stadium

คุยกับ วิรัช ณ หนองคาย ตำนานตะกร้อ ทำอย่างไรให้ต่างชาติต่อกรไทยได้

16 มิถุนายน 2564

หากพูดถึงความฝันของนักกีฬาตะกร้อ แน่นอนว่าการได้เห็นกีฬาตะกร้อเข้าไปบรรจุในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญคือการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้กำหนดเงื่อนไขสำหรับชนิดกีฬาที่สนใจบรรจุในโอลิมปิก โดยมีเงื่อนไขสำคัญ 2 ข้อ คือ 1. กีฬาชนิดใดก็ตามที่จะถูกคัดเลือกให้มีการชิงชัยในโอลิมปิกเกมส์จะต้องมีสมาคมของกีฬา มากกว่า 75 ประเทศขึ้นไป 2. ชนิดกีฬาดังกล่าวจะต้องได้รับความนิยม 3 ทวีปขึ้นจาก 5 ทวีปทั่วโลก โดยในปัจจุบันสมาชิกของสหพันธ์เซปักตะกร้อนานาชาติ มีทั้งหมด 45 ชาติ ซึ่งหากเทียบกับเงื่อนไขแรกยังขาดอยู่ 20 ชาติ 

 

ในเรื่องนี้เองที่เราคงต้องมามองลงลึกไปอีกว่า แม้สุดท้ายจะมีหลายชาติที่เล่นตะกร้อได้ แต่ท้ายที่สุดในบัลลังค์มีเพียงแค่ทีมตะกร้อของไทย หรือไม่กี่ชาติที่ประสบความสำเร็จ ไม่นานก็คงกลายเป็นกีฬาที่ผูกขาดและไม่น่าติดตามไปในท้ายที่สุด วันนี้ Stadium TH มีโอกาสเปิดบันทึกของโค้ชตะกร้อไทยที่ถือว่ามีประสบการณ์กับการไปเผยแพร่และสอนกีฬาตะกร้อให้กับหลายชาติ และที่สำคัญไปกว่านั้นคือการสร้างรากฐานให้กับสองชาติที่ก้าวมาเป็นทีมตะกร้อแถวหน้าในตอนนี้อย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นอีกด้วย นั่นคือ "โค้ชโล่" วิรัช ณ หนองคาย อดีตนักตะกร้อทีมชาติไทย ซึ่งปัจจุบันรับหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมตะกร้อหญิงทีมชาติไทย

 

 

"ใน 5 ข้างหน้าปีนี้ผมมองว่าชาติที่มีโอกาสจะพัฒนาฝีมือแล้วก้าวมาเป็นคู่แข่งของไทยได้ คือ เกาหลีใต้ , จีน และญี่ปุ่น ที่บอกแบบนี้เพราะผมมองแล้วเขามีศักยภาพที่ดี อย่างเกาหลีใต้เขามีความพร้อมทุกด้าน ทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา และความเอาจริงเอาจัง ส่วนจีนผมมองว่าเป็นเรื่องของทรัพยากร และสรีระที่ดี ในขณะที่ญี่ปุ่นเอง ด้วยความที่ทำอะไรแล้วทำจริงจัง มีความมุ่งมั่นสูงมากๆ ก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้เช่นกัน"

 

นี่คือคำตอบแรกของ วีรัส ณ หนองคาย อดีตนักตะกร้อทีมชาติไทยเจ้าของฉายา "ซันซิโร่" ที่ถูกยกให้เป็นนักตะกร้อระดับปรมจารย์ที่มีประสบการณ์โชกโชนทั้งในสนามแข่งขัน และ การเดินทางไปต่างแดน เพราะนับตั้งแต่เลิกเล่นตะกร้อแล้วผันตัวเองมาเป็นผู้ฝึกสอน วีรัส ณ หนองคาย เคยมีประสบการณ์ไปเป็นโค้ชทั้ง สิงคโปร์ , ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และพร้อมที่จะมาเปิดเผย "อุปสรรคสำคัญ" ที่เขาไปเจอมาด้วยตัวเอง และหากปรับแก้ได้เราอาจจะได้เห็นคู่แข่งที่มีศักยภาพที่ดีในการมาเขย่าบัลลังค์ทีมตะกร้อไทยในอนาคต

 

นักตะกร้อ Part-time

 

"ผมเริ่มไปเป็นโค้ชต่างประเทศครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์ ในปี ค.ศ.1993 ตอนนั้นทางสิงคโปร์ติดต่อมาว่าอยากได้โค้ชคนไทยไปสอนที่นั่น มีการเซนต์สัญญาให้ค่าจ้างอย่างเป็นทางการ และตั้งเป้าหมายว่าขอแค่ติด 1 ใน 4 ในซีเกมส์ก็พอแล้ว"

 

"สิ่งแรกที่เรารู้เลยว่าทำไมเขาถึงไม่ค่อยพัฒนาเท่าไหร่ เพราะอุปสรรคแรกเลยคือนักกีฬาซ้อมไม่เต็มที่ บางคนก็ต้องเอาเวลาไปทำงาน บางคนก็ต้องไปเรียน พอเลิกงานมา 5 โมง ก็มาซ้อม เลิก 5 ทุ่ม ก็ต้องรีบกลับบ้านไปนอน"

 

"พอมาเจอแบบนี้ยอมรับเลยว่านี่คือสิ่งที่ยากมากๆที่จะสู้กับชาติอื่นได้ เพราะนักกีฬาระดับทีมชาติ แต่ตารางซ้อมมันเหมือนระดับโรงเรียนในบ้านเรา คือ นอนบ้านใครบ้านมัน เรียนเสร็จก็มาฝึกซ้อมตอนเย็น มันทำให้พัฒนาได้ยากมากๆ แม้ว่าจะมีการสนับสนุนจากทางภาครัฐ และมีเรื่องต่างๆที่พร้อมทั้งวิทยาศาสตร์การกีฬา การมีทีมนักจิตวิทยาที่พร้อมเข้ามาช่วย แต่ก็ต้องยอมรับเลยว่าการฝึกซ้อมตะกร้อให้เก่งขึ้นมาได้ มันต้องมีเวลาโฟกัสมากกว่านี้"

 

"ในขณะที่การสร้างนักกีฬาระดับเยาวชนก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะต้องเป็นเด็กนักเรียนที่มีเวลาในช่วงเย็นหลังเลิกเรียนแต่สองชั่วโมง คือ เรียนเสร็จบ่ายสาม ก็มาซ้อมตะกร้อถึง 5 โมงเย็น มีเวลาแค่นั้น ซึ่งต่างจากบ้านเราที่มีทั้งโรงเรียนกีฬา ที่เด็กซ้อมทั้เช้าและเย็น นี่ยังไม่นับรวมกับโรงเรียนทั่วไปที่ทำตะกร้อ ก็ยังมีเวลาซ้อมที่มากกว่า ดังนั้นแล้วในสิงคโปร์ แม้จะเล่นตะกร้อมานาน แต่เขาก็ยังไม่สามารถพัฒนานักกีฬาให้ก้าวมาสู้กับไทยได้เลย"

 

 

 

มีความมุ่งมั่นแต่ยังขาดการสนับสนุนทีดี

 

หลังจากทำงานให้สิงคโปร์ 2 ปี การเดินทางในครั้งที่สองของ วีรัส ณ หนองคาย ก็ได้มุ่งหน้าไปสู่ประเทศญี่ปุ่น จากการทาบทามของสมาคมตะกร้อญี่ปุ่น ที่ต้องการสร้างทีมตะกร้อในการเข้าร่วมการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปี 1998

 

"ปัญหาแรกเลยคือ นักตะกร้อญี่ปุ่นไม่ได้มีเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ใครอยากจะเล่นตะกร้อก็ต้องออกเงินเอง และส่วนใหญ่จะเป็นเด็กในระดับมหาวิทยาลัย ที่นอกจากเรียนแล้ว ก็ต้องไปทำงานพาร์ททาม เพื่อไปซื้ออุปกรณ์เอง และนอกจากนั้นแล้วสนามตะกร้อที่นั่นก็ไม่มี ก็ต้องไปเช่าสถานที่เพื่อทำเป็นสนามตะกร้อ เต็มที่ที่สุดก็ 2 ชั่วโมงที่พวกเขาจะได้ซ้อมตะกร้อ"

 

"ในตอนนั้นที่ผมรับงาน คือ นักตะกร้อรุ่นแรกที่มาคือเป็นนักฟุตบอลทั้งหมด ส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานการเล่นมาอยู่แล้วและเป็นเด็กระดับมหาวิทยาลัย ที่เลือกมาเล่นตะกร้อ เพราะไปต่อในเส้นทางฟุตบอลไม่ไหว ตอนนั้นมีนักกีฬาหลักสิบคน แต่อุปสรรคที่ผมบอกคือถ้าต้องซ้อมที่ญี่ปุ่นจะหาสนามซ้อมก็ยาก ก็เลยเลือกที่จะพานักกีฬาทั้งหมดมาซ้อมที่ไทย โดยพวกเขาเหล่านั้นก็ไปทำงานพาร์ททามหาเงินค่าเครื่องบินกับค่าที่พักพอที่จะมาใช้เวลาประมาณเดือน - สองเดือนเพื่อซ้อมตะกร้ออย่างเต็มรูปแบบ"

 

 

"เมื่อมาถึงไทยด้วยความตั้งใจในแบบคนญี่ปุ่น บวกกับพื้นฐานที่มีอยู่แล้วจากกีฬาฟุตบอล ผมก็จับมาปรับพื้นฐานเรื่องการใช้ข้างเท้าด้านในเพื่อเล่นลูกตะกร้อ รวมถึงเสริมไหวพริบให้พวกเขา ทั้งการเหยียบ ปาด การใช้ศรีษะเล่นลูก ซึ่งใช้เวลาไม่นานด้วยความตั้งใจพวกเขาก็พัฒนาขึ้น และหลังจากนั้นก็เริ่มพาเดินสายแข่งขันตามงานต่างๆเพื่อประลองฝีมือกับนักตะกร้อของไทย มันยิ่งทำให้นักตะกร้อญี่ปุ่นในชุดแรกนั้นเข้าใจเรื่องตะกร้อมากขึ้น มันเหมือนเราพาลูกศิษย์ท่องยุทธจักร"

 

"ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ และอยากใช้เวลาที่มีให้คุ้มค่าที่สุด แม้ว่าวันก่อนหน้าจะแข่งขันทั้งวันมาจนค่ำ แต่เช้าวันถัดมา พวกเขาก็ยังตื่นขึ้นมาซ้อมโดยที่เราไม่ต้องบอก พอมีเวลาว่างเขาก็เอาเวลาไปเรียนภาษาไทยด้วยตัวเอง เพราะอยากจะสื่อสารกับเราได้ง่ายขึ้น นี่คือความตั้งใจที่พวกเขามี แต่ท้ายที่สุดมันก็จะวนกลับไปที่เรื่องเดิม คือ การสนับสนุนจากทางภาครัฐที่ไม่ได้มีให้ ใครอยากเก่งก็ต้องเก็บเงินเอง ซื้ออุปกรณ์เอง หาที่ซ้อมเอง"

 

ในการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปี 1998 ทีมตะกร้อทีมชาติญี่ปุ่นภายใต้การฝึกสอนของ วีรัส ณ หนองคาย คือการได้อันดับที่ 5 จากทั้งหมด 13 ชาติที่เข้าร่วม ในการเข้าแข่งขันในเวทีระดับทวีปเป็นครั้งแรก

 

 

 

ความลึกซึ้งในกีฬาตะกร้อ

 

หลังจากพาทีมชาติญี่ปุ่นจบอันดับที่ 5 ในเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 และในเจ้าภาพครั้งต่อในปี 2002 คือ เกาหลีใต้ ทางสมาคมตะกร้อเกาหลีใต้ จึงได้เชื้อเชิญ วีรัส ณ หนองคาย ให้เข้ามารับงานเพื่อสร้างทีมตะกร้อในการลงแข่งขันในฐานะเจ้าภาพ 

 

"ในตอนนั้นถือเป็นยุคแรกของวงการตะกร้อเกาหลีใต้ เนื่องด้วยเขาเองกำลังจะเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์ และมีกีฬาตะกร้อแข่งขันด้วย เขาจึงมีภารกิจให้เราไปสร้างทีมตะกร้อชุดแรกของเกาหลีใต้ และนักกีฬาชุดแรกที่มาส่วนใหญ่ก็เป็นนักฟุตบอลรวมถึงนักเทควันโด้"

 

"ผมใช้เวลา 6 เดือน ปูพื้นฐานให้กับนักกีฬา ด้วยการเน้นทักษะการเล่นให้พร้อมสำหรับฝึกการเล่นขั้นสูง ต้องยอมรับว่าที่เกาหลีใต้ค่อนข้างพร้อม และด้วยความเชื่อฟังอาจารย์หรือผู้ฝึกสอนในแบบฉบับเกาหลีใต้ มันก็ทำให้ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่เขาจะเล่นตะกร้อได้เร็ว"

 

"ความจริงจังของคนเกาหลีใต้ คือ เขาจะถามเราตลอด ว่าเด็กเขาพัฒนาไปถึงไหนแล้ว เราก็จะตอบเขาได้หมดว่าเราวิเคราะห์ออกมาแล้วว่านักกีฬาคนไหนมีจุดดีอะไรที่ต้องเสริมต่อ มีจุดไหนที่ต้องปรับปรุง มันทำให้เราพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเป้าหมายของเขาชัดเจน คือ การพัฒนากีฬาตะกร้อของเกาหลีใต้ให้ไปเป็นระดับหัวแถวของวงการ ด้วยแรงสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและนักกีฬาที่พร้อมจะฝึกซ้อมอย่างเต็มรูปแบบ"

 

 

ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ที่ ปูซาน เกาหลีใต้ ทัพตะกร้อแดนโสม คว้า 1 เหรียญทองจากตะกร้อวง และ 3 เหรียญทองแดงจากเซปักตะกร้อ ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ได้เริ่มทำการสนับสนุนสมาคมตะกร้อเกาหลีใต้อย่างเต็มที่ และทำให้ชื่อของทีมตะกร้อเกาหลีใต้ก้าวมาเป็นขาประจำในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ

 

"ถ้าให้ผมเลือก 3 ชาติที่หากได้พัฒนาอย่างจริงจัง ผมบอกได้เลยมี 3 ชาติ คือ เกาหลีใต้ , จีน และญี่ปุ่น เริ่มจากญี่ปุ่น ขนาดตอนนี้รัฐบาลเขายังไม่ได้ลงมาสนับสนุนก็ยังทำผลงานได้ดี ตอนนี้เลยถ้ามีแรงสนับสนุนบวกกับความเป็นนักสู้ ผมเชื่อว่าเขาจะมีโอกาสพัฒนาได้มากกว่านี้"

 

"ส่วนชาติที่สองคือจีน จากที่เห็นเขามาแข่งในบ้านเราทุกปี เขามีนักกีฬาที่สรีระดีมากๆ มีความอ่อนตัว แต่ยังขาดคนที่จะเข้าไปถ่ายทอดอย่างลึกซึ้ง เพราะตะกร้อเป็นกีฬาที่นักกีฬาต้องเข้าใจเรื่องของเหลี่ยมตะกร้อเข้าไปด้วย และด้วยทรัพยากรที่เขามี หากมีผู้ฝึกสอนที่สามารถเข้าไปถ่ายทอดวิชาที่ลึกซึ้งให้ได้ จีนจะเป็นชาติที่น่ากลัวมากๆในอนาคต"

 

"และชาติที่มีโอกาสมากที่สุดและเราคงได้เห็นกันแล้วในหลายรายการ นั่นคือ เกาหลีใต้ พวกเขามีความพร้อมทุกด้าน ซ้อมดี สมรรถภาพร่างกายดี อาหารดี แต่พอมาแข่งขันกับไทย สิ่งที่ยังขาดอยู่ คือ เทคนิค และ แท็คติก ที่เป็นปัจจัยต่อผลแพ้ชนะ บางครั้งนักตะกร้อเกาหลีใต้ทำเหมือนเราได้ทุกอย่าง แต่ในเกมส์แข่งขันที่สูสีๆ ก็จะแพ้เราในความละเอียดนี่เอง ซึ่งถ้าเขาปรับแก้ตรงนี้ได้นี่จะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดของไทย"


stadium

author

ศิรกานต์ ผาเจริญ

StadiumTH Content Creator // ผู้ก่อตั้งเพจสนามตะกร้อ

โฆษณา