stadium

ไทยตกรอบเพราะโค้ชจริงหรอ?

8 มิถุนายน 2564

ไทยตกรอบเพราะโค้ชจริงหรอ?

#ช้างศึกริงไซด์ by akinson149

 

​ประตูของโมฮัมเหม็ด จูม่าในช่วงทดเวลาบาดเจ็บดับฝันและส่งไทยกลับบ้านด้วยผลงานในการบินมาดินแดนแห่งทะเลทรายแบบ “คว้าน้ำเหลว” (ยังควานหาชัยชนะไม่เจอซักนัดนับตั้งแต่ได้มาเหยียบแผ่นดินยูเออี แถมยังเสียประตูทุกนัดตั้งแต่แมตช์อุ่นเครื่องยันเกมอย่างเป็นทางการ)

 

​คำถามในเวลาแบบนี้ที่หลายคนกำลังสงสัยคือการที่ทีมชาติไทยตกรอบชนิดชนะใครไม่เป็นมันเกิดจากความผิดพลาดในจุดไหน? แล้วใครล่ะต้องรับผิดชอบ?

 

​ปฎิเสธไม่ได้ว่าเป้าอันดับหนึ่งในเวลานี้ถูกเล็งไปที่โค้ชชาวญี่ปุ่นอย่างอากิระ นิชิโนะที่นับตั้งแต่เข้ามารับงานคุมทีมชาติไทยตั้งแต่เมื่อ2ปีที่แล้ว ผลงานของเจ้าตัวในทีมชุดใหญ่ของเรามีสถิติในด้านผลการแข่งขันที่หากพูดกันแบบบ้านๆคือ “บู่แบบสุดๆ” (ชนะ1 เสมอ4 และแพ้ไปถึง5นัด ยิงได้ทั้งหมด11 และเสียถึง18ประตู ห่วยกว่าโค้ชชาวเซอร์เบียอย่างมิโลวาน ราเยวัชที่ใครๆต่างบอกว่าทำบอลไม่สนุก หรือแม้แต่โค้ชไทยอย่างซิโก้ที่ช่วงเวลานั้นก็มีเสียงบ่นกันว่าเน้นแต่ระบบลูกรักที่ตัวผู้เล่นมันเวียนวนกันอยู่แค่ไม่กี่คนเป็นหลัก)

 

​“หนีไม่พ้น” ผมว่าการที่เราตกรอบแบบหมดลุ้นชนิดที่แผงหลังของเราพร้อมที่จะมอบประตูในคู่ต่อสู้ได้ทุกเวลา ในขณะที่ระดับความคมในการจบสกอร์ของไทยกลายเป็นเรื่องน่าหัวเราะ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามันเกิดจากความผิดพลาดที่ไม่อาจปฎิเสธความรับผิดได้ของทีมงานโค้ช

 

​เพียงแต่สำหรับผมมันไม่อาจพูดได้อย่างเต็มปากว่าความรับผิดชอบในเรื่องที่เราตกรอบหนนี้ ความผิดทั้งหมดจะมาจากโค้ช

 

​เพราะอะไรนะหรอ?

 

​คุณพอจะตอบคำถามซัก1-2ข้อในสิ่งที่ผมกำลังจะตั้งขึ้นนี้ได้หรือไม่ล่ะว่า

 

​ข้อแรกคือ ประชากรในด้านฟุตบอลของไทยมีมากพอทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพแล้วหรือไม่? เมื่อเทียบกับนานาประเทศที่ถือเป็นขาประจำบอลโลก

 

​ผมได้อ่านบูลพริ้นต์หรือแผนงานแบบระยะกลางของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นเมื่อช่วงหลายปีที่แล้ว ซึ่งเจ้าเอกสารบนความยาวมากกว่า 30 หน้าที่ถือเป็น “เข็มทิศ” ชิ้นดีในการพาซามูไรบูลเดินไปข้างหน้าในแบบที่มันควรจะเป็นและถือเป็นธรรมเนียมปฎิบัติที่มักทำกันเป็นประจำทุกๆ 7 ปี (เล่มที่ผมอ่านคือกรอบระยะเวลาตั้งแต่ปี2015-2022)

 

​เชื่อหรือไม่ว่าสาระสำคัญตลอดทั้งเล่มมันถูกเน้นน้ำหนักความสำคัญไปที่ “ประชากรด้านฟุตบอล” ซึ่งคำว่าประชากรด้านฟุตบอลในทีนี้ของเขาอาจกล่าวได้ว่าก็คือใครก็ตามที่มีส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมฟุตบอลไม่ใช่แค่นักฟุตบอลเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงแฟนบอลทุกคน (ในเล่มได้แยกส่วนไว้อย่างชัดเจนถึงกลุ่มประชากรด้านฟุตบอลว่ามีอยู่ทั้งหมด5กลุ่มคือตัวนักฟุตบอล,โค้ช,ผู้ตัดสิน,สต๊าฟประจำทีมและสุดท้ายคือฐานแฟนบอล)

 

​และเป้าหมายของสมาคมฯคือทำอย่างไรให้จำนวนประชากรที่ว่านี้สามารถเพิ่มขึ้นเป็น 6.4 ล้านคนให้ได้ในปี 2022 (จากเดิมที่มีอยู่ราว 5.2 ล้านคนในปี 2015) โดยสัดส่วนในส่วนของนักเตะฟุตบอลแบบนับเฉพาะที่ลงทะเบียนไว้ในฐานข้อมูลของสมาคมฯแบบเป็นนักเตะอาชีพไม่รวมสมัครเล่นและนักฟุตบอลโรงเรียน พวกเขาต้องการให้มันเพิ่มขึ้นให้ได้อย่างน้อยสี่แสนคน (ซึ่งของเดิมในปี 2015 นักเตะที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องมีตัวเลขอยู่ที่ 2.79 ล้านคน)

 

​ยกตัวอย่างง่ายๆนะครับประเทศหนึ่งมีนักเตะที่รู้จักวิธีการเล่นฟุตบอลอย่างถูกต้องจำนวนมากกว่าสามล้านคนกับอีกประเทศที่มีนักเตะในแบบเดียวกันแค่หลักไม่กี่แสนคน หากสองประเทศนี้ส่งทีมเข้าแข่งขันในนามทีมชาติในทัวร์นาเม้นต์อย่างเป็นทางการของฟีฟ่าหรือเอเอฟซี ท่านว่าประเทศไหนจะประสบความสำเร็จได้มากกว่ากัน?

 

​นั่นแหละครับ! คือสิ่งที่ผมกำลังจะชี้ให้เห็น

 

​เฉกเช่นเดียวกับสมาคมฟุตบอลจีนเองที่เห็นในเรื่องนี้และได้ขอไฟเขียวจากรัฐบาลของพวกเขาเองแถมยังได้รับการอนุมัติพร้อมทั้งงบประมาณแบบ “อู้ฟู่” ในการสนับสนุนโครงการ “หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งสนามฟุตบอล” เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรด้านฟุตบอลให้ได้มากถึงมากที่สุดเพื่อเป้าหมายการเป็นแชมป์โลกให้ได้ในปี 2050 (หรืออีกไม่ถึง 30 ปีข้างหน้า) ย้ำนะครับว่า “แชมป์โลก” ไม่ใช่แค่ไปบอลโลก!

 

ข้อที่สอง ไทยแลนด์เวย์ของไทย เมื่อไหร่จะมาซักที?

 

​หากมองให้ลึกลงไปในรูปแบบการทำทีมของบรรดาพวกขาประจำบอลโลกทั้งหลายแหล่(โฟกัสกันง่ายๆแค่ในเอเชียนี่แหละ) ทุกทีมที่ว่ามาล้วนแล้วแต่มีระบบการเล่นเป็นของตัวเองที่เป็นเอกลักษณ์

 

​ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลียที่เน้นบอลโยนและการเข้าทำโดยเน้นด้านพละกำลังและความได้เปรียบในด้านสรีระ, ญี่ปุ่นที่เน้นฟุตบอลระบบที่ชูเรื่องการเพรสซึ่งและการเล่นเป็นทีม ในขณะที่ในรายของเกาหลีใต้ชูเรื่องสภาพร่างกายที่ต้องฟิตแบบไม่มีหมดซึ่งมาจากการพัฒนาในด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและหลักโภชนาการที่พวกเขาศึกษามาอย่างต่อเนื่อง

 

​ทั้งสามชาติที่ผมยกตัวอย่างต่างออกหนังสือแบบ “กึ่งโค้ชชิ่ง” ให้บรรดาสโมสรอาชีพและอะคาเดมี่ภายในประเทศได้ใช้เพื่อเป็นแบบฝึกแบบองค์รวมในการพัฒนานักเตะเยาวชนในอะคาเดมี่ของพวกเขาเองโดยได้รับการดูแลและงบสนับสนุนจากสมาคมฯฟุตบอล ซึ่งแน่นอนว่าดอกผลที่ได้ก็คือชุดทีมชาติที่ตรงตามสเป็คที่พวกเขาต้องการ

 

​คล้ายๆกับสิ่งที่เวียดนามกำลังจะทำให้เกิดขึ้นหลังการเข้ามาของฟิลิปป์ ทรุสซิเยร์และปาร์ค ฮัง ซอที่เข้ามาจนเป็นที่มาของ “เวย์ที่ใช่” อย่างวิ่ง-สู้-ฟัดของทัพดาวทอง และเป็นเวียดนามที่เวลานี้พูดได้อย่างเต็มปากว่าสามารถสู้กับยอดทีมในเอเชียได้ทุกทีม

 

​ผมว่าหากอะคาเดมี่ในไทยยังต่างคนต่างสอนแบบหลักสูตรส่วนตัวที่ตัวเองต่างชูว่าดีและเหมาะโดยมาจากโค้ชที่ตัวเองสรรหามาได้ซึ่งหลักสูตรที่ว่ามิได้มีการพัฒนาร่วมกันจากผู้รู้หรือผู้มากประสบการ์ณในฐานะโค้ชแบบมีไลเซ่นส์หรือจากทางสมาคมฯเอง ผมว่าทีมชาติไทยกับไทยแลนด์เวย์ก็ยังคงเป็นได้แค่ “เส้นขนาน”

 

​เราจำเป็นที่จะต้องหาจุดเด่นของตัวเองในแบบที่นานาประเทศเขาทำเพื่อให้ได้รูปแบบการเล่นของเราที่เป็นเอกลักษณ์และเพื่อให้ไม่ว่าโค้ชที่เข้ามาจะเป็นใครและเมื่อไหร่ เขาก็สามารถหยิบใส่ตัวผู้เล่นลงในลิสได้ไม่ยากนักเพราะผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างเข้าใจวิธีการเล่นและคุ้นเคยกับมันอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก (ไม่ใช่ต้องมาปรับตัวกันใหม่หมดเพราะสโมสรนั้นฝึกมาแบบเล่นคุมโซนซึ่งแน่นอนว่านักเตะจะวิ่งได้ไม่เต็ม90นาที ในขณะที่อีกสโมสรเล่นเพรสซึ่งแบบวิ่งลืมตายถ้าไม่หมดไม่มีวันเปลี่ยนออก ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือเลเวลและสภาพร่างกายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง)

 

​กับคำถามที่ว่าไทยตกรอบเพราะโค้ช ใช่หรือไม่? คำตอบคือ “มีส่วน” เพราะนักเตะส่งตัวเองลงสนามไม่ได้และจะเล่นแบบไหน โค้ชคือคนตัดสินใจ

 

​เพียงแต่ถ้าจะหาคนผิด ผมว่ามันก็คงไม่ใช่อากิระ นิชิโนะหรอก เพราะของเดิมที่เรามีมันก็อย่างที่เราเห็นและภายใต้สถานการ์ณที่มันไม่ปกติแบบนี้ การจะโยนความรับผิดทั้งหมดให้นิชิโนะก็คงไม่น่าจะถูกต้อง

 

​บอลโลกที่กาตาร์จบลงแล้วสำหรับเราแต่บางทีนี่อาจเป็น “นาฬิกาปลุก” ที่ปลุกเราให้ตื่นแล้วหันมาอยู่กับความเป็นจริงมากขึ้น ความจริงที่เราจะต้องจริงจังกับ “สิ่งที่ควรทำจริงๆ” เพื่อให้อีกสี่ปีข้างหน้า เราจะสามารถเปลี่ยนผลการแข่งขันและทำให้แฟนบอลไทยได้เห็นความแตกต่างบ้าง..


stadium

author

“akinson149” พงศ์รัตน์ วินัยวัฒนวงศ์

Moderator เพจ thailandsusu (Section: บทความ-แปลข่าวบอลไทย) และคอลัมนิสต์ฟุตบอลไทย

La Vie en Rose