stadium

"ภูตะวัน โสภา" ทายาทตัวฟาดสืบตำนาน พรชัย เค้าแก้ว

6 มีนาคม 2564

"ปี 2020 เป็นปีที่ผมภูมิใจที่สุดและเป็นปีที่ผมเสียใจที่สุด เพราะผมต้องเสียคุณพ่อไป ผมเชื่อว่าถ้าคุณพ่อยังอยู่ ท่านน่าจะดีใจและภูมิใจไปกับผมครับ" นี่คือคำตอบแรกของนักตะกร้อดาวรุ่งวัย 20 ปี ที่ในปี 2020 เขาถือเป็นนักตะกร้อที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนนึง ด้วยการกวาดแชมป์ทุกรายการที่ลงแข่งขัน ทั้งการพาทีมสโมสรตะกร้อปทุมธานี-อินทรีเจ้าเวหา คว้าแชมป์ตะกร้อไทยแลนด์ลีก และ การช่วยสโมสรตะกร้อทหารอากาศคว้าแชมป์ที่เป็นรายการใหญ่ที่สุดในประเทศหลังจากห่างหายมาร่วม 6 ปี

 

และนี่ทำให้ชื่อของ ภูตะวัน โสภา กลายเป็นหนึ่งในดาวรุ่งที่น่าจับตามองที่สุดในวงการตอนนี้ และแฟนๆต่างเฝ้ารอที่จะได้เห็นเขาพัฒนาฝีมือ เพื่อขึ้นไปทดแทนดาวค้างฟ้าอย่าง "พรชัย เค้าแก้ว" และเส้นทางของเขาก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว หลังจากมีรายชื่อได้เข้าไปเก็บตัวกับทีมชาติไทยชุดใหญ่ แต่ตัวของภูตะวันเองก็ยอมรับว่ายังคงต้องใช้เวลาในการพัฒนาฝีมือตัวเองให้ก้าวขึ้นไปเป็นนักกีฬาที่ดีกว่าเดิม

 

 

"โรงยิมแห่งความฝัน"

 

"จุดเริ่มต้นของผมกับกีฬาตะกร้อ เริ่มต้นตอนผมเรียนอยู่ ป.4 ครับ ตอนเด็ก ๆ ก็ชอบเล่นกีฬาตามประสาเด็ก ช่วงเย็น ๆ ก็ชอบไปนั่งเล่นที่โรงยิม ฯ ของโรงเรียน (โรงเรียนพนาศึกษา อ.พนา จ.อำนาจเจริญ) เพื่อไปดูพวกรุ่นพี่เขาเตะตะกร้อกัน ก็ไปทุกวันแต่ไม่ได้ลงเล่น แต่อยู่มาวันนึงทีมมันขาดพอดี คุณครูวรวุฒิ บำเพ็ญ ที่เป็นโค้ชในตอนนั้นก็เลยเรียกผมลงสนาม นั่นคือจุดเริ่มต้นของผมกับกีฬาตะกร้อ"

 

"ตอนนั้นยังเด็กก็ไม่ได้คิดอะไร รู้แค่ว่าอยากเล่นกีฬา แต่พอมาเล่นตะกร้อก็รู้สึกว่ามันสนุก เป็นกีฬาที่ท้าทาย ยิ่งเห็นพวกรุ่นพี่ที่ขึ้นฟาดได้ มันก็เลยทำให้เราอยากทำได้บ้าง อีกอย่างคุณพ่อผมก็เล่นตะกร้ออยู่แล้วด้วย มันเลยทำให้ผมเลือกที่จะเล่นกีฬานี้ให้ได้"

 

"ตอนนั้นคิดอย่างเดียวอยากเล่นให้ได้เหมือนพี่ ๆ เขา แต่คุณครูวรวุฒิ บำเพ็ญ โค้ชคนแรกของผมบอกเอาไว้ว่าถ้าเราเล่นกีฬาเก่ง ถ้ามีวิมัย เราสามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้ตัวเราได้ รวมไปถึงมีโอกาสติดทีมชาติที่จะเป็นความภาคภูมิใจให้กับครอบครัว และที่สำคัญถ้าเราเก่ง ก็จะมีคนชอบเรา อยากเห็นเราลงเล่น ตอนนั้นเป็นเด็กพอได้ยินประโยคนี้ มันก็จุดไฟในตัวผมขึ้นมาทันที ว่าผมจะต้องเล่นตะกร้อให้เก่งให้ได้"

 

"โรงเรียนผมเป็นโรงเรียนเล็ก ๆ ครับ (โรงเรียนพนาศึกษา) มีนักเรียนแค่ 300 คน นักกีฬาตะกร้อของโรงเรียนมีแค่ 4 คน ในตอนนั้นผมตัวสูงที่สุดในทีม โค้ชของผมเลยอาศัยข้อได้เปรียบตรงนี้ จับผมมาเป็นทั้งตัวเสิร์ฟและเป็นตัวฟาดในคนเดียวกัน"

 

 

 

 

 

"แต่ว่าตอนนั้นเราเป็นโรงเรียนเล็ก ๆ เลยต้องพยายามมากกว่าคนอื่น ซ้อมกันก็เหนื่อยทั้งนักกีฬา ทั้งโค้ช แต่พอไปแข่งก็ยังสู้ทีมอื่นไม่ได้ พอกลับมาซ้อมโค้ชผมก็เคี่ยวหนักกว่าเดิม เริ่มจากการเดาะตะกร้อวันละ 2 พันครั้ง ทั้งก่อนและหลังซ้อม ซ้อมหนักมากจนผมจำได้ว่า รู้สึกเหนื่อยและไม่อยากซ้อมแล้ว"

 

"มันหนักมากสำหรับเด็ก ๆ อย่างพวกผมในตอนนั้น จนเคยชวนเพื่อนร่วมทีมหนีซ้อม ไปยอมไปซ้อมตอนเย็น แต่วันถัดมาเจอหนักกว่าเดิม โดนลงโทษและดุว่า ครูตั้งใจมาซ้อมให้ แต่ทำไมถึงหนีซ้อม มันเลยทำให้เราฉุกคิดว่า เราจะต้องตั้งใจกว่าเดิมเพื่อคุณครูที่เสียสละเวลามาให้เรา"

 

จากจุดเริ่มต้นในโรงยิมเล็ก ๆ ที่โรงเรียนพนาศึกษา อ.พนา จ.อำนาจเจริญ ของครูที่อยากเห็นเด็ก ๆ มีโอกาสจากกีฬาตะกร้อ และนักกีฬา 4 คน วันแล้ววันเล่าที่ฝึกซ้อมกันเป็นกิจวัตร สู่เวทีแข่งขันที่เริ่มเห็นความหวัง หลังจากที่เริ่มชนะได้บ้างในการแข่งขันเวทีเล็ก ๆ

 

"รายการแห่งความทรงจำของผมในตอนเด็ก คือ รายการแข่งขันระดับจังหวัดเพื่อหาตัวแทนไปแข่งขันในระดับภาค จำได้ว่าแข่งขันจนไปถึงรอบชิงชนะเลิศ ไปเจอคู่แข่งจากโรงเรียนชุมชนบ้านกุดปลาดุก ตอนนั้นแข่งขันกัน 3 ใน 5 เซต แต่ทีมผมเริ่มต้นด้วยการแพ้ไปก่อนสองเซตแรก แต่ก็รวมใจกันกลับมาเอาชนะ 3 เซตรวด ในจังหวะเตะลงแต้มสุดท้ายยังจำความรู้สึกได้เลยว่า มันเป็นความรู้สึกที่ดีมาก ๆ และยังเป็นความทรงจำที่ดีที่สุดในวัยประถม"

 

"สำหรับชีวิตในวัยเด็กของผม คนที่มีส่วนสำคัญจนทำให้ผมเป็นได้ทุกวันนี้ ก็ต้องขอบคุณคุณครูหนุ่ม วรวุฒิ บำเพ็ญ ที่คอยสอนผมทุกอย่างทั้งเรื่องตะกร้อและการใช้ชีวิตจนเหมือนพ่อคนที่สองของผม"

 

 

 

"เรียนรู้ชีวิตจริง"

จากการลงเล่นให้กับโรงเรียนพนาศึกษาซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสจนถึงชั้น ม.3 "ภูตะวัน โสภา" และเพื่อนร่วมทีมก็ได้สร้างความสำเร็จในเวทีระดับประเทศได้หลายรายการ และหลังจากนั้น "ครูหนุ่ม" วรวุฒิ บำเพ็ญ ก็ได้ส่งต่อไปที่จ.มหาสารคาม ที่มีค่ายตะกร้อที่โค้ชคนแรกของภูตะวัน ก็หวังจะส่งไม้ต่อเพื่อปูเส้นทาง และจุดหมายปลายทางนั้น คือ รร.ท่าขอนยางวิทยาคม จ.มหาสารคาม โดยมี "ครูหน่อง" สกุลชัย ดับโศก ที่เป็นอดีตนักตะกร้อมากฝีมือรอขัดเกลาวิชา

 

"วันแรกที่เข้าไปที่โรงเรียนท่าขอนยาง ยังจำความรู้สึกได้ว่าคงอยู่ไม่ได้แน่ ๆ เพราะคืนแรกต้องนอนกับรุ่นพี่ 4-5 คนในมุ้งและมีพัดลมตัวเดียว จากที่อยู่บ้านนอนห้องแอร์ พอมาเจอแบบนี้ก็รู้สึกอยู่ไม่ได้แน่เลย"

 

"แต่มองอีกมุม การได้มาอยู่ที่นี่ผมก็ได้เรียนรู้ทั้งวิชาตะกร้อและการใช้ชีวิต นอกจากการซ้อมกีฬาแล้ว ชีวิตในแต่ละวันก็ต้องรับผิดชอบตัวเองมากขึ้น ซักผ้าเอง ทำความสะอาดที่พักเอง ทำกับข้าวกินเอง โดยเฉพาะการได้เป็นเด็กหาปลา คือ การต้องไปว่านแหเพื่อเอาปลามาทำกับข้าวกิน ก็สอนให้ผมได้เติบโตขึ้นมีความพยายามมากขึ้นในชีวิต"

 

"ส่วนวิชาตะกร้อที่ผมได้จากท่าขอนยาง การมาอยู่ที่นี่ไม่เหมือนตอนเด็กที่มีแค่ 4 คน เวลาซ้อมคนก็เยอะกว่า โค้ชอาจจะดูแลไม่ทั่วถึง ผมเลยต้องพยายามให้มากกว่าคนอื่น ถ้าเขาซ้อมเท่านี้ ผมก็ต้องทำให้มากกว่าคนอื่น อีกอย่างอยู่ที่นี่ผมต้องเล่นทั้งตัวเสิร์ฟและตัวฟาด ก็ต้องใช้พละกำลังที่มากกว่าคนอื่น"

 

"สำหรับครูหน่อง ถือเป็นอีกคนสำคัญของผม นอกจากจะเป็นครูตะกร้อแล้ว ยังสอนให้ผมรู้จักใช้ชีวิต ท่านปลูกฝังผมหลายเรื่อง เช่น การไม่เอาเปรียบคนอื่น เวลาซ้อมเสร็จก็ต้องรอกินข้าวพร้อมกัน ต้องรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้กับคนอื่น"

 

 

ตลอดเวลา 3 ปี ที่ภูตะวัน โสภา ลงเล่นให้กับ รร.ท่าขอนยางวิทยาคม เขาเองและเพื่อนร่วมทีม ต่างประกาศศักดาในวงการตะกร้อขาสั้น ทั้งการคว้าแชมป์ทีมชุดในการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ , แชมป์กีฬานักเรียนนักศึกษาแบบไม่แพ้ใคร รวมไปถึงติดเยาวชนทีมชาติสองสมัย จนกลายเป็นใบเบิกทางสู่การก้าวเท้าเข้าไปยังสโมสรตะกร้อทหารอากาศ หนึ่งในสโมสรตะกร้อชั้นนำของเมืองไทย และผลงานแรกของเขาคือการคว้าแชมป์ในรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ในรายการชิงแชมป์ประเทศไทยแบบไม่เสียเซตให้ทีมใดเลยตลอดการแข่งขัน

 

"หลังจากจบม.6 ผมก็มาอยู่ที่สโมสรทหารอากาศ ด้วยความที่เป็นเด็ก มาเจอรุ่นพี่ที่เก่งๆ ในตอนแรกเรารับลูกเสิร์ฟใครไม่ได้เลยด้วยความที่เด็กกว่าทำให้รุ่นพี่เล่นงานเราได้ง่าย แต่ผมก็ไม่ยอมแพ้ พยายามฝึกซ้อมทุกวัน เจอลูกเสิร์ฟของพี่ๆทุกวัน จนเราสามารถรับได้ มันก็มีความมั่นใจมากขึ้น พอได้ไปแข่งขันในรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี มันเลยทำให้เราไม่กลัวใคร ลงเล่นด้วยความมั่นใจ และสามารถคว้าแชมป์แบบไม่แพ้ใครและไม่เสียเซตให้ใครด้วย"

 

หลังจากนั้นไม่นาน เส้นทางของภูตะวัน โสภา ก็ได้โคจรกลับไปที่โรงยิมฯที่เขาเคยเติบโตมาในวัยเด็กอีกครั้ง หลังจากที่โค้ชคนแรกของเขาอย่าง "ครูหนุ่ม" วรวุฒิ บำเพ็ญ ได้ตัดสินใจส่งทีมสโมสรตะกร้อจ.อำนาจเจริญเข้าร่วมการแข่งขันตะกร้อไทยแลนด์ลีกในปี 2019 และแม้จะเป็นการเข้าร่วมในครั้งแรกแต่เหล่าขุนพลวานรพิฆาตต่างสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการคว้ารองแชมป์

 

"ในตอนนั้นผมบอกกับครูหนุ่มว่า ผมขอเป็นแค่ตัวสำรองของพวกพี่ๆได้มั้ย เพราะเรายังเด็กและไม่คิดว่าจะสามารถยืนระยะได้ แต่พอเปิดฤดูกาล เราได้ลงสนามตั้งแต่แมทซ์แรก และสามารถเก็บชัยชนะได้ มันเลยกลายเป็นความมั่นใจที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นผมก็เล่นด้วยความสนุก เพราะโรงยิมฯที่ใช้เป็นสนามแข่งขันก็เป็นสถานทีที่เราอยู่มาตั้งแต่เด็ก ความรู้สึกตอนนั้นคือภูมิใจมาก ที่ได้ลงเล่นต่อหน้าญาติพี่น้อง และครอบครัวที่มาเชียร์ทุกนัด"

 

เด็กหนุ่มวัย 18 ปี เริ่มต้นเส้นทางชีวิตจริงในสายตะกร้อ ด้วยการเอาดีกรีรองแชมป์ตะกร้อไทยแลนด์ลีก 2019 ในฐานะผู้เล่นตัวจริงทุกนัด และหลังจากนั้นฟอร์มก็ไปเข้าตาทีมตะกร้อลีกอย่างสโมสร ตรังกานู เทอเทิ่ลส์ ที่ดึงตัวไปวาดลวดลายในการแข่งขัน

 

 

และในปี 2020 นับเป็นปีที่น่าจดจำ และ สุดเศร้าของ "ภูตะวัน โสภา" เพราะในเส้นทางตะกร้อเขาเองต่างเดินหน้ากวาดแชมป์มาตั้งแต่ต้นปีถึงท้ายปี เริ่มจากการคว้าแชมป์ทีมเดี่ยวในศึกตะกร้อในศึกตะกร้อชิงถ้วยพระเทพฯ ครั้งที่ 32 , แชมป์ทีมเดี่ยว ศึก "ควีนส์คัพ” ครั้งที่ 10 , แชมป์ทีมชุดกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 47 , แชมป์ตะกร้อไทยแลนด์ลีก 2020 และแชมป์ทีมชุดศึกชิงถ้วยพระราชทาน ม.ว.ก. ครั้งที่ 41

 

"เป็นปีที่ผมคงไม่มีวันลืมกับทุกรายการที่คว้าแชมป์ได้ทุกรายการที่ลงแข่งขัน โดยเฉพาะการแข่งขันในศึกชิงถ้วยพระราชทาน ม.ว.ก. ครั้งที่ 41 ที่เป็นครั้งแรกที่ผมลงแข่งขัน เพราะ 5 ปีที่ผ่านมา ทหารอากาศไม่เคยได้สัมผัสถ้วยแชมป์เลย และต้องลงสนามเจอกับแชมป์ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาอย่างกองทัพบก ที่เต็มไปด้วยนักตะกร้อทีมชาติไทย แต่พอลงสนามไปมันไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะในทีมที่สอง เซตแรกก็แพ้ไปก่อน แต่พวกพี่ๆเขาก็ฮึดกลับมาชนะได้ จนมาถึงทีมตัดสินที่ผมต้องลงสนาม"

 

"เซตแรกผมแพ้แบบไม่ได้ลุ้นเลย คิดในใจว่ามันคงจบแล้ว แต่สุดท้ายคำว่าทำได้แค่นี้หรอ มันก็เข้ามาในหัว หลังจากนั้นผมและเพื่อนร่วมทีมก็มารวมใจกันสู้แบบไม่มีอะไรจะเสีย และสุดท้ายเป็นฝ่ายที่พลิกกลับมาชนะ จนช่วยพาทีมทหารอากาศคว้าแชมป์ได้ในรอบ 5 ปี ในวินาทีนั้นผมอยากตะโกนออกมาดังๆว่าทำได้แล้ว"

 

"ส่วนที่บอกว่าเป็นปีที่ทั้งดีใจและเสียใจ คือ ทุกครั้งที่แข่งเสร็จหรือได้แชมป์ ผมก็จะโทรหาคุณพ่อทุกครั้ง แต่ผมเพิ่งเสียท่านไปก่อนแข่งขันประมาณ 2-3 เดือน มันก็เป็นความรู้สึกที่หวิวๆ เพราะตอนที่ท่านป่วยผมก็บอกท่านว่าให้รอดูผมหน่อยนะ ผมจะพยายามทำให้ได้ และในวันที่ผมประสบความสำเร็จ ผมก็อยากขอบคุณคุณพ่อผมที่คอยผลักดันจนทำให้เดินทางมาได้ขนาดนี้"

 

 

หลังจากที่คว้าแชมป์ทุกรายการที่ลงแข่งขันชื่อของ "ภูตะวัน โสภา" ก็ได้เข้าไปอยู่ในรายชื่อเรียกเก็บตัวฝึกซ้อมของทีมตะกร้อชายทีมชาติไทยชุดใหญ่ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นกับก้าวใหม่ของดาวรุ่งวัย 20 ปี ที่กำลังจะขยับเข้าไปถึงฝันที่หวังไว้

 

"ความฝันอันสูงสุดของผม คือ การได้ติดทีมชาติชุดใหญ่ แต่บันไดก้าวแรกของผมคือการได้เข้าไปเก็บตัว และสิ่งที่ผมต้องทำ คือการพยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากรุ่นพี่ให้ได้มากที่สุด ทำตัวเองให้พร้อมที่สุด และเมื่อวันนั้นมาถึงผมก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดครับ"


stadium

author

ศิรกานต์ ผาเจริญ

StadiumTH Content Creator // ผู้ก่อตั้งเพจสนามตะกร้อ

โฆษณา