stadium

ฟุตซอลไทยลีก-ฟุตซอลเดินสาย เส้นขนานที่ต้องพัฒนาไปด้วยกัน

5 เมษายน 2564

ฟุตซอลไทยลีก-ฟุตซอลเดินสาย

เส้นขนานที่ต้องพัฒนาไปด้วยกัน

#ChangsuekFutsalCorner

 

ปัจจุบันต้องยอมรับว่า "ฟุตซอลลีก" ของประเทศไทย ยังอยู่ในช่วงพัฒนาให้ก้าวสู่คำว่า "ลีกอาชีพ" แบบเต็มตัว เพราะมีหลายๆ สโมสรทั้งในลีกสูงสุด และลีกรอง ที่ยังบริหารงานแบบกึ่งอาชีพ เหมือนเช่น ฟุตบอลลีกไทย เมื่อ 10 ปีที่แล้ว  

 

หลายสโมสรเจอปัญหาการเงินเล่นงาน ฐานเงินเดือนนักฟุตซอลไม่ได้เยอะเหมือนฟุตบอล 11 คน บางสโมสรจ่ายเงินเดือนนักเตะเพียงหลักพัน แข้งดีกรีทีมชาติไทย บางคนยังรับ 3-4 หมื่นบาทต่อเดือนเท่านั้น และสัญญาเป็นฤดูกาลต่อฤดูกาล ทำให้นักเตะส่วนใหญ่ยังคงเลือกลงเล่น "ฟุตซอลเดินสาย" เพื่อหารายได้เพิ่มเติมไปดูแลครอบครัว  

 

แม้จะมีกฏออกมาชัดเจนจากฝ่ายจัดการแข่งขันฟุตซอลลีก ห้ามนักฟุตซอลอาชีพ ลงเล่นเดินสายเด็ดขาด หากมีหลักฐานจะลงโทษปรับเงินสโมสร และแบนนักกีฬาที่ทำผิด แต่ในเมื่อปากท้องครอบครัวต้องมาก่อน สุดท้ายด้วยเงินเดือนไม่พอ ทำให้นักฟุตซอลมากมายเลือกที่จะลงเล่นเดินสายเหมือนเช่นเคย  

 

ปัจจัยสำคัญที่นักฟุตซอลลีก ยังต้องลงเล่นรายการเดินสาย คือเรื่องของรายได้ หาก "ฟุตซอลลีก" เป็นลีกอาชีพแบบเต็มตัว ฐานเงินเดือนที่มั่นคง สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ และฝ่ายจัดการแข่งขันมีกฏที่ชัดเจน พร้อมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือนักเตะทันที หากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคนทำทีม เชื่อว่านักกีฬาเองพร้อมทำตาม ใครจะอยากไปเสี่ยงกับอาการบาดเจ็บจริงไหม

 

และฝ่ายจัด ฟุตซอล ไทยลีก ต้องมีกฎ "ไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์" ที่ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ แต่ละสโมสรต้องบริหารรายรับ และรายจ่ายให้เหมาะสม มีรายจ่ายสอดคล็องกับรายได้ที่ได้รับจากการทำธุรกิจฟุตซอล เช่น จากค่าตั๋วชมการแข่งขัน, ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด, เงินจากผู้สนับสนุนทุกประเภท, เงินรางวัล, การขายของที่ระลึกของสโมสร, การซื้อขายนักเตะ เป็นต้น

 

ต่อมาคือเรื่องของสิทธิประโยชน์ในการถ่ายทอดสด ต้องมีการแบ่งจ่ายเงินในส่วนนี้ให้สโมสรสามาชิกที่เหมาะสม เพราะฟุตบอลอาชีพในปัจจุบันมีมูลค่าที่สูงขึ้น แต่ละสโมสรได้เงินไปบริหารทีมต่อปีเป็นหลักล้าน ต่างกันลิบลับกับ ฟุตซอล ไทยลีก ที่แต่ละสโมสรต้องหาสปอนเซอร์มาทำทีมเอง

 

ขยับมาดูที่ "ฟุตซอลเดินสาย" เป็นรายการที่มีเสน่ห์ของตัวเอง เกมดุเดือดเผ็ดมันส์ใส่กันแบบไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อน มีเกมให้ดูกันยาวๆ หลายคู่ แฟนบอลได้ชมเกมติดขอบสนามแบบไม่ต้องเสียเงิน มีเพลงเปิดระหว่างเกม พร้อมคนพากย์แบบฮาร์ดคอร์ปนตลกเฮฮา  

 

บางรายการมีการยกระดับให้ดูดี ทั้งสนาม ไฟ แสง สี เสียง ที่มาแบบเต็มระบบ บวกกับการถ่ายทอดสดในเฟซบุ๊ก ใช้สื่อโซเชียลประชาสัมพันธ์ นักเตะเองก็ได้ค่าจ้างทันทีหลังจบแมตช์ ไล่เลี่ยงไปตั้งแต่ละร้อย ถึงหลักพันต่อแมตช์ นักเตะบางคนโนเนมในลีก แต่เป็นดาวเด่นในรายการเดินสาย  

 

ซึ่งในอนาคตอันใกล้หวังว่า ฟุตซอลไทยลีก กับ ฟุตซอลเดินสาย จะเดินไปด้วยกันได้แบบไม่มีปัญหา ฝ่ายจัดการแข่งขันฟุตซอลลีก ต้องกล้าเปิดใจจับเข่าพูดคุยกับ กลุ่มคนทำทีม และจัดฟุตซอลเดินสาย หาจุดลงตัว เดินหน้าพัฒนาไปด้วยกัน มีการออกกฏระเบียบร่วมกันที่ชัดเจน  

 

ยกตัวอย่างง่ายๆ หากอยู่ในช่วงโปรแกรมแข่งขันฟุตซอลลีกอาชีพ นักกีฬาเองต้องไม่แอบไปเล่นเดินสาย เช่นเดียวกับ ฟุตซอลเดินสาย ก็ต้องห้ามผู้เล่นจากลีกลงเล่นเด็ดขาดไม่ว่าจะรายการไหนระหว่างโปรแกรมลีกอาชีพ  

 

ถ้าหมดโปรแกรมแข่งขันลีกอาชีพ ก็เปิดโอกาสให้นักเตะสามารถเล่นเดินสายได้ เพราะต้องยอมรับว่านักฟุตซอลบ้านเรา ฐานเงินเดือนไม่ได้สูง ช่วงปิดฤดูกาลหลายทีมจ่ายเงินเดือนนักเตะเพียงแค่ครึ่งเดียว นอกจะเพิ่มรายได้ให้นักเตะแล้ว นักเตะเองยังได้ออกสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ เยาวชนในต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสเดินทางเข้ามาชมเกมในลีกอาชีพ ที่กระจุกอยู่ใน กรุงเทพฯ  

 

แต่ในอนาคตถ้า "ฟุตซอลลีก" ขยับขึ้นไปลีกอาชีพแบบเต็มตัว มีรายได้ที่มั่นคง นักกีฬาเองก็ต้องทำตัวให้ให้สมกับคำว่า "นักกีฬาอาชีพ" ที่ไม่ใช่มีดีแค่ฝีเท้า แต่ต้องมีระเบียบวินัย และเป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนรุ่นต่อๆ ไป

 

ส่วนฟุตซอลเดินสาย ก็จะเป็นเวทีที่แต่ละสโมสรได้ให้โอกาสนักเตะในอคาเดมี่(จริงๆ ทุกทีมต้องมี) หรือนักเตะที่กลับมาจากอาการบาดเจ็บ ได้ลงเป็นวาดลาย เรียกความมั่นใจ เพื่อพัฒนาต่อยอดฝีเท้า ก่อนชยับขึ้นไปเป็นนักกีฬาอาชีพ  

 

หลังจากนี้หวังว่า สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ฝ่ายจัดการแข่งขัน และสโมสร จะร่วมมือกันเอาจริงเอาจังช่วยกันพัฒนายกระดับฟุตซอลลีกไทย ให้ก้าวไปสู่ลีกอาชีพจริงๆ สักที


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

Futsal Addict

Changsuek Content Creator

La Vie en Rose