stadium

สิทธิพงษ์ คำจันทร์ : “กว่าจะเป็นยาวปืนใหญ่”

6 มิถุนายน 2564

หากพูดถึงนักกีฬาตะกร้อที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักแน่นอนว่าชื่อของ "ยาวปืนใหญ่" สิทธิพงศ์ คำจันทร์ จอมเสิร์ฟความหวังของทีมตะกร้อไทย เจ้าของส่วนสูง 192 ซ.ม. ด้วยสรีระที่สูงยาว และเกมส์เสิร์ฟที่หนักหน่วง ทำให้เขากลายเป็นตัวเสิร์ฟแห่งยุค ที่หลายๆคนต่างยึดเป็นแบบอย่าง แต่เส้นทางชีวิตเจ้าตัวที่กว่าจะก้าวมาประสบความสำเร็จ จนได้เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรของทหารอากาศ ไม่ใช่เรื่องง่าย และความผิดหวังก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่หล่อหลอมให้เขาเก่งและแกร่งได้จนถึงทุกวันนี้

 

 

อยากลงสนามต้องใช้เงินแลก

 

"ผมเริ่มเล่นกีฬาฟุตบอลมาก่อนครับ ตอนนั้นเล่นตำแหน่งปีกขวา ชอบการเปิดบอลแต่ไม่ชอบวิ่งเท่าไหร่ แต่ตอนนั้นเล่นแล้วไม่ค่อยรุ่งเท่าไหร่ เพราะไปแข่งทีไรก็แพ้ทุกที"

 

"ประกอบกับตอนนั้นผมดูถ่ายทอดทีมตะกร้อทีมชาติไทยลงแข่ง แล้วจำได้ว่าเห็นพี่เล่ สุริยันต์ เป๊ะชาญ ลงแข่งแล้วรู้สึกว่ามันเป็นกีฬาที่น่าเล่น ก็เลยรู้สึกว่าเราน่าจะเล่นได้"

 

"ผมจำได้ว่าจุดเริ่มต้นของผมกับกีฬาตะกร้อ คือ ถ้าอยากเล่นต้องจ่ายเงิน จ่ายเงินในที่นี้คือ ยังเตะตะกร้อไม่เป็น แต่อยากลงสนาม พอไปนั่งเฝ้ารุ่นพี่เล่นที่สนามตอนเย็นๆ ด้วยความเป็นเด็กก็ไม่รู้จะทำยังไง เลยตัดสินใจไปซื้อน้ำขวดราคา 6 บาทมาให้พี่ๆเขา เพื่อแลกกับการได้ลงไปยืนในสนาม แม้ว่าจะยังเล่นไม่เป็นก็ตาม"

 

จากวันที่เดาะตะกร้อไม่ได้ เด็กน้อยที่เรียนอยู่โรงเรียนบ้านเชี่ยวเฟื่อง อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ได้รับโอกาสจากครูตะกร้อคนแรกในชีวิต อย่าง อ.วิรัตน์ คงจำเนียร ที่เห็นอยากจะเล่น อยากจะเก่ง จนเป็นโอกาสของ ด.ช.สิทธิพงศ์ คำจันทร์ กับกีฬาตะกร้อ

 

"ตอนนั้นผมก็ฝึกทุกเย็น แต่ยังไม่เก่งเท่าไหร่ จำได้ว่าตอนนั้นแค่เตะข้ามตาข่ายก็ถือว่าสุดยอดแล้ว แต่ด้วยความที่เล่นได้แค่นั้น ไปแข่งกับโรงเรียนอื่นๆก็ไม่ชนะใคร แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ผมตั้งใจแล้วว่า จะต้องเล่นตะกร้อเก่งให้ได้"

 

"หลังจากจบป.6 ผมก็ไปเรียนต่อที่ รร.มัธยมวิภาวดี แต่การที่ไม่ได้เน้นพื้นฐานมาตั้งแต่ประถม พอมาเรียนมัธยมเราก็ไปเน้นที่การเล่นแบบลงสนามอย่างเดียว จำได้ว่าตอนเช้าก่อนเข้าแถว ผมและเพื่อนๆก็เตะตะกร้อกันแล้ว เตะทั้งชุดนักเรียนเลย ตอนนั้นรู้อย่างเดียวว่ามันสนุก เราอยากเล่น เราอยากเก่ง และในช่วงม.ต้นผมก็เริ่มเอาชนะโรงเรียนอื่นๆในละแวกนั้นได้บ้างแล้ว มันเลยยิ่งจุดไฟของเรากับกีฬาตะกร้อเข้าไปอีก"

 

 

 

แขนหัก

 

ถ้าบอกว่าเตะตะกร้อแล้วแขนหัก ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ ถ้าเป็นนักตะกร้อในตำแหน่งตัวฟาด แต่กับตำแหน่งตัวเสิร์ฟ ที่ไม่ได้ใช้ความโลดโผนกลางอากาศ กลับกลายเป็นว่า สิทธิพงศ์ คำจันทร์ เริ่มต้นได้ไม่ดีเท่าไหร่กับการเล่นตะกร้อในวัยเด็ก

 

"ครั้งแรกในชีวิตกับกีฬาระดับประเทศ นั่นคือกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ที่ สุราษฎร์ธานี บ้านผมได้เป็นเจ้าภาพ ตอนนั้นเขาก็ดึงนักกีฬาฝีมือดีเพื่อมาเล่น จำได้ว่านักตะกร้อเด็กสุราษฎร์ ที่ไปเรียนที่ รร.สวนกุหลาบ ซึ่งเป็นโรงเรียนดังของกีฬาตะกร้อ เขากลับมาเล่น แล้วเราได้โอกาสไปร่วมทีมด้วย ตอนนั้นดีใจมาก เพราะถ้าเทียบดีกรีแล้ว เราก็เป็นแค่ทีมโรงเรียนในระดับจังหวัดแค่นั้นเอง" 

 

"วินาทีที่ผมเดินลงสนาม ตื่นเต้นมาก คนดูตอนนั้นเขาก็จับจ้องมาที่เรา เพราะสรีระตอนนั้นก็สูงยาว แต่ไม่กี่วินาทีถัดมามันกลายเป็นฝันร้ายไปเลย ลูกแรก แต้มแรก กับการจะได้ยกขาเสิร์ฟครั้งแรกให้กับทีมบ้านเกิดในเวทีกีฬาระดับเยาวชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ หลังจากยกขาเสิร์ฟไป รู้สึกตัวอีกทีคือเพื่อนบอกผมว่าแขนหัก"

 

"ตอนนั้นคือจำได้ว่าเพื่อนโยนตะกร้อให้เสิร์ฟไม่เข้าจุดเท่าไหร่ เราเลยเสียหลักตอนเสิร์ฟ แล้วล้มทับแขนตัวเอง นั่งรถพยาบาลไปหาหมอ หมอบอกว่าแขนมันผิดรูป ในหัวตอนนั้นมันมึนงงไปหมด ทั้งห่วงทีมที่กำลังแข่ง และกังวลกับอาการบาดเจ็บของเราด้วย"

 

แม้ว่า “แขนหัก” แม้จะเป็นเรื่องแย่ๆ แต่นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตเลยทีเดียว.. เมื่อแขนหักและต้องพักรักษาตัวถึง 5 เดือน และสิ่งที่หมอกำชับกับ สิทธิพงษ์ คือต้องดื่มนมเสริมแคลเซี่ยมเยอะๆ รวมไปถึงการได้กินปลากะตักในทุกๆวันเพื่อเสริมแคลเซี่ยมให้กับร่างกาย จากส่วนสูง 175 เซนติเมตรเมื่อตอนอายุ 15 ปี ความสูงของเจ้าตัวพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและในปัจจุบันเจ้าตัวสูง 192 เซนติเมตร ...

 

และด้วยสรีระความสูงที่เจ้าตัวพัฒนาขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด ก็ทำให้ลูกเสิร์ฟแบบฉบับแดนสะตอ ทวีความรุนแรงมากขึ้น จนทำให้ชื่อของ สิทธิพงษ์ คำจันทร์ 

เข้ามาสู่วงการตะกร้อระดับประเทศ .. เริ่มจากการคว้าแชมป์ตะกร้อชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ด้วยการคว่ำนักตะกร้อรุ่นพี่ดีกรีทีมชาติ 

เมื่อตอนเรียนอยู่ชั้นม.5 จนจนเป็นใบเบิกทางสู่การติดยศจ่าอากาศตรี ในรั้วทหารอากาศ ..

 

"ตอนนั้นถ้าเอาฟอร์มเสิร์ฟผมถือว่ากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นด้วยความที่สรีระมันดีขึ้น และความอยากเล่น ตอนนั้นลงแข่งก็ไม่ชนะใครเพราะเจอแต่ของจริง แต่ถ้านับเฉพาะเกมเสิร์ฟก็ถือว่ามั่นใจ พร้อมสู้กับทุกคน แม้ว่าผลงานของทีมจะตกรอบแรก แต่ก็ยังไปเข้าตาสโมสรทหารอากาศที่ติดต่อมา"

 

"ตอนนั้นผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล แต่การไปอยู่กับสโมสรทหารอากาศก็ทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น ว่าการเล่นตะกร้อไม่ใช่แค่ลงไปเสิร์ฟอย่างเดียว มันมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก และได้โค้ชวีระ วรวิเศษ รวมถึงการได้ซ้อมกับพวกพี่ๆในค่ายทหารอากาศทำให้ผมได้พัฒนาตัวเองขึ้นมามากขึ้น"

 

"ในช่วงวัย 17-18 ปี ถือว่าผมอยู่ได้ก้าวไปอีกหนึ่งขั้นกับกีฬาตะกร้อ ทั้งการได้แชมป์ในรายการชิงแชมป์ประเทศไทย การได้แชมป์ตะกร้อไทยแลนด์ลีกแบบไม่แพ้ใครทั้งฤดูกาลกับสโมสรตะกร้อม.กรุงเทพธนฯ รวมถึงเป็นหนึ่งในขุนพลเยาวชนทีมชาติไทย ซึ่งน้อยคนนักที่จะประสบความสำเร็จในช่วงวัย ม.ปลาย"

 

 

แพ้ตั้งแต่เริ่ม

 

หลังจากเจ้าหนุ่มวัย 18 ปี จากสุราษฎร์ธานี เดินหน้าล่าความสำเร็จมามากมาย ชื่อของ สิทธิพงศ์ คำจันทร์ ก็ปรากฏในการประกาศรายชื่อเรียกเก็บตัวทีมชาติไทย และเหมือนว่าโอกาสก็มารอให้เจ้าตัวได้พิสูจน์ทันที เพราะเข้าไปในแคมป์ไม่กี่เดือนก็ได้โอกาสไปแข่งขันในนามทีมชาติทันที แต่ก็เป็นอีกครั้งที่จุดเริ่มต้นบทใหม่ของเขาไม่สวยงามเหมือนช่วงวัยมัธยมจากที่เคยแขนหักตั้งแต่เริ่มแต้มแรก การนับหนึ่งในนามทีมชาติไทยของเขา คือการตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายไปแบบช็อคโลก

 

"หลังจากเก็บตัวได้ไม่นานผมก็มีชื่อไปแข่งตะกร้อซูเปอร์ ซี่รีย์ ที่ อินเดีย ในปี 2013 ตอนนั้นมีรุ่นพี่ทั้ง พี่บี อนุวัฒน์ ชัยชนะ , พี่โน๊ต ภัทรพงษ์ ยุพดี , พี่เอกซ์ ศุภชัย มณีนาท และ พี่ท๊อป รัถเดช น้อยเจริญ"

 

"แมทซ์นั้นผมลงสนามในรอบ 8 ทีมสุดท้ายเจอกับเกาหลีใต้ ตอนนั้นผมว่าผมมั่นใจมากเกินไป มีความกระหายที่อยากเล่นมากๆ แต่อีกมุมนึงก็มีความกดดันที่เรามาแล้วแพ้ไม่ได้ เพราะรุ่นพี่คนอื่นๆเขาไม่เคยแพ้ในรายการนี้เลย ในเกมส์เสิร์ฟผมทำได้ดีมาก แต่เกมส์รับกลายเป็นจุดอ่อนของทีม เพราะเกมส์รับผมตอนนั้นทำได้ไม่ได้ เลยทำให้พวกพี่ๆเล่นยากไปด้วย"

 

"หลังจากแพ้เซตแรกผ่านไป ต่อด้วยเซตที่สอง ตอนนั้นเราเริ่มคิดแล้วว่าจะเอายังไงดี เพราะโค้ชก็ยังตะโกนบอกว่าเค้นฟอร์มออกมาให้ได้ แต่สุดท้ายผมก็ยังเล่นไม่ออกจนแพ้ไป"

 

"ผมบอกกับพี่บี อนุวัฒน์ ว่าผมไม่อยากกลับประเทศไทยแล้ว ผมกลัว ความกลัวมันเข้ามาในหัวสารพัด กลัวโดนด่า เพราะไทยไม่เคยแพ้ในรายการนี้ ตอนนั้นคิดในใจว่าเส้นทางของเรากับทีมชาติไทยมันจบแล้ว คงไม่ได้โอกาสหลังจากนี้แล้ว"

 

 

คว้าโอกาสไม่พลาด

 

แม้จะกลับประเทศไทยด้วยความปราชัย แต่บรรยากาศในแค้มป์เก็บตัวทีมชาติไทยก็ยังคงมุ่งมั่นต่อไป เพราะมีรายการใหญ่อย่างศึกตะกร้อชิงแชมป์โลก คิงส์คัพ รออยู่ การทำงานหนักขึ้นในสนามฝึกซ้อม คือ สัญญาณที่ สิทธิพงศ์ รู้ได้เองว่า เขายังได้รับโอกาสต่อไป

 

"ตอนนั้นกลับมาผมซ้อมเกมส์รับหนักมาก เพื่อลบจุดอ่อนของตัวเอง และสุดท้ายผมมีชื่อเป็น 1 ใน 12 คนสุดท้ายที่ได้ไปลุยศึกคิงส์คัพ ในตอนนั้นผมรู้แล้วว่าผมได้รับโอกาสครั้งที่สอง ผมจะต้องคว้ามันไว้ให้ได้และเมื่อคว้าไว้แล้วจะต้องรักษามันไว้ให้นานๆ"

 

"หลังจากผ่านฝันร้ายมา มันเหมือนผมได้ตื่นขึ้นมาเพื่อทำอะไรบางอย่างให้ลืมฝันร้าย การฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อลบจุดอ่อนในเรื่องเกมส์รับ และพัฒนาสภาพจิตใจให้นิ่งขึ้น และการลงสนามในศึกคิงส์คัพครั้งนั้นที่ จ.อุดรธานี สิ่งที่ผมคิดคือ ผมจะต้องผ่านมันไปให้ได้"

 

ชื่อของ สิทธิพงศ์ คำจันทร์ ปรากฏขึ้นทุกครั้งที่ทีมตะกร้อไทยลงสนาม และเขาเองก็ไม่ทำให้ความเชื่อมั่นจากทีมโค้ชตะกร้อไทยผิดหวัง หลังระเบิดฟอร์มเสิร์ฟพาทีมตะกร้อไทยคว้าแชมป์ไปได้อย่างยิ่งใหญ่

 

"หลังจากทำได้สำเร็จ เอาเหรียญทองมาคล้องที่คอ ผมบอกกับตัวเองว่า เราทำได้แล้ว ปลดล็อคได้แล้ว นี่คือจุดเริ่มต้นของผม และผมจะไม่มีวันหยุดพัฒนาตัวเอง เพราะผมเชื่อเสมอว่านักกีฬาที่คิดว่าตัวเองเก่งแล้วจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ คนที่พร้อมจะพัฒนาตัวเองนี่แหละ ที่พร้อมจะเดินหน้าเพื่อตามหาความสำเร็จต่อไป"

 

แชมป์ซีเกมส์ 4 สมัย แชมป์เอเชี่ยนเกมส์ 2 สมัย คือผลงานของ "ยาวปืนใหญ่" จากเด็กน้อยที่เริ่มต้นด้วยการต้องซื้อน้ำให้รุ่นพี่เพื่อแลกกับการลงไปยืนในสนาม การประเดิมสนามในเวทีระดับชาติกับการแขนหัก การเล่นทีมชาติครั้งแรกแล้วแพ้ ความผิดหวังเหล่านี้ คือ สิ่งที่หล่อหลอมให้เขาเองก้าวผ่านทุกอุปสรรคจนกลายมาเป็นตัวเสิร์ฟที่ดีที่สุดในยุคนี้


stadium

author

ศิรกานต์ ผาเจริญ

StadiumTH Content Creator // ผู้ก่อตั้งเพจสนามตะกร้อ

La Vie en Rose