30 มกราคม 2563
“จะไป โอลิมปิก เกมส์ แต่ยังตกรอบแรกซีเกมส์...
ตกรอบแรกซีเกมส์ แล้วจะไปได้ถึงไหนกันในระดับเอเชีย…
ตกรอบแรกแล้วยังซ้อมน้อย แบบนี้จะเก่งขึ้นได้อย่างไร...”
นี่คือ คอมเมนต์ในโลกโซเชียลที่มีต่อทีมชาติไทย ช่วงก่อนทัวร์นาเมนต์ ยู-23 ชิงแชมป์เอเชีย 2020 จะเริ่มต้นขึ้น
การตกรอบแรกศึกฟุตบอลชายในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี ได้ทำให้ใครหลายคนไม่คิด และเลิกหวังถึงการผ่านเข้าสู่การแข่งขันฟุตบอลชาย ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก เกมส์ 2020 ของทีมชาติไทย ไปในทันที
เพราะฟอร์มการเล่นช่วงซีเกมส์ 2019 ไม่ค่อยสู้ดีนัก ระบบการเล่นเอย วิธีการเล่นเอย ดูไม่มีอะไรลงตัวสักอย่าง ประกอบกับพลังงาน และความฟิตที่ยังดูขัดๆ ของนักเตะไทย ซึ่งเป็นผลให้ อากิระ นิชิโนะ ถึงกับถูกมองว่า “ไม่ใช่ของจริง” อย่างที่ใครเคยคาดหวัง
แต่เหตุการณ์ทุกอย่างกลับตาลปัตร
จากหลังมือ เป็นหน้ามือ
จากเดวิลส์ สู่ แองเจิ้ล
ชัยชนะเหนือบาห์เรน 5-0 ในเกมรอบแบ่งกลุ่ม นัดแรก ทีมชาติไทยหักปากกาเซียนทุกสำนักอย่างราบคาบ พวกเขามีพัฒนาการขึ้นอย่างที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็น เพราะมันเป็นเกมระดับเอเชีย ที่ลงเล่นหลังจากตกรอบแรกซีเกมส์ ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เพียงไม่กี่สัปดาห์
พัฒนาการอะไรบ้างที่พวกเขาสร้างขึ้นภายในเวลาอันสั้น?
ที่นี่มีคำตอบ…
ถ้าเป็นเมื่อก่อน หากตกรอบแรกซีเกมส์กลับมาแล้วต้องมีทัวร์นาเมนต์ต่อเนื่อง เชื่อได้เลยว่า ทีมชาติไทย จะต้องมีการเรียกเก็บตัวซ้อมอย่างต่อเนื่อง
แต่ไม่ใช่ในยุคของ อากิระ นิชิโนะ ที่ต้องการวางระบบการทำงานในแบบมืออาชีพ
เขาปล่อยให้นักเตะไทยพักกว่า 2 อาทิตย์ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ และสมอง ก่อนจะเรียกเก็บตัวอีกครั้งก่อนทัวร์นาเมนต์จะเริ่มต้นขึ้นประมาณ 2 สัปดาห์เศษ แถมยังปล่อยให้นักเตะพักในช่วงปีใหม่อีกต่างหาก โดยเชื่อว่า นักเตะจะเป็นมืออาชีพพอ และกลับไปอยู่ในระบบการซ้อมที่มืออาชีพภายใต้สโมสรอาชีพอย่างแท้จริง
ถ้าทุกฝ่ายทำงานอย่างมืออาชีพ
ทีมชาติเป็นมืออาชีพ
สโมสรเป็นมืออาชีพ
นักเตะเป็นมืออาชีพ
การเก็บตัวยาวนานในแคมป์ทีมชาติ ก็ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ไปมากกว่าการทำงานแบบสากลที่ทั่วโลกเขาทำกัน
และ นิชิโนะ คิดถูก...
หากไม่นับเกมกับ ออสเตรเลีย ที่ถูกยักษ์ใหญ่ไซส์ยุโรปชนจนยวบในช่วงท้ายเกมแล้ว เรียกได้ว่า ร่างกายที่ฟิต ไล่เพรสซิ่งตั้งแต่แดนบน ของทีมชาติไทย ในยุค นิชิโนะ เป็นจุดขายอย่างหนึ่งเลย
สภาพร่างกายที่ไม่คงที่ในช่วงซีเกมส์ หลังจากนักเตะกรอบเป็นข้าวเกรียบจากการกรำศึกหนักตลอดปีกับสโมสรต้นสังกัด ทำให้เรามองเห็นความไม่ฟิต เดินมากกว่าวิ่งในช่วงท้ายเกม
แต่ทุกอย่างก็มาเข้าที่เข้าทางในช่วงทัวร์นาเมนต์จริง โดยเฉพาะเกมที่สามที่เสมอกับอิรัก 1-1 ที่ นิชิโนะ ตัดสินใจเปลี่ยนตัวผู้เล่นจากชุดตัวหลักถึง 7 คน เพื่อซื้อความฟิต และพลังงานในการเล่นเกมรับตั้งแต่แดนรุก
ซึ่ง นิชิโนะ คิดถูก… เพราะเราได้ผ่านเข้ารอบน็อกเอาท์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของรายการ ยู-23 ชิงแชมป์เอเชีย
#เข้าใจระบบเข้าใจวิธีการเล่นเข้าใจความต้องการของนิชิโนะ
ซีเกมส์ 2019 ที่ทีมชาติไทย ตกรอบแรกนั้น เรามีเวลาเตรียมทีมภายใต้การคุมทีมของอากิระ นิชิโนะ จริงๆ แค่ 2 วันเท่านั้น เพราะ นิชิโนะ ต้องคุมทีมชาติไทย ชุดใหญ่ ที่บุกไปเสมอ เวียดนาม 0-0 ในวันที่ 19 พ.ย. 2562 ก่อนจะกลับมาประเทศไทยในวันที่ 20 พ.ย. 2562
และเข้าแคมป์คุมทีมวันที่ 22 พ.ย. 2562 ก่อนจะบินทันทีในวันรุ่งขึ้น (ออกเดินทางสู่ประเทศฟิลิปปินส์ 23 พ.ย. 2562) และแข่งขันแมตช์แรกกับ อินโดนีเซีย ในวันที่ 26 พ.ย. 2562
นั่นก็หมายความว่า นิชิโนะ มีเวลาอยู่กับทีมจริงๆ แค่สองวัน คือ 24 กับ 25 พฤศจิกายน เท่านั้น ก่อนเกมนัดแรก และตลอดทั้ง 5 นัดในรอบแรก ต้องลงเล่นภายใต้เงื่อนไขมากมาย ทั้งเล่นวันต่อวัน, เล่นท่ามกลางอากาศร้อนเวลาช่วงบ่าย, เล่นบนสนามหญ้าเทียม แถมยังต้องซ้อมบนสนามซ้อมที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่มีห้องน้ำในช่วงแรกอีกด้วย
“ต่อให้เป็นพระเจ้า ก็เสกทุกอย่างภายในเวลาแค่นี้ไม่ได้”
แต่หลังจากตกรอบแรกแล้ว นิชิโนะ มีเวลาอยู่กับทีมมากขึ้น นับตั้งแต่เรียกเก็บตัว เป็นเวลาอย่างน้อยเกือบสามอาทิตย์ที่เขาได้ทำความรู้จักนักฟุตบอล รู้ว่าใครมีดีอย่างไร ใครมีจุดด้อยจุดเด่นตรงไหน ควรปรับใช้อย่างไรในสนาม
ส่วนนักเตะเอง พวกเขาก็มีเวลาในการปรับจูนกัน ได้ซ้อมในหญ้าจริงที่ถนัด เวลาช่วงเย็นที่ไม่ต้องร้อนเกินไป ได้ทำความเข้าใจระบบและวิธีการเล่นที่นิชิโนะต้องการ
พอมีเวลาให้แก้ไขส่วนที่ผิด เพิ่มเติมสิ่งที่ถูก
ผลออกมา มันก็เลยดีอย่างที่เห็น
สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องหยิบยกออกมาพูดถึงก็คือ “ทัศนคติ” …
ทัศนคติที่ยอดเยี่ยม ตามแบบฉบับการทำงานภายใต้คนญี่ปุ่น ของทีมชาติไทย ชุดนี้ เป็นเรื่องที่น่าซูฮกอย่างยิ่ง พวกเขาต้องแบกรับความกดดัน ต้องเจอการด่าทอจากคอมเมนต์มากมายในโลกโซเชี่ยล หลังการตกรอบแรกซีเกมส์
“แต่พวกเขาก็ไม่ยอมแพ้”
ยังก้มหน้าก้มตาทำงานของตัวเองอย่างแข็งขัน
ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยแพสชั่นในการลงสนาม
ยังทำงานด้วยความกระตือรือร้น ตั้งใจ วิริยะ และอุตสาหะ
ยังคงมีทีมเวิร์ค ผิดพลาดก็ไม่โทษกัน
ภายใต้ความฝันร่วมกันในการไปโอลิมปิก เกมส์ 2020
เมื่อมีทัศนคติดี ก็ทำให้พวกเขาเปรียบเสมือนน้ำไม่เต็มแก้วที่พร้อมจะรับทุกอย่างเข้ามาเพื่อพัฒนาตนเอง และสุดท้ายมันก็ทำได้ดีอย่างที่เห็น ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ทีมชาติไทยเองก็สามารถสู้กับยักษ์ใหญ่ของเอเชียได้อย่างสูสี ไม่มีแพ้ราบคาบยับเยิน หรือขาดลอยให้เห็นเลยแม้แต่นัดเดียว
แม้จะไปไม่ถึงความฝันอันไกลโพ้น
แต่อย่างน้อย พวกเราก็ยังคงมีความหวังกับช้างศึกรุ่นใหม่ชุดนี้
และสามารถเดินเชิดหน้าได้อย่างสง่างามแบบไม่ต้องกลัวใคร
เพราะ เรา คือ หนึ่งในแปดทีมที่ดีที่สุดของทวีปเอเชียในรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปีของยุคนี้….
TAG ที่เกี่ยวข้อง