stadium

สำรวจความคิด กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ในวันที่แชมป์เยาวชนโลกเป็นแค่อดีต

20 มกราคม 2564

“ผมอยากเก็บคะแนนเพื่อไปแข่งรายการที่สูงขึ้น อยากมีอันดับโลกที่สูงขึ้น เวลาลงแข่งขันก็จะได้มีโอกาสที่ดี เพราะเป้าหมายของผม คือ อยากเป็นแชมป์โลก , แชมป์โอลิมปิก และ แชมป์ออลอิงแลนด์ ซึ่งเป็นการแข่งขันแบดมินตันรายการที่เก่าแก่ที่สุดในโลก”

 

นี่คือเป้าหมายของนักแบดมินตันหนุ่ม ที่พิสูจน์ตัวเองมาแล้วในระดับเยาวชน จากการสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์เยาวชนโลกมาได้ 3 สมัยติดต่อกัน จนทำให้วงการแบดมินตันโลก ต่างจับตามอง “กุลวุฒิ วิทิตศานต์” ในการขยับจากการเป็นดาวรุ่ง สู่การลงเล่นกับนักแบดมินตันระดับพระกาฬ

 

 

 

ลูกขนไก่พา “หนีโรค” สู่ “แชมป์เยาวชนโลก”

 

กุลวุฒิ : “ตอนเด็ก ผมเป็นโรคภูมิแพ้ครับ อาการค่อนข้างหนัก ต้องเข้าโรงพยาบาลทุกสัปดาห์ครับ เสียค่าใช้จ่ายเยอะมาก จึงต้องหันมาหัดเล่นกีฬา เพื่อรักษาอาการให้ดีขึ้น”

 

“โชคดีที่คุณพ่อเป็นครูสอนแบดมินตัน ท่านก็ฝึกให้ผมเล่นแบดมินตัน ตอนแรกไม่ได้จริงจังเลยครับ แค่ฝึกตีลูกให้โดน เล่นกับคุณพ่อ เพื่อพอให้ร่างกายมีความแข็งแรงมากขึ้น แต่หลังจากที่เล่นไปแล้ว ก็รู้สึกสนุกและเริ่มจริงจังกับมันมากขึ้น จากการอยู่ชมรมแบดมินตันแถวบ้าน ก็เลือกย้ายมาอยู่ที่โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด และที่นี่แหละครับที่ทำให้ผมได้พัฒนาตัวเองมากขึ้น เพราะมีทั้ง โค้ชเป้ ภัทพล เงินศรีสุข ที่เป็นโค้ชให้พี่เมย์ รัชนก อินทนนท์ รวมถึงทีมงานที่เป็นมืออาชีพ ที่นี่มีครบทุกอย่างครับ ไม่ใช่แค่เรื่องการเรียนการสอนแบดมินตัน ยังมีทั้งนักกายภาพบำบัด นักวิทยาศาสตร์การกีฬา นักฟิตเนสทำให้ผมกลายมาเป็นนักแบดมินตันที่เดินไปถูกทาง ซึ่งจากวันนั้นถึงวันนี้ ก็รู้สึกเกินคาด จากการที่จะตีแบดฯเพื่อหนีโรค กลายมาเป็นแชมป์เยาวชนโลก 3 สมัย”

 

“ความรู้สึกตอนที่ไปยืนบนโพเดี้ยมแชมป์เยาวชนโลก รู้สึกว่าเกินคาดพอสมควร จากปีแรกที่ไปผมก็หวังว่าจะเข้ารอบ 4 คนสุดท้ายให้ได้ พอได้ครั้งแรก กลับไปอีกครั้งผมก็ยังตั้งเป้าไว้เหมือนเดิม คือ รอบ 4 คนสุดท้ายให้ได้เหมือนเดิม ยิ่งลงแข่งขันในฐานะแชมป์เก่า ความกดดันมันก็มากขึ้น ส่วนตัวแล้วมองแค่ว่าต้องทำให้ดีที่สุด เพราะเราตั้งใจฝึกซ้อมมาดี ถ้าแพ้เราก็จะกลับไปพัฒนาต่อ”

 

สำหรับ “วิว” กุลวุฒิ วิทิตศานต์ นับเป็นนักแบดมินตันชายคนแรกและคนเดียวที่สามารถคว้าแชมป์โลกรุ่นเยาวชน ติดต่อกันถึง 3 สมัยติดต่อกัน ส่วนฝ่ายหญิงเป็นรุ่นพี่อย่าง “เมย์” รัชนก อินทนนท์ ที่เป็นเจ้าของสถิติเดียวกันนี้ของฝ่ายหญิง

 

 

ทิ้งชีวิตวัยรุ่น สู่การเป็นอีกเสาหลักของครอบครัว

 

กุลวุฒิ : “ไม่เคยเสียดายเลยครับ ที่ต้องใช้เวลาทั้งหมดกับการฝึกซ้อมแบดมินตัน มันเป็นความรู้สึกดีใจเสียอีก เพราะการเล่นแบดมินตันของผม ยังสามารถช่วยแบ่งเบาภาระให้กับครอบครัว เพราะการเล่นแบดมินตันอาชีพทำให้ผมมีรายรับมากขึ้น ถ้าผมไม่ได้เล่นแบดมินตัน ไม่รู้ตอนนี้จะเป็นยังไง ทั้งโรคภูมิแพ้ที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก และเวลาที่เราเอามาฝึกซ้อมถ้าเป็นวัยรุ่นทั่วไปก็อาจจะเอาไปเล่นเกมส์ หรือทำอะไรที่ไม่มีประโยชน์

 

ในตอนนี้รายได้ที่ผมมี ก็ช่วยพ่อแม่ในการผ่อนบ้าน แล้วก็ช่วยคุณพ่อซื้อรถ นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายส่วนตัว เราก็สามารถดูแลตัวเองได้”

 

 

 

เรียนรู้จากความพ่ายแพ้

 

กุลวุฒิ : “พอต้องมาสู้กับนักแบดฯที่ส่วนใหญ่เป็นรุ่นพี่ สิ่งที่ผมต้องเสริม คือ ความแข็งแรง ไม่ใช่แค่ร่างกาย แต่รวมถึงจิตใจด้วย ตอนนี้การมาเจอกับรุ่นพี่ที่เก่งกว่าเรา ในความที่เราอยากเอาชนะ มันทำให้เราพลาดเองได้ง่าย เพราะจะขาดเรื่องความละเอียดในเกมส์แข่งขัน บางจังหวะก็จะเร่งมากเกินไป สิ่งที่ผมเรียนรู้ หลังจากเริ่มลงเล่นในรุ่นทั่วไป คือ การที่เราต้องมีความละเอียดมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ ส่วนใหญ่ก็มาจากความพ่ายแพ้ ที่ผมมองว่าเป็นบทเรียนที่ดี”

 

เส้นทางฝันที่ต้องวาดด้วยตัวเอง

 

กุลวุฒิ : “เราเดินมาเส้นทางนี้แล้ว ยังไงก็ต้องไปให้สุดทาง สิ่งที่ผมท่องทุกวันในการจับแร็คเก็ต คือ ต้องทำให้ดีที่สุด เป้าหมายของผมเอง ยังไม่เคยมีนักแบดมินตันรุ่นพี่ของไทยคนไหนทำได้ในประเภทชาย ไม่ว่าจะเป็นแชมป์โลก , แชมป์โอลิมปิค หรือ แชมป์ออล อิงแลนด์ แต่ตอนนี้ผมพึ่งก้าวผ่านการเป็นนักกีฬาในระดับเยาวชน สิ่งที่ต้องทำตอนนี้ คือ การเริ่มนับหนึ่งใหม่ในเวทีที่ไม่ใช่นักกีฬาในระดับเยาวชนเหมือนกันแล้ว”

 

“แน่นอนว่าเส้นทางที่ผมผ่านมาในระดับเยาวชน มันถือเป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้ผมเป็นนักแบดมินตันที่ดีขึ้นจากวันแรกที่เริ่มเล่นกีฬานี้ แต่ในตอนนี้การนับหนึ่งของผมมันกำลังจะเริ่มต้นอีกครั้ง ผมไม่รู้หรอกว่าผมจะต้องนับไปอีกไกลเท่าไหร่ และต่อจะให้ต้องนับไปถึงหนึ่งร้อย เพื่อไปถึงความฝันที่ผมหวังไว้ ผมก็จะพยายามไปถึงตรงนั้นให้ได้”

 


stadium

author

ศิรกานต์ ผาเจริญ

StadiumTH Content Creator // ผู้ก่อตั้งเพจสนามตะกร้อ

โฆษณา