22 มีนาคม 2564
ในฟุตบอลสมัยใหม่ แบ็คไม่ใช่ตำแหน่งที่คอยวิ่งขึ้นลงประจำการอยู่บริเวณริมเส้นอีกต่อไป เพราะหลายๆทีมได้ปรับปรุงรูปแบบการยืนตำแหน่ง และวิธีการเล่นของแบ็คใหม่ ซึ่งนักเตะอย่างธีราทร บุญมาทัน แข้งไทยคนแรกที่คว้าแชมป์เจลีก ก็เล่นแบ็คสไตล์ Inverted Back ให้กับทีมโยโกฮาม่า เอฟมารินอส ด้วยเช่นกัน และ Inverted Back คืออะไร ? มีวิธีการเล่นและยืนตำแหน่งอย่างไร ? วันนี้ Changsuek AI จะพาทุกท่านไปศึกษาผ่านบทความนี้
Inverted เป็นศัพท์ในภาษาอังกฤษที่มีความหมายว่า การกลับด้าน ดังนั้น Inverted Back จึงแปลตรงตัวว่า “แบ็คกลับด้าน” เพราะว่าจริงๆแล้วแบ็คนั้นจะเป็นตำแหน่งที่ประจำการบริเวณริมเส้นเท่านั้น และจะคอยวิ่งขึ้นวิ่งลง แต่ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งใหม่ที่ฉีกทุกกฎการเล่นแบบเดิมๆ โดยแบ็คสไตล์นี้จะใช้การเคลื่อนที่หุบเข้าด้านในแทน เพื่อยืนตำแหน่งเหมือนเป็นกองกลางอีกตัวหนึ่ง
ดังนั้นหากจะแปลให้เห็นภาพชัดเจน Inverted Back คือแบ็คที่คอยเติมเกมด้วยการหุบเข้าด้านในนั่นเอง
ในสมัยก่อนแบ็คอาจจะต้องเป็นผู้เล่นที่มีพละกำลังมหาศาล เล่นเกมรับได้ดี และเติมเกมรุกได้ตลอดเวลา แต่แบ็คสไตล์นี้อาจจะไม่ต้องใช้พละกำลังมากขนาดนั้น แต่เน้นทักษะการรับส่งบอล การสร้างสรรค์เกม รวมถึงความฉลาดและไหวพริบในการเอาตัวรอด เปรียบเสมือนกองกลางอีกคนหนึ่ง แบ็คที่โดดเด่นในการเล่นแบบนี้อาธิเช่น ธีราทร บุญมาทัน,เจา คันเซโล่, ฟิลิปป์ ลาห์ม เป็นต้น
ในทีมที่เน้นการครอบครองบอลอย่างเช่น แมนเชสเตอร์ซิตี้ ,บาร์เซโลน่า หรือ โยโกฮาม่า เอฟมารินอส ต้องการจำนวนของผู้เล่นกองกลางให้มากพอเพื่อคอยเชื่อมเกม และรักษาการครอบครองบอล ดังนั้นหากเล่นกองกลาง3ตัวเป็นปกติ และใช้แบ็คสองข้างหุบเข้ามาเป็นกองกลาง เท่ากับทีมนั้นจะมีกองกลางมากถึง5ตัว!ทำให้ได้เปรียบเชิงจำนวนในเวลาที่ครอบครองบอล
การมีแบ็คสองตัวมายืนซ้อนตำแหน่งหลังกองกลาง ทำให้กองกลางธรรมชาติของทีมสามารถเติมเกมรุกไปด้านหน้า สร้างสรรค์เกม รวมถึงสอดขึ้นไปยิงประตูได้อย่างอิสระและไม่ต้องพะวงด้านหลัง เราจะเห็นว่าทีมอย่างแมนเชสเตอร์ซิตี้ที่เล่นระบบแบ็คตัดเข้าในแบบนี้ มักจะมีกองกลางเชิงรุกที่ต้องการอิสระในการเล่นเกมรุกมากๆ อย่างเช่น เควิน เดอบรอยน์ เป็นต้น
โดยส่วนมากในพื้นที่ริมเส้นฟุตบอลมักจะเป็นแบ็คกับปีกที่จับคู่กัน เพื่อดวลกับ แบ็คกับปีก ของทีมคู่แข่ง แต่เมื่อแบ็คหนึ่งคนผันตัวเข้าไปเป็นกองกลาง เป็นการกึ่งบังคับให้ปีกของคู่แข่งต้องบีบเข้าไปช่วยตรงกลางด้วย มิเช่นนั้นกองกลางของทีมคู่แข่งจะเสียเปรียบในเชิงจำนวน ทำให้ปีกของทีมรุกมีอิสระในการได้ดวล1ต่อ1กับแบ็คของคู่แข่งมากยิ่งขึ้น
อีกหนึ่งปัญหาที่แบ็คจอมบุค (Wingback) พบเจอบ่อยคือการที่วิ่งเติมเกมรุกขึ้นไป แล้วเสียบอล จึงถูกคู่แข่งโจมตีกลับมาในพื้นที่ว่างที่แบ็คหลุดตำแหน่ง การใช้แบ็คหุบเข้าในก็เป็นอีกวิธีหนึ่งเพราะแบ็คจะยังคงรักษาตำแหน่งอยู่บริเวณหน้ากองหลังเสมอ ซึ่งไม่ได้ไกลกันมาก เมื่อเทียบกับการวิ่งเติมเกมรุกไปยังพื้นที่สุดท้าย และเมื่อคู่แข่งโจมตีมาบริเวณริมเส้น ก็จะยังมีเวลาในการวิ่งกลับไปรักษาตำแหน่ง โดยที่ไม่ต้องใช้พละกำลังเยอะเหมือนกับแบ็คทั่วๆไป
TAG ที่เกี่ยวข้อง