11 กุมภาพันธ์ 2564
ตะกร้อได้ไปโอลิมปิก เราคงกวาดเหรียญทองกันแบบสบายใจ นี่คือคำที่แฟนๆกีฬาไทย ต่างเคยนึกถึงความเป็นไปได้นี้ กับกีฬาที่ไทยของเราครองความเป็นเบอร์ 1 มาอย่างยาวนาน แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้ใกล้ความจริงเท่าไหร่ เพราะนอกจาก "ตะกร้อ" ที่แฟนๆกีฬาไทยตั้งความหวังที่จะเห็นเป็น 1 ในชนิดกีฬาของมวลมนุษยชาติแล้วก็ยังมีหลายกีฬาที่ต่อแถวเพื่อเข้าไปบรรจุเช่นกัน
วันนี้ Stadium TH มีแนวคิด กระดุม 9 เม็ด ถึงความเป็นไปได้หากเราอยากเห็นกีฬา "ตะกร้อ" บรรจุในโอลิมปิกเกมส์ เปรียบเทียบเหมือนการติดกระดุมเสื้อ 1 ตัว ที่หากติดได้ตามลำดับขั้นตอน คุณก็จะได้สวมใส่เสื้อด้วยความสวยงามนั่นเอง
กระดุมเม็ดแรก ทำความเข้าใจกับเงื่อนไขของกีฬาที่อยากบรรจุเข้าโอลิมปิกเกมส์
คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้กำหนดเงื่อนไขสำหรับชนิดกีฬาที่สนใจบรรจุในโอลิมปิก โดยมีเงื่อนไขสำคัญ 2 ข้อ คือ 1. กีฬาชนิดใดก็ตามที่จะถูกคัดเลือกให้มีการชิงชัยในโอลิมปิกเกมส์จะต้องมีสมาคมของกีฬา มากกว่า 75 ประเทศขึ้นไป 2. ชนิดกีฬาดังกล่าวจะต้องได้รับความนิยม 3 ทวีปขึ้นจาก 5 ทวีปทั่วโลก โดยในปัจจุบันสมาชิกของสหพันธ์เซปักตะกร้อนานาชาติ มีทั้งหมด 45 ชาติ ซึ่งหากเทียบกับเงื่อนไขแรกยังขาดอยู่ 20 ชาติ
กระดุมเม็ดที่ 2 รสชาติของผลการแข่งขัน
ถ้าถามว่า "ตะกร้อ" ใครเก่งที่สุดบนโลกใบนี้ แน่นอนว่าคำตอบคงเป็น "ประเทศไทย" แบบไม่ต้องคิดนาน อย่างไรก็ตาม เมื่อไหร่ที่กีฬาอะไรซักอย่างเกิดการผูกขาดอยู่ชาติเดียว ความสนุกของกีฬาก็แทบจะไร้รสชาติไปทันที ที่ผ่านมาในเวทีการชิงชัย มีไม่กี่ประเทศที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ อาทิ ไทย , มาเลเซีย , เกาหลีใต้ อาจจะมีม้ามืดอย่างอินโดนีเซีย แต่ท้ายที่สุดแชมป์ก็ยังเป็นของไทยเสมอ ในมุมมองกองเชียร์บ้านเราถือเป็นเรื่องที่ดี แต่กองเชียร์ชาติอื่นล่ะ? มันกลายเป็นการลุ้นอันดับ 2 ไปโดยปริยาย หากเปรียบเทียบกับฟุตบอล ที่หลายๆคนคงได้เห็นว่าในแต่ละปีมีชาติที่ก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างอย่างแชมป์โลก ที่ก็แทบจะไม่ซ้ำหน้ากัน แต่ในที่นี้ไม่ได้บอกว่าไทยเก่งเกินไปเป็นความผิด ชาติอื่นตามไทยไม่ทันเป็นสิ่งที่แย่ แต่ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ในเวทีนานาชาติ หากไม่ใช่กองเชียร์ไทย ชาติอื่นๆก็คงไม่เอ็นจอยที่จะดูเท่าใดนัก แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ต้องไปต่อที่กระดุมเม็ดที่สาม
กระดุมเม็ดที่ 3 ปล่อยวิชาเพื่อสร้างคู่ต่อสู้ที่แข็งแกร่ง
บนโลกนี้ใครตีแบดมินตันเก่งที่สุด มีนักกีฬาฝีมือดีที่สุด คำตอบคงไม่พ้นประเทศจีน หรือพูดถึงเทควันโด แน่นอนก็ต้องยกให้เกาหลีใต้ สิ่งที่ยกมาพูดถึงคือการที่เราได้เห็นการแข่งขันไม่ได้ผูกขาดเหมือนตะกร้อ แม้ว่าจีนจะเก่งที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านักกีฬาจากแดนมังกรจะกวาดแชมป์ทุกรายการ เราได้เห็นชาติต่างๆ มีโค้ชชาวจีน ที่มาพัฒนาฝีมือ อย่าง "น้องเมย์" รัชนก อินททนท์ ก็เคยคว้าแชมป์โลก และขึ้นเป็นมือ 1 ของโลก ภายใต้การฝึกปรือวิชาจากโค้ชชาวจีน หรือจะเป็นเทควันโด ที่เรามี โค้ช เช ยอง ซอก ที่เป็นเบื้องหลังแชมป์โลกและเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ และหากพูดถึงตะกร้อในประเทศไทย เรามีครบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่นักกีฬาเยาวชนที่มีทุกย่อมหญ้า นั่นก็ตามมากับผู้ฝึกสอนฝีมือดีที่คอยขัดเกลา ในตอนนี้หากเราอยากเห็นการแข่งขันที่สนุกสูสีขึ้น ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าหากชาติต่างๆได้ผู้ฝึกสอนจากไทย ที่เข้าใจศาสตร์และศิลป์ตะกร้ออย่างถ่องแท้ ไปเริ่มสร้างนักกีฬาตั้งแต่เยาวชน เราคงได้เห็นเกมส์การแข่งขันที่สนุกสูสี และมีส่วนที่จะทำให้หลายชาติได้รู้สึกว่ากีฬาชนิดนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กีฬาอื่น
กระดุมเม็ดที่ 4 ส่งตะกร้อไปทั่วโลก
จากเงื่อนไขที่บอกว่า ชนิดกีฬาที่สามารถบรรจุโอลิมปิกเกมส์ได้ จะต้องได้รับความนิยม 3 ทวีปขึ้นจาก 5 ทวีปทั่วโลก ในตอนนี้ชาติสมาชิกที่อยู่ภายใต้สหพันธ์เซปักตะกร้อนานาชาติ มีทั้งหมด 45 ชาติ โดยส่วนใหญ่มาจากทวีปเอเชียมากที่สุดที่ 23 ชาติ ขณะที่ทวีปอื่นๆประกอบด้วย ยุโรป , อเมริกาใต้ และอเมริกาเหนือ ซึ่งยังมีสมาชิกเพียงหลักหน่วย ดังนั้นเป้าหมายแรกของสหพันธ์เซปักตะกร้อนานาชาติ คือ การส่งบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถไปวางรากฐานเพื่อสร้างชาติสมาชิกให้มากขึ้นในโซนยุโรปและอเมริกา ส่วนทวีปเดียวที่ยังไม่คนเล่นตะกร้อ คือ แอฟฟริกา ซึ่งน่าสนใจไม่น้อยหากเราสามารถนำตะกร้อไปเผยแพร่ได้ ด้วยสรีระสูงยาวของชาวแอฟริกา หากมาเล่นตะกร้อจะน่าสนใจขนาดไหน
กระดุมเม็ดที่ 5 สร้างมูลค่าให้กีฬาบ้านๆ
พูดถึงตะกร้อ ภาพที่คนในบ้านเรานึกถึง คงไม่พ้นกีฬาของชนชั้นแรงงานที่อาศัยเป็นกิจกรรมออกกำลังกายหลังเลิกงาน และเป็นกีฬาที่เล่นยากแถมยังเจ็บตัว แต่กีฬาตะกร้อ สำหรับชาวต่างชาติ นี่คือความมหัศจรรย์ ทั้งความดุดันในการฟาด แต่แฝงด้วยความอ่อนตัวของร่างกาย และการตีลังกาฟาดหน้าตาข่าย ก็เป็นสิ่งที่สะกดให้ทุกสายตาต้องจ้องมองแบบไม่กระพริบ การทำให้กีฬานี้ไปอยู่ในหมวดหมู่กีฬาเอ็กซ์ตรีมสำหรับต่างชาติ อาจจะเป็นทางเลือกที่ดี หากเราอยากยกระดับตะกร้อให้สู่สายตาชาวโลกได้มากขึ้น เพราะเม็ดเงินของกีฬาเอ็กซ์ตรีมก็ถือว่ามีมูลค่าที่สูง และหากทำได้ สิ่งที่จะตามมาก็มีทั้งเม็ดเงินที่สร้างแรงดึงดูดให้นักกีฬามาเอาดีมากขึ้น การถูกถ่ายทอดสดออกไปทั่วโลกในรูปแบบที่น่าตื่นตาตื่นใจ ก็สามารถสร้างผู้ติดตามได้ดีไม่แพ้กัน และแน่นอนว่า เมื่อไหร่ทีตะกร้อถูกยกระดับให้ทันสมัยและเข้าถึงได้ สิ่งที่ตามมาคือ ชาติต่างๆที่ต้องพยายามสร้างนักกีฬาเข้าสู่เวที เพื่อประกาศศักดาของชาติตัวเอง และมูลค่าเงินรางวัลที่รอคอยยอดฝีมือมาท้าชิงเพื่อคว้ามัน
กระดุมเม็ดที่ 6 สร้างอาชีพนักตะกร้อ
หากเราติดกระดุมตั้งแต่เม็ดแรกจนถึงเม็ดที่ 5 ได้สำเร็จ เรากำลังมีทรัพยากรนักกีฬาตะกร้อจากทั่วโลก แล้วอะไรที่จะรองรับนักกีฬาเหล่านี้ ถ้าไม่ใช่การแข่งขันระหว่างชาติต่างๆ แน่นอนว่าการแข่งขันในรูปแบบสโมสร หรือ อาชีพ จะเป็นสิ่งที่เราจะสามารถพัฒนากีฬาชนิดนี้ได้มากขึ้น หากเปรียบเทียบกับฟุตบอลอาชีพ เราได้เห็นนักเตะจากหลากหลายเชื้อชาติที่มารวมตัวกันเพื่อเป็นทีมที่แข็งแกร่ง เช่นเดียวกันกับหากเราสามารถสร้างลีกตะกร้อได้มากขึ้นบนโลกใบนี้ (ปัจจุบันมีเพียง ไทย และ มาเลเซีย ที่มีการแข่งขันตะกร้อลีก) สิ่งที่จะตามมาคือ เวทีที่นักตะกร้อจะได้พัฒนาฝีมือมากขึ้น นักกีฬาต่างชาติหากอยากพิสูจน์ตัวเอง ก็ต้องพัฒนาฝีมือ เพื่อไปอยู่ลีกในที่มีคุณภาพ ลองนึกภาพนักตะกร้อเกาหลีใต้ ที่มาลงเล่นในลีกบ้านเรา เจอคนเก่งๆทุกสัปดาห์ ฝีมือก็ย่อมพัฒนาไปด้วย และเมื่อลงเล่นในนามทีมชาติ เราก็คงได้เห็นการแข่งขันที่สนุกมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เองที่จะตอบโจทย์จากกระดุมเม็ดที่ 2 ที่ยกระดับการแข่งขันให้น่าสนใจมากขึ้นนั่นเอง
กระดุมเม็ดที่ 7 การจับมือของคู่รักคู่แค้น
ถ้าถามคนดูตะกร้อ อยากดูทีมอะไรเจอกันมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น การเจอกันของสองคู่ปรับตลอดกาลอย่าง ไทย กับ มาเลเซีย ที่ผ่านมาแม้จะมีชาติอื่นๆมาสอดแทรกบ้าง แต่ท้ายที่สุดการเจอกันของสองทีมนี้ก็ยังเป็นอะไรที่น่าติดตาม อย่างไรก็ตามมองอีกหนึ่งมุมสองชาติมหาอำนาจในวงการตะกร้อ ต่างมีเคล็ดลับวิชา ทั้งศาตร์และศิลป์ในสนาม หากไทยมีวิชาการขึ้นฟาดที่สวยงามและหนักหน่วง มาเลเซียเองก็มีลูกซันแบ็ค ที่จับทางยากไม่แพ้กัน และหากทั้งสองทีมมาจับมือกันส่งออกผู้ฝึกสอนไปยังชาติต่างๆทั่วโลก เพื่อเผยแพร่วิชาตะกร้อ เพื่อขยาย ขีดความสามารถของชาติต่างๆได้ ก็ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย
กระดุมเม็ดที่ 8 หน้าที่สำคัญของ "สหพันธ์ตะกร้อโลก"
นี่คือองค์กรสำคัญที่กำหนดทิศทางของอนาคตในกีฬาตะกร้อ และที่ผ่านมาเชื่อว่าสหพันธ์ก็พยายามผลักดันกีฬาตะกร้อมาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยากเห็นไปมากกว่าการเป็นที่มั่นของทีมตะกร้อทั่วโลกแล้ว สิ่งที่สหพันธ์ควรทำ คือ การมีสถาบันในการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เพราะปัญหาที่ปฎิเสธไม่ได้เลย คือ การวางรากฐานของกีฬาชนิดนี้ อย่างที่เมื่อก่อน สมาคมกีฬาตะกร้อแห่งประเทศไทย ก็เคยมี สถาบันพัฒนากีฬาตะกร้อนานาชาติ ( INTA)ในการจัดอบรมผู้ฝึกสอนตะกร้อ เพื่อต่อยอดไปสู่สากล แต่ก็น่าเสียดายที่ในตอนนี้เหลือเพียงแค่ชื่อ ดังนั้นมันคงจะดีไม่น้อยหาก "สหพันธ์ตะกร้อโลก" สามารถสร้างสถาบันที่พร้อมอ้าแขนรับผู้ฝึกสอนจากทั่วโลกเข้ามาเอาวิชาความรู้ของกีฬาตะกร้อไปสร้างนักกีฬาในชาติตัวเอง และนั่นจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่เราจะได้เห็นกีฬาตะกร้อเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก และหากวันนั้นเกิดขึ้นจริง เงื่อนไขที่เราอยากเห็นตะกร้อไปโอลิมปิก ก็คงจะมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่าตอนนี้แน่นอน
กระดุมเม็ดที่ 9 เมื่อทุกอย่างพร้อมก็เดินหน้าทำให้ดีขึ้น
มาถึงตรงนี้จากสิ่งที่บอกมาทั้งหมด หากทำได้จริงกีฬาตะกร้อ จะไม่ได้เป็นกีฬาพื้นบ้านอีกต่อไป เพราะสิ่งต่างๆที่ทำมาทั้งหมด คือ การวางรากฐานกีฬาตะกร้อให้กว้างที่สุด ในขณะเดียวกันการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับกีฬาชนิดนี้ให้เป็นสากลมากขึ้นจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่เราจะได้เห็นชาติสมาชิกที่เพิ่มขึ้น นั่นจะส่งผลไปยัง "พลัง" ของการผลักดันกีฬาตะกร้อให้เข้าสู่โอลิมปิกได้ในอนาตต (แต่ไม่ใช่เร็วๆนี้อย่างแน่นอน)
TAG ที่เกี่ยวข้อง