17 มิถุนายน 2564
กลายเป็นโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ของทีมชาติไทยในรอบหลายปี เมื่อเราไม่อาจเก็บชัยชนะได้เลยซักนัดนับตั้งแต่ได้เหยียบแผ่นดินยูเออี มิหนำซ้ำหากจะพูดถึงทรงบอลจากทั้งสามเกมที่เราได้เห็นกันก็ต้องบอกตามตรงว่า “น่าหดหู่และสิ้นหวัง”
ผมเป็นคนนึงที่ติดตามบอลไทยมายาวนานมากกว่ายี่สิบปี ผ่านเหตุการ์ณทั้งดีและร้ายในแบบต่างๆในอุตสาหกรรมลูกกลมๆที่มีลมอยู่ข้างในของเมืองไทยมาก็มาก ยอมรับตามตรงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นของทีมชาติไทยในการไปยูเออีหนนี้เป็นอะไรที่ “เลวร้ายแบบสุดๆ” และเราคงต้องกลับมาจริงจังกับคำถามตั้งต้นที่ว่า “เวย์ไหนล่ะคือเวย์ที่ใช่สำหรับทีมชาติไทย?”
ปฎิเสธไม่ได้ว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในคัดบอลโลกหนนี้มีอากิระ นิชิโนะเป็นส่วนร่วมทั้งหมด เพราะอย่างที่ผมเคยบอกไปในหลายๆบทความว่านักเตะส่งตัวเองลงสนามไม่ได้และทีมฟุตบอลจะเล่นแบบไหน โค้ชคือคนตัดสินใจ
และการที่เราหอบเอานักเตะไปมากถึงสี่สิบกว่าคนมันก็บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าแม้ว่าโค้ชอากิระ นิชิโนะจะตระเวนดูไทยลีกและบอลถ้วยมาตลอดปีเศษๆ ตัวเขาเองกลับยังไม่รู้จักนักเตะได้ดีเท่าที่ควร แถมการฉายเดี่ยวด้วยการไม่มีผู้ช่วยและทีมงานจากญี่ปุ่นก็เป็นอะไรที่บ่งบอกได้ถึงความชะล่าใจอย่างเห็นได้ชัด
“นักเตะไทยไม่ใช่ญี่ปุ่น!” เรายังมีอีกหลายอย่างแบบมากมายก่ายกองที่ในบอลยุ่นเขามีแต่เราไม่มี
ผมเคยเขียนในเชิง “ส่งซิก” เมื่อครั้งที่ไทยพ่ายยูเออี 3-1 ตกรอบแบบหมดลุ้นว่าบางทีเราอาจต้องกลับมาโฟกัสในสิ่งที่ควรจะทำจริงๆ มากกว่าการแสวงหา “ทางลัด” ด้วยการหวังว่าความเก่งกาจและชื่อเสียงของนายพรานจะพาเราไปโลด
เพราะตามความคิดของผมแม้คุณจะมีโค้ชฟุตบอลเก่งระดับโลกแค่ไหน แต่ถ้าวัตถุดิบในการทำทีมฟุตบอลยังใช้ไม่ได้หรือโค้ชยังไม่รู้จักวิธีใช้วัตถุดิบแต่ละราย มันก็คงได้แค่ฝันว่าเราได้ไปบอลโลกรอบสุดท้าย
เรายังไม่มีลีกเยาวชน, เรายังไม่มีเนวทางการเล่นของตัวเองที่เป็นเอกลักษณ์, จำนวนประชากรฟุตบอลของเรามีแค่หลักแสนต้นๆแค่นั้น, นักเตะไทยที่ค้าแข้งยังต่างแดนในลีกที่มีคุณภาพตอนนี้เรามีกันกี่คน, ศูนย์ฝึกที่ได้รับการรับรองมาตราฐานจากเอเอฟซีมีกี่แห่งในไทย และนานเท่าไหร่แล้วที่ความสำเร็จในรายการที่ฟีฟ่าและเอเอฟซีรับรองไม่ว่าจะเป็นระดับสโมสรหรือระดับเยาวชนเกิดขึ้นด้วยนักเตะไทย นี่เป็นแค่ส่วนนึงที่ผมนึกขึ้นมาได้
“ใช่ครับ!” ผมกำลังจะบอกว่าบางทีเราอาจต้องเลือก “คิดใหม่!” ด้วยการหันไปทุ่มเทจริงจังกับสิ่งที่ควรทำจริงๆมากกว่าการทุ่มทุนสร้างจ้างโค้ชแพงๆด้วยการประเคนสตุ้งสตางค์หลักหลายสิบล้าน(ต่อปี)เพื่อหวังให้เป็นทางลัด
กรณศึกษามีในเห็นมาแล้วหมาดๆกับสิ่งที่เกิดขึ้นในทีมชาติจีน ท่านพอจะจำกันได้ไหมล่ะว่าจีนเคยเทหมดหน้าตักด้วยการว่าจ้างบรมกุนซือดีกรีแชมป์โลกมาแล้วอย่างมาร์เชลโล ลิปปี้ แล้วผลที่ได้ล่ะเป็นไง?
“ก็ยังเหมือนเดิมอยู่ดี” (ไม่สามารถเขยิบตัวเองเข้าไปใกล้บอลโลกรอบสุดท้ายและรายการใหญ่อย่างแชมป์ทวีปก็ไปไม่ถึงไหน แถมอันดับโลกก็หยุดอยู่กับที่)
ถามว่าลิปปี้เก่งมั้ย? มีใครกล้าเถียงไหมล่ะว่าไม่เก่ง เพราะการพาอิตาลีคว้าแชมป์โลก, พากว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ คว้าแชมป์สโมสรทวีป และพายูเว่กวาดมาแล้วหมดทุกถ้วยในรายการที่ตัวเองลงเล่น ทั้งหมดที่ว่ามาคงไม่ได้มาจากโชคช่วยหรือว่าฟลุ๊ค
แต่การที่ทีมชาติจีนไม่ประสบความสำเร็จเพราะองค์ประกอบหลายๆอย่างในโครงสร้างฟุตบอลของพวกเขาเองมันยังไม่ได้รับการเอาใจใส่มากเท่าที่ควร โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนาเยาวชนและจำนวนประชากรฟุตบอลซึ่งทั้งสองอย่างนี้ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้กลับทำได้ดีกว่าหลายขุม
สุดท้ายสมาคมฟุตบอลของพวกเขาก็กลับมาให้น้ำหนัก “สิ่งที่พวกเขาเคยหลงลืม” อย่างจริงจังด้วยการขอทั้งทางภาครัฐและเอกชนมาร่วมกันสนุบสนุน จนเป็นที่มาของโครงการมากมายที่เกิดขึ้นในวงการฟุตบอลจีนในตอนนี้ทั้งเมืองแห่งฟุตบอล, หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งสนามฟุตบอล, เยาวชนสายเลือดมังกร(ปลูกฝังจิตวิญญาณนักสู้) และรวมไปถึงการว่าจ้างโค้ชทีมชาติอย่างหลี่ เถียที่คลุกคลีกับนักเตะในทีมทุกคนเพราะตัวเขาเองเคยทำงานในฐานะผู้ช่วยโค้ชทีมชาติมาอย่างต่อเนื่อง
ไม่ได้บอกว่าอาจาร์ยนิชิโนะไม่เก่ง แต่เขาอาจยังไม่เหมาะกับบอลไทยในตอนนี้
ผมแค่อยากเปิดเป็นคำถามแบบปลายเปิดว่าหากเราเริ่มต้นวางใจในเอ็คโคโน่ด้วยการมอบหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญในการพัฒนาเยาวชนและคนที่เป็นคีย์แมนในการสร้างแข้งแห่งความหวังส่วนใหญ่ก็มาจากทีมงานจากสเปน มันจะดีกว่ามั้ยหากคนที่เขามาคุมทีมชุดใหญ่จะเป็นคนที่คลุกคลีกับนักเตะไทยและสามารถทำงานร่วมกับเอ็คโคโน่ได้เป็นอย่างดี(เฉกเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นที่กาตาร์ เมื่อนายใหญ่ของพวกเขาอย่างเฟลิกซ์ ซานเชส บาสก็คือโค้ชชาวสเปนจากแอสไพร์ อะคาเดมี่ซึ่งตัวเขาเองปั้นนักเตะเหล่านั้นมาตั้งแต่สมัยคุมทีมเยาวชน)
เอาเงินที่จ้างโค้ชมีชื่อราคาแสนแพงไปทุ่มเทกับสิ่งที่ “จับต้องได้” ดีกว่ามั้ย? แล้วหันกลับมาสนใจคนใกล้ที่รู้จักนักเตะไทยเป็นอย่างดี ไม่ดีกว่าหรือ? (ไม่สำคัญว่าเขาจะถือสัญชาติไหน...อาจเป็นใครก็ได้ที่มีดีกรีโปร ไลเซ่นต์, มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในระดับคุมทีมในไทยลีกหรือทีมชาติ และนักเตะไทยให้การยอมรับ)
จีนใช้หลี่ เถี่ย, ออสซี่เลือกเกรแฮม อาร์โนลด์, กาตาร์มีเฟลิกซ์ ซานเชส, ญี่ปุ่นใช้ฮาจิเมะ โมริยาสุ, เวียดนามวางใจปาร์ค ฮัง ซอ ,เลบานอนมีจามัล ทาฮา และหากนับซีเรียอีกทีมที่ใช้ฟัจน์ อิบราฮิมก่อนมีข่าวไม่ลงรอยกันกับทางสมาคมฯ ทุกทีมที่ว่ามาล้วนแล้วแต่เลือกใช้โค้ชที่คลุกคลีกับนักฟุตบอลของตัวเองจนสามารถรวมใจกันฝ่าฟันพาทีมเข้ารอบ 12 ทีมสุดท้ายได้ในที่สุด เห็นได้ชัดว่าทีมเหล่านี้ให้น้ำหนักเรื่องการรู้จักนักเตะเป็นอะไรที่สำคัญมากกว่ารอยหยักในสมองของกุนซือระดับโลก
เรากำลังเผชิญกับการตัดสินใจที่แสนยากเพราะเดิมพันมันสูงมาก(กับทิศทางทีมชาติและศรัทธาแฟนบอลหลังจากนี้) และไม่ว่าเราจะเลือกแบบไหนก็มีทั้งคนเห็นด้วยและเห็นต่าง
ผมจะไม่ฟันธงว่าควรเลือกแบบไหนหรอกนะ เพียงแต่อยากชี้ให้เห็นเหรียญอีกด้านจากตัวอย่างของทีมที่ประสบความสำเร็จในคัดบอลโลกหนนี้เพื่อเป็นเคสสตัดดี้ก็เท่านั้นหน่ะครับ..
TAG ที่เกี่ยวข้อง