านการแข่งขันฟุตบอลนักเรียนรายการต่างๆ มากมาย แม้ขณะนั้นยังไม่มีความคิดอยู่ในหัวว่าการเล่นฟุตบอลเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ แต่ด้วยฝีเท้าโดดเด่นเข้าตาแมวมอง เขาถูกชักชวนไปคัดตัวจนได้เข้าไปเป็นนักเตะเยาวชนของทีมระยอง เอฟซี

            

“ตอนแรกที่ครอบครัวผมย้ายมาอยู่ระยอง เราต้องเช่าบ้าน ไม่มีรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ หรือจักรยาน แล้วพอเลิกเรียนผมต้องซ้อมฟุตบอลต่อ กลับกับรถรับส่งนักเรียนไม่ทัน ก็ต้องนั่งรถสองแถวกลับเอง ซึ่งไม่ผ่านหน้าบ้าน ต้องลงแล้วเดินกลับเป็นชั่วโมงกว่าจะถึงบ้าน เช่นผมซ้อมฟุตบอลเสร็จ 5 โมงครึ่ง กว่าจะนั่งสองแถวแล้วเดินต่อก็ถึงบ้านประมาณทุ่มครึ่งถึงสองทุ่ม”

            

ภายหลังเมื่อศฤงคารได้เซ็นสัญญาเข้าสู่ทีมระยอง เอฟซีแล้ว ระหว่างเขายังเรียนหนังสือชั้น ม.6 ทางบ้านเริ่มฐานะดีขึ้น พ่อซื้อมอเตอร์ไซค์ให้เขาใช้ หลังเลิกเรียนแต่ละวันเขาต้องขับมอเตอร์ไซค์จากโรงเรียนไปสนามซ้อมในตัวเมือง ซึ่งห่างกันราว 60 กม. พอซ้อมฟุตบอลเสร็จก็ขับรถกลับบ้านเป็นระยะทางประมาณ 70 กม. และถึงบ้านราว 2-3 ทุ่ม

            

“ถ้าถามว่าตอนนั้นเหนื่อยไหม ผมคิดว่าเราต้องสู้ครับ ถ้ากายเหนื่อยแต่ใจไม่เหนื่อย เราทำได้ทุกอย่าง”

            

ความลำบากสอนให้เขารู้จักอดทน เป็นคนมีใจสู้ และบอกตัวเองว่าถ้ามีโอกาสมาถึงก็ต้องคว้าเอาไว้ไม่ให้หลุดมือ

            

แม้ช่วงแรกที่เข้าไปเป็นนักเตะของสโมสรระยอง เอฟซี ศฤงคารแทบไม่มีชื่อได้ลงสนามแข่ง ได้แต่ลงสนามฝึกซ้อมกับนักเตะรุ่นพี่ แต่แล้วก็มีโอกาสดีเข้ามาหา เมื่อโค้ชบอกว่าจะส่งเขาไปร่วมคัดตัวทีมชาติชุด U19 ที่กรุงเทพฯ

            

“ตอนนั้นผมอายุ 18 ย่าง 19 ก็ถูกโค้ชส่งเข้ามาคัดตัวทีมชาติชุด U19 ที่มีโค้ชจุ่น อนุรักษ์ ศรีเกิด เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน พอคัดตัวเสร็จระหว่างที่นั่งรถกลับ ก็มีโทรศัพท์เข้ามาบอกว่าผมผ่านเข้ารอบ ให้มาคัดรอบสองในวันพรุ่งนี้ รู้สึกดีใจมาก เพราะผมมีโอกาสคัดแค่ 20 นาทีเอง แล้วเป็นคนมาจากต่างจังหวัด ไม่เคยผ่านอะคาเดมี ไม่เคยผ่านโรงเรียนกีฬาดังๆ ไม่คิดว่าเราจะมีโอกาสตรงนั้น พอกลับถึงระยอง วันรุ่งขึ้นก็นั่งรถเข้ากรุงเทพฯ มาคัดตัวอีก จนผ่านการตัดตัวติด 23 คนสุดท้าย ไปแข่งฟุตบอล U19 ชิงแชมป์อาเซียน 2015 ที่ประเทศลาว”

            

“ก่อนที่จะเริ่มการแข่งขัน มีการคัดรายชื่อ 11 ตัวจริง แล้วมีชื่อผมด้วย ซึ่งเป็นการติดทีมชาติครั้งแรก สุดท้ายปีนั้นทีมเราคว้าแชมป์ โดยผมได้ลงเกือบทุกแมตช์ ก็รู้สึกภูมิใจและดีใจมากๆ”

            

ภายหลังการประเดิมทีมชาติไทยชุด U19 ต่อมา ศฤงคาร พรมสุภะ ยังมีชื่อติดทีมชาติไทยชุด U23 ภายใต้การคุมทีมของโค้ชโย่ง วรวุฒิ ศรีมะฆะ ไปแข่งขันฟุตบอลซีเกมส์ 2017 ที่ประเทศมาเลเซีย โดยทีมชาติไทยสามารถคว้าเหรียญทองมาครอง จากนัดชิงแชมป์ที่เอาชนะทีมเจ้าภาพ มาเลเซียได้ 0-1 ประตู

            

“มันเป็นอะไรที่สุดยอดมากครับ แมตช์นั้นเราชิงกับเจ้าภาพ แฟนบอลเต็มสนาม 8 หมื่นกว่าคน เสียงเชียร์ดังกระหึ่ม มันเป็นการแข่งขันระดับสูงที่เราไม่เคยเจอมาก่อน ส่วนตัวผมรู้สึกตื่นเต้นมาก แต่ก็ไม่ได้กดดัน พอผลการแข่งขันออกมา ทีมชาติไทยชนะและได้แชมป์ ทำให้รู้สึกดีใจ ผมไม่คิดว่าตัวเองจะมาถึงขนาดนี้ได้” ศฤงคารยังจำความรู้สึกในวันนั้นได้อย่างดี

            

จากความสำเร็จของศฤงคารในนามทีมชาติไทยทั้งชุด U19 และ U23 ร่วมกับการพัฒนาฝีเท้าและทำผลงานได้ดีกับทีมต้นสังกัดอย่างระยอง เอฟซี ในไทยลีก 2 ส่งให้เขากลายเป็นที่รู้จัก และถูกจับตามองในฐานะเซ็นเตอร์ฮาล์ฟดาวรุ่งอนาคตไกล กระทั่งถูกดึงตัวเข้าสู่ทีมในไทยลีก คือ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด เมื่อปี 2018

            

“ผมเข้าทีมเมืองทองในชวงเลกสอง แทบไม่มีชื่อลงสนามเลย เราก็ร่วมซ้อมกับพี่ๆ ไปเรื่อยๆ ผมต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะ เพราะมาจากลีกรอง เพิ่งขึ้นมาไทยลีก ซึ่งความเข้มข้นของฟุตบอลต่างกันมาก แล้วเราได้เจอคนที่เก่งกว่า รุ่นพี่ที่มีประสบการณ์สูง ก็ทำให้เราพยายามพัฒนาตัวเองเพื่อสู้กับคนอื่นๆ”

            

“ต่อมาค่อยมีโอกาสบ้าง เพราะในทีมมีคนเจ็บ โค้ชก็ให้เราลงเป็นตัวสำรอง เปลี่ยนลงไปช่วงท้ายเกม จากนั้นผมเริ่มมีประสบการณ์ขึ้นเรื่อยๆ ในการเล่นไทยลีก จนโค้ชไว้วางใจให้เริ่มออกสตาร์ต 11 ตัวจริงจากเกมฟุตบอลถ้วยก่อน มันทำให้เราพัฒนาฝีเท้า และคลายความกดดันในระดับไทยลีก”

            

ผลของความมุ่งมั่นยกระดับฝีเท้าตนเอง ประจวบกับทีมกิเลนผยองอยู่ในช่วงถ่ายเลือดใหม่ ศฤงคารสามารถสอดแทรกขึ้นมาเป็นกำลังหลักในแผงหลังของทีมในที่สุด แม้ว่าไทยลีกฤดูกาล 2020/21 ที่ผ่านมา พิษโควิด-19 จะทำให้วงการฟุตบอลระส่ำระสาย และเขายังไม่ค่อยพอใจผลงานในสนามของตนเองที่ยังไม่สม่ำเสมอเพียงพอ

            

“ผลงานส่วนตัวถือว่ายังไม่น่าพอใจ เพราะผมยังไม่สามารถรักษาระดับของตัวเองได้ คือยังไม่ได้ลงเล่นตลอด อีกอย่างหนึ่งมันเป็นฤดูกาลที่ยาวนาน การระบาดของโควิด-19 ทำให้ฟุตบอลเตะๆ หยุดๆ ขาดความต่อเนื่องด้วย”

            

“ส่วนในฤดูกาลต่อไปและในอนาคต ผมตั้งใจจะรักษาระดับและฟอร์มการเล่นของตัวเองให้ได้มาตรฐาน คือให้สามารถยึดตำแหน่งตัวจริงได้ลงสนามในทุกๆ แมตช์ ถ้าเราสามารถรักษาฟอร์มที่ดีได้ ก็จะสามารถช่วยทีมทำผลงานได้ดี และยังทำให้เรามีโอกาสติดทีมชาติชุดใหญ่ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของผมในการเล่นฟุตบอลครับ”

            

กล่าวได้ว่า ทุกวันนี้ศฤงคารก้าวมาไกลแล้วบนเส้นทางนักฟุตบอลอาชีพที่เขาเลือกเดิน เทียบกับจุดเริ่มต้นในชีวิตวัยเด็ก

            

“ผมคิดว่าฟุตบอลให้ทุกอย่างกับผม ซึ่งผมเริ่มจากศูนย์ แล้วพอผมเล่นฟุตบอล ผมติดทีมชาติ ได้เล่นให้สโมสรมีรายได้มั่นคง ก็สามารถปลดหนี้สินของครอบครัว และมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ตอนนี้ผมสร้างบ้านใหม่ที่ศรีสะเกษให้พ่อกับแม่อยู่ได้แล้ว”

บ้านหลังใหม่ จากน้ำพักน้ำแรงของ ศฤงคาร พรมสุภะ

            

ถึงแม้ศฤงคารยังอยู่ในวัยหนุ่ม แต่ก็ผ่านประสบการณ์ชีวิตที่ฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย จนพอจะสรุปเป็นบทเรียนเพื่อเตือนตัวเอง และแบ่งปันกับผู้อื่น โดยเฉพาะเด็กรุ่นน้องที่อาจมีโอกาสน้อยกว่าคนอื่น แต่มีความฝันอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพเช่นเดียวกับเขา

            

“ถึงเราจะไม่เคยผ่านอะคาเดมี หรือผ่านโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเรื่องฟุตบอล มันอยู่ที่ตัวเราว่าเลือกจะสู้ไหม ถึงเรามีโอกาสน้อย แต่ถ้าเราพร้อม เมื่อไหร่โอกาสมาถึง เราคว้าไว้ได้ มันก็สามารถเปลี่ยนชีวิตของเราได้เลย ก็ฝากถึงน้องๆ ที่อยากจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ คือต้องอดทน ใจสู้ แล้วก็เตรียมพร้อม คว้าโอกาสไม่ให้หลุดมือครับ” ศฤงคารกล่าวทิ้งท้าย


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

Play Now Thailand

Play Now Content Creator

โฆษณา