6 เมษายน 2564
สกอร์ครึ่งโหลที่ยูเออีจัดแจงยัดเยียดให้อินเดียเมื่อต้นสัปดาห์ก่อนสร้างความประหลาดใจไม่น้อยสำหรับทีมที่ได้ชื่อว่าทำผลงานได้ไม่สมราคาทีมจากโถ 1 ในคัดบอลโลกรอบคัดเลือกรอบสองช่วงก่อนโควิด-19 จะมา
นอกเหนือจากเรื่องสกอร์ที่มันขาดแบบ “หลุดลุ่ย” แล้ว ความเซอร์ไพร์สที่เกิดขึ้นในนัดนี้ต่อคู่ต่อสู้ที่มีอันดับฟีฟ่าห่างจากพวกเขาลงไปราว 30 อันดับคือชุดผู้เล่นที่ เบิร์ต ฟาน มาร์ไวก์ ใช้ในเกมที่ว่า
ไม่มีทั้ง โอมาร์ อับดุลราห์มาน ดาวดังประจำทีม, ฟาเรส จูมาร์ อัล ซาร์ดี้ ปราการหลังตัวเก๋าที่อยู่กับทีมมาตั้งแต่ปี 2008 และ คามิส อิสมาอิล มิดฟิลด์ตัวเก่งที่เคยพายูเออีคว้าอันดับ 3 เอเชียนคัพปี 2015 แถมผู้เล่นส่วนใหญ่กว่าครึ่งทีมก็ดันเป็นนักเตะที่มีชั่วโมงบินกับทีมชุดใหญ่แค่ไม่ถึง 10 นัดทั้งนั้น และที่น่าประหลาดใจแบบยกกำลังสามคือการใส่บรรดาตัวโอนสัญชาติเข้ามาติดทีมชุดนี้อย่างมากมาย
ทั้ง ฟาบิโอ ลิม่า กองหน้าตัวโอนจากบราซิล และ เซบาสเตียน ตาเกียบูเอ้ ศูนย์หน้าตัวโอนจากอาร์เจนตินา อดีตเด็กเก่าเอฟเวอร์ตันต่างทำได้คนละประตูในเกมนี้ แถมเจ้าลิม่ายังทำอีกหนึ่งแอสซิสต์และเรียกหนึ่งจุดโทษให้ทีมได้อีกด้วยต่างหากจนสื่อท้องถิ่นต่างออกมายกให้เป็นตัวตายตัวแทนของโอมาร์กันถ้วนหน้า
อาจกล่าวได้ว่าทีมยูเออีชุดนี้ต่างจากชุดที่มาเยือนอาเซียนช่วงคัดบอลโลกปลายปี 2019 แบบเปลี่ยนไปเป็น “คนละทีม” เพราะไม่ว่าจะเป็นระบบการเล่น, ชุดนักเตะ, สปีดบอล หรือแม้แต่รูปแบบการเข้าทำ ทุกอย่างถูกยกระดับให้สูงขึ้นจากการเข้ามาของเหล่าบรรดาหน้าใหม่
ยิ่งพอมาดูสถิติหลังเกมที่พวกเขาถล่มอินเดีย 6-0 ทั้งการสร้างโอกาสการเข้าทำ, อัตราผ่านบอล-แย่งบอลสำเร็จ, เปอร์เซ็นต์ในการครองบอล และความเฉียบขาดในการจบสกอร์ ลูกทีมของเบิร์ต ฟาน มาร์ไวก์ ก็ขี่ทีมจากดินแดนภารตะชนิด “ไม่เห็นไฟท้าย”
“ขนาดอินเดียที่เคยถล่มพี่ไทยถึงสี่เม็ดยังโดนไปตั้งครึ่งโหล..แล้วเราล่ะ?” คือคำถามที่อุทานออกมาจากบรรดาเซียนคีย์บอร์ดที่แสดงอาการหวาดหวั่นออกมาแบบออกนอกหน้า
“เราไม่ใช่อินเดียและฟุตบอลมันไม่ใช่สมการบัญญัติไตรยางค์” มันมีวันที่เล่นดีและไม่ดี และมันก็อยู่ที่วันนั้นใครทำงานหนักมากกว่ากันต่างหาก
ผมยังเชื่อลึกๆว่านักเตะไทยในยุคนี้(ยุคที่ลีกของเรากำลังเดินไปในทางที่ดี, ยุคที่เรามีนักเตะที่ค้าแข้งยังต่างแดนมากมายทั้งดาวรุ่งและรุ่นพี่ และคือยุคที่นายใหญ่ทีมชาติไทยมีดีกรีเป็นถึงอดีตโค้ชทีมชาติญี่ปุ่นชุดใหญ่) เราสู้เขาได้!
ตัวแปรสำคัญสำหรับเราจะอยู่ที่แมตช์แรกกับอินโดฯ เพราะถ้าเราได้สามแต้มเต็มจากอินโดฯและนักเตะแกนหลักไม่มีปัญหาอาการบาดเจ็บ แรงขับเคลื่อนและโมเม็นตั้มจะเบนมาทางฝั่งเราแบบอัตโนมัติ (และอาจกลายเป็นยูเออีเองที่ต้องเป็นฝ่ายแบกรับความกดดัน)
จริงอยู่ที่อันดับโลกระหว่างเราและเขาจะห่างกันกว่า 40 อันดับแถมสถิติเก่าๆในการไปเล่นที่ตะวันออกกกลางของเราจะไม่ค่อยสู้ดีนัก แต่ก็อย่าลืมอีกเช่นกันว่าในโลกของฟุตบอล “อะไรก็เกิดขึ้นได้” และการเปลี่ยนแปลงก็เหมือนกับการลองผิดลองถูกที่มันต้องอาศัยเวลาอยู่เหมือนกันกว่ามันจะให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน
ผมคิดว่าการที่โค้ชเบิร์ต ฟาน มาร์ไวก์ เปลี่ยนทีมค่อนข้างบ่อยในช่วงอุ่นเครื่องที่ผ่านมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงตอนนี้แสดงให้เห็นว่าเขายังไม่ได้ทีมที่ถูกสเป็ก
และด้วยเวลาที่จำกัดที่เหลืออยู่เพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น แถมยูเออียังต้องเจอปัญหาการเตรียมทีมว่าด้วยเรื่องของเดือนรอมฎอนอีก มันก็มีโอกาสสูงว่านายใหญ่ของพวกเขาอาจจำเป็นต้องเลือกระหว่างเสี่ยงวัดดวงกับผู้เล่นหน้าใหม่ในเกมอย่างเป็นทางการที่เต็มไปด้วยความกดดัน หรือหันกลับไปอาศัยพวกมากประสบการณ์เป็นหลักเพื่อเพลย์เซฟไว้ก่อน
แต่ไม่ว่าเขาจะเลือกแบบไหนและผลอุ่นเครื่องจะออกมายังไง..มันก็ไม่สำคัญ เพราะผมว่าตัวแปรที่จะเป็นตัวกำหนดผลการแข่งขันน่าจะเป็นเรื่องการจัดการ, ความพร้อมของทีมและการเตรียมทีมจากวันนี้จนถึงวันแข่งขัน ซึ่งใครเตรียมทีมได้ดีกว่า, พร้อมกว่า และละเอียดมากกว่าน่าจะเป็นผู้ที่ได้รับพรจากเทพีแห่งชัยชนะ
“บอลออกได้สามหน้า โฟกัสที่ตัวเราดีกว่า!”
และกับคำถามที่ว่าไมเนอร์เชนจ์ของเขาน่ากลัวมั้ย? อดใจรอกันหน่อย..เดี๋ยวอีก2เดือนพี่ไทยจะเป็นฝ่ายให้คำตอบนั้นเอง!
TAG ที่เกี่ยวข้อง