18 พฤษภาคม 2564
ทีมชาติอินโดนีเซียกลายเป็นทีมแรกของกลุ่มจีที่เดินทางไปถึงยูเออี(ล่วงหน้าถึงเกือบสามสัปดาห์) ในขณะที่นายใหญ่อย่างชิน แท ยองก็ประกาศกร้าวตั้งแต่ก่อนขึ้นเครื่องว่าจะเอาเก้าแต้มเต็มจากดินแดนอาหรับกลับบ้าน แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจ, ความกล้า และความกระหายในเป้าหมายที่วางเอาไว้
“หลังจากที่ผมส่งรายชื่อให้ทางสมาคมฯ คุณจะเห็นได้ว่าทีมชุดนี้มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่แค่ 21 ปีเท่านั้นซึ่งตามความเห็นของผมบางทีนี่อาจเป็นครั้งแรกและครั้งประวัติศาสตร์ของทีมชาติอินโดนีเซียที่ทีมชุดใหญ่มีอายุเฉลี่ยเพียงเท่านี้”
“แน่นอนว่าเราฝึกซ้อมร่วมกันอยากหนักโดยเน้นไปที่สปีดบอลและการเคลื่อนที่ที่ต้องรวดเร็ว-แม่นยำ ผมคาดหวังว่าทีมชุดนี้จะแสดงออกถึงความกระหายและความกระตือรือร้นเมื่อพวกเขาอยู่ในสนาม และแม้ว่าผมจะไม่สามารถการันตีได้ว่าเราจะชนะแต่ผมจะทำให้ชาวอินโดนีเซียทุกคนได้เห็นว่านี่คือทีมที่แตกต่างออกไป เริ่มกันที่เกมแรกกับไทยนั่นแหละ” จากบทสัมภาษณ์ของชิน แท ยอง ที่ให้ไว้กับสื่อท้องถิ่นของอินโดฯก่อนที่เขาจะพาลูกทีมเดินทางขึ้นเครื่องไปยูเออีเมื่อวาน
“มันส์ล่ะทีนี้” สิ่งที่เกิดขึ้นในทีมชาติอินโดนีเซียกับคาแรคเตอร์เวลาให้สัมภาษณ์ของโค้ชชาวเกาหลีใต้เป็นอะไรที่ผมรู้สึกชื่นชม(บวกชื่นชอบ)อยู่ไม่น้อย เพราะนั่นคือแนวทางปฎิบัติของลีดเดอร์ที่ถูกต้องและตรงตามตำราว่าด้วยการนำทัพแบบ “เป๊ะๆ”
เพราะแม้จะหมดลุ้นเข้ารอบไปแล้วแต่ถ้าหากจะบินไปยูเออีโดยที่นักเตะและทีมงานเอาแต่คิดแค่ว่านี่คือการพาทีมไปซึมซับบรรยากาศหรือฉิ่งฉับทัวร์ทั่วดูไบ ทีมอิเหนามีสิทธิ์หอบกระบุงกลับบ้านแน่ๆ และถ้าหากไม่โละทีมแบบล้างไพ่เลย การจะได้ผลลัพธ์ที่ต่างออกไปมันก็ดูจะเป็นเรื่องที่ยาก
อีกอย่างโค้ชชิน แท ยองย่อมรู้ดีว่าทีมอินโดฯชุดใหม่นี้พึ่งรวมตัวกันได้ไม่นานและนักเตะส่วนใหญ่ก็ไร้ประสบการ์ณในทีมชุดใหญ่ นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมพวกเขาต้องกระเหี้ยนกระหือรือไปดูไบก่อนใครเพื่อนแถมยังต้องตอบนักข่าวทุกครั้งว่า “ไม่ได้มาเล่นๆ ตรูจะมาเอาเก้าแต้มเต็มกลับบ้านนะจะบอกให้!”
คำถามที่น่าสนใจคือ “มันมีโอกาสแค่ไหนที่เป้าหมายของพวกเขาจะเข้าวิน?”
“ยากอยู่!” ผมไม่ได้แสดงความคิดเห็นในเชิงดูถูกทีมอินโดนีเซียชุดนี้หรอก หากแต่อย่างที่ผมเคยบอกไว้ว่าการเสี่ยงเปลี่ยนทีมแบบยกชุดในขณะที่นักเตะส่วนใหญ่ก็เป็นพวกหน้าใหม่ทั้งนั้น มันค่อนข้างจะเสียเปรียบอยู่เหมือนกันในด้านประสบการ์ณ, ความสัมพันธ์ในทีมและการตัดสินใจในสนามในเวลาสำคัญๆ
เพียงแต่ผมว่าโค้ชชิน แท ยองเองคงจะเชื่อมั่นว่าด้วยระบบการเล่นแบบ 4-4-2 ดับเบิ้ลซิกส์ที่เจ้าตัวถนัดและมักใช้ได้ผลในเกมที่ทีมของตนดูจะเป็นรองคู่แข่งในด้านชื่อชั้นนั้นยังเป็นอะไรที่ตอบโจทย์และถูกต้องสำหรับทีมอินโดนีเซียชุดลุยสามเกมคัดบอลโลก
ขออธิบายคร่าวๆเกี่ยวกับระบบการเล่น “4-4-2 Double six” ก่อน(เผื่อท่านผู้อ่านอาจไม่เห็นภาพ)ว่ามันก็คือระบบที่ยึดโยงการยืนตำแหน่งด้วยแผงแบ็คโฟร์พ่วงสองกองกลางตัวรับแบบที่ยืนกันหกตัวในแดนตัวเอง ซึ่งด้วยระบบนี้มันเน้นให้แพ็คแดนกลางให้แน่นและอาศัยการจู่โจมคู่แข่งด้วยปีกทั้งสองข้างหรือฟูลแบ็ค ซึ่งหากใครจะยังพอจำกันได้ในยุคทองของทีมปีศาจแดง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด(ช่วงปลายยุค90ของท่านเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสันนั่นแหละ) แมนยูฯในยุคนั้นจัดการกำราบยอดทีมด้วยแผนนี้ทั้งนั้น
ซ้ายมีไรอัน กิ๊กส์ ขวามีแบ็คแฮม ส่วนกองกลางตัวรับก็มีทั้งนิคกี้ บัตต์และรอย คีนเป็นตัวคอยปัดกวาด ในขณะที่ตัวเข้าฮ๊อตมีทั้งดไวท์ ยอร์ค และแอนดี้ โคลคอยสอดประสานกันเข้าทำ พูดง่ายๆ “เกมรุกและรับมีครบสมบูรณ์แบบอย่างน่ากลัวเป็นไหนๆ”
การที่ชิน แท ยองใส่สัดส่วน5จาก9คนที่เล่นกองกลางเป็นนักเตะในตำแหน่งปีก ในขณะที่7จาก11กองหลังล้วนเป็นนักเตะในตำแหน่งแบ็ค พร้อมทั้งยังเรียกทั้งยาค็อป ซายูริ ปีกตัวจี๊ดเจ้าของความสูงแค่เมตรเจ็ดสิบ, วิธาน สุไลมาน ปีกหัวจรวดจากเรดนิก เซอร์ดูลิก้า ทีมดังในลีกสูงสุดของเซอร์เบีย, ยาเลี่ยน อะบิมันยู กองกลางจากนิวคาสเซิล เจ็ตส์ อดีตเด็กฝึกเลบานเต้ ทีมดังของสเปน และออสวัลโด้ เฮย์ นักเตะสารพัดประโยชน์ที่เล่นได้ทั้งกองกลางและกองหน้า เจ้าของรางวัลดาวซัลโวซีเกมส์ปี 2019 เห็นได้ชัดว่าเขาต้องการใช้ความเร็วและการเล่นด้านข้างเข้าจู่โจมคู่แข่ง
อ่านมาถึงตรงนี้ก็พอจะมองเห็นภาพได้ว่าในวันที่ 3 มิ.ย.ที่ไทยต้องเจออินโดฯในวันนั้น เราคงจะเจอการบุกด้วยการเปิดจากด้านข้างเป็นแน่แท้ พ่วงด้วยการแพ็ครับแน่นๆในแดนกลางชนิด “ยันต์มหาอุด”
แต่ “อินโดฯไม่ใช่แมนยูฯ” และการเล่นเกมแรกอย่างเป็นทางการด้วยทีมที่ใหม่ทั้งหมดยังเป็นอะไรที่ “เสี่ยง” อยู่ดี
ผมว่าถ้านักเตะไทยไม่ลงสนามด้วยความคิดที่ว่า “ยังไงก็ชนะ” ผมว่าเราน่าจะผ่านอินโดฯได้ไม่ยาก
ที่สำคัญคือบอลต้องอยู่กับเราเข้าไว้และการเช็คไลน์ต้องทำให้ได้อย่างมีประสิทธิ์ภาพ เพราะจุดออ่อนของระบบ 4-4-2 Double six คือตำแหน่งผู้เล่นในแดนหลังทั้งเซ็นเตอร์และกองกลางกับผู้เล่นตัวรุกจะค่อนข้างยืนกันห่าง ดังนั้นการถ่ายเทบอลส่วนใหญ่จะอาศัยโยนให้ปีกหรือให้ฟูลแบ็คลากขึ้นไป หากเรายืนตำแหน่งกันดีและเช็คไลน์กันได้ไม่พลาด ระบบนี้ก็หมดสิทธิ์ทำงาน
4-4-2 Double six ของชิน แท ยอง กับ 4-2-3-1 ของลุงโนะ อย่างไหนจะเหนือกว่ากัน? 3 มิ.ย.รู้เลย!
TAG ที่เกี่ยวข้อง