15 เมษายน 2564
มีคนเคยกล่าวเอาไว้ว่าปรัชญาการทำทีมฟุตบอลมันก็ไม่ต่างอะไรจากศาสตร์แห่งการทำอาหารที่โค้ชเปรียบเสมือนเชฟใหญ่ ทีมงานสต๊าฟคือบุคคลากรส่วนต่างๆในห้องครัว และผู้เล่นคือวัตถุดิบที่เอามาใช้ประกอบเพื่อรังสรรค์ให้ได้จานที่สมบูรณ์ที่สุด และผลงานในสนามคือรสชาติที่ออกมาจากจานๆนั้น
หากคำกล่าวในข้างต้นเป็นจริงดั่งว่า การประกาศ 47 ขุนพลช้างศึกที่ผ่านมาก็คงมีคำถามที่ชวนให้อดสงสัยไม่ได้ว่า “วัตถุดิบแปลกใหม่หลากหลายเป็นกระบุงแบบนี้ เชฟนิชิโนะจะมีวิธีปรุงยังไงให้อัล เดนเต้”?
“น่าคิดเนอะ” ผมว่าตัวเลข 47 เป็นอะไรที่กำลังพอดิบพอดี ด้วยสัดส่วน 6-17-19-5 ตามตำแหน่งบนฟิลด์ในสนาม
เหตุผลที่ผมบอกว่ามันลงตัวคือด้วยความที่ทีมชาติไทยซึ่งแต่ไหนแต่ไรค่อนข้างมีปัญหากับเรื่องศูนย์หน้าและการได้มาซึ่งประตูส่วนไหนก็ล้วนมาจากตำแหน่งกองกลางซึ่งถือเป็นจุดเด่นของไทยในยุคนี้ มันจึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นชุดนักเตะในตำแหน่งมิดฟิลด์และปีกในสัดส่วนที่มากกว่าใครเพื่อน ส่วนการที่ลุงโนะหอบเอาตำแหน่งกองหลังเข้ามามากถึง 17 รายนั้น อย่าลืมว่าเราต้องเล่นที่ยูเออี แถมยังมีหนึ่งนัดที่ต้องวัดกับเจ้าบ้าน ในขณะที่บอลเปลี่ยนโค้ชอย่างอินโดฯ ซึ่งไม่มีอะไรจะเสีย ผมมองว่าสองเกมนี้คู่ต่อสู้น่าจะมาเล่นเกมบุกใส่เรามากกว่าตั้งรับ ดังนั้นการมีตัวเลือกที่หลากหลายในตำแหน่งดังกล่าวก็เป็นอะไรที่พอรับฟังได้อยู่
ไม่ขอออกความเห็นว่าทำไมคนนั้นคนนี้ถึงไม่ติด ผมอยากอธิบายแบบเข้าใจง่ายๆว่าบางทีมันยังมีเรื่องของโควิด-19 ซึ่งการเดินทางมาฝึกซ้อมที่ไทยคงเป็นอะไรที่ทำได้ยาก (ที่สโมสรต้นสังกัดจะยอมปล่อยตัวให้มาเข้าแคมป์เก็บตัวนานๆ ในขณะที่กฎหมายของประเทศต้นทางยังค่อนข้างเข้มงวดด้านการเข้า-ออกประเทศอยู่) ดังนั้นหากตำแหน่งเดียวกันพอมีวัตถุดิบชิ้นที่ปรุงแล้วมีรสชาติแทบไม่ต่าง สามารถทดแทนกันได้ ก็ไม่แปลกที่ลุงโนะเขาจะเลือกอย่างหลัง
ทีนี้ย้อนกลับมาที่คำถามใหญ่ที่ผมจั่วหัวไว้ว่าด้วยวัตถุดิบแปลกใหม่ หลากหลายเยอะแยะแบบนี้ เชฟใหญ่อย่าง มร.อากิระ นิชิโนะ จะใช้วิธีไหนในการปรุงอาหาร? เมนูมันจะออกมามีหน้าตาแบบไหน? รสชาติจะเปรี้ยว, หวาน, มัน, เค็ม หรือรสเผ็ดร้อนจัดจ้าน? และที่สำคัญจานๆนั้นจะอร่อย น่ารับประทานมั้ยนี่แหละคือพอยท์ใหญ่?
วิเคราะห์จากสิ่งที่เราได้เห็นจากชุดผู้เล่นที่ลุงโนะเลือกมา ส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยผู้เล่นที่ล้วนมาจากสโมสรใหญ่หัวตารางไทยลีกทั้งนั้น แถมนักเตะที่ว่ามาก็ล้วนแล้วแต่เคยผ่านเกมใหญ่ๆระดับนานาชาติมาแล้วอย่างเจนจัด
ไม่ว่าจะเป็นบรรดาตัวขุนพลจาก บีจี ปทุม ยูไนเต็ด, บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, การท่าเรือ เอฟซี, สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด, ราชบุรี มิตรผล เอฟซี หรือแม้แต่สมุทรปราการ ซิตี้ นักเตะส่วนใหญ่ก็ล้วนไม่ใช่คนอื่นคนไกลแต่เคยลงเล่นในนามทีมชาติมาแล้วกับทีมชุดใหญ่ หรือ ยู23 แถมบางรายยังเคยผ่านเวที ACL มาแล้วอย่างโชกโชนเสียด้วยซ้ำ
ผมกำลังมองว่านี่แหละคือวัตถุดิบหลักของจานๆนี้ที่เชฟอากิระ นิชิโนะจะเลือกใช้ ไม่ต่างอะไรจากเมนูที่ต้องมีโปรตีนเป็นแกนหลักอย่างพวกบรรดาเนื้อสัตว์
นั่นเพราะสามเกมที่ถือว่าต้องเน้นผลทุกนัดและจะเต็มไปด้วยความกดดันแบบนี้ ประสบการ์ณเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะสำคัญ ดังนั้นฟันธงแบบใสเหมือนตาตั๊กแตนไปได้เลยว่ากลุ่มนักเตะที่จะได้ตีตั๋วไปยูเออีหนนี้ จะมีแต่ชื่อเก่าจากสโมสรที่ผมกล่าวมาข้างต้นเป็นแกนหลัก
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าคนหน้าใหม่จะไม่ได้ไปนะ! หากแต่พวกเขาจะเป็นวัตถุดิบที่ช่วยเสริมให้จานๆนี้ออกมาสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปอีก (เพิ่มความลงตัวเมื่อทานเข้าด้วยกันกับวัตถุดิบหลัก, ให้รสชาติที่ซับซ้อนขึ้น หรือแม้แต่เรื่องเล็กๆอย่างเสริมให้จานออกมาดูดี-ไฮโซน่ากินยิ่งไปกว่าเดิม)
ไม่ว่าจะเป็นเจ้ากัน ธนวัฒน์ ซึ้งจิตถาวร ตัวรุกจากจิ้งจอกสยาม, เจ้าเบียว ณัฐวุฒิ สุขสุ่ม ศูนย์หน้าที่เคยผ่านเวทีลูกหนังแดนซามูไรมาแล้วกับเอฟซี โตเกียว หรือจะเป็น เอร์เนสโต ภูมิภา แบ็คซ้ายลูกครึ่งไทย-สเปน ที่เคยผ่านเวทีเซกุนด้า เบ จากสเปนมาแล้วกับทั้งเรอัล โอเบียโด้และมิรันเดส สามรายที่ว่ามาผมคิดว่ามันมีโอกาสสูงมากที่เราจะได้เห็นพวกเขาที่ยูเออี
ผมว่ารูปแบบการเล่นของไทยจะไม่ต่างไปจากเดิมเหมือนในห้าเกมแรกที่เราได้เห็นเมื่อตอนก่อนโควิดจะมา (เน้นการเล่นที่เร็ว, ช่วยกันเพรสซิ่งและที่สำคัญคือต้องมีมิติในการเข้าทำที่หลากหลายชัดเจน) เพียงแต่หนนี้ด้านรสชาติมันจะดูซับซ้อนขึ้น เข้มข้นขึ้นมากกว่าเดิม
โดยเฉพาะเรื่องความกระหาย, ความฟิต และสไตล์การเล่น ผมว่าบรรดาตัวใหม่ๆจะมีจุดๆนี้มากกว่าตัวเก่าหรือรุ่นพี่ที่หลายคนอาจจะเลยช่วงวัยที่พีคที่สุดไปแล้วหรืออาจกำลังผจญกับปัญหาอาการบาดเจ็บและฟอร์มหลุด ผมเชื่อว่าบรรดาแข้งหน้าใหม่ซึ่งมีของกันอยู่ทุกคน พวกเขาได้ปล่อยของที่ยูเออีแน่ๆ
จะออกมาอร่อยเหาะเลยมั้ย? ตอบตอนนี้มันยังเร็วเกินไป แต่ที่แน่ๆเมนูของเชฟชาวญี่ปุ่นหนนี้ ..น่าชิมแน่นอน!
TAG ที่เกี่ยวข้อง