stadium

ต่อลาภ เสฏฐโสธร กับ 5 ปีสุดมหัศจรรย์ในการรับใช้ทีมชาติไทย

26 มกราคม 2563

ต่อลาภ เสฏฐโสธร ถือว่านักว่ายน้ำชายที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของวงการว่ายน้ำไทย และไม่น่าเชื่อว่าเขาใช้เวลาเพียงแค่ 4-5 ปีเท่านั้น ในการรับใช้ทีมชาติไทยชุดใหญ่ ตลอดเวลา 5 ปีในนามทีมชาติไทยชุดใหญ่ ประวัติศาสตร์มากมายถูกเขียนขึ้นในยุคของเขา ประวัติศาสตร์ที่นักว่ายน้ำรุ่นน้องอาจต้องใช้เวลา 50 ปีเพื่อก้าวข้าม และนี่คือเส้นทาง 5 ปีสุดมหัศจรรย์ของ ต่อลาภ เสฏฐโสธร ผู้ชายที่พาว่ายน้ำไทยไปผงาดในระดับเอเชีย

 

เยาวชนทีมชาติไทย อาเซียน เอจ กรุ๊ป

ต่อลาภ เริ่มหัดว่ายน้ำในวัย 5 ปี ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ คุณพ่อคุณแม่อยากให้ว่ายน้ำได้ และเป็นการใช้เวลาว่างระหว่างรอคุณแม่เลิกงาน ต่อลาภใช้เวลาไม่นานในการฉายแววจนโค้ชต้องพาเข้าสู่เส้นทางนักกีฬา จนกระทั่งในวัย 10 ปีหลังจากโชว์ฟอร์มต่อเนื่องในระดับเยาวชนโอกาสแรกในเวทีระดับชาติก็มาถึง ในศึกอาเซียน เอจ กรุ๊ป และเจ้าตัวก็สอย ถ้วยรางวัลนักว่ายน้ำยอดเยี่ยมของรุ่นมาครองได้ทันที ตั้งแต่ติดทีมชาติครั้งแรก แต่นั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า

 

 

ปีแรก ทีมชาติไทยชุดใหญ่ ฮิโรชิม่า เกมส์ 1994

ในวัย 14 ย่าง 15 ปี ต่อลาภ ได้โอกาสประเดิมทีมชาติไทยชุดใหญ่ ในศึกใหญ่อย่างเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 12 ที่เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น โดยไม่เคยผ่านซีเกมส์เลยด้วยซ้ำ ต่อลาภทำได้ดีด้วยการผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศในท่าฟรีสไตล์ 1,500 เมตร ก่อนผนึกกำลังร่วมกับรุ่นพี่ระดับพระกาฬคว้าอันดับ 4 ในท่าผลัดฟรีสไตล์ 4x200 เมตร

 

ก่อนถูกปรับมาได้เหรียญทองแดงเพราะทีมชาติจีน มีปัญหาเรื่องสารกระตุ้น โดยใน เอเชียนเกมส์ครั้งนั้น ทีมว่ายน้ำไทยบินสูงถึงอันดับ 4 ของตารางเหรียญรวม เป็นรองเพียง จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เรียกได้ว่าแค่การติดทีมชาติครั้งแรกในวัย 14 ปี เจ้าตัวก็สามารถสร้างประวัติศาสตร์เล็กๆสำเร็จไปแล้วก็็

 

 

ปีที่ 2 กับซีเกมส์ครั้งแรก ที่เชียงใหม่ 1995

ถึงจะอายุแค่ 15-16 ปี แต่การที่ ต่อลาภ ผ่านศึกใหญ่อย่างเอเชียนเกมส์มาแล้ว ในระดับซีเกมส์จึงไม่ได้สร้างความรู้สึกหวาดหวั่นให้กับตัวเขาเท่าไหร่นัก ประเดิมซีเกมส์ครั้งแรกแบบที่นักว่ายน้ำทั้งอาเซียนได้แต่ฝันถึง ด้วย 4 เหรียญทองแบบเน้นๆ จากท่าฟรีสไตล์ 200 เมตร, 400 เมตร และ 1,500 เมตร รวมถึงผลัดฟรีสไตล์ 4x200 เมตร ร่วมกับรุ่นพี่ โดยในซีเกมส์ครั้งนั้นทีมชาติไทยครองบัลลังก์สระอาเซียนแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ด้วยจำนวน 17 เหรียญทองโดยที่ชาติอื่นทำได้แต่มองตาปริบๆ

 

 

ปี 3 แอตแลนต้าเกมส์ โอลิมปิก 1996

หนึ่งปีถัดมาหลังจากประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดในซีเกมส์หนแรก ต่อลาภในวัย 16 ย่าง 17 ปี ก็มีโอกาสได้ไปลุยศึกมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติอย่างโอลิมปิก เกมส์ โดยตัวเขารู้สึกตื่นเต้นและกดดันเล็กน้อย ถึงจะไปแบบไม่ได้ลุ้นเหรียญ แต่ก็มีภาระที่ต้องทำเวลาให้ดีกว่าเดิม ถึงจะไม่ได้เข้ารอบ 8 คนสุดท้ายจากทั้ง 3 ท่าที่ลงแข่ง ฟรีสไตล์ 200 เมตร, 400 เมตร และ1,500 เมตร แต่เจ้าตัวก็เก็บประสบการณ์จากโอลิมปิกกลับมาเพียบ เพื่อใช้เตรียมความพร้อมในการลุยรายการถัดไป

 

ปี 4 ซีเกมส์หนสอง จาการ์ต้า 1997

เหมือนฉายภาพซ้ำที่เชียงใหม่ ต่อลาภ คว้าคนเดียวอีก 4 เหรียญทองแบบไร้เทียมทานใน 4 ท่าเดิมกับที่เชียงใหม่เลย โดยเฉพาะในท่าฟรีสไตล์ 400 เมตร และ1,500 เมตร คนที่สามารถทำได้สูสีเจ้าตัวมากที่สุดกลับกลายเป็น น้องชายร่วมสายเลือดอย่าง ต่อวัย ด้วยซ้ำ โดยที่นักว่ายน้ำคนอื่นได้แต่มองอยู่ห่างๆ และแน่นอนทัพนักว่ายน้ำไทยยังคงแข็งแกร่งไร้เทียมทานกวาดไปอีก 13 เหรียญทองครองบัลลังก์เจ้าสระอาเซียนแบบต่อเนื่อง

 

 

 

ปี 5 ประวัติศาสตร์ในเอเชียนเกมส์หนที่ 2 บางกอกเกมส์ 1998

ต่อลาภ ในวัย 19 ปี มาด้วยความมุ่งมั่น และแรงปรารถนาที่จะต้องคว้าเหรียญทอง
เอเชียนเกมส์ ในบ้านเกิดให้จงได้ เจ้าตัวเตรียมพร้อมแบบสุดๆ ทั้งการไปฝึกซ้อมเก็บตัวที่ประเทศออสเตรเลียนาน 2 ปี ภายใต้การสนับสนุนจากครอบครัว และสมาคมว่ายน้ำแห่งประเทศไทย การฝึกซ้อมแบบหนักหน่วง 20 กิโลเมตรต่อวัน แบ่งเป็น 2 มื้อๆละ 10 กิโลเมตร 

 

ไม่ต้องพึ่งปาฏิหาริย์ใดๆทั้งสิ้น มีแค่การฝึกซ้อมที่ตั้งใจ และการทำงานหนักของต่อลาภก็พอแล้ว เวลาหยุดนิ่งที่ 3:53.61 นาที  ในการแข่งขันฟรีสไตล์ 400 เมตรชาย เสียงกองเชียร์ชาวไทยดังกึกก้อง ศูนย์กีฬาทางน้ำธรรมศาสตร์รังสิต ต่อลาภ ทำได้สำเร็จตามตั้งใจ เหรียญทองเอเชียนเกมส์ที่ต้องการคล้องอยู่ที่คอเรียบร้อย พร้อมสวมบทเป็นดีเจ สั่งเปิดเพลงชาติไทยดังสนั่นที่ศูนย์กีฬาทางน้ำธรรมศาสตร์รังสิต 

 

เท่านั้นยังไม่พอต่อลาภ ยังคว้าอีก 2 เหรียญเงิน ในท่าฟรีสไตล์ 200 เมตร แพ้ให้กับ ยูสุเกะ อิชิกาว่า นักว่ายน้ำญี่ปุ่นแบบเฉียดฉิว เพียงแค่ 0.07 วินาที  และในท่าฟรีสไตล์ 1,500 เมตร แพ้ให้กับ มาซาโตะ ฮิราโนะ เจ้าของอันดับ 6 ท่านี้ ในแอตแลนต้าเกมส์ 1996 ที่เพิ่งแพ้ต่อลาภมาในท่าฟรีสไตล์ 400 เมตร เมื่อเอาเหรียญรางวัลมารวมกับของฉลามณุก ทำให้เอเชียน เกมส์หนนั้น ทีมว่ายน้ำไทยรั้งอันดับ 3 ในตารางเหรียญรวมของว่ายน้ำ เรียกได้ว่าเป็นยุคที่ว่ายน้ำไทยอยู่ในระดับท็อปของเอเชียอย่างแท้จริง

 

 

อำลาสระในนามทีมชาติไทย

การได้เหรียญทองเอเชียนเกมส์ ทำให้ต่อลาภ บรรลุเป้าหมายแบบสมบูรณ์ จึงทำให้เจ้าตัวประกาศเลิกว่ายในนามทีมชาติไทยทันที ทั้งๆที่ฝีมือกำลังพีคแบบสุดๆ แถมชื่อเสียงก็โด่งดังมากๆ ชั่วโมงนั้นถ้าจะบอกว่า 2 พี่น้องเสฏฐโสธร คือนักกีฬาที่โด่งดังที่สุดของไทยก็ไม่ผิดเลย ภาพแฟนกีฬานับร้อยนับพันมารอขอถ่ายรูป อารมณ์เดียวกันกับที่แฟนเพลง มารอถ่ายรูปกับศิลปินเกาหลีสมัยนี้

 

การขาดโค้ชที่มีความรู้ในการสอนว่ายน้ำระยะกลางถึงไกลในปัจจุบัน เป็นเหตุผลหลักที่จนถึงวันนี้สถิติประเทศไทยของต่อลาภ ในท่าฟรีสไตล์ 400 เมตร 800 เมตร และ1,500 เมตร ยังคงยืนหยัดมาเข้าปีที่ 22 แล้วโดยที่ยังไร้วี่แววนักว่ายน้ำรุ่นใหม่มาทำลาย โดยต่อลาภได้ฝากคำแนะนำมาให้รุ่นน้องนักว่ายน้ำว่า ให้มั่นใจในตนเอง และต้องมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองทำได้ โดยหวังว่าสักวันจะมีคนมาทำลาย 3 สถิตินี้ และพาว่ายน้ำไทยกลับไปผงาดในระดับเอเชียอีกครั้ง หรือจะเป็นระดับโอลิมปิกได้ยิ่งดี


stadium

author

ฉลามหนุ่มไทยแลนด์

StadiumTH Content Creator

โฆษณา