stadium

ผ่าฟอร์ม ‘โต๊ะเล็กช้างศึกไทย’ สร้างประวัติศาสตร์คว้าตั๋ว ฟุตซอลโลก 6 สมัยติด

26 พฤษภาคม 2564

ผ่าฟอร์ม ‘โต๊ะเล็กช้างศึกไทย’ หลังสร้างประวัติศาสตร์เข้ารอบ ฟุตซอลโลก 6 สมัยติด

 

ในที่สุดขุนพลโต๊ะเล็กช้างศึก ทีมฟุตซอลทีมชาติไทย ก็ไม่ทำให้แฟนชาวไทย ต้องผิดหวัง หลังเดินหน้าสอนเชิง ทีมชาติอิรัก สองเกมติด ชนะไปด้วยสกอร์รวม 11-2 คว้าตั๋วไปลุยศึก "ฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2021" ที่ประเทศลิทัวเนีย ได้สำเร็จ  

 

ซึ่งถือเป็นการคว้าสิทธิ์ลุย ฟีฟ่า ฟุตซอล เวิลด์คัพ รอบสุดท้าย สมัยที่ 6 ติดต่อกัน ของ ทีมฟุตซอลไทย นับตั้งแต่ปี 2000, 2004, 2008, 2012, 2016 และล่าสุดปี 2021 โดยผลงานที่ดีที่สุดของ โต๊ะเล็กช้างศึก บนเวทีโลก คือผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย ได้สองครั้ง ปี 2012 กับ 2016  

 

วันนี้เราจะพาแฟนฟุตซอลไทย ผ่าฟอร์ม ‘โต๊ะเล็กช้างศึกไทย’ หลังสร้างประวัติศาสตร์เข้ารอบ ฟุตซอลโลก 6 สมัยติด ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง และนักเตะแต่ละคนตัดเกรดแล้วอยู่ในเกณฑ์ไหน ไปดูกันเลย  

 

ผลงานโดยรวม : สอบผ่าน  
 

ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ ทีมฟุตซอลไทย ที่ว่ากันตามตรงไม่มีเกมระดับนานาชาติให้เล่นมานานเกือบ 1 ปี แต่ด้วยฝีมือของ โฆเซ่ มาเรีย ปาซอส เมนเดส  “ปูลปิส” ที่ปรับจูนทัพโต๊ะเล็กช้างศึก จนลงตัว เอานักเตะแกนหลักตัวเก๋า ผสมผสานกับแข้งสายเลือดใหม่ ได้แบบลงตัว แม้จะขาด "เทพอาร์ม" ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง ไปก็ตาม  

 

การถล่มชนะ อิรัก สองเกมติด 7-2, 4-0 คว้าตั๋วไปลุยฟุตซอลโลก สมัยที่ 6 ติดต่อกัน ทำให้เห็นว่า ทีมฟุตซอลไทย มีตัวเลือกนักเตะที่หลากหลาย ทั้ง 14 คนที่เรียกสามารถทดแทนกันได้แบบเนียนตา หากรักษาฟอร์มที่ดีแบบนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ โอกาสกลับไปติด 1-10 ของโลก ก็อยู่ไม่ไกล  

ตัดเกรดทีมฟุตซอลทีมชาติไทย

 

ผู้รักษาประตู : คฑาวุธ หาญคำภา, คณิศร ภู่พันธ์ (8.5/10)

 

เริ่มกันที่ตำแหน่งผู้รักษาประตู ซึ่งทั้ง คฑาวุธ หาญคำภา, คณิศร ภู่พันธ์ ต่างได้รับโอกาสลงเล่นกันคนละเกม และทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจ เกมแรกที่ "เจ้าอ้วน" คณิศร ภู่พันธ์ ลงเฝ้าเสาโชว์ฟอร์มเซฟสวยๆ ไปหลายครั้ง และเติมเกมออกมาเล่นลูกเท้าได้ดี ส่วน 2 ประตู ที่เสียไป เกิดจากความผิดพลาดของเกมรับจนโดนสวนกลับเร็ว ก็สุดปัญญาจะป้องกันจริงๆ  

 

ส่วนในรายของ "ท็อป" คฑาวุธ หาญคำภา ที่ลงเล่นในเกมที่สอง ถือว่าครบเครื่อง ทั้งจังหวะเซฟสำคัญ และเติมเกมขึ้นเป็นไปผู้เล่นคนที่ห้า มีโอกาสส่องไกลได้ลุ้นประตูด้วย แต่อาจจะมีจังหวะออกบอลอยู่บางที่ยังไม่แม่นยำ ฟอร์มโดยรวมถือว่าสอบผ่านด้วยกันทั้งคู่  

 

ตัวรับ : ชัยวัฒน์ แจ่มกระจ่าง, รณชัย จูงวงษ์สุข, กฤษดา วงษ์แก้ว (9/10)

 

ตำแหน่งตัวรับถือเป็นจุดแข็งของทีมชาติไทย ในเกมเอาชนะ อิรัก ทั้งสองนัด โดยเฉพาะ "กัปตันช้าง" กฤษดา วงษ์แก้ว ที่ทำผลงานสุดโหดยิงไป 4 ประตู กับ 2 แอสซิสต์ พร้อมบัญชาเกมรุกเกมรับได้แบบเนียนตา แม้อายุจะเข้าสู่วัย 33 ปีแล้ว แต่ยังมีคลาสบอลที่ยอดเยี่ยมไม่ต่างจากเดิมเลย  

 

ส่วนในรายของ ชัยวัฒน์ แจ่มกระจ่าง กับ รณชัย จูงวงษ์สุข ที่ได้โอกาสลงมาเล่นในชุดที่สอง และสาม ก็ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีเช่นกัน ชัยวัฒน์ แจ่มกระจ่าง เล่นนิ่งตีบอลแม่นยำ ออกบอลง่าย ส่วน รณชัย จูงวงษ์สุข ทำได้ดีเกินวัย เติมเกมรุกขึ้นไปลุ้นประตูสวยๆ ได้หลายครั้ง  

ริมเส้น : จิรวัฒน์ สอนวิเชียร, ณัฐวุฒิ หมัดยะลาน, อภิวัฒน์ แจ่มเจริญ, พรมงคล ศรีทรัพย์แสง, วรุฒ หวังสะมาแอล, นาวิน รัตนวงศ์สวัสดิ์ (8.5/10)

 

เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของทีมชาติไทย กับการขึ้นเกมรุกริมเส้น โดยใช้ความสามารถเฉพาะตัวและความรวดเร็วเล่นงานใส่คู่แข่ง ในชุดแรก จิรวัฒน์ สอนวิเชียร กับ ณัฐวุฒิ หมัดยะลาน เล่นได้แบบไหลลื่น โดยเฉพาะลูกเก๋าเกม ดึงจังหวะช้าสลับเร็ว ทำให้คู่แข่งที่ตามประกบปวดหัวไปตามๆ กัน  

 

ส่วนที่เหลืออย่าง อภิวัฒน์ แจ่มเจริญ, พรมงคล ศรีทรัพย์แสง, วรุฒ หวังสะมาแอล, นาวิน รัตนวงศ์สวัสดิ์ ได้โอกาสลงสนามในชุดที่สอง และสาม เมื่อ ปูลปิส ให้โอกาสลงไปเล่น ก็ทำผลงานได้เนียนตา จ่ายบอล ต่อบอลกันแบบไหลลื่น ไปกับบอลได้เยี่ยม จนสุดท้ายพาทีมชาติไทย คว้าชัยกลับมาฝากพี่น้องชาวไทย ได้สำเร็จ  

 

หน้าเป้า : เจษฎา ชูเดช, มูฮัมหมัด อุสมานมูซา, วรศักดิ์ ศรีหรั่งไพโรจน์ (9/10)

 

ถือเป็นรายการที่แจ้งเกิดของ มูฮัมหมัด อุสมานมูซา อย่างแท้จริง หลังได้รับโอกาสออกสตาร์ทเป็นผู้เล่นชุดแรก ผสานงานกับแข้งรุ่นพี่ ซึ่งเจ้าตัวทำได้อย่างลงตัว ทั้งจังหวะเก็บบอล จ่ายบอล และจบสกอร์ได้ดี มีชื่อบนสกอร์บอร์ดทั้งสองเกม (เกมละ 1 ประตู) ถือว่าดาวยิงลูกครึ่ง กาน่า-ไทย สอบผ่านแบบไม่ต้องสงสัย  

 

ส่วนในรายของ เจษฎา ชูเดช ดาวยิงตัวเก๋าเป็นแกนหลักในชุดที่สอง เมื่อได้ลงสนามสามารถสร้างความแต่ต่างในเกมรุกแบบชัดเจน โดยเฉพาะจังหวะจบสกอร์ที่ยังทำได้อย่างเด็ดขาด(ยิงสองเกมติด) ขณะที่ วรศักดิ์ ศรีหรั่งไพโรจน์ โอกาสลงเล่นอาจจะน้อยกว่าทั้งสองคน แต่เมื่อถูกส่งลงสนามเมื่อไหร่ เจ้าตัวเปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น วิ่งไม่มีหมด บวกกับร่างกายที่แข็งแกร่งปะทะกับแข้งอิรัก แบบไม่มียุบ ถือว่าทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีเลยทีเดียว

 

สำหรับ 24 ชาติ ที่จะร่วมแข่งขันในศึก "ฟีฟ่า ฟุตซอล เวิลด์คัพ 2021" หรือ ฟุตซอลชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 9 ที่ประเทศลิทัวเนีย ระหว่างวันที่ 12 ก.ย. - 3 ต.ค. 2564 ประกอบด้วย

 

ยุโรป 7 ชาติ : ลิทัวเนีย (เจ้าภาพ), คาซัคสถาน (ปี 2016 เข้ารอบ 16 ทีม), โปรตุเกส (อันดับ 3 ปี 2000), รัสเซีย (รองแชมป์โลก 2016), สเปน (แชมป์โลก 2 สมัย ปี 2000 และ ปี 2004 ), เชกฯ (ปี 2012 เข้ารอบ 16 ทีม), เซอร์เบีย (ปี 2012 เข้ารอบ 16 ทีม)

 

โอเชียเนีย 1 ชาติ : หมู่เกาะโซโลม่อน (รอบแบ่งกลุ่ม 3 สมัย ปี 2008, ปี 2012 และ ปี 2016)

 

อเมริกาใต้ 4 ชาติ : อาร์เจนติน่า (แชมป์โลก 2016), บราซิล (แชมป์โลก 5 สมัย ปี 1989, ปี 1992, ปี 1996, ปี 2008, ปี 2012), ปารากวัย (ปี 2016 เข้ารอบ 8 ทีม), เวเนเซูเอล่า (ปี 2021 สมัยแรก)

 

คอนคาเคฟ 4 ชาติ : คอสตาริกา (ปี 2016 เข้ารอบ 16 ทีม) , กัวเตมาลา (รอบแบ่งกลุ่ม 4 สมัย ปี 2000 , ปี 2008 , ปี 2012 และปี 2016) , ปานามา (ปี 2012 เข้ารอบ 16 ทีม) , สหรัฐอเมริกา (รองแชมป์โลก 1992)  

 

แอฟริกา 3 ชาติ : แองโกล่า (ปี 2021 สมัยแรก) , อียิปต์ (ปี 2016 เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย) , โมร็อคโก (รอบแบ่งกลุ่ม ทั้งปี 2012 และปี 2016)  

 

เอเชีย 5 ชาติ : อิหร่าน (อันดับ 3 ปี 2016) , ญี่ปุ่น (ปี 2016 ไม่ผ่านรอบคัดเลือก) , อุซเบกิสถาน (ปี 2016 ไปเล่นฟุตซอลโลกสมัยแรก) , ไทย (ผลงานที่ดีที่สุดคือ รอบ 16 ทีมสุดท้าย ปี 2016), เวียดนาม ( รอบ 16 ทีมสุดท้าย ปี 2016)


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

Futsal Addict

Changsuek Content Creator

โฆษณา