21 พฤษภาคม 2564
การวิ่งมาราธอนได้สำเร็จแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความพยายาม มุ่งมั่น ตั้งใจ และอดทนต่อความเหนื่อยล้าเป็นระยะเวลานาน การวิ่งแต่ละครั้งในสวนหรือการแข่งขันให้จบนั้นไม่ได้ง่าย แต่เมื่อในช่วงที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด สายวิ่งไม่สามารถออกไปวิ่งที่สวน บนลู่วิ่ง ได้ งานวิ่งล้วนเลื่อนหรือยกเลิกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเนื่องจากเป็นกิจกรรมที่รวมผู้คนจำนวนมากไว้ด้วยกัน ทำให้หลายคนคิดว่าการวิ่ง Long Run ในระยะไกล ไม่ว่าจะเป็น มินิมาราธอน ฮาล์ฟ มาราธอน, มาราธอน หรือแม้แต่ อัลตร้ามาราธอน ดูเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากความจริงในสถานการณ์ขณะนี้
แต่คุณเชื่อมั้ยว่าหากใจคุณรักในการวิ่ง คุณวิ่งที่ไหนก็ได้!
การวิ่งคือการขับเคลื่อนตัวเองไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง คุณต้องรักษาสภาพกายรวมไปถึงสภาพใจตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ แต่เมื่อคุณออกไปข้างนอกไม่ได้ แต่อยากวิ่ง การวิ่งในบ้านหรือพื้นที่สวนของคุณอาจทำให้คุณหายยาก...และไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะมีนักวิ่งจากทั่วโลกทำสำเร็จไปแล้วเยอะมาก มาลองดูตัวอย่างนักวิ่งบ้าพลังที่พิชิตระยะทางโหดตั้งแต่ ฮาล์ฟมาราธอน ไปจนอัลตร้า มาราธอน ภายในบ้านหรือแม้แต่ระเบียงบ้านของตัวเองว่าเขาวิ่งยังไงถึงสำเร็จ
ระเบียงมาราธอน 7 ชั่วโมง
Elisha Nochomovitz ชายฝรั่งเศสวัย 32 ปี พนักงานร้านอาหารที่ต้องพักงาน กักตัวอยู่ในบ้านช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดหนักที่ยุโรปเมื่อเดือนมีนาคม 2020 เขาจึงตัดสินใจเลือกใช้ “ระเบียงบ้าน” ที่มีความยาวเพียง 7เมตร เป็นสถานที่บรรลุภารกิจมาราธอนแทนที่งาน Barcelona Marathon ที่ถูกยกเลิกไป โดนวิ่งวนไปมาประมาณ 3,000 รอบ ใช้เวลา 6 ชั่วโมง 48 นาที เกือบเท่าตัวของสถิติมาราธอนที่เขาทำได้ เพื่อรณรงค์ในกิจกรรมให้กำลังใจหน่วยแพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกคนในการต่อสู้โรคร้ายนี้ ถึงแม้เขาจะพิชิตมาแล้ว 36 มาราธอน แต่มาราธอนระเบียงนี้ถือว่าท้าทายที่สุดตั้งแต่เคยวิ่งมา โดยมีแฟนสาวช่วยเติมเสบียงให้
มาราธอนสวนหลังบ้านระดมทุนช่วยโควิด-19
James Campbell ชาวอังกฤษอดีตนักพุ่งแหลน เลือกวิ่งในสวนหลังบ้านที่ยาวเพียง 6 เมตร เพื่อระดมทุนช่วยเหลือหน่วยแพทย์ที่บ้านเกิดของเขา เขาวิ่งวน 7,000 รอบ เป็นระยะทาง 42.195เมตร เป็นเวลาเกือบ 5 ชั่วโมง สามารถระดมเงินไปได้สูงถึง 18,000 ปอนด์ หรือประมาณแปดแสนหนึ่งพันบาท และได้บริจาคให้เป็นกองทุนช่วยเหลือเกี่ยวกับโควิด-19
Ryan Sandes พิชิต 100 ไมล์ในบ้าน
แค่วิ่งมาราธอนก็ว่าบ้าแล้ว แต่เจ้าพ่อสายอัลตร้าชายแอฟริกาใต้ Ryan Sandes ขอไปให้สุด จัดเต็ม 100ไมล์ (ประมาณ 160.9 กิโลเมตร) ใน 26 ชั่วโมง 27 นาที ในบ้านของตัวเองที่เมืองเคปทาวน์ ในแอฟริกาใต้ ออกสตาร์ทตอน ตี 1.15 น. วิ่งวนลูปในบ้าน ขึ้นบันได ระเบียง ทางเดิน สวน แล้ววนกลับไปใหม่ โดยแวะเติมพลังจากเสบียงที่เตรียมไว้บนโต๊ะกินข้าวเท่านั้น ซึ่งระยะทางรอบนึงแค่ 110 เมตร ทั้งหมด 1,455 รอบ บวกความชันของบันไดที่ขึ้นตั้งแต่ต้นจนจบก็ 4,500 เมตร เท่ากับความสูงครึ่งหนึ่งของภูเขาเอเวเรสต์เลยทีเดียว ซึ่งเขาให้สัมภาษณ์ว่าจริงๆ ไม่ค่อยอินกับการวิ่งในสวนเท่าไร วิ่งในบ้าน ขึ้นบันไดแบบนี้น่าจะทำให้ผมไม่ต้องไปลงเอยที่สวนนะ
“มันหินกว่าที่คิด แต่ผมก็ดีใจที่ทำสำเร็จ”
ดูคลิป >> https://fb.watch/5D7uyOeALH/
No garden, No problem
ที่เมืองหาวโจว ประเทศจีน ในช่วยวิกฤติการณ์แพร่ระบาดรุนแรง Pan Shancu นักวิ่งสามัญชนคนธรรมดา และนักกายภาพบำบัด ตัดสินใจวิ่งมาราธอนภายให้ห้องเช่าไซส์สตูดิโอเล็กๆ ของตัวเอง เป็นระยะทาง 66 กิโลเมตร ในเวลา 6 ชั่วโมง 41 นาที กลายเป็นไวรัลในโลกอินเตอร์เน็ตและมีคนแชร์มากมาย ทำให้หลายคนที่ไม่มีพื้นที่บ้านกว้างขวางหรือสวนให้วิ่งมีกำลังใจในการฟิตร่างกายช่วงโควิด-19 ระบาด สำหรับ Pan การวิ่งเหมือนยาเสพติด หากคุณเว้นวรรคไปนาน คุณจะโหยกระหายถึงมัน แม้ในช่วงแรกๆ จะเวียนหัวเพราะรอบเล็ก แต่พอวิ่งไปสักพักทุกอย่างจะลงตัว โดยหลังจากพิชิตมาราธอนกระฉ่อนโลก เขาก็ยังคงเดินหน้าวิ่งภายในห้องของตัวเองต่อไป ซึ่งมีระยะ 50 กิโลเมตรรอบโต๊ะกายภาพ รอบละ 8 เมตร กินเวลา 4:48:44 ชั่วโมง
อัลตร้ารองเท้าแตะ
นักวิ่งไทยก็ไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก โดยในกลุ่มเฟซบุ๊ค City Run Club เป็นสังคมรวมกลุ่มของนักวิ่งสายอัลตร้า ที่มีกิจกรรมชาเล้นท์วิ่งแข่งกันในบ้านในช่วงที่โควิด-19แพร่ระบาด (ระลอกแรก) แต่ละคนอัพเดทผลการวิ่งที่สูสีคู่ขี้ ไม่มีใครยอมแพ้ใคร หน่ึงในตัวท๊อปคือคุณ เบียร์ สราวุฒิ วลีธรชีพสวัสดิ์ (เฟซบุ๊ค Beer Sarawut) นักวิ่งอัลตร้าวัย 35ปี ที่เปลี่ยนมิติใหม่ให้กับการวิ่งในบ้านโดยใส่รองเท้าสลิปเปอร์เท่านั้น เจ้าตัวบอกว่าใส่รองเท้าวิ่งแล้วพื้นบ้านเลอะ วิ่งเท้าเปล่าก็เริ่มพอง พอใส่สลิปเปอร์มันนุ่ม ลื่น กระชับ วิ่งติดเท้า ไม่ลื่น ที่สำคัญราคาไม่แพงอีกต่างหาก วิ่งไป 55.55 กิโลเมตร ด้วยเวลา 6 ชั่วโมง 11 นาที
โดยสาเหตุหลักที่เลือกวิ่งในบ้านเพราะตอนนั้นที่ทำงานให้ WFH จึงตัดสินใจร่วมกิจกรรมชาเลนจ์เก็บระยะกับเพื่อนในกรุ๊ป ข้อดีปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 แถมวิ่งได้ทั้งวัน ไม่ว่าจะมีแดด มีฝน กลางวันหรือกลางคืน แถมไม่ต้องขอวีซ่าเพื่อออกไปวิ่งนอกบ้าน นอกจากนี้เขายังพิชิต 100 กิโล ในบ้านจากการวิ่ง 5 วันติด คำแนะนำสำหรับนักวิ่งที่อยากลองวิ่งในบ้านให้ตั้งเป้าหมายว่าอยากวิ่งระยะทางเท่าไร หากระยะไม่ไกลให้ใส่สลิปเปอร์ได้ แต่ถ้าอยากวิ่งข้ามคืนเก็บระยะเยอะๆ ให้เตรียมน้ำแข็ง น้ำ ของกินเป็นสเตชั่นไว้ด้วย หากเบื่ออาจเปิดหนัง ฟังเพลง และแบ่งการวิ่งออกเป็นเซ็ต เซ็ตละ 5 กิโลเมตร แล้วหยุดพัก จิบน้ำ จากนั้นค่อยวิ่งต่อ สามารถช่วยคนในครอบครัวมาวิ่งด้วยกันเป็น Family time ได้อีกนะ
เทรลทิพย์ ที่จริงคือบันได
ศักดิ์สิทธิ์ จิตติภัทรชัย อายุ 51 ปี อาศัยอยู่ที่บ้านแถวสวนพุทธมณฑล ตัดสินใจวิ่งในบ้านเพื่อแก้ความเบื่อหน่ายจากการ WFH พร้อมร่วมแข่งเก็บระยะกับเพื่อนๆ เพื่อสร้างจุดมุ่งหมายในการวิ่ง เขาใช้เกือบทุกพื้นที่ในบ้านเป็นสถานที่วิ่ง (ยกเว้นห้องน้ำ ฮา) ซึ่งระยะมาราธอนในห้องนอนก็ทำสำเร็จมาแล้ว แต่ข้อเสียของการวิ่งในบ้านคือจะวิ่งเร็วไม่ได้ เพราะจุดกลับตัวเยอะอาจทำให้บาดเจ็บ ควรใส่รองเท้าจะดีที่สุด เนื่องจากเจ้าตัวเป็นนักวิ่งเทรล เมื่อสถานที่ปิดก็ต้องเทรลทิพย์ที่บันไดที่บ้านแทน ขอแต่งองค์ทรงเครื่องให้ครบประหนึ่งไปข้างนอกเพื่อกระตุ้นและสร้างสีสัน
แม้การวิ่งวนลูปที่เดิมในบ้านอาจดูน่าเบื่อ แต่ข้อดีคืออย่างน้อยคุณปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19แน่นอน และที่สำคัญยังทำให้คุณได้ฝึกสมาธิ เพิ่มความมุ่งมั่น และเมื่อคุณพิชิตมาราธอนในบ้านได้ ไม่มีอะไรที่คุณทำไม่ได้แน่นอน
TAG ที่เกี่ยวข้อง