stadium

เวทีมวยราชดำเนิน มนต์เสน่ห์แห่งตำนานและมิติใหม่ของวงการมวยไทย

21 พฤษภาคม 2564

เวทีมวยราชดำเนิน สนามมวยเก่าแก่ระดับตำนาน ปลายปีนี้กำลังจะมีอายุครบ 76 ปีแล้ว ถ้าเปรียบเป็นช่วงอายุคนก็อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกับคุณปู่คุณย่า วัยที่ผ่านเรื่องราวชีวิตมาอย่างโชกโชน เช่นเดียวกับสนามมวยแห่งนี้ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ มีเรื่องให้เล่าขานมากมาย และถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนมือผู้บริหารมาแล้วถึง 13 รุ่น แต่ความเป็นสุดยอดเวทีมวยอันดับ 1 ของเมืองไทยยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และนี่คือตำนานที่อัดแน่นไปด้วยมนต์เสน่ห์ที่ทำให้เวทีมวยรายดำเนินยังคงยืนหนึ่งตลอดมา

 

 

 

มวยไทยลีก มิติใหม่แห่งวงการมวยไทย

 

เมื่อโลกหมุนอยู่ตลอดเวลา มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวัน มีคน 2 ประเภทเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้ 1. คนที่รู้จักปรับตัวให้ทันกระแสโลก หรือ 2. ผลักดันตัวเองกลายเป็นผู้นำกระแส ซึ่งเวทีมวยราชดำเนินในยุคปัจจุบันภายใต้การนำของ นายจิต เชี่ยวสกุล นายสนามคนที่ 13 มาพร้อมนโยบายที่ต้องการอนุรักษ์มวยไทยและผลักดันมวยไทยให้เป็นที่ยอมรับของชาวต่างมากยิ่งขึ้น

 

ล่าสุดผุดไอเดียใหม่สุดสร้างสรรค์ เป็นครั้งแรกที่จะได้พบกับรายการมวยทัวร์นาเมนท์รูปแบบใหม่ที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ที่จะพลิกโฉมหน้าวงการมวยไทยไปตลอดกาล มาพร้อมกับการรวมตัวกันของนักมวยระดับแถวหน้าทั่วฟ้าเมืองไทย กับสุดยอดโปรโมเตอร์ระดับแถวหน้า บนเวทีมวยอันดับหนึ่งของเมืองไทย

 

ถือเป็นมิติใหม่ของวงการแม่ไม้มวยไทยที่ต้องการให้มวยไทยดูสนุก เข้าถึงง่ายกับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยเพิ่มฐานแฟนมวยและค่านิยมเพิ่มมากขึ้น และยังเป็นการช่วยส่งเสริมอนุรักษ์มวยไทยจะน่าสนใจขนาดไหนติดตามได้ในวันพุธที่ 26 พฤษภาคมนี้ ผ่านทาง www.stadiumth.com

 

 

 

กำเนิดเวทีมวยราชดำเนิน

 

ย้อนกลับไปประมาณ 80 ปีก่อนจะเป็นสนามมวยราชดำเนินในทุกวันนี้ สนามมวยแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นจากการมีรับสั่งโปรดเกล้าให้มวยเป็นกีฬา โดยมี จอมพลป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น น้อมรับพร้อมมอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง โดยมีคำสั่งให้เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2484 กำหนดแล้วเสร็จภายในระยะเวลาหนึ่งปี

 

แต่ทว่าการก่อสร้างจำเป็นต้องหยุดชะงักจากปัญหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดหาวัสดุก่อสร้าง กว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จก็กินเวลาล่วงเลยไปนานถึง 4 ปีเต็ม ก่อนจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2488 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวประชาชนส่วนใหญ่เริ่มให้ความสนใจกับกีฬามวยเป็นอย่างมาก และในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2488 เป็นครั้งแรกที่เวทีมวยแห่งนี้ได้เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเป็นทางการ โดยมีนายปราโมทย์ พึงสุนทร เป็นนายสนามมวยคนแรก และเปิดให้มีการชกแค่วันอาทิตย์วันเดียวเท่านั้น

 

ในระยะแรกยังเป็นเวทีกล้างแจ้งไม่มีหลังคา ทำให้นักมวยและแฟนมวยต่างเจอแดดเจอฝนกันตลอดทั้งปี จนกระทั่งการเข้ามาของ เฉลิม เชี่ยวสกุล นายสนามมวยคนที่ 2 จึงได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพื่อขอจัดสร้างหลังคาคลุมสนามพร้อมต่อเติมอัฒจรรย์คนดูกลายเป็นเวทีมวยมาตรฐานแห่งแรกของประเทศไทยปี 2494 

 

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 7 ปีภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สนามมวยราชดำเนินประสบภาวะขาดทุนมาตลอด จนต้องวางมือแล้วเปลี่ยนให้เอกชนเข้ามาบริหาร และได้ก่อตั้งเป็นบริษัท ราชดำเนิน จำกัด ขึ้น เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2496

 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 ในยุคของ เฉลิมพงศ์ เชี่ยวสกุล เป็นนายสนามมวย ได้มีการปรับปรุงภายในสนามอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศภายในเวทีมวยแบบไม่ต้องลงทุนเอง เนื่องจากได้เก็บค่าตั๋วเข้าชมเพิ่มคนละ 10 บาท เพื่อเป็นค่าผ่อนชำระเป็นระยะเวลา 4 ปี กลายเป็นสนามแห่งแรกที่เพียบพร้อมทุกรอบด้าน ทั้งการมีหลังคาคลุม อัฒจรรย์รอบด้าน และเครื่องปรับอากาศที่เย็นฉ่ำ ทำให้แฟนมวยต่างขนานนามเวทีมวยแห่งนี้ว่าเป็นวิกแอร์ 

 

 

 

เวทีสร้างชื่อยอดมวยไทย

 

เมื่อสนามแข่งขันได้มาตรฐานนักมวยที่ไหนก็อยากเดินทางเข้าเมืองหลวงมาชก เพราะชัยชนะจะนำมาซึ่งชื่อเสียงเงินทองและเกียรติยศที่หาไม่ได้จากเวทีอื่น ๆ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเวทีราชดำเนินได้สร้างนักมวยไทยและมวยสากลมีชื่อเสียงในระดับโลกมาแล้วนับไม่ถ้วน อาทิ โผนกิ่งเพชร , ชาติชาย เชี่ยวน้อย , พเยาว์ พูนธรัตน์ , เขาทราย แกแล็คซี่ , เขาค้อ แกแล็คซี่ 

 

ซึ่งในช่วงแรกวิธีการเฟ้นหานักมวเก่ง ๆ ใช้รูปแบบการแข่งขันมวยรอบ ผู้ชนะเลิศจะได้รับมอบเข็มขัดกับเสื้อสามารถเป็นรางวัลเกียรติยศ และเพื่อเพิ่มมูลค่าในตัวนักมวยให้มากขึ้น ได้ทำการถ่ายทอดสดผ่านจอโทรทัศน์เป็นครั้งแรก วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2496 ในศึกมวยวันตำรวจ 

 

ขณะเดียวกันเวทีมวยราชดำเนินยังสร้างนักมวยเป็นแชมป์โลกมวยสากลสถาบันหลักมาแล้วอีกหลายคน โผน กิ่งเพชร , เขาทราย แกแล็คซี่ , ชนะ ป. เปาอินทร์ , สงคราม ป.เปาอินทร์ , สมุทร ศิษย์นฤพนธ์ , สด ส.จิตรลดา เป็นต้น

 

โดยเฉพาะในไฟต์ที่ โผน กิ่งเพชร ชนะและได้เข็มขัดแชมป์โลกคืนจาก ฮิโรยูกิ เอบิฮาระ ผู้ท้าชิงชาวญี่ปุ่น ได้มีการถ่ายทอดสดไฟต์ชิงแชมป์โลกครั้งแรกในเมืองไทยที่เวทีแห่งนี้ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2507 และยังถูกใช้เป็นสังเวียนที่สร้าง เขาทราย แกแล็คซี่ ให้เป็นแชมป์โลก โดยเจ้าของฉายาซ้ายทะลวงไส้ ชนะน็อคยก 6 ใส่ เอวเซบิโอ เอสปินัล แชมป์โลกชาวโดมินิกัน กลายเป็นแชมป์โลกชาวไทยคนที่ 9 

 

 

จุดเชคอินชาวต่างชาติ

 

ความเพียบพร้อมทั้งด้านสนามรวมกับตัวนักมวยก็เริ่มมีชื่อจากการถ่ายทอดสด รวมถึงการมีนักชกไทยก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งแชมป์โลกมวยสากล เริ่มทำให้ชาวต่างชาติรู้จักนักมวยไทยเพิ่มมากขึ้นในต่างแดน

 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 นายเฉลิมพงศ์ เชี่ยวสกุล ที่ในขณะนั้นรับหน้าที่เป็นรองนายสนาม ได้มีส่วนสำคัญในการผลักดันส่งเสริมนักมวยไทยก้าวเป็นแชมป์โลกในสถาบันหลัก นอกจากนี้ยังได้นำนักมวยไปแผยแพร่ศิลปะแม่ไม้มวยไทยในต่างประเทศอยู่หลายครั้งทั่วโลก สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส  อังกฤษ  ฯลฯ  

 

นับเป็นแผนการประชาสัมพันธ์ที่ได้ผลในแง่บวก เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชาวต่างชาติเริ่มรู้จักมวยไทย และเมื่อผสานกับแผนการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล ทำให้ทุกวันนี้เวทีมวยราชดำเนินกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเชคอินแล้วสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาพลาดไม่ได้ เมื่อยามเดินทางมาพักผ่อนในประเทศไทย


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

โฆษณา