stadium

'ฟุตซอลทีมชาติไทย' ควรจะโอนสัญชาตินักเตะต่างชาติหรือไม่?

25 มกราคม 2564

'ฟุตซอลทีมชาติไทย' ควรจะโอนสัญชาตินักเตะต่างชาติหรือไม่?

#ChangsuekFutsalCorner

 

หากจะพูดถึง "ทีมฟุตซอลทีมชาติไทย" เชื่อว่าคนไทยทั่วประเทศต่างมั่นใจว่าทัพโต๊ะเล็กช้างศึก คือทีมอันดับต้นๆ ของโลก จากผลงานที่ดีสม่ำเสมอต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สร้างชื่อเสียงเป็นหน้าเป็นตาของคนทั้งชาติ ผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตซอลโลก 5 สมัยติด, รองแชมป์เอเชีย 2 สมัย ปัจจุบันรั้งอันดับที่ 17 ของโลก

 

แต่เป้าหมายสำคัญของ ขุนพลโต๊ะเล็กไทย ที่ยังไปไม่ถึงฝั่งฝันคือตำแหน่งแชมป์ทวีปเอเชีย ซึ่ง ไทย ทำได้ใกล้เคียงที่สุดคือ พระรอง 2 สมัย ในปี 2008 กับ 2012 โดยมีสองยอดทีมแกร่งของทวีปอย่าง อิหร่าน กับ ญี่ปุ่น เป็นขวากหนามสำคัญที่ ไทย ต้องก้าวข้ามผ่านมันไปให้ได้หากจะเป็นเบอร์หนึ่งของทวีปเอเชีย  

 

ปัจจุบันหลายชาติทั่วโลก หันมาใช้ทางลัดสู่ความสำเร็จ โอนหรือเปลี่ยนแปลงสัญชาตินักเตะเข้ามาเป็นแกนหลักของทีมชาติตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นทีมชั้นนำระดับโลกอย่าง สเปน, อิตาลี, โปรตุเกส, รัสเซีย, คาซัคสถาน, อาเซอร์ไบจาน หรือแม้แต่ ทีมชาติญี่ปุ่น เจ้าของแชมป์เอเชีย 3 สมัยก็โอนสัญชาติแข้งต่างชาติเช่นกัน  

 

จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ของแต่ละประเทศในโลกนี้ โดยเฉพาะในวงการกีฬา ทว่าสำหรับประเทศไทย นั้นมันคือสิ่งที่พวกเราไม่คุ้นเคย และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมการโอนสัญชาติของนักเตะจากบราซิล มาเป็นสัญชาติไทย เป็นเรื่องยาก และโอกาสเกินขึ้นน้อยมาก  

 

ต้องยอมรับว่าศุกยภาพของนักเตะต่างชาติ โดยเฉพาะบราซิล ที่เหมือนเป็นสินค้ามีชีวิตของประเทศบราซิล ส่งออกนักเตะไปค้าแข้งในลีกชั้นนำทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ในศึก "ฟุตซอล ไทยลีก 2020" มีนักเตะต่างชาติย้ายเข้ามาค้าแข้งในลีกสูงสุดแดนสยาม ถึง 28 ราย โดยเป็นนักเตะจากแดนกาแฟถึง 27 รายเลยทีเดียว  

 

โดยนักเตะทั้งหมดเข้ามาเป็นแกนหลักของทีม เป็นเดอะแบกของสโมสร ดูตัวอย่างง่ายๆ ทีมออลสตาร์บราซิล ที่รวมตัวนักเตะแซมบ้า จากหลายๆ สโมสรแบบเฉพาะกิจ มีเวลาฝึกซ้อมกันไม่ถึงสัปดาห์ แต่ทำผลงานสุดแกร่งเอาชนะ ทีมชาติไทย ทั้งชุดเอ และบี เถลิงแชมป์ "ไทยแลนด์ไฟว์ 2020" ไปแบบสวยหรู อย่างที่แฟนฟุตซอลไทย ได้รับชมเกมกันไป  

 

ซึ่งหากดูจากโปรไฟล์กันจริงนักเตะบราซิล เหล่านี้อยู่ในเกรด B หรือ C ของประเทศบราซิลเท่านั้น แต่สามารถแบกทีม และมีฝีเท้าดีกว่าแข้งไทย ทั้งความแข็งแกร่งของร่างกาย ความมีระเบียบวินัย บวกความเข้าใจเกม ทำให้พวกเขาสามารถย้ายไปเล่นที่ไหนก็ได้ในลีกต่างๆ ทั่วโลก  

 

ยกตัวอย่างในสมัยที่สโมสร พีทีที บลูเวฟ ชลบุรี ยอดทีมแกร่งของเมืองไทย เถลิงแชมป์สโมสรเอเชีย 2 สมัย ในปี 2013 กับ 2017 ซึ่งแฟนโต๊ะเล็กไทย ต่างคาดหวังว่านักเตะจากชุดดังกล่าวจะต่อยอดพาทีมชาติไทย เถลิงแชมป์เอเชีย มาครองให้ได้สักครั้ง แต่สุดท้ายก็ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน  

 

แน่นอน แฟนฟุตซอลไทย ต่างมองในมุมเดียวกันว่าส่วนสำคัญที่ทำให้ พีทีที บลูเวฟ ชลบุรี ลงตัวจนคว้าแชมป์เอเชีย 2 สมัย คือนักเตะอย่าง รูดิมาร์ เวนันซิโอ "ซาป้า" ดาวเตะชาวบราซิเลียน ที่ถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในเกมรับ และรุกของทัพฉลามพลังเพลิง ด้วยประสบการณ์ ความมีวินัย คอยกระตุ้นเพื่อนร่วมทีม พร้อมเล่นพร้อมบวกในทุกจังหวะ จนพาทีมไปสู่ความสำเร็จระดับทวีป

 

ปัจจุบันด้วยกฏหมายของไทย ในการโอนสัญชาติ เน้นไปที่เรื่องมีครอบครัวหรือต้นตระกูลที่จะเกิดในเมืองไทย หรือต้องมีคนในครอบครัวได้สัญชาติไทย อาศัยอยู่ในไทยไม่น้อยกว่า 5 ปี มีหนังสือรับรองการประกอบอาชีพจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว มีเงินเดือนที่มั่นคง จ่ายภาษีถูกต้องไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือสมรสกับคนไทย หรือมีลูก และมีความรู้ภาษาไทย โดยสามารถพูดภาษาไทย ฟังภาษาไทยเข้าใจ

 

ซึ่งมีนักเตะที่เข้าเกณฑ์มากที่สุดคือ โรเซนแคลร์ เด คาร์วัลโญ่ “โตต้า” ที่อยู่เมืองไทย มาเกิน 5 ปี มีภรรยาเป็นคนไทย และมีลูกด้วยกัน พร้อมทั้งสื่อสารภาษาไทย ได้อย่างคล่องแคล่ว เช่นเดียวกัน ราม่อน ปาเบา ที่สื่อสารภาษาไทย ได้ดีเช่นกัน  

 

แน่นอนการโอนสัญชาตินักเตะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และไม่สามารถการันตีความสำเร็จได้เช่นกัน หรือมองแบบโหดร้ายหากมีการโอนสัญชาติแข้งต่างชาติจริงๆ ก็จะเป็นการปิดโอกาสของนักเตะไทย หลายๆ คนที่เล่นตำแหน่งเดียวกัน  

 

แต่หากมองอีกด้านถือเป็นแนวทางที่น่าลองไม่ใช่น้อย แต่ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเพียงแค่แนวคิดที่ยังไม่เกินขึ้น เพราะลึกๆ คนไทย ต่างมั่นใจในศักยภาพของแข้งโต๊ะเล็กเชื้อสายไทยแท้ ว่ามีดีพอสู้กันทุกชาติได้ไม่เป็นรอง และจะก้าวไปสู่ตำแหน่งแชมป์เอเชีย ได้ในอนาคต แล้วคุณละคิดว่า 'ฟุตซอลทีมชาติไทย' ควรจะโอนสัญชาตินักเตะต่างชาติหรือไม่?


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

Futsal Addict

Changsuek Content Creator

โฆษณา