16 มกราคม 2563
ใน โอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อน ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพในปีนี้ กีฬาปีนหน้าผาจะถูกบรรจุเอาไว้ในการแข่งขันเป็นครั้งแรก ซึ่งกีฬาชนิดนี้เป็นกีฬาที่ต้องใช้ความแข็งแกร่งขั้นสูงสุดจากส่วนที่เล็กที่สุดของร่างกายมนุษย์ นั่นก็คือปลายนิ้วมือ โดยนักกีฬาใช้ได้แค่มือเปล่าและรองเท้าปีนหน้าผาเท่านั้นในการท้าทายกับการไต่ระดับหน้าผาอันสูงชัน อย่างไรก็ตาม สำหรับ ชีวานี ชารัก สาวน้อยวัย 18 ปีชาวอินเดียแล้ว กีฬาปีนหน้าผา เป็นเหมือนดั่งคำอุปมาเปรียบเทียบกับชีวิตที่ผ่านมาของเธอ
"ในตอนที่ชั้นถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง มันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะเชื่อว่าตัวเองจะกลายเป็นนักกีฬาโอลิมปิกในเวลาต่อมา ฉันไม่สามารถดื่มน้ำหรือทานอาหารเต็มปากได้โดยไม่อาเจียนออกมาแม้แต่ครั้งเดียว ฉันไม่สามารถเคลื่อนที่ไปไหนได้ และต้องอาศัยพ่อแม่ในการอุ้มไปที่ห้องน้ำ มันช่างเป็นช่วงเวลาที่เลวร้าย"
บทพิสูจน์แห่งชีวิต
ชารัก เกิดและเติบโตในเมืองจัมมู โดยมีพี่น้องอีก 3 คน เธอเริ่มต้นเล่นกีฬาจากการเรียนเทควันโดที่โรงเรียนแต่ไม่ได้จริงจังมากนัก และในปี 2009 เมื่อ ชารัก อายุได้ 9 ขวบ เธอก็ต้องเจอวิบากกรรมในชีวิต
"ฉันจำได้ว่ามันเป็นวันปีใหม่รวมทั้งเป็นวันเกิดของลูกพี่ลูกน้อง ทุกคนกำลังเฉลิมฉลองแต่ฉันรู้สึกปวดท้องซึ่งมันมากกว่าปกติเป็น 2 เท่า พอพี่สาวมาเห็นฉันร้องไห้เธอก็ไปบอกพ่อแม่ทันที พวกเขาพาฉันไปหาหมอ และพ่อก็บังคับให้หมอทำอัลตราซาวน์ จากนั้นฉันก็ถูกพาไปจัณฑีครห์เพื่อตรวจเพิ่มเติม ก่อนจะได้รับการยืนยันว่าเป็นมะเร็งรังไข่ ซึ่งฉันได้เริ่มต้นการรักษาทันที" ชารัก ย้อนความหลังที่นับเป็นบททดสอบสำหรับครอบครัวของเธอ ซึ่งต้องเดินทางไปมาระหว่างจัมมูกับจัณฑีครห์เพื่อพาชารักไปทำเคมีบำบัดอย่างต่อเนื่อง
"หากเธอร้องไห้ต่อหน้าพ่อแม่ พวกท่านก็จะร้องไห้ตามไปด้วย ดังนั้นฉันจึงพยายามทำตัวให้เข้มแข็งเข้าไว้ รอบๆ ตัวฉันในเวลานั้นเต็มไปด้วยเด็กๆ ที่มีอาการป่วย ซึ่งสิ่งเดียวที่ฉันขอพรต่อพระเจ้าในขณะนั้นคืออยากให้พวกเขาหายดี ส่วนตัวฉันเองก็ต้องเจอผลกระทบมากมายระหว่างการรักษา อย่างเช่นภาวะผมหลุดร่วงและผลข้างเคียงอื่นๆ ซึ่งมันนับเป็นช่วงเวลาแห่งความพยายามอย่างแท้จริง"
ชารัก ใช้เวลารักษามะเร็งอยู่ 3 ปี โดยมีครอบครัวและญาติสนิทคอยให้กำลังใจ รวมทั้งให้ความเชื่อมั่นว่าเธอจะหายดี และจะมีอนาคตที่ดีรออยู่ข้างหน้า
"พ่อแม่และญาติๆ คอยกระตุ้นเธออยู่เสมอ พวกเขามักบอกว่าฉันจะหายดีในที่สุด ซึ่งเมื่อมันเป็นเช่นนั้นฉันก็รู้สึกเหมือนตัวเองได้เกิดใหม่อีกครั้ง ดังนั้นฉันจึงต้องการทำอะไรบางอย่างที่จะทำให้พ่อแม่และคนที่คอยช่วยเหลือภูมิใจในตัวฉัน"
ท้าทายกับอุปสรรคในรูปแบบของ "กีฬา"
หลังหายขาดจากโรคมะเร็งในปี 2012 ชารัก ก็ให้ความสนใจที่จะเล่นกีฬาปีนหน้าผาเหมือนอย่างพี่สาวของเธอในวัย 14 ปี โดยช่วงเริ่มแรกเธอถูกเกลี้ยกล่อมให้ล้มเลิกความคิดเนื่องมาจากสุขภาพที่ย่ำแย่ แต่พ่อของเธอบอกว่าจะยอมให้เล่นกีฬาชนิดนี้หากได้รับการอนุญาตจากแพทย์ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากร่างกายของเธอยังอ่อนแอ ทำให้เธอต้องขอความช่วยเหลือจากน้องชายฝาแฝดในการฝึกซ้อม อย่างไรก็ตามชารักใช้เวลาเพียงปีเดียวก็พบว่าตัวเองกลมกลืนกับกีฬาปีนหน้าผาเหมือนกับเล่นมาแล้วหลายปี
แม้จะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว แต่ชารักก็เลือกที่จะเพิ่มขีดความสามารถของตัวเองอย่างช้าๆ แต่มั่นคง เธอเริ่มที่จะคว้าแชมป์ในการแข่งขันระดับท้องถิ่น ก่อนที่จะก้าวไปคว้าแชมป์ระดับประเทศในปี 2015 และเข้าร่วมรายการระดับโลกในปีต่อมา ซึ่งเมื่อมาถึงปี 2018 ชารัก คว้าไปแล้ว 3 เหรียญทอง, 2 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดงจากการแข่งขันระดับประเทศ 9 รายการ ขณะที่มีอายุได้ 16 ปี โดยในปี 2017 ชารัก ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนทีมชาติอินเดียเป็นครั้งแรกในศึกเยาวชนชิงแชมป์เอเชียที่จีน ก่อนจะคว้าอันดับ 9 ของรายการดังกล่าวได้สำเร็จในปีต่อมา และคว้าอันดับ 11 ของประเภท bouldering ในรุ่นทั่วไปหญิงของรายการ เอเชีย คัพ ที่กรุงเทพ ซึ่งความสำเร็จที่ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่องทำให้เธอแทบไม่อยากเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นจริง เมื่อวัดจากสิ่งที่เธอต้องเผชิญมาก่อนหน้านี้
กองทัพให้อะไรมากกว่าที่คุณคิด
แม้ชารักจะสามารถปีนป่ายผ่านอุปสรรคในการแข่งขันจนประสบความสำเร็จ แต่เธอก็เจอเข้ากับการท้าทายอื่นๆ จากภาคพื้นดิน นั่นก็คือที่จัมมูมีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอต่อชารักในการฝึกซ้อม โดยมีกำแพงไว้ใช้ฝึกเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
"มีการเรียกเก็บตัวสำหรับศึกชิงแชมป์เอเชียเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และมันจะเกิดขึ้นเพียง 1 ครั้งต่อปี เราถูกปล่อยให้ซ้อมด้วยตัวเอง นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมฉันเลือกที่จะฝึกซ้อมกับกองทัพเพราะมันช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งทางด้านจิตใจเป็นอย่างมาก" ชารัก เปิดเผยถึงการฝึกซ้อม โดยกิจวัตรประจำวันของเธอ ประกอบไปด้วยการปีนหน้าผา, วิดพื้น และเข้ายิมเสริมสร้างกล้ามเนื้อ
นอกจากเรื่องของสถานที่ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ก่อนหน้านี้ ชารัก ยังพลาดการแข่งขันไปหลายรายการ เนื่องจากขาดการสนับสนุนด้านค่าใช้จ่าย ต้องอาศัยเงินจากครอบครัว แต่ปัจจุบันเธอเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เวลสปัน ซูเปอร์ สปอร์ตวีเมน ที่ให้การช่วยเหลือด้านการเงินแก่นักกีฬาหญิงโดยเฉพาะ
"ฉันได้ลงแข่งและได้เข้าถึงกีฬาชนิดนี้มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังได้เจอกับนักกีฬาคนอื่นๆ ได้เรียนรู้จุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองก็จากการสนับสนุนของพวกเขา" ชารัก พูดถึงกองทุนที่ตัวเองได้รับ
มุ่งสู่โอกาสอันยิ่งใหญ่ โตเกียว 2020
"ฉันตื่นเต้นสุดๆ กับ โตเกียว 2020 มันอยู่ในหัวฉันตลอดเวลา แต่ฉันพยายามนิ่งเข้าไว้ และใช้มันเป็นแรงผลักดัน ตอนอยู่ที่โรงเรียน ฉันได้อ่านเรื่องเกี่ยวกับ โอลิมปิก เกมส์ อยู่เสมอ แต่หนล่าสุด (ริโอ 2016) คือครั้งแรกที่ได้ดูผ่านจอโทรทัศน์ ดังนั้นนี่จะเป็นโอกาสครั้งใหญ่ของฉัน" ชารัก พูดถึงโอกาสที่จะได้เข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ หนแรกในชีวิต
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ชารัก ยังไม่ได้โควต้าไปเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก หลังจากเพิ่งผ่านการลงแข่งในรอบคัดเลือกที่เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงเหลือเพียงรายการ เอเชียน คอนติเนนตัล แชมเปี้ยนชิพส์ ที่เมืองโมริโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ ที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าเด็กสาววัย 18 ปี จะได้ทำตามความฝันของตัวเองหรือไม่ ซึ่งไม่ว่าจะสมหวังหรือผิดหวังก็เชื่อได้เลยว่า ความกระตือรือร้น และจิตวิญญาณที่ไม่ยอมแพ้จะพาให้เธอผ่านพ้นมันไปได้ เนื่องจากยังมีภูเขาอีกมากมายให้เธอได้ปีนข้ามมันไปจนกว่าจะถึงจุดสูงสุด
TAG ที่เกี่ยวข้อง