27 พฤษภาคม 2564
มีแฟนคอลัมน์บางส่วนอินบ็อคถามผมเข้ามาว่าเกมที่น่าหนักใจและสำคัญมากที่สุดจากทั้งสามนัดของไทยในมุมมองของผมมันคือเกมไหน? แล้วทำไมผมจึงคิดแบบนั้น?
“ก็เกมแรกกับอินโดฯไง!” ผมตอบกลับทันทีแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะอย่างที่เคยบอกว่าความยากง่ายมันก็เห็นๆกันอยู่แล้ว ทั้งบอลเปลี่ยนโค้ช, คู่ต่อสู้ที่มาในแบบโฉมใหม่ที่เราแทบจะไม่รู้อะไรเขาเลยด้วยซ้ำและไหนจะความกดดันเมื่อเทียบกันกับคู่ต่อสู้ที่พวกเขาจะลงเล่นด้วยชุดความคิดที่ว่าแพ้คือเสมอตัวแต่ถ้ามีแต้มได้คือโบนัส ทั้งหมดที่ว่ามาบ่งบอกได้เป็นอย่างดีถึงระดับความยาก
มองในด้านความสำคัญก็เช่นกันเกมกับอินโดฯนี่แหละสำคัญที่สุด คิดกันง่ายๆหากไทยได้สามแต้มจากในเกมนี้ เราจะโดดขึ้นจ่าฝูงทันที(ในกรณีที่มาเลย์ผีไม่เข้าเอาชนะยูเออีได้นะ) แต่ในทางกลับกันหากมันไม่ใช่สามแต้มก็อาจพูดได้ว่าน่าจะ “เรียบร้อย..ช้อยเก็บฉาก”
ผมแอบรู้สึกชื่นชมการทำงานของสมาคมฟุตบอลบ้านเราและรวมไปถึงทีมงานสต๊าฟโค้ชชุดนี้สำหรับการหาทีมมาลับแข้งก่อนแข่ง เพราะการเลือกคู่แข่งมาลับแข้งให้ทีมชาติของเราในหนนี้ดูจะเป็นไรที่ตอบโจทย์อย่างมากทั้งตารางเวลา, ชื่อชั้นและประโยชน์ที่จะได้รับ
อุ่นเครื่องกับโอมานหลังจากเหยียบแผ่นดินอาหรับไม่กี่วันเพื่อเรียกฟิตบวกได้ดูนักเตะให้ครบแล้วค่อยย่อสโคปให้เล็กลงจากเกมทางการกับทาจิกิสถานซึ่งรายหลังมีอะไรหลายๆอย่างค่อนข้างคล้ายกันมากกับสิ่งที่ไทยจะได้เจอในแมตช์แรก
“ใช่ครับ” ผมกำลังจะบอกว่าทาจิกิสถานมีความคล้ายกันกับอินโดฯอยู่หลายส่วนเหมือนกัน
แม้เกรดบอลจะเทียบกันไม่ได้ถ้าว่ากันในด้านแรงกิ้ง แต่ถ้าพูดถึงโครงสร้างและระบบทีมมันก็มี 1-2 อย่างที่ทั้งสองทีมต่างมีเหมือนๆกัน
อย่างแรกเลยคือเรื่องอายุเฉลี่ยของนักเตะและสไตล์การเล่นแบบ “วิ่ง-สู้-ฟัด” ที่เหมือนกัน
อย่างที่เรารู้กันว่าทัพการูด้าของชิน แท ยองหนนี้เดินทางมายูเออีด้วยขุมกำลังที่ถือเป็นพวกดาวรุ่งเกือบยกทีม โดยทีมการูด้ามีค่าเฉลี่ยด้านอายุเพียงแค่ 21ปี เศษเท่านั้นไม่ต่างจากทีมชาติทาจิกิสถานที่คัดบอลโลกหนนี้พวกเขาก็ใช้นักเตะรุ่นๆเป็นแกนหลักโดยมีค่าเฉลี่ยด้านอายุอยู่ที่ 23 ปีเช่นกัน
แถมด้วยอุปนิสัยส่วนตัวของโค้ชทั้งสองคนอย่างชิน แท ยองและอุสมอน โทเซฟที่เน้นทำทีมโดยเน้นด้านพละกำลัง, ความฟิตและสปรีดของเกม ค่อนข้างแน่นอนว่าระบบวิ่งสู้ฟัดและการเคลื่อนที่เร็วจะถือเป็นหัวใจหลัก(เห็นได้จากสัดส่วนในการเรียกนักเตะในแต่ละตำแหน่งของโค้ชทั้งสองทีม, บทสัมภาษณ์ของชิน แท ยองทั้งช่วงเตรียมทีมฝึกซ้อมและก่อนเดินทางมาแข่ง และเทปการแข่งขันของทีมทาจิกิสถานเอง)
อย่างที่สอง คือ ระบบการเล่นที่เหมือนกัน
4-4-2 ดับเบิ้ลซิกส์ หรือที่กูรูฟุตบอลชอบพูดกันจนติดปากว่า “4-4-2 คอมแพ็ค” คือผังการเล่นที่เคยสร้างชื่อให้ชิน แท ยองกับเกาหลีใต้ในบอลโลกที่ผ่านมา ในขณะที่ทาจิกิสถานของโค้ชโทเซฟ แม้เจ้าตัวจะถนัดทำทีมโดยเน้นเกมรับด้วระบบที่ตัวเองถนัดอย่าง 5-3-2 แต่ในเกมที่พวกเขาต้องการชัยชนะและกับคู่ต่อสู้ที่เกรดบอลไม่ได้สูงกว่า โค้ชโทเซฟก็มักหันมาใช้ 4-4-2 ดับเบิ้ลซิกส์นี้เหมือนกัน(3จาก5เกมย้อนหลังใช้ระบบนี้มาทั้งนั้น)
และด้วยความที่ว่าทั้งอินโดฯและทาจิกิสถานมีทรัพยากรนักเตะในตำแหน่งปีกและวิงแบ็คค่อนข้างมาก หลายคนยังมีประสบการ์ณค้าแข้งกับสโมสรยังต่างแดนเสียด้วย ดังนั้นมันจึงเป็นที่มาของแผนการเล่นที่เน้นการจ่ายบอลเข้าทำจากด้านข้างโดยชูเรื่องการแพ็คเกมตรงกลางให้แน่นด้วยการยืนตำแหน่งของกองกลางตัวรับถึงสองคนเพื่อให้คู่ต่อสู้เจาะได้ลำบาก
เพียงแต่บอลทาจิกิสถานค่อนข้างอันตรายกว่าอินโดฯในแง่ของความเฉียบคมและด้านสรีระร่างกายที่ทีมจากเอเชียกลางขี่อิเหนาแบบไม่เห็นไฟท้าย แถมในแง่ของความเจนจัดในบอลแบบ “เปิดออกข้างแล้วโยนเข้ากลาง” นักเตะทาจิกิสถานก็เล่นด้วยสไตล์แบบนี้มานานหลายปีผิดกับอินโดฯที่พึ่งจะมาเน้นแบบ “จัดเต็ม” ก็ในยุคของชิน แท ยองนี่เอง
ผมคิดว่าเกมอุ่นเครื่องกับทาจิกิสถานจะให้ประโยชน์ทีมเราค่อนข้างมากเลยล่ะ เผลอๆดีไม่ดีอาจถือเป็นแบบจำลองเกมระหว่างไทยกับอินโดฯแบบถอดมาทั้งดุ้น ซึ่งถ้าหากไทยเราสามารถผ่านทาจิกิสถานไปได้ ผมว่าเกมกับอินโดฯก็ไม่น่าจะมีอะไรให้น่าหนักใจ
“ส่งใจช่วย และฝากใจไปแข่ง”
เก้าแต้มกลับบ้านฝากคนไทย ไม่มีใครว่ามันเป็นไปไม่ได้!
TAG ที่เกี่ยวข้อง