stadium

ถอดบทเรียนจาก 10 แนวคิดของนักแบดมินตันไทยช่วยสร้างพลังบวกให้ชีวิต

21 มกราคม 2564

ในวันที่ชีวิตไม่เคยง่ายหลายคนคงกำลังท้อแท้และสิ้นหวัง วันนี้เราขออาสาเป็นตัวแทนส่งต่อแรงบันดาลใจที่จะช่วยสร้างพลังบวกให้กับทุกคน โดยบอกเล่าผ่านเรื่องราวของนักกีฬาแบดมินตันทีมชาติไทย 10 คน ซึ่งเราเชื่อว่าถ้าคุณอ่านจบแล้วคงได้รับแรงบันดาลใจและข้อคิดดีๆกลับไปปรับใช้ไม่น้อย

 

 

กันตภณ หวังเจริญ

ตัวอย่างของคนสู้ชีวิตที่มองโลกในแง่ดีแม้มีวันที่เลวร้าย ในยุคที่แบดมินตันชายไทยขาดแคลนเสาหลักไปต่อกรกับคู่แข่งระดับโลก ความฝันของ กันตภณ อยากพาช่วยยกระดับวงการแบดมินตันชายไทยกลับไปยืนในระดับโลกอีกครั้ง และในวันนี้เขาได้ก้าวขึ้นมาเป็นมือ 1 ของทีมชาติไทย และมือ 15 ของโลกแล้ว

 

จากมือ 1 เยาวชนโลก ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาทีละสเตป เส้นทางของ กัน มีทั้งช่วงเวลาที่เลวร้ายและมีความสุข ในปี 2018 ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์บนโลกออนไลน์ เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ก่อนจะออกมาขอโทษและยอมรับผิดต่อสังคม แน่นอนว่าเหรียญมีสองด้าน ในร้ายย่อมมีดีเช่นกัน เขาเรียนรู้จากบทเรียนล้ำค่าที่สุดในชีวิตและเติบโตขึ้น และกลับมาโฟกัสกับที่สิ่งทำแล้วมีความสุขอีกครั้งคือการตีแบดอีกครั้ง

 

ปี 2019 ก้าวขึ้นไปถึงตำแหน่งรองแชมป์โลก ได้ 2 เหรียญทองแดงซีเกมส์ และยังพาทีมชาติไทย คว้าเหรียญทองแดงสุธีรมานคัพ ขณะเดียวกันในตอนนี้คะแนนสะสมที่มีอยู่แทบจะการันตีโควตาโอลิมปิก 2020 แล้วด้วยซ้ำ ถือเป็นการก้าวไปสู้ระดับโลกไปอีกขั้น ขณะเดียวกัน กันตภณ ยังเป็นตัวอย่างของคนสู้ชีวิต ในเมื่อคนเราสามารถทำอะไรหลาย ๆ ควบคู่กันได้ถ้ารู้จักบริหารเวลาที่ดีพอ

 

ในช่วงวิกฤตโควิดไม่มีการแข่งขัน นอกจากการฝึกซ้อมแล้ว เขาจึงเลือกที่จะลงทุนทำธุรกิจเป็นของตัวเอง เปิดร้าน ก๋วยเตี๋ยวเรือ อพอลโล่ ในซอยลาดปลาเค้า เพื่อเป็นอีกช่องทางสร้างรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัว การได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายตัวเองในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะ กัน ไม่ได้เรียนมาในสายธุรกิจ แต่ก็กล้าที่จะเรียนรู้ ลองผิดลองถูก ในเมื่อสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข เขาก็อยากลองทำสักครั้งในชีวิต

 

 

 

 

กุลวุฒิ วิทิตศานต์

 

มีแต่คนที่ขวนขวายเท่านั้นที่จะได้สัมผัสกับความสำเร็จเหมือนนักแบดดาวรุ่ง มือ 29 ของโลก คนนี้ ที่ชื่อ "วิว" กุลวุฒิ วิฑิตศานต์ หนึ่งในความฝันของ วิว คือการทำให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เขาอยากใช้แบดมินตันกีฬาอันเป็นที่รักของและใช้เป็นอาชีพสร้างฐานะที่มั่นคงให้กับครอบครัว แต่หนทางเดียวที่จะทำให้เขาไปทำฝันให้สำเร็จได้ก็คือการฝึกซ้อมให้หนัก

 

วิว เป็นนักแบดของบ้านทองหยอดที่เดียวกับ เมย์ รัชนก แต่ละวันเขาใช้เวลาอยู่กับการฝึกซ้อมเสียเป็นส่วนใหญ่ เขาซ้อมหนักวันละ 3 รอบ 7.00-9.00น., 12.00-15.00 น., 19.00 -21.00 น เสียเหงื่อไปไม่รู้กี่แกลลอน จะกี่แผลที่ได้จากการฝึกซ้อม เขาก็ไม่เคยถอยใจ กลับกันมันยิ่งทำให้เด็กหนุ่มวัย 19 ปีคนนี้แกร่งขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ 

 

วัดฝีมือในรุ่นเดียวกัน วิว ปราบมาหมดแล้ว แถมยังสถาปานาตัวเองเป็นแชมป์โลกรุ่นเยาวชนถึง 3 ปีติดต่อกัน ครองมือ 1 เยาวชนโลกมาอย่างยาวนาน และในตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะพิสูจน์ตัวเองในระดับที่สูงกว่ากับนักแบดรุ่นพี่

 

บนความท้าทายครั้งใหญ่ เขายังเชื่อมั่นในฝีมือของตัวเอง เชื่อมั่นในสิ่งที่ซ้อมมา ว่าจะสามารถสร้างความมั่นคงในชีวิตให้ครอบครัวได้ด้วยแบดมินตัน

 

 

 

 

รัชนก อินทนนท์

มีนักกีฬามากพรสวรรค์หลายคนที่ไม่ประสบความสำเร็จและต้องจบเส้นทางก่อนที่ถึงเวลา สาเหตุเป็นเพราะว่าไม่ใช่ไม่เก่ง เพียงแต่ขาดทัศนคติที่ดีที่จะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

 

สำหรับ "เมย์" รัชนก เธอเป็นหนึ่งคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องทัศนคติที่ดีต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก ลงมือทำเป็นอันดับ 2 เธอเชื่อในเรื่องของความพยายามและการทำงานหนักจะช่วยให้ไปถึงเป้าหมายในชีวิตมากกว่าอะไร

 

หากใครที่ติดตาม "เมย์" รัชนก จะทราบดีว่า เธอรักษาอันดับโลกติด Top 10 มานาน 9 ปีติดต่อกัน เป็นสถิติที่ยาวนานที่สุดเหนือนักแบดหญิงเดี่ยวทุกคนที่ยังคงโลดแล่นอยู่ แต่กว่าเธอจะขึ้นมายืนอยู่ในระดับโลกและรักษามาตรฐานได้เป็นเวลานานขนาดนี้ เป็นเพราะเธอผ่านฝึกซ้อมฝนมาอย่างหนัก ผ่านการตีลูกขนไก่มาเป็นแสนเป็นล้านครั้ง วิ่งเป็นพันกิโลเมตร และไม่ว่าจะซ้อมหนักขนาดไหน เธอไม่เคยปริปากบ่นเลยสักครั้ง

 

ก็เพราะทัศนคติที่ดีแบบนี้นี่แหละ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เธอยืนอยู่ใน Top 10 ของโลกได้นานกว่าใคร ๆ เพราะทัศนคติที่ดีจึงเกิดเป็นความมุ่งมั่นที่จะรักษามาตรฐานการเล่นระดับสูง เกิดเป็นความกระหายชัยชนะและพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา จึงไม่แปลกใจว่าทำไมเธอถึงคว้าแชมป์และมีแฟนคลับติดตามเธอจำนวนมาก

 

 

พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์

กฎข้อหนึ่งของโลกใบนี้คือไม่มีใครเป็นผู้ชนะหรือสุขสมหวังได้ตลอด ชีวิตคนเราบางครั้งก็ต้องหัดเรียนรู้จากความล้มเหลวกันบ้าง “หมิว” พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์ คือหนึ่งคนที่เข้าใจกฎของธรรมชาติเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะนับตั้งแต่เธอก้าวขึ้นเล่นในระดับอาชีพเธอนั้นเป็นผู้แพ้ตลอด

 

แพ้ข้อแรก : การแพ้ให้กับระบบการซ้อมของสมาคมฯ ไม่ใช่ว่าระบบสมาคมฯไม่ดี แต่แค่ไม่เหมาะกับตัวเองมากกว่า

 

"การได้เป็นนักกีฬาของสมาคมฯ มันดีมาก มีเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง โบนัส เรื่องการซ้อม การแข่งขัน ทุกอย่างสมาคมจัดการให้หมด หนูมีหน้าที่แค่ซ้อมตามระบบที่เขาวางไว้ และไปแข่งขันตามรายการต่างๆ ที่ผู้ใหญ่ส่งแข่ง"

 

แพ้ข้อสอง : คือการแพ้ให้กับคู่แข่ง นับตั้งแต่เทิร์นโปร เธอก็ไม่เคยก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์ได้เลย ใกล้เคียงที่สุดการได้รองแชมป์ระดับอาชีพ

 

แต่เพราะการเรียนรู้นั่นแหละที่ทำให้เธอเติบโตขึ้น  เข้าใจโลกและหลักในการใช้ชีวิตมากขึ้น แค่นั้นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เธอกลายเป็นผู้ชนะ

 

ชนะข้อหนึ่งคือชนะใจตัวเอง : กล้าทำ กล้าคิด กล้าตัดสินใจ เดินออกจากสมาคมฯเพื่อมายืนด้วยลำแข้งของตัวเอง ฝึกฝนด้วยวิธีการที่คิดว่าเหมาะสมกับตัวเอง และสามารถพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

 

ชนะข้อสองคือการเป็นแชมป์ : ผลพวงจากชัยชนะข้อแรกนั้นส่งผลมายังข้อนี้ นั่นก็คือการเป็นแชมป์ หลังจากออกมาซ้อมด้วยตัวเองอยู่เกือบปี อาจจะต้องดิ้นรนอย่างหนัก หาทุนส่งตัวเองแข่ง แต่ในที่สุดเธอก็พิชิตเป้าหมายด้วยการ โค่นแชมป์โลก 3 สมัยอย่าง แคโรลิน่า มาริน คว้าแชมป์ บาร์เซโลนา สเปน มาสเตอร์ส

 

กำลังมีโอกาสชนะความฝัน : โอลิมปิกคือเป้าหมายสูงสุดของนักกีฬาทุกคน นาทีนี้ หมิวเองก็กำลังขับเคี่ยวทำคะแนนอย่างหนัก และยังมีลุ้นอยู่

 

การพ่ายแพ้ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป แพ้แล้วอย่าดูถูกตัวเอง แต่ต้องรู้จักยอมรับและเรียนรู้ ก้าวข้ามความผิดหวัง แค่นี้ก็กลายเป็นผู้ชนะแล้ว ถึงไม่ชนะในสนาม....แต่ก็ชนะใจตัวเอง

 

 

 

ณิชชาอร จินดาพล

อีกหนึ่งแนวคิดที่ทรงพลังจากนักแบดมินตันมือ 22 ของโลก ที่สามารถปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวันของทุกคน 

 

ในวันที่จิตใจอ่อนล้า คิดหาหนทางแก้ปัญหาไม่ออก ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เราต้องการใครไหล่อุ่น ๆ ของใครสักคนไว้พักพิงใจ ปัญหาที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุดเหมือนโลกทั้งใบจะแหลกสลายลงให้ได้ จนบางครั้งก็อดคิดไม่ได้ว่าทำไมต้องเกิดกับเราคนเดียวทั้งที่ความจริงแล้วแต่ละคนนั้นมีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป

 

วิธีรับมือได้ดีที่สุดในวันที่หันไปไม่เจอใคร ต้องเริ่มต้นจากตัวเราเองนี่แหละ!!

 

ณิชชาอร ก็เช่นกัน ชีวิตนักกีฬานั้นเหนื่อยกว่าคนทั่วไปเป็นเท่าตัว ทั้งซ้อมที่ใช้ร่างกายและสมองหนัก ไหนจะเรียนหรือกิจกรรมอื่นเข้ามาเสริมอีก หากวันไหนเล่นได้ไม่ดี ตีไม่ได้อย่างใจนึก ก็ส่งผลถึงสภาพจิตใจ ไหนจะต้องรับมือกับโค้ชคีบอร์ดในโลกออนไลน์อีก 

 

วิธีง่าย ๆ ของเธอแค่เชื่อมั่นในตัวเองต่อไป อย่าหวั่นไหวหรือโอนอ่อนต่อเสียงรอบข้าง ต้องยอมรับให้ได้ว่าไม่ใช่ทุกวันที่จะเป็นวันของเรา มีขึ้นก็ต้องมีลง มีพบต้องมีจาก ล้มได้ก็ต้องลุกได้ เป็นเรื่องธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เลือกที่จะยอมรับและทำความเข้าใจมันได้

 

สิ่งสำคัญที่สุดคืออย่าดูถูกตัวเอง รักตัวเองและเชื่อมั่นในตัวเองให้มาก ๆ แล้วคุณจะผ่านทุกปัญหาไปได้เหมือน ณิชชาอร จินดาพล นักแบดมินตันสาวทีมชาติไทย

 

 

 

พุธิตา สุภจิรกุล

คำนี้ดูเหมือนจะสะท้อนมุมชีวิตด้านหนึ่งของ “เอิร์ธ” ได้ดี นักแบดมินตันหญิงคู่ มือ 20 ของโลก เป็นอีกหนึ่งคนที่ไปสร้างชื่อเสียงอยู่ในระดับโลก ทั้งในการเล่นอาชีพและการรับใช้ทีมชาติ ไปแข่งรายไหนมักจะมีเหรียญรางวัลติดมือกลับบ้านเสมอ

 

แต่สำหรับเธอยังคงไม่พอใจกับความสำเร็จที่ได้มา เพราะยังมองว่ารางวัลต่างๆยังไม่ได้ใช่ความสำเร็จสูงสุด ตั้งแต่เด็กๆแล้ว ไม่ว่าจะรายการแข่งขันใด เอิร์ธ จะได้ขึ้นโพเดี้ยมตลอด แต่ในฐานะบทบาทนางรองเสียเป็นส่วนใหญ่ มีน้อยครั้งที่เธอได้ขึ้นไปยืนบนแท่นรับรางวัลสูงสุด

 

ในเวลาต่อมา เมื่อขึ้นมาเล่นในระดับอาชีพและทีมชาติ เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว เหมือนฉายหนังม้วนเดิม ในระดับอาชีพ เธอคว้าแชมป์มา 6 รายการ รองแชมป์มากกว่าคือ 7 รายการ ส่วนซีเกมส์ ได้มา 3 เหรียญทองจากประเภททีมทั้งหมด ส่วนประเภทหญิงคู่ดีสุดก็คือเหรียญเงิน

 

ส่วนรายการใหญ่อื่นๆ เธอได้เหรียญรางวัลมาหมดแล้วทุกรายการ เพียงแต่เป็นเหรียญเงินกับทองแดง อาทิ อันดับ 3 เยาวชนโลก , รองแชมป์เอเชียนยูธเกมส์ รวมถึงอูเบอร์ คัพ และสุธีรมาน คัพ

 

“เอิร์ธได้เหรียญรางวัลเยอะมาก แต่ไม่ประสบความสำเร็จสูงสุดสักที เยาวชนชิงแชมป์เอเชีย ซีเกมส์ เราเข้าตลอดแต่ไปไม่สุดได้ที่ 2-3 รู้สึกไม่สุดของตัวเอง ไม่ดีใจที่สุด เรายังมีข้อบกพร่องหลายอย่าง ๆ จิตใจ ฟิตเนส แบดมินตัน เหมือนเราข้ามกำแพงมาได้หนึ่งด่าน แต่มันเหลือกำแพงหนึ่ง เรายังดีไม่พอทั้งอยู่บนสุด”

 

อย่างไรก็ตามความผิดหวังต่าง ๆ ถูกเปลี่ยนเป็นความเข้มแข็งก่อเกิดขึ้นภายในจิตใจ ครั้งแล้วครั้งเล่าจะกี่ครั้งกี่ครา เธอก็ไม่เคยคิดจะหันหลังให้กับแบดมินตัน แต่ทุกครั้งที่เธอล้มหรือผิดหวังเธอเลือกที่จะเชิดหน้า ถลกแขนเสื้อขึ้นแล้วกลับมาสู้ใหม่ได้เสมอ

 

 

 

รวินดา ประจงใจ

จะรวยหรือจนทุกคนล้วนมีปัญหาเข้ามากวนใจ เป็นบทเรียนชีวิตที่ปฏิเสธมันไม่ได้ อยู่ที่คุณแล้วว่าจะเลือกเรียนรู้และแก้ไขหรือจะท้อแท้แล้วแบกรับมันโดยไม่ทำอะไร แต่สำหรับ "วิว" รวินดา นักแบดมินตันทีมชาติไทย ตลอดชีวิตนักกีฬาของเธอพบเจอปัญหามากมายเข้ามาให้พิสูจน์ความเข้มแข็งของจิตใจ แต่สุดท้ายเธอเลือกที่จะเรียนรู้และแก้ไขสิ่งต่างๆให้ดีขึ้น

 

ไม่เก่งแก้ได้การซ้อม : ตอนเด็กฝีมือแบดมินตันเธอไม่โดดเด่นเหมือนใครๆ ไม่เคยเป็นแชมป์ แพ้ตกรอบเป็นประจำ แต่เธอไม่เคยคิดยอมแพ้ เลือกที่จะแก้ไขปัญหานี้ด้วยการฝึกซ้อมให้มากกว่าคนอื่น ตื่นตี 5 มาซ้อม นอกเวลาก็หาโค้ชมาติวเสริม ทุ่มเทมากขึ้น เพิ่มความมุ่งมั่นเข้า"ป และใส่ใจกับทุกรายละเอียด ไม่นานเธอก็เริ่มคว้าแชมป์ มีชื่อเสียง วันนี้เธอกลายเป็นนักแบดระดับโลกไปแล้ว

 

จากเดี่ยวมาตีคู่ แก้ได้ด้วยการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  ไม่ง่ายเลยสำหรับนักแบดที่เติบโตมาโดยการเล่นประเภทเดี่ยว แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งต้องหันเล่นประเภทคู่ จากทีเคยคิดคนเดียว ตีคนเดียว ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อมีอีกคนเข้ามายืนข้างบนคอร์ทเดียวกัน

 

สิ่งที่เธอทำก็คือการเปิดใจเรียนรู้ลักษณะนิสัย และวิธีการเล่นของเพื่อนร่วมทีม กำหนดเป้าหมายร่วมกัน เชื่อใจเพื่อน และทำให้เพื่อนเชื่อมันในตัวถือเธอเช่นกัน ในเวลาที่ท้อแท้สิ้นหวัง ก็จับมือให้กำลังใจไม่ทิ้งกัน

นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องของแบดมินตัน การเคลื่อนที่การสอดรับแทนตำแหน่งที่ฝึกฝนร่วมกัน

 

ไม่ชอบแข่งว่ายน้ำ แก้ได้ด้วยหากีฬาที่เหมาะกับตัวเอง : ว่ายน้ำเป็นกีฬาชนิดแรกที่เธอเล่นอย่างจริงจัง ฝึกซ้อมถึงขั้นพาตัวเองไปลงแข่ง แต่เมื่อถึงเวลาจริงเธอกลับรู้สึกว่ามันไม่ตอบโจทย์ชีวิต ไม่มีความสุข สุดท้ายเธอแก้ไขด้วยการเลิกเล่นและหันไปหากีฬาที่เหมาะกับตัวเองมากกว่านั่นก็คือ แบดมินตัน

 

ไม่มั่นใจในตัวเอง แก้ได้โดยการสำรวจตัวเอง : เป็นเรื่องปกติของนักกีฬาเวลาที่พบกับความพ่ายแพ้ติดๆกัน ย่อมส่งผลเสียถึงสภาพใจจิตใจ ครั้งหนึ่งเธอเคยสูญเสียวิธีการเล่นของตัวเองไปเพราะเชื่อในคำแนะนำของคนอื่น ๆ ผลงานดาวน์ลง

 

แต่สุดท้ายเธอกลับมานั่งคิดทบทวนถึงสิ่งต่างๆที่เธอทำผิดพลาด สำรวจตัวเองว่ามีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง ฟังหูไว้หูกับคำแนะนำต่างๆ ยึดมั่นในแนวทางที่เหมาะสม จนสามารถเรียกฟอร์มเก่งของตัวเองกลับมาได้อีกครั้ง

 

 

 

จงกลพรรณ กิติธรากุล

ไม่มีทางลัดไปสู่ความสำเร็จ แต่มันเกิดจากการการฝึกซ้อมและทำงานหนักนานนับปี โดยเฉพาะนักกีฬาเป็นไปไม่ได้เลยว่าคุณจะคว้าถ้วยรางวัลมาไว้ในอ้อมกอด หากคุณไม่ผ่านการฝึกซ้อมอย่างถูกต้อง

 

สำหรับ “กิ๊ฟ” จงกลพรรณ กิติธรากุล นักแบดมินตันหญิงคู่ มือ 11 ของโลก ในแง่มุมหนึ่งเธอมีเส้นชีวิตที่สะท้อนเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่เด็ก กิ๊ฟ คว้าเหรียญรางวัลจากการแข่งขันแบดมินตันได้ตลอด ความสำเร็จในวัยเด็กได้จุดประกายฝันให้เธออยากเติบโตเป็นนักแบดมินตันระดับโลก แต่การจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้ ในมุมมองของเธอนอกจากการซ้อมให้หนักคือการใส่ใจในทุกรายละเอียดข้อผิดพลาดของตัวเอง

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องมาเล่นประเภทคู่ นักกีฬา 2 คนจะต้องมีแนวคิด ความสัมพันธ์และเป้าหมายไปในทางเดียวกัน ในการฝึกซ้อมจึงจำเป็นต้องใส่ใจในรายละเอียดมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การเคลื่อนที่สอดประสานเข้าขากันอย่างรู้ใจ ยามแพ้ก็แพ้ด้วยกัน ชนะก็ชนะด้วยกัน เมื่อคนหนึ่งเสียใจผิดหวัง อีกคนจะต้องคอยเติมกำลังใจให้กัน

 

ในช่วงแรก ๆ ที่เธอลงแข่งขันรายการใหญ่ ผลการแข่งขันดูไม่เป็นใจเท่าไหร่ แพ้บ่อยอาจเพราะยังไร้ประสบการณ์ แต่เมื่อเธอได้เรียนรู้ เรียนรู้จากคู่หูอย่าง “วิว” รวินดา ประจงใจ คอยจับมือแก้ไขข้อผิดพลาดร่วมกัน เติบโตไปพร้อมกัน เรียนรู้คู่แข่งว่าแต่ละคู่มีวิธีตีแบบไหน ก็ค่อย ๆ ปรับแผนการเล่นเพื่อรับมือ

 

ทุกอย่างผ่านการฝึกฝนแบบเป็นขั้นเป็นตอน ผ่านรายละเอียดที่ต้องเอาใจใส่มากกว่า การฝึกฝนทั่วไป ตลอดชีวิตนอกจากวิธีนี้แล้วเธอไม่เคยใช้วิธีไหนอีกเลยเพื่อผลักดันตัวเองไปเป็นแชมป์

 

นับตั้งแต่ปี 2012 คู่ของเธอพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อันดับ 6 คือแรงกิ้งสูงสุด คว้าแชมป์ระดับอาชีพไปแล้ว 8 รายการ แชมป์ซีเกมส์อีก 4 เหรียญทอง นอกจากนั้นยังมีส่วนช่วยทีมแบดมินตันไทยสร้างประวัติศาสตร์ ได้รองแชมป์อูเบอร์คัพ และอันดับ 3 สุธีรมานคัพและเอเชียนเกมส์ 2018

 

“แบดมินตันสำหรับคนที่รักจริง ๆ มันไม่ใช่แค่เราซ้อมหนักแล้วจะชนะเขา มันไม่เคยมีบทไหนว่าซ้อมหนักแล้วคุณจะได้แชมป์ แต่มันคือการใส่ในทุกๆการฝึกซ้อมทุกรายละเอียด ซ้อมยังไงไม่ให้เปลืองแรง มันต้องใส่ใจในรายละเอียด มันจะได้ผลลัพธ์กลับมาในแต่ละวัน"

 

"แต่ยากที่สุดคือจะทำไงให้ได้ประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะประเภทคู่ทุกอย่างมันต้องไปพร้อมกัน ถ้าหากคนหนึ่งไม่ดีมันมีโอกาสพังทั้งคู่ ทีมเวิร์คต้องดี ถ้าเราทำซ้อมให้ดีที่สุดแล้วผลลัพธ์มันจะออกมาในสนาม”

 

 

เดชาพล พัววรานุเคราะห์

การฝึกจิตใจให้เข้มแข็งพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ถือเป็นพื้นฐานกีฬาอีกด้านที่นักกีฬาสมัยใหม่ทุกคนต้องฝึกฝนและพัฒนาอย่างจริงจัง เพราะมันจะเป็นบันไดที่ช่วยให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้

 

เช่นเดียวกับ “บาส” เดชาพล นักแบดมินตันทีมชาติไทย นาทีนี้ต้องยอมรับว่าเขาคือนักแบดมินตันระดับโลกไปแล้ว การันตีด้วยผลงานแชมป์หลายรายการ การรั้งอันดับ 3 ของโลก บ่งบอกถึงศักยภาพของเขาได้เป็นอย่างดี

 

แต่นอกเหนือจากพื้นฐานทางด้านกีฬาแล้ว บาส ยังโดดเด่นเรื่องในเรื่องความเป็นนักสู้ ไม่ยอมแพ้ มีหลายครั้งหลายหนที่ บาส มีแต้มตามหลังในเกมแต่พลิกกลับมาชนะได้ เป็นคุณลักษณะเฉพาะตัวที่เกิดขึ้นได้จากการมีจิตใจที่เข้มแข็ง

 

ในเกมการแข่งขันระดับสูง แต่ละแต้มแต่ละแมตช์นั้นเต็มไปด้วยความกดดัน ความกดดันจากเสียงเชียร์ในสนาม ความกดดันจากวิธีการเล่นของคู่แข่ง แรงกดดันจากแมตช์สำคัญอย่างเกมนัดชิงฯ หรือแรงกดดันจากการเล่นผิดพลาดของตัวเองที่ส่งผลเสียถึงความมั่นใจ

 

ทั้งหมดนี้เป็นศัตรูที่มองไม่เห็นสิงอยู่ภายในตัวเรา มีนักกีฬาหลายคนที่มีจิตใจไม่เข้มแข็งพอ ยอมแพ้ตกรอบแบบหมดสภาพ บางคนขาดความมั่นใจจนหาฟอร์มเก่งของตัวเองไม่เจอเลยก็มี แต่หากนักกีฬาคนใด แบกรับความกดดัน ควบคุมสมาธิให้อยู่ในเกมได้ ถึงแม้จะแพ้ในเกมนั้นไปแต่เจาก็จะกลับมาได้ในแมตช์ต่อไป

 

ดังนั้นการฝึกจิตใจให้พร้อมรับมือกับความกดดัน หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้คือหนึ่งคุณสมบัติของคนที่จะประสบความสำเร็จในเส้นทางที่เขาเลือกเดินเหมือนกับ เดชาพล พัววรานุเคราะห์

 

 

 

ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย

คนที่ประสบความสำเร็จ คงไม่มีเวลามาเล่าให้ฟังถึงความเก่ง หรือความยอดเยี่ยมของตัวเองมากนัก เพราะพวกเขามักหมดเวลาไปกับสิ่งที่ควรทำ ถึงแม้ว่าช่วงเวลาเหล่านั้นจะไม่มีใครเห็นเลย

 

ซ้ำร้าย บางคนยังต้องถูกคนรอบข้างตราหน้าว่าสิ่งที่ทำเงียบๆ ไร้ประโยชน์ ไม่เข้าพวก หรือ แม้กระทั่งมองว่าเป็นไปไม่ได้ แต่คนที่จะประสบความสำเร็จจริงๆ มักก้าวผ่านช่วงเวลานั้นได้

 

อย่างที่เขาว่า 100 คนคิด 10 คนทำ 1 คนสำเร็จ หรือแปลว่ามันมีแค่ 1% ของคนที่ประสบความสำเร็จจริงๆ ที่เหลือมักจะแค่คิด หรือ ทำแต่ไม่จริงจัง แค่เอาตัวรอดไปวัน ๆ เท่านั้น ส่วนคน 1% ที่ว่านั้น จะอยู่กับเป้าหมายที่ชัดเจน ทั้งคิดและทำอย่างจริงจัง ... และความสำเร็จมักมาแบบไม่รู้ตัว

 

เช่นเดียวกับ ปอป้อ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย นักแบดมินตันคู่ผสมทีมชาติไทย ที่เสียงจากความสำเร็จ ได้ทำให้เธอเป็นที่รู้จักมากขึ้นช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา (แต่สำหรับแฟนแบดมินตัน หรือ แฟนพันธ์แท้กีฬาไทย คงคุ้นเธอมานานแล้ว)

 

นี่คือ 1 ในบุคคลจากวงการกีฬา ที่เป็นตัวอย่างของการทำงานหนักอย่างเงียบๆเพราะถึงแม้เธอจะฉายแววโดดเด่นมาตั้งแต่การเล่นหญิงเดี่ยวคว้าทองจาก ยูธ โอลิมปิก ปี 2010 แต่ก็ไม่ได้สร้างชื่อกระหึ่มเท่าที่ควรนัก

 

เธอผันบทบาทมาเล่นประเภทคู่ ซึ่งสิ่งที่คนเห็นคือผลงานและเหรียญรางวัล แต่ระหว่างทางที่น้อยคนจะได้รู้ คือการทำงานอย่างหนักเพื่อปรับวิธีเล่นให้เข้ากับคู่หู ซึ่ง ปอป้อ ต้องปรับตัวกับเพื่อนร่วมชาติมาถึง 11 คนทั้งประเภทหญิงคู่ และ คู่ผสม กระทั่งปีทองเมื่อ 2019 มาส่งเสียงดังๆให้กับชื่อของเธอแบบเป็นรูปธรรมมากขึ้น

 

การทำงานเงียบๆของ ปอป้อ ไม่ใช่แค่การซ้อมหนัก แต่มันคือการปรับตัวปรับบทบาท สร้างความคุ้นเคย รวมถึงเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาว่า ฉันจะต้องเล่นแบบไหน เพื่อส่งเสริมคู่ของฉันคนนี้ เมื่อเจอกับคู่แข่งที่มีรูปแบบการเล่นแตกต่างกันออกไป

 

ส่วนหนึ่งในการจับคู่กับ บาส เดชาพล แล้วทั้งสองก้าวมาไกลกระทั่งเป็นความหวังเหรียญทองโอลิมปิก 2020 ได้นั้น มาจากสิ่งที่ปอป้อทำมาอย่างเงียบๆตลอดหลายปีที่ผ่านมา


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

โฆษณา