stadium

บุญถึง ศรีสังข์ : ชีวิตจริงยิ่งกว่ามาราธอน

6 มิถุนายน 2564

หากพูดถึงนักวิ่งมาราธอนแนวหน้าของประเทศไทย ณ เวลานี้ คงไม่มีใครไม่รู้จักนักวิ่งปอดเหล็ก “บุญถึง ศรีสังข์” ที่คร่ำหวอดในวงการกรีฑามายาวนาน อดีตเจ้าของสถิติกรีฑาระยะไกลประเทศไทยมากมาย ทั้ง 3,000 เมตร, 5,000 เมตร และ 10,000 เมตร ยาวนาน 14-16 ปี ที่ถูก คีริน ตันติเวทย์ ปอดเหล็กรุ่นน้อง ลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ทำลายไปเมื่อไม่นานมานี้ การก้าวขึ้นสู่เวทีระดับชาติและนานาชาติและประสบความสำเร็จมากมาย เป็นสิ่งที่แม้แต่ตัวเขาเองไม่เคยคิดฝันมาก่อน อะไรคือจุดเริ่มต้นที่นำพาเขามาถึงจุดนี้ ?  วันนี้เรามีเรื่องเล่าสุด Exclusive ตรงจาก บุญถึง มาเล่าสู่กันฟัง

 

 

จากเด็กบ้าน ๆ สู่เด็กวัด

 

“บุญถึง ศรีสังข์” หรือ “ต่าย” ชื่อเล่นที่ครอบครัวตั้งให้ เกิดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2524 ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เขามีน้องสาวต่างบิดา 1 คน ชีวิตในวัยเด็กไม่แตกต่างจากเด็กต่างจังหวัดทั่วไปที่อาศัยอยู่กับครอบครัวเกษตรกร วิ่งเล่นตามท้องไร่ ท้องนา ตามประสาเด็ก แต่มักไม่ค่อยได้เล่นกีฬาเพราะร่างกายไม่แข็งแรง เวลาโดนแดดมากจะเลือดกำเดาออก เลยโดนสั่งห้าม กระนั้นด้วยความซุกซน เด็กน้อยจึงแอบไปต่อยมวยแต่สุดท้ายก็โดนที่บ้านจับได้และสั่งห้ามอีกครั้ง

 

เมื่อเรียนจบ ป.6 เขาได้ย้ายจากบุรีรัมย์สู่เมืองกรุง เพื่อศึกษาในระดับมัธยมที่โรงเรียนวิมุตยารามพิทยากร เขตบางอ้อ โดยอาศัยกินนอนเป็นเด็กวัดที่วัดวิมุตยาราม ที่อยู่ติดกับโรงเรียน ช่วยงานภายในวันทุกอย่างแบบที่เด็กวัดพึงกระทำ ตอนเช้าตื่นตี 5 ไปช่วยหลวงพี่บิณฑบาต กลับมาอาบน้ำแต่งตัวเดินไปเรียนหนังสือ ตกเย็นเตะฟุตบอลกับเพื่อนๆ ตามประสาเด็กผู้ชาย ก่อนกลับวัดช่วยงานหลวงพี่ กว่าจะได้เข้านอนก็ประมาณ 3 ทุ่ม วนเวียนเป็นประจำทุกวัน

 

แม้ ณ ตอนนั้น ด.ช. บุญถึง จะไม่รู้ว่าตัวเองมีพรสวรรค์อะไรซ่อนอยู่ แต่เขารู้สึกว่าเวลาที่เตะบอลกับเพื่อนมักเหนื่อยช้ากว่าคนอื่น วิ่งได้สบาย ไม่หมดแรง และมักสนุกกับการวิ่ง เมื่อถึงเวลามีแข่งกีฬาสีเขาจึงเลือกลงกรีฑา อะไรก็ได้ที่วิ่งไกลที่สุด ใจจริงก็อยากเตะบอลแต่เขาจำกัดให้ลงได้คนละ 1 ประเภทกีฬา ต่าย จึงเลือกกีฬาที่เขาคิดว่าเขาน่าจะทำได้ดีที่สุดและมีลุ้นแชมป์

 

“อะไรที่ไกลที่สุดผมลงอันนั้นเลย ไม่ได้ซ้อม แค่เตะบอลกับเพื่อนๆ”

 

แชมป์วิ่งกีฬาสี ตั้งแต่ ม. 3 พูดด้วยน้ำเสียงชิวๆ รายการแรกที่เขาลงคือวิ่ง 3,000 เมตร วนรอบสนามบาสเกตบอล ไม่ได้มีจับเวลาแค่เข้าเส้นชัยก่อนเป็นพอ เขาไม่ได้ซ้อมหรือมีความรู้เกี่ยวกับกรีฑาใดๆ แค่รู้สึกว่าวิ่งแล้วสนุก วิ่งแล้วทำได้ดี แค่เตะบอลแล้วใส่นันยางไปวิ่งต่อ แต่เขาเข้าที่ 1 มาโดยตลอด

 

เมื่อจบ ม.6 หนุ่มน้อยจากบุรีรัมย์เลือกเอนทรานซ์แต่คณะที่ได้ไม่เป็นดังหวัง เขาจึงไปลงเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ (อุตสาหกรรม) มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามเพื่อนกลุ่มเดียวกัน ไม่ได้ยื่นโควต้านักกีฬาอะไรทั้งนั้นเพราะเขาไม่เคยมีผลงานระหว่างโรงเรียนหรือจังหวัด ไม่ได้เป็นตัวเยาวชน แค่แชมป์กีฬาสีเท่านั้น ไปเช่าหอพักอยู่แถวมหาวิทยาลัย เข้ากิจกรรมรับน้อง มีซุ้ม ตามวิถีเด็กวัยรุ่นทั่วไป

 

จุดเปลี่ยนของชีวิต บุญถึง เกิดขึ้นเมื่อเขามองเห็นสนามวิ่งลู่ดิน 400 เมตร ที่ตั้งอยู่ใกล้กับซุ้มของตน เขาได้แต่สงสัยและชะเง้อมองเข้าไป เห็นนักกีฬา ตัวแทนมหาวิทยาลัย ซ้อมวิ่งกันอย่างแข็งขัน ณ ตอนนั้นเขาไม่รู้หรอกว่าสิ่งนั้นคืออะไร เขาคิดแค่ว่าอยากเป็นแบบพวกเขาบ้าง จึงปรึกษารุ่นพี่ที่ซุ้มจนนำไปสู่การเข้าคัดตัวสมาชิกชมรมกรีฑามหาลัยในที่สุด

 

 

 

ลู่วิ่งดินกับจุดเปลี่ยนชีวิต

 

ด้วยความเป็นเด็กต่างจังหวัด ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับกรีฑา ไม่รู้ว่าต้องซ้อมวิ่งยังไง  เตรียมตัวแบบไหน เขาใส่นันยางคู่โปรดเข้าไปในสนามลู่วิ่งดินในเช้าวันเสาร์ของการคัดตัว เมื่อปี พ.ศ. 2543 ด้วยความตื่นเต้นและตั้งใจที่อยากเป็นตัวแทนหรือได้เข้าร่วมชมรม รุ่นพี่ชมรมบอกให้เขาใช้รองเท้าผ้าใบ FBT ของชมรมในการคัดตัวแทนนันยาง ซึ่งต่ายก็งงเพราะเขาไม่รู้ว่ารองเท้าที่ใช้วิ่งจริงๆ เป็นยังไง

 

เขาเลือกคัดตัวในระยะที่ไกลที่สุด นั่นก็คือ 5,000 เมตร โดยไม่ได้ซ้อมอะไรทั้งนั้น ออกตัววิ่งตามเพซตัวเอง ทิ้งห่างรุ่นพี่ที่เป็นตัวแทนซึ่งมาลงวิ่งด้วย และเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกด้วยเวลา 18:09 นาที จนหลายคนคิดว่าเขาเป็นตัวโรงเรียนหรือมัธยม ทั้งที่จริงเป็นแค่ตัวกีฬาสีโรงเรียน สุดท้ายน้องใหม่ได้เป็นสมาชิกชมรมกรีฑา และได้เข้าร่วมฝึกซ้อมกับชมรมทุกเย็นนับแต่นั้น ภายใต้การดูแลของ อาจารย์ กิตติศักดิ์ เชื้ออาษา ที่เป็นโค้ชจัดโปรแกรมให้แต่ละคน ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่เขาเล่าเรื่องการซ้อมกรีฑาให้ครอบครัวฟัง

 

 

อาจารย์ กิตติศักดิ์ เชื้ออาษา (กลางบน) อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมกรีฑา มหาวิทยาลัยรามคำแหง โค้ชคนแรกของ บุญถึง ศรีสังข์ (กลางล่าง)

 

ชมรมกรีฑากลายเป็นเหมือนครอบครัวของ บุญถึง ไปแล้ว เขาเริ่มเฟดตัวออกจากซุ้มแล้วมาคลุกคลีกับเพื่อนที่ชมรมมากกว่า จิตใจและสมาธิของเขาจดจ่ออยู่กับกรีฑา ยิ่งวิ่ง ยิ่งสนุก และมีเพื่อนๆ พี่ๆ ช่วยลาก ช่วยซ้อมเวลาลงคอร์ท ทำให้เขายิ่งพัฒนาได้เร็วขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น หลังจากฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วง จันทร์ - ศุกร์ เป็นเวลา 3 เดือน ทางชมรมจัดทดสอบเพื่อคัดตัวนักกีฬาไปแข่งกีฬามหาวิทยาลัย และบุญถึงก็ไม่พลาดที่จะเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก แถมวิ่งสถิติดีขึ้นถึง 2   นาที เขาวิ่ง 5,000 เมตร ที่ 16 นาที ซึ่งเป็นเวลามีลุ้นโพเดี้ยม โดยตัวเก็งเหรียญทองหนีไม่พ้น “บุญชู จันทร์เดชะ” นักกรีฑาทีมชาติไทย จากมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ เจ้าของสถิติ 14 นาที ในขณะนั้น 

 

สนามแข่งขันแรกของหนุ่มน้อยวัย 18 ปี คือ กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 28 หรือ ณิวัฒนาเกมส์ จัดขึ้นที่ มหาวิทยาลัยณิวัฒนา จังหวัดสุพรรณบุรี ในปี พ.ศ. 2544 บุญถึง ลงแข่งระยะ 5,000 เมตร และ 10,000 เมตร เขาไม่ได้กดดันตัวเองมาก แค่หวังลึกๆ ว่าจะได้ยืนบนโพเดียม ซึ่งเขาแทบไม่รู้จักนักกีฬาคนไหนเลยด้วยซ้ำ เขาออกตัว 10,000 เมตร ตามสเตปและแรงตัวเองที่ซ้อมมา ฉีกขึ้นนำแต่โดน บุญชู และกลุ่มผู้นำแซงในช่วง 5,000 เมตร เขาจึงวิ่งเกาะกลุ่มไป ก่อนกระชากแซงเข้าที่ 3 ในช่วง 1,000 เมตรสุดท้าย ด้วยเวลา 34 นาที ผ่านไปอีกวันเขาลง 5,000 เมตร เริ่มมีประสบการณ์ เกาะกลุ่มวิ่งตามหลัง ก่อนสปรินท์หน้าเส้น 120 เมตรสุดท้ายเข้าที่ 2 ด้วยเวลา 16:10 นาที ทำผลงานคือ 1 เงิน 1 ทองแดง

 

บุญถึง (กลาง) กลายเป็นนักวิ่งม้ามืด สามารถเข้าที่ 2 รายการ 5,000 เมตร ตามหลัง "บุญชู จันทร์เดชะ" (ขวา) นักกรีฑาทีมชาติไทย จากม.เอเชียอาคเนย์ ในกีฬามหาวิทยาลัยครั้งที่ 28

 

ด้วยผลงานที่โดดเด่นเป็นม้ามืดที่ไม่มีใครรู้จัก จนชมรมกรีฑามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขาใฝ่ฝันอยากศึกษาแต่เอนท์ไม่ติด สนใจขอดึงตัวไปเรียนโควต้าช้างเผือกที่นั่น แต่ด้วยความเกรงใจที่มีต่อ อาจารย์ กิตติศักดิ์ โค้ชที่ช่วยบ่มเพาะเขาจนเก่งกล้า จึงปฏิเสธไป

 

“ถ้าไม่ได้เรียนราม ผมคงไม่ได้มาเล่นกรีฑา หากให้ย้อนกลับไปก็คงตัดสินใจแบบเดิม” บุญถึงกล่าว

 

 

สังเวียนอินเตอร์ครั้งแรกกีฬาม.อาเซียน

 

โชคชะตาเข้าข้าง เมื่อ บุญชู จันทร์เดชะ อายุเกินเกณฑ์ ทางคณะกรรมการกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (กกทม.) จึงส่งชื่อ บุญถึง ศรีสังข์ เป็นตัวแทนกรีฑาระยะไกล ลงแข่งขันในกีฬามหาวิทยาลัยอาเซียน ปี 2545 ที่ประเทศฟิลิปปินส์แทน แม้เป็นน้องใหม่แต่เขาก็ไม่ได้กดดัน มีแต่ความตื่นเต้นและภาคภูมิใจ เหมือนกำไรชีวิตมากกว่าเพราะไม่คิดว่าจะมาได้ถึงขนาดนี้ เขาลงแข่ง 3 รายการ มองไม่เห็นเหรียญทองเลย แต่มีเหรียญติดมือกลับมา คือ 2 เงิน (5,000 เมตร และ 10,000 เมตร) และ 1 ทองแดง (1,500 เมตร)

 

จุดเปลี่ยนอีกครั้งคือการได้เป็นตัวแทนในระดับนานาชาติครั้งนี้ ทำให้เขาเริ่มรู้จักนักกีฬาทีมชาติมากขึ้น เพราะต้องเก็บตัวและเดินทางไปด้วยกัน ได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น ฝึกซ้อมแบบมืออาชีพมากขึ้น และที่สำคัญ ประเทศไทยเริ่มมีชื่อของ “บุญถึง ศรีสังข์” อยู่ในสาระบบทีมชาติ

 

สมาคมกรีฑาเรียกบุญถึงเข้าแคมป์เยาวชนทีมชาติสำหรับกีฬากรีฑาเยาวชนเอเชีย ในปี พ.ศ. 2545 เขาฝึกซ้อมกับเยาวชนทีมชาติเก่งๆ จากทั่วประเทศ มีรุ่นพี่ทีมชาติ จิระศักดิ์ สุทธิชาติ ออกคอร์ทให้ ทำให้เวลาดีขึ้นเรื่อยๆ เขาสามารถกด 5,000 เมตร ได้ภายใน 15 นาที ชีวิตกินนอนที่สมาคมกรีฑา แม้มาค้นพบว่าอายุเกิน 20 จึงไม่ได้ลงแข่งขันก็ตาม แต่ด้วยผลงานที่โดดเด่น บุญถึง ได้ถูกบรรจุเป็นข้าราชการนายสิบ สังกัดทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2545 และลงแข่งขันกีฬาแห่งชาติให้กับจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งหนึ่งในก้างขวางคอของเขายังคงเป็น บุญชู จันทร์เดชะ แชมป์ 10,000 เมตร ที่เขาไม่สามารถเอาชนะได้เสียที เขาวิ่งที่ 31 นาทีปลายๆ ในขณะที่บุญชู วิ่ง 31 นาทีต้นๆ ถึงแม้เขาจะไม่สามารถชนะได้ แต่ช่องว่างของเวลามันเข้ามาใกล้มากกว่าเดิม ณ ตอนนั้นเขายังคงโฟกัสแค่กีฬามหาวิทยาลัย ไม่ได้มองไกลถึงทีมชาติแต่อย่างใด

 

บุญถึง ในวัย 24 ปีที่กำลังท๊อปฟอร์ม กวาด 2 ทอง ได้ครั้งแรกในซีเกมส์ ครั้งที่ 23 ที่ฟิลิปปินส์

 

ก้าวขึ้นสู่มือหนึ่งทางไกลทีมชาติ

 

เมื่ออายุ 21 ปี บุญถึง เข้าโครงการเก็บตัวนักกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 23 ปีพ.ศ.2546 ที่มะนิลา ประเทศเวียดนาม ด้วยโปรแกรมซ้อมสุดเข้มข้นสไตล์ทีมชาติ ทำให้ในที่สุดเขาสามารถวิ่งแซง บุญชู จันทร์เดชะ ในการทดสอบคัดตัว และขึ้นยืนแท่นเป็นเบอร์ 1 กรีฑาระยะไกลทีมชาติในที่สุด ในตอนนั้นไฟของเขาลุกโชนเต็มเปี่ยม ทุกวันคือวันที่แปลกใหม่ เหนื่อยแต่สนุก ไม่เคยท้อหรือไม่อยากซ้อม ยิ่งเมื่อแข่งแล้วมีพัฒนาการ ยิ่งทำให้เขาตั้งคำถามกับตัวเองว่าเขาจะไปได้อีกไกลเท่าไร ค้นหาคำตอบที่แม้แต่ตัวเขาเองก็ไม่อาจรู้ได้

 

“มาถึงจุดนี้ ถ้าทำได้ดีกว่าเดิมมันคือกำไรแล้ว” บุญถึงบอก

 

บุญถึง อุทิศชีวิตให้กรีฑา เขาฝังตัวฝึกซ้อมที่สมาคม และตัดสินใจโอนหน่วยกิตจากคณะเศรษฐศาสตร์ไปคณะรัฐศาสตร์แทน เพราะไม่งั้นคงไม่รอดแน่นอน ด้วยโปรแกรมสุดเข้มข้นเขาสามารถกดเวลาลงได้อีก 5,000 เมตร ที่ 14 นาที และ 10,000 เมตร ที่ 30 นาที เพื่อลุ้นโพเดียมซีเกมส์แรกของเขาให้ได้ เขาได้เดินทางไปแข่งขันต่างประเทศมากขึ้น จากเด็กบ้าน ได้โกอินเตอร์ รู้จักคนมากมาย โดยในตอนนั้นยังไม่มีนักกรีฑาไทยที่สามารถคว้าเหรียญทองในระยะ 5,000 เมตร และ 10,000 เมตร ได้ ซึ่งตัวเก็งในครั้งนั้นคือแชมป์เก่า Eduardo Buenavista จากฟิลิปปินส์ เจ้าของ 2 ทองจากซีเกมส์ครั้งที่แล้ว

 

วันแรกที่แข่ง 10,000 เมตร บุญถึง เข้าเป็นที่ 2 ด้วยเวลา 29:40.28 นาที แม้เขาวิ่งได้ดีขึ้น 1 นาที (ทำลายสถิติประเทศไทย) แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะวิ่งแซง Eduardo Buenavista ได้ โดยทั้งคู่ทำลายสถิติซีเกมส์ และโคจรมาเจอกันอีกในรายการ 5,000 เมตร ครั้งนี้เขาหมายมั่นขอลองสู้ฟัดเพื่อเหรียญทอง เพราะยังไงก็ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว พยายามไม่ให้คู่แข่งฉีกหนี คิดแค่ว่าทำยังไงให้เกาะไปได้ตลอด ให้เข้าใกล้เส้นชัยมากที่สุด จากนั้นตัดสินใจกัดฟันสปรินท์แซงช่วง 200 เมตร สุดท้ายแบบม้วนเดียวจบ เข้าเส้นชัยด้วยเวลา 14:15.20 นาที คว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทยได้ในที่สุด

 

“ใช้แรงวิ่งให้น้อยเพื่อเก็บไประเบิดตอนจบ แซงในระยะที่มั่นใจว่าแซงได้แบบม้วนเดียวจบ ถ้าไม่มั่นใจอย่าพึ่งแซง” บุญถึง ศรีสังข์ บอกเคล็ดลับเบื้องหลังเหรียญทองประวัติศาสตร์

 

จุดอิ่มตัวและการกลับมา

 

หลังก้าวขึ้นสู่มือหนึ่งทางไกลทีมชาติได้สำเร็จ เขาเดินหน้าฝึกซ้อม ทำผลงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็น 4 เหรียญทองซีเกมส์ ใน 2 สมัยติดต่อกัน (ครั้งที่ 23 ที่ฟิลิปปินส์ และ ครั้งที่ 24 ที่นครราชสีมา) ในระยะ 5,000 เมตร และ 10,000 เมตร โดยตั้งแต่ ซีเกมส์ ครั้งที่ 22 - 25 (พ.ศ. 2546 - 2552) เขาขึ้นโพเดียมกวาดเหรียญมากมาย 5 ทอง 2 เงิน และ 2 ทองแดง ในซีเกมส์ 3 สมัย ได้ไปแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ที่ โดฮา 2006 ในระยะ 5,000 เมตร และ 10,000 เมตร จบด้วยเวลา 14:13.33 นาที (อันดับที่ 7) และ 30:40.47 นาที (อันดับที่ 8) ตามลำดับ แต่แล้วในปีน้ำท่วมใหญ่ 2554 เขากลับกลับจาก อินโดนีเซีย มือเปล่า

 

บุญถึง ในวัย 28 ปี เริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่มีพัฒนาการ สถิติถอยหลังลงเรื่อยๆ ไม่เหมือนตอน 26 ปี ที่อาชีพกรีฑาถึงจุดพีคสุดเมื่อแข่งซีเกมส์ ที่โคราช เขาเริ่มเบื่อ อิ่มตัว และตัดสินใจว่าจะไม่ลง 5,000 เมตร และ 10,000 เมตร แล้วเพราะลงไปก็ไม่ติดโพเดี้ยม ซ้อมไปวันๆ แบบไร้จุดหมาย เขายังคงอยากวิ่งลู่ต่อ สำหรับมาราธอนนั้นไม่ได้อยู่ในเป้าหมายใกล้ๆ แต่ยังไงก็ต้องไปถึงสักวันแน่นอน ซึ่งเขาคิดว่าตั้งใจอยากเป็นมาราธอนมือหนึ่งของไทย

 

โค้ช ปีเตอร์ มาตู ตีตี้ (Peter Mathu Titi)


เมื่อปี พ.ศ. 2555 สมาคมกรีฑา จ้างโค้ช ปีเตอร์ มาตู ตีตี้ (Peter Mathu Titi) อดีตโค้ชทีมเคนย่ามาเป็นหัวหน้าโค้ชกรีฑาระยะไกล ณ ตอนนั้น บุญถึง ในวัยที่เริ่มเบื่อหน่ายกลับตัดสินใจเปิดโอกาสตัวเองเพื่อเรียนรู้กับ โค้ช ปีเตอร์ อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด วิธีการซ้อม ทุกอย่าง ทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้ว ปล่อยวางอัตตา และฟังสิ่งที่โค้ชแนะนำ จนในที่สุดโค้ชปีเตอร์ทำให้บุญถึง กลับมาวิ่ง 10,000 เมตร ที่ 30 นาที ได้ แม้แต่ตัวเขาเองยังประหลาดใจ

 

“ผมลองเหนื่อยใหม่เหมือนตอนอายุ 22-23 ปี แกพิสูจน์ให้เห็นว่าผมก็กลับมาวิ่งได้เหมือนเดิม มีไฟอยากมาวิ่งจริงอีกครั้ง ทำให้ผมเปิดใจรับและศรัทธาในตัวเขามาก”

 

บุญถึง ไหว้หลังคว้าเหรียญเงิน 10,000 ม. (30:05.22 นาที) ในซีเกมส์ ครั้งที่ 28 ที่ประเทศสิงคโปร์ (พ.ศ. 2558)

 

ตอนแรกโค้ชปีเตอร์ ให้ บุญถึง ลงแข่งซีเกมส์ ในระยะเดิมที่เขาถนัดก่อนเพื่อทวงคืนเหรียญทองที่หายไป แม้เขาจะฟิตขึ้น แต่ปัจจัยอื่นๆ มันเยอะมาก คู่แข่งที่พัฒนาเร็วไม่แพ้เขา เขาคว้า 2 เหรียญเงิน ในระยะ 5,000 เมตร และ 10,000 เมตร ที่ซีเกมส์ ครั้งที่ 27 ที่ประเทศเมียนมา ก่อนขยับเขาสู่เส้นทางมาราธอนเต็มตัว 

 

 

หนทางแห่งมาราธอน

 

หนุ่มบุรีรัมย์ วัย 33 ปี เริ่มผันตัวเขาสู่ระยะที่ไกลขึ้นกว่าเดิม และเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่เขาตั้งไว้ นั่นก็คือ “มาราธอน” เขาลงแข่งขันมาราธอนแรกที่ พัทยา มาราธอน 2010 โดยเข้ามาเป็นที่ 1 โอเวอร์ออลชายไทย ด้วยเวลา 2:32:56 ชั่วโมง ในขณะที่ บุญชู จันทร์เดชะ รุ่นพี่ของเขา เข้ามาเป็นอันดับที่ 3 ด้วยเวลา 2:43:08 ชั่วโมง

 

เขาได้แข่งขันมาราธอนในระดับเอเชียครั้งแรกที่ เอเชี่ยนเกมส์ 2014 ที่กรุงอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ เข้าที่ 12 ด้วยเวลา 2:28:41 ชั่วโมง จากนั้นลงแข่งมาราธอนแรกในซีเกมส์เมื่อปี พ.ศ. 2558 ที่ซีเกมส์ ครั้งที่ 28 ที่สิงคโปร์ ซึ่งเขาเป็นตัวเต็งความหวังเหรียญ เสียดายที่พลาดท่ามีอาการตะคริว ทำให้พลาดเหรียญทองให้กับ Soh Rui Yong จากสิงคโปร์ ที่เข้าเส้นชัยที่ 2:34:56 ชั่วโมง ก่อนหน้าเพียงแค่เสี้ยววินาที ในขณะที่เขาเข้ามาด้วยเวลา 2:35:09 ชั่วโมง 

 

ในซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ที่มาเลเซีย เขาถูกยกให้เป็นหนึ่งในตัวเต็งโพเดียมมาราธอน สถิติเป็นรอง Agus Prayogo จากอินโดนีเซีย และตั้งใจไปคว้าเหรียญทองมาราธอนชายให้ประเทศไทย หลังจากที่ บุญชู จันทร์เดชะ เคยทำไว้เมื่อ 12 ปีก่อน ที่ซีเกมส์ ครั้งที่ 23 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ แต่โชคไม่เข้าข้างเมื่อเขาต้องตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขัน หลังมีอาการตะคริวที่น่องขาขวา แม้พยายามฝืนเกาะไปกับกลุ่มผู้นำ จนต้องหยุดให้เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลที่กิโลเมตร 30 แต่ไม่สามารถวิ่งต่อได้ นับเป็นการปิดฉากการโลดแล่นในเวทีอาเซียนอย่างเป็นทางการ ซึ่งเขาได้แข่งขันในนามตัวแทนทีมชาติไทยติดต่อกัน 8 สมัย ตั้งแต่ซีเกมส์ ครั้งที่ 22 ที่ประเทศเวียดนาม

 

แต่กระนั้นแล้วหนทางมาราธอนของ บุญถึง ศรีสังข์ ยังไม่จบลงง่ายๆ เขายังมีฝันที่อยากไปให้ถึง อยากทลายกำแพง 2:20 ชั่วโมงที่ไม่เคยทำได้เสียที การฝึกซ้อมอันหนักหน่วงอาจทำให้มีการบาดเจ็บบ้าง แต่โชคดีที่ไม่ค่อยเจ็บหนัก ถึงเจ็บหนักก็จะหายเร็ว อาการก็เหมือนนักวิ่งทั่วไป ทั้งเจ็บเข่า รองช้ำ เอ็นรอยหวายฉีก อย่างมากเจ็บ 2 เดือน ไม่เรื้อรัง ถึงกระนั้นเขามักไปออกกำลังกายอย่างอื่นเพื่อคงความฟิตไว้เสมอ และได้ลงแข่งขันมาราธอนในนามทีมชาติไทย ที่เอเชี่ยนเกมส์ 2018 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ร่วมกับ โทนี่ อาทิตย์ เพย์น ปอดเหล็กรุ่นน้อง ลูกครึ่งไทย-นิวซีแลนด์ จริงๆ เขาไม่ได้หวังเหรียญใดๆ เพราะระดับชั้นและฝีเท้าห่างกันเยอะ แต่ไปเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในระดับนานาชาติ ลองเกาะกลุ่มผู้นำที่ความเร็วที่เขาสามารถจบ Sub 2:20 ได้ แต่ก็ทำได้เพียงแค่ 28 กิโลเมตร เท่านั้น เข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 12 เวลา 2:28:41 ชั่วโมง

 

RIO 2016 marathon course

 

มุ่งหน้าสู่คว้าตั๋วมาราธอนโอลิมปิก

 

การที่จะวิ่งมาราธอนให้ได้ดี สนุก และไม่เหนื่อย ควรใช้ระยะเวลาในการเก็บสะสะระยะทาง ซึ่ง บุญถึง ศรีสังข์ ได้สั่งสมมาจากการฝึกซ้อมและแข่งขันกว่า 13 ปี แม้เขาจะไม่มีโอกาสไปแข่งขันต่างประเทศด้วยงบประมาณจำกัด และอาจหวังผลโพเดียมยาก จึงเน้นเก็บรายการในประเทศแทน แต่ความฝันลึกๆ ที่อยู่ในใจหนุ่มบุรีรัมย์ คงหนีไม่พ้น “การได้ไปโอลิมปิกสักครั้งในชีวิต”

 

ปัจจัยในมาราธอนมีเยอะกว่าระยะ 5,000 เมตร หรือ 10,000 เมตร ทั้งเวลา สภาพอากาศ ตัวแปร การเกลี่ยระยะ ประสบการณ์ โภชนาการ เป็นการใช้พลังงานที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ต้องอาศัยการวางแผนอันละเอียดอ่อน ดูแลการกินทั้งก่อน ระหว่าง และหลังแข่งขัน ซึ่งนี่อาจเป็นหนึ่งในจุดด้อยของบุญถึง

 

“ผมวิ่ง 10,000 เมตร ได้ดีกว่า โทนี่ และสัญชัย แต่มาราธอนผมสู้เขาไม่ได้เลย” บุญถึงหัวเราะ

 

ในขณะนั้นคุณต้องทำเวลามาราธอนให้ได้ 2:19 ชั่วโมง เพื่อจะได้รับการคัดเลือกไปวิ่งมาราธอนที่โอลิมปิก ซึ่งโค้ชปีเตอร์มองว่ามันเป็นเวลาที่มีความเป็นไปได้ โดยดูจากผลการวิ่งในระยะ 10,000 เมตร ที่ 29 นาที ตอนนั้นสถิติที่ดีที่สุดของเขาอยู่ที่ 2:25 ชั่วโมง จึงต้องหาสนามในต่างประเทศไปทำเวลา แต่ปัญหาของบุญถึง คือเขาแทบไม่ค่อยรู้ข้อมูลอะไรเท่าไร โชคดีตอนนั้นได้ติดต่อกับ “เจน วงษ์วรโชติ” ที่อาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เธอติดต่อหาบุญถึงเพื่อสอบถามเกี่ยวกับขั้นตอนการทำเรื่องไปโอลิมปิก และในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกสนาม Houston Marathon 2016 ที่รัฐเท็กซัสเป็นสังเวียนลุ้นตั๋วไปโอลิมปิก บุญถึง พร้อมด้วย “สายฝน” ณัฐธยาน์ ธนรณวัฒน์ เพื่อนทีมทางไกล มาราธอนหญิง เดินทางไปล่วงหน้า 2 อาทิตย์เพื่อปรับสภาพร่างกาย และได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มคนไทยในเมืองฮูสตันในเรื่องของที่พักและการเดินทาง

 

โดยเป้าหมายคือ มาราธอน 2:16 ชั่วโมง ตามแผนของโค้ชปีเตอร์คือ ฮาล์ฟแรก 1:08 ฮาล์ฟหลัง 1:09 เกลี่ยเวลาบวกลบเอาภายในนี้ไม่เกิน ซึ่งดูแล้วมีความหวัง แต่เจ้ากรรมเมื่อวิ่งมาถึง กิโลเมตรที่ 25 รองเท้าที่พึ่งได้มาใหม่ก่อนเดินทางมันยังไม่เข้าเท้าดี บวกกับอากาศเย็น ทำให้ฝ่าเท้าห่อไม่บานเต็มที่ จนฝ่าเท้าแตก มันแสบเท้าไปหมด เขาพยายามคุมเพซไม่ให้เกิน 3:20 จากเดิมออกตัว 3:14 แต่สุดท้ายยันไม่ไหวเพซตกไป 3:30 ต้องวิ่งตะแคงเพื่อเลี่ยงฝ่าเท้าขวาที่แตกและแสบ เขาเสียเวลาไปจากที่ตั้งเป้า 10 วินาที/กิโลเมตร สุดท้ายเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 2:23:59 (overall 25)

 

แม้เวลาจะไม่เป็นตามต้องการ ขาดไป 4 นาที แต่คิดว่ายังพอมีลุ้น เขารีบกลับมาพักฟื้นและซ้อมต่อเพื่อเป้าหมายโอลิมปิกเหมือนเดิม เขาซ้อมหนักและแข็งแรงกว่าเดิม ฟิตกว่าเดิม เพื่อไปลุ้นตั๋วโอลิมปิกอีกครั้งที่ Düsseldorf Marathon 2016 ประเทศเยอรมนี ในเดือนเมษายน ซึ่งครั้งนี้โค้ชปีเตอร์ลงทุนจ้างลูกศิษย์ชาวเคนย่า สถิติมาราธอน 2:08 มาเป็นเพซเซอร์ให้ ทุกอย่างดูลงตัวทั้งความฟิต กำลังใจ และรองเท้าที่แก้ไขแล้ว แต่กลับพลาดตรงเดินทางไปถึงกระชั้นเกินทำให้พักผ่อนไม่พอ มีอาการ Jet Lag บวกกับสภาพอากาศที่เย็น 2-3 องศา สลับกับแดด ฝน และหิมะ จนเขาไม่สามารถคุมเพซให้ได้ดั่งใจคิด ใช้พลังงานเยอะเกิน จนสุดท้ายเขาก็พลาดไปอีกครั้ง ด้วยเวลา 2:26:01 ชั่วโมง

 

ไฮไลท์บุญถึง ศรีสังข์ ในงานวิ่ง Düsseldorf Marathon 2016 >> 

 

RIO 2016 โอลิมปิกครั้งแรกและครั้งสุดท้าย

 

แต่โชคยังเข้าข้าง ปอดเหล็กวัย 35 ปี อยู่ เมื่อสมาคมกรีฑาได้สิทธิ์ไวลด์การ์ด ทำให้เขาได้รับคัดเลือกไปวิ่งมาราธอนที่ โอลิมปิก ปี 2016 ที่ นครริโอ เด จาเนโร ประเทศบราซิล เป็นโอลิมปิกแรกในชีวิต โดยเขาตั้งใจทำลายสถิติประเทศไทยและทำเวลาให้ได้ตามควอลิฟายคือ 2:19

 

วันที่ 22 สิงหาคม วันแห่งความตื่นเต้นมาถึงแล้ว นักกีฬามาราธอน 155 คน จาก 79 ประเทศ เรียงแถวหน้าจุดปล่อยตัวที่ Sambódromo ท่ามกลางสายฝนที่ตกยาวนานตั้งแต่คืนก่อน อากาศหนาวเย็นตรงข้ามกับวันมาราธอนหญิงที่แดดร้องเปรี้ยง เวลา 9.30 น. บุญถึง วิ่งออกจากจุดสตาร์ทพร้อมเพื่อนนักวิ่งไปตามทางตรงยาว 5 กิโลเมตร ก่อนวิ่งวนลูป 10 กิโลเมตร 3 ครั้ง ขนานชายฝั่ง ฝนตก ลมแรง ทำให้ลมทะเลพัดตีต้านจนเปียกตลอดเส้นทาง เจอทั้ง ลม น้ำ ตะคริว ทำให้ นักวิ่งหลายคนต้องหยุดพักหรือถอนตัวจากการแข่งขัน

 

“น่าจะเป็นโอลิมปิกครั้งแรกและครั้งเดียว เพราะเวลา QF ยากจริงๆ” เขากล่าว

 

ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวนและโหดร้าย ส่งผลให้สภาพร่างกายของบุญถึงส่งสัญญาณเตือน อาการตะคริวเริ่มแสดง แต่ในใจเขาคิดว่ามาไกลถึงเพียงนี้ยังไงก็อยากจบไม่งั้นอาจเป็นตราบาปไปตลอดชีวิต ตลอดข้างทางที่วิ่งมีกองเชียร์มากมาย เขาได้ยินเสียงเชียร์ “ไทยแลนด์สู้ๆ” แว่วๆ นึกว่าเป็นคนไทย พอหันกลับไปกลายเป็นคนบราซิลเจ้าถิ่นซะงั้น ทำให้เขามีแรงฮึดสู้และตั้งใจว่ามาถึงตรงนี้ได้ก็มีคนเห็นธงชาติไทยกลางสนามแข่ง มันไม่ใช่ว่าจะมากันได้ง่ายๆ และตัดสินใจว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเขาต้องเป็นฟินิชเชอร์ให้ได้

 

“มาราธอนเต็มไปด้วยความขลัง มันคือที่สุดของโอลิมปิก ถ้าเป็นสนามอื่นผมคง DNF ไปแล้ว แต่วันนั้นต้องเรียกว่าตะเกียกตะกายเลย ทุกก้าวช่างทรมานมาก” บุญถึงเล่าถึงเหตุการณ์วันนั้น

 

อาการตะคริวเริ่มออกชัดเมื่อ กิโลเมตร ที่ 27 เขานับถอยหลังทุกกิโลเมตรที่วิ่ง ความทรมานเพิ่มพูนพร้อมความคิดในหัวว่าเมื่อไรมันจะผ่าน เมื่อไรมันจะถึง แต่ด้วยความเป็นโอลิมปิกทำให้เขากัดฟันสู้ต่อ จนถึงจุดให้น้ำสุดท้ายที่ กิโลเมตรที่ 35 ก่อนจะตรงยาวเข้าเส้นชัย โค้ชปีเตอร์ถามอาการว่าเป็นอย่างไร เขาตอบว่าไม่มีปัญหา โอเคอยู่ แต่ในใจมันไม่ไหวแล้ว เขาเลือกที่จะไม่หยุดเดินเพราะไม่เช่นนั้นอาจจะไม่สามารถวิ่งต่อได้อีก

“ถึง...ยังไงก็ให้ถึงเส้นนะ ไปยังไงก็ได้น้อง” สายฝน รุ่นพี่ที่แข่งมาราธอนไปแล้วมายืนตรงจุดให้น้ำสุดท้ายตะโกนบอกเขา

 

 

มันเป็น 7 กิโลเมตรสุดท้ายที่แสนทรมาน ตะคริวลามไปทั้งตัว แต่ในทางกลับกันยังดีกว่าอีกหลายคนที่นั่งและนอนข้างทางรอการปฐมพยาบาลและออกจากการแข่งขัน เขาคิดแค่ว่าเราโชคดีแล้วที่ยังวิ่งได้ แม้จะช้ากว่าเวลาที่ตั้งไว้ก็ตาม ดีที่วิ่งไปข้างหน้าเรื่อยๆ ได้ ยิ่งพอเข้าช่วงกิโลเมตรที่ 40 เริ่มใจชื้น มีแรงวิ่งมากกว่าเดิม มาเก็บนักวิ่งอื่นหน้าเส้นชัยได้ 6 คน ก่อนเข้าเส้นด้วยเวลา 2:37:46 ชั่วโมง เป็นอันดับที่ 133 จาก 139 คน มี DNF 15 คน และ หมดสิทธิ์แข่งขัน 1 คน

 

สิ่งหนึ่งที่เขาภาคภูมิใจในฐานะตัวแทนประเทศไทย คือการเห็นธงชาติไทยแสดงขึ้นในตารางเวลาของคนจบการแข่งขัน มีคำว่า Thailand ที่แม้ตัวจะน้อยนิดแต่ก็คือส่วนหนึ่งของมหกรรมและความขลังนี้

 

เส้นทางการเดินทางของ “บุญถึง ศรีสังข์” จากเด็กบ้านๆ จากบุรีรัมย์ สู่ตัวแทนมหาวิทยาลัย ไปยันตัวแทนประเทศ และก้าวไปสู่นานาชาตินั้น คือการเดินทางที่ประหนึ่งเส้นทางมาราธอน มันมีครบทุกรสชาติ ทั้งดีใจ ตื่นเต้น เสียใจ ผิดหวัง เจ็บปวด แต่หากเราไม่ได้ออกวิ่ง เราอาจไม่รู้ว่าเราสามารถต่อสู้กับอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้หรือไม่ และเขาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาทำมันได้ และทำมันสำเร็จแล้ว

 

ดู บุญถึง เข้าเส้นชัยโอลิมปิก >> 2:44:50


stadium

author

Chalinee Thirasupa

StadiumTH Content Creator / เจ้าของเพจช่างภาพมีกล้าม

โฆษณา