stadium

"บ้านทองหยอด" โรงงานขนมที่กล้าทุ่มเงินร้อยล้านสร้างเด็กไทยเป็นแชมป์โลก

1 กุมภาพันธ์ 2564

ใครจะคิดว่า จากจุดเริ่มต้นของคนที่เป็นแม่ ที่อยากสร้างชมรม เพื่อให้ลูกหลานจำนวนไม่ได้มากมาย ได้มาเล่นกีฬาแบดมินตันเพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง จะกลายมาเป็น "แม่" ที่มีลูกๆในการเข้ามาเป็นนักกีฬาในสังกัด จนกลายเป็นโรงเรียนแบดมินตัน ที่สามารถผลิตนักกีฬาฝีมือระดับโลก

 

ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.2533 นางกมลา ทองกร หรือ แม่ปุก ได้ก่อตั้งโรงงานขนมไทยบ้านทองหนอด เพื่อเป็นกิจการเลี้ยงครอบครัว โดยนำสูตรขนมไทยมาจากแม่ของเธอเอง ในระยะแรกใช้พื้นที่ไม่มากนัก เพราะทำขายเฉพาะตลาดใกล้เคียง แต่เมื่อได้รับความนิยมและจนสามารถต่อยอดได้มากขึ้น จึงมีพ่อค้าคนกลางต่างถิ่นมารับถึงโรงงานเพื่อนำไปขายต่อ รวมทั้งส่งขายโดยใช้แบรนด์ "บ้านทองหยอด"

 

ด้วยความที่ชื่นชอบกีฬาแบดมินตันแล้วต้องการให้ลูกๆ และเพื่อนๆของลูกได้เล่นกีฬาชนิดนี้ "แม่ปุก" จึงได้สร้างสนามขึ้นเองภายในบริเวณบ้าน จำนวน 1 สนาม และมีนักกีฬาเพียงไม่กี่คน และก็ไม่ใช่คนอื่นไกล นักกีฬาเหล่านั้น คือ ลูกของเธอเองทั้ง พี่ใหญ่อย่าง ภัททพล เงินศรีสุข น้องคนกลางอย่าง ภาณุวัฒก์ เงินศรีสุข และน้องคนสุดท้องอย่าง คณิศรา เงินศรีสุข รวมไปถึงพนักงานในโรงงานที่มาออกกำลังกายในช่วงว่างหรือหลังเลิกงาน

 

ด้วยนิสัยทุ่มเท เอาจริงเอาจัง จากการฝึกซ้อมอย่าง ก็ต่อยอดไปถึงการที่ต้องลงสนามแข่งขัน ในครั้งหนึ่ง "แม่ปุก" ต้องการพาเด็ก ๆ ไปแข่งขัน แต่ไม่สามารถหาต้นสังกัดสโมสรแบดมินตันเพื่อส่งรายชื่อ เธอจึงตัดสินใจก่อตั้งชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอด ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกสามัญของสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

แม่ปุกผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งประธานชมรม และให้เหตุผลของการใช้ชื่อนี้ว่า “บ้านทองหยอด” เพราะกิจการของผู้ก่อตั้ง คือ การทำทองหยอดขาย จึงมีผู้แนะนำให้ตั้งชื่อนี้เป็นชื่อของชมรม เพื่อให้แสดงออกถึงความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน

 

 

 

สิบสู่ร้อย

จากจุดเริ่มต้นในการมีนักกีฬาไม่กี่คน และฝึกซ้อมโดยใช้หนึ่งสนามภายในบ้านเป็นหลัก เมื่อคนมากขึ้น จึงได้มีการขยับขยายไปซ้อม ที่ คอร์ตแบดมินตันหรรษา ย่านหนองแขม เมื่อคนเยอะขึ้นอีกก็ย้ายไปใช้อาคารยิมเนเซียมของโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ขณะนั้นมีจำนวนหกคอร์ต

 

และระหว่างนั้นเอง โค้ชคนเดิมของบ้านทองหยอด อย่าง อาจารย์พรโรจน์ บัณฑิตพิสุทธิ ต้องไปรับราชการที่ต่างจังหวัด "แม่ปุก" จึงจำเป็นต้องหาโค้ชแบดมินตันคนใหม่ที่ทำงานให้ชมรมได้เต็มเวลา เธอเองจึงได้ติดต่อสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ให้ช่วยประสานไปยังสมาคมแบดมินตันแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเลิศด้านกีฬาแบดมินตัน เพื่อขอตัวโค้ชชาวจีนมาฝึกสอนในประเทศไทย

 

สมาคมแบดมินตันแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนส่งประวัติ เซี่ย จือ หัว (Xie Zhi Hua) มาให้พิจารณา

 

และเมื่อ "แม่ปุก" อ่านประวัติของโค้ชเซี่ยจบ ก็ตกลงทำสัญญาว่าจ้างทันที ส่งตั๋วเครื่องบินไปให้ แล้วทำสัญญากันแบบปีต่อปี ซึ่งจากวันนั้นสู่วันนี้เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษแล้ว ที่โค้ชชาวจีนอย่าง เซี่ย จือ หัว อยู่คู่กับบ้านทองหยอดจนได้รับสัญชาติไทย เมื่อปี พ.ศ.2556 และมีชื่อไทยว่า "ก่อเกียรติ ชัยประสิทธิโชค"

 

และการมาของโค้ชชาวจีน ก็มาพร้อมกับระบบการสอนแบดมินตันจากแดนมังกรมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะเรื่องจัดตารางฝึกซ้อมควบคู่กับการเรียนหนังสือ

 

ทั้งการซ้อมตอนเช้าก่อนไปโรงเรียน หลังกลับจากโรงเรียน กินข้าว ทำการบ้านเสร็จ ก็มาซ้อมแบดฯอีกครั้งก่อนเข้านอน และนั่นก็ทำให้ผลผลิตของ ชมรมแบดมินตัน บ้านทองหยอด เริ่มออกดอกออกผล ชื่อของ ภัททพล เงินศรีสุข ในวัย 14 ปี ได้รับเรียกตัวติดทีมชาติ ขณะที่น้องชายและน้องสาวก็ต่างมีดีกรีเยาวชนทีมชาติ และกลายเป็นชื่อเสียงของ ชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอด

 

 

 

จากชมรมสู่โรงเรียน

 

หลังจากชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอด ได้ใช้ใช้อาคารยิมเนเซียมของโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ซึ่งมีอยู่เพียงหกสนาม เวลาผ่านไป 4 ปี สมาชิกที่เพิ่มขึ้นทุกปีก็มากเกินไปสำหรับคอร์ตแบดมินตันที่มีเพียง 6 คอร์ต

 

"เราต้องสร้างสนามแบดมินตันของตัวเอง" ในความคิดของ "แม่ปุก" ผู้ที่ทำอะไรทำจริง และจากการที่กิจการขนมไทยที่เป็นรายได้หลักของครอบครัวต่างก็เติบโตและมีผลกำไรที่ดีขึ้น"แม่ปุก" และสามี จึงได้ตัดสินใจใช้เงินเก็บส่วนหนึ่งซื้อที่ดินขนาด 5 ไร่ครึ่งริมถนนพุทธมณฑลสาย 3 ในราคากว่า 20 ล้านบาท และ กู้เงินอีก 40  ล้านบาทเพื่อสร้างอาคารที่เป็นสนามแบดมินตันขนาด 18 สนาม รวมถึงหอพักสำหรับนักกีฬา

 

แนวคิดของ "แม่ปุก" ที่อยากสร้างสนามแบดมินตันและเปิดสอนเป็นโรงเรียนแบดมินตันโดยเฉพาะ เพื่อใช้สอนทักษะการเล่นแบดมินตันขั้นพื้นฐานสำหรับเยาวชน และประชาชนทั่วไป ในการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี และเน้นนักกีฬาแบดมินตันที่เล่นเพื่อความเป็นเลิศเข้าสู่ระดับชาติ และได้ขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการเปิดเป็นโรงเรียนโดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด” ก็เกิดขึ้นจริงในที่สุดและในปี พ.ศ.2546

 

 

 

กระบวนการผลิต

จาก "โรงงานขนมไทยบ้านทองหยอด" ที่ผลิตขนมรสชาติดี กลมกล่อม จนสามารถจำหน่ายได้ติดตลาด สู่ "โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด" ในจุดเริ่มต้นก็ต้องมีสูตรในการสร้างกีฬาเช่นกัน

 

หากเปรียบเป็นการทำขนมก็คงไม่ต่างจากการเริ่มต้นตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบด้วยความละเมียดละไม การสร้างนักแบดมินตันทีนี่ จะเริ่มต้นตั้งแต่พื้นฐาน การจับไม้ การวางท่าทาง จากนั้นจึงเริ่มไปเน้นเรื่องทักษะต่างๆ ทั้งการเสิร์ฟ การตี กฎ กติกา มารยาท ระเบียบวินัยทั่วไป รวมไปถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางร่างกาย

 

หลักสูตรที่นี่แบ่งเป็นระดับชัดเจน เริ่มจากคอร์สพื้นฐาน ที่เหมาะสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งเป็นวัยที่เรียกว่า "ไม้อ่อน" ซึ่งมีความสำคัญในการสร้างพื้นฐานที่ถูกต้อง และหากได้รับการปูทางที่ดี ก็จะสามารถขยับไปทีละรุ่น เริ่มจากรุ่นเล็ก , รุ่นกลาง ไปจนถึงรุ่นโต ซึ่งการเลื่อนระดับนั้นจะเป็นการพิจารณาจากผู้ฝึกสอน

 

ในการสอนเด็กเล็กรุ่นพื้นฐาน นอกจากสอนตั้งท่า ตีลูก ตีเดี่ยว ตีโต้ และนอกจากนี้ก็ยังเพิ่มความสนุกให้กับเด็กๆ ด้วยเกมส์ต่างๆ ที่สนุกและเป็นการฝึกกำลังขาไปในเวลาเดียวกัน

 

และเมื่อพื้นฐานต่างๆพร้อมแล้ว การขยับขึ้นมาสู่รุ่นเล็ก เหล่านักแบดมินตันวัยเยาว์ ต้องตีลูกตามโค้ชกำหนด อาทิ การให้สองฝ่ายตีโต้กันโดยเรียงตามลำดับ เช่น ลูกเซฟตรง ลูกตบเฉียง ตามด้วยลูกหยอด

 

หรือ บางครั้งก็ต้องเป็นฝ่ายตั้งรับ เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งบุกกระหน่ำอยู่ฝ่ายเดียว หรือ จะเป็นนฝ่ายบุกเดี่ยว โดยฝ่ายตรงข้ามมีผู้เล่นถึงสองคน

 

และเมื่อขยับมาถึงรุ่นกลาง ก็ซ้อมคล้ายๆกัน แต่หนักขึ้น ละเอียดขึ้น ตามวัยที่เพิ่มขึ้นมาเพื่อให้พร้อมสู่การก้าวไปสู่รุ่นโต

 

และในรุ่นโต ซึ่งอยู่ในวัยที่ต้องออกแข่งขันแล้ว ก็จะเน้นเกมส์การแข่งขัน ซึ่งในแต่ละวันก็จะต้องฝึกซ้อมในการตีในเกม โดยมีโค้ชคอยชี้แนะว่าแต่ละจังหวะควรออกลูกอย่างไร เล่นด้วยวิธีการไหนในสถานการณ์ต่างๆ

 

 

นอกจากวิชาแบดมินตันที่ต้องฝึกปรือแล้ว โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ไม่ได้มีเพียงแค่คอร์ตแบดฯเท่านั้น ที่นี่ยังมีอุปกรณ์ฟิตเนส และเครื่องมือในการพัฒนาร่างกายครบครัน ภายใต้การมีนักวิทยาศาตสร์การกีฬา ที่คอยดูแลทั้งเรื่องการวางโปรแกรมพัฒนาร่างกายให้กับนักกีฬา การเสริมจุดอ่อนในรายบุคคล รวมไปถึงนักกายภาพบำบัดที่ดูแลอาการบาดเจ็บให้ตรงจุด เพราะเรื่องปัญหาอาการบาดเจ็บ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งศัตรูของนักกีฬาเช่นกัน

 

โดยอุปกรณ์ที่ทางโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดได้ทุ่มทุนนำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา ถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในวงการกีฬาระดับโลก มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท ที่เป็นทั้งฟรีเวท และ แมชชีนเวท ที่สามารถเสริมสร้างกล้ามเนื้อทุกอย่างของนักกีฬาและรองรับนักกีฬาในการใช้จำนวน 15-20 คนต่อครั้ง ซึ่งเทียบได้กับสโมสรฟุตบอลอาชีพเลยทีเดียว และหากมองลึกในสถานที่ที่เป็นสนามฝึกซ้อมแบดมินตัน จัดได้ว่ามีอุปกรณ์ครบครันในที่เดียวตั้งแต่การฝึกซ้อมทักษะไปถึงสมรรถภาพ

 

ส่วนเรื่องการเรียน ที่ผ่านมานักกีฬาหลายคนต้องเลือกทิ้งการเรียน เพื่อทุ่มเทเวลาให้กับกีฬา แต่ทางบ้านทองหยอดไม่ได้ละเลยในสิ่งนี้ ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ กับ โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีที่เป็นนักกีฬาแบดมินตันโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดให้ได้พัฒนาสู่ความเป็นเลิศทั้งด้านกีฬาและการเรียนควบคู่กันด้วย

 

 

ผลผลิตจากบ้านทองหยอด

 

ถ้าพูดถึงชื่อ "เมย์" รัชนก อินทนนท์ แน่นอนว่าสิ่งที่หลายคนจะนึกออกนอกจากการเป็นนักแบดมินตันที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนนึงของประเทศไทย สิ่งที่ตามมาก็คงหนีไม่พ้นคำว่า "ผลผลิตจากบ้านทองหยอด" และนอกจาก รัชนก แล้ว ปัจจุบัน โรงเรียนแบดมินตันแห่งนี้ ต่างสามารถสร้างนักกีฬาขึ้นมาได้อย่างมากมาย อาทิ "วิว" กุลวุฒิ วิฑิตศานต์ ที่สร้างประวัติศาตร์ คว้าแชมป์เยาวชนโลกได้ 3 สมัยติดต่อกัน และตอนนี้เป็นมือท๊อป 30 ของโลกในวัย 20 ปี หรือจะเป็น "จิว" พิทยาภรณ์ ไชยวรรณ ที่หลายคนต่างยกให้เป็น "เมย์สอง" ก็กำลังเดินตามเส้นทางสู่การเป็นนักแบดมินตันระดับโลก ซึ่งทั้งวิวและจิวเอง ก็พึ่งประกาศศักดา คว้าแชมป์ประเทศไทยมาครองในปี พ.ศ.2563 อีกด้วย

 

และในทุกเวทีทุกสนามแข่งขันในประเทศไทยตอนนี้ ในทุกโพเดี้ยมการแข่งขัน ต่างมีชื่อนักกีฬาจากบ้านทองหยอดที่ประกาศศักดากวาดรางวัลมาอย่างมากมาย และหากเปรียบเทียบการมีจุดเริ่มต้นการเป็นโรงงานทำขนมไทยที่ใช้ความละเมียดละไม ผลิตขนมหวานสู่ผู้บริโภคด้วยความตั้งใจ โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ก็ยังคงเป็นโรงงานที่ผลิตนักแบดมินตันที่มีคุณภาพ ที่จะต่อยอดสู่การไปเป็นนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยต่อไป

 

ขอบคุณภาพจาก : โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด


stadium

author

ศิรกานต์ ผาเจริญ

StadiumTH Content Creator // ผู้ก่อตั้งเพจสนามตะกร้อ

La Vie en Rose