stadium

สำรวจความคิด รัชนก อินทนนท์ ในวัยพ้นเบญจเพศกับเป้าหมายโอลิมปิกหนที่ 3

7 มกราคม 2564

แท้ที่จริงแล้ว ในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2020 เราคงจะได้ทราบกันแล้ว ว่าการแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จบลงอย่างไรแล้ว มีนักกีฬาไทยคนไหนบ้างที่ประสบความสำเร็จ หรือไปไม่ถึงฝั่งฝันในกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ รวมไปถึงตัวของ “เมย์” รัชนก อินทนนท์ นักแบดมินตันขวัญใจชาวไทย ที่ก็เป็นความหวังของทัพนักกีฬาไทยในทุกๆมหกรรมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ

 

“ถ้าหากไม่มีโควิด” เราก็คงได้เชียร์นักกีฬาไทยในโอลิมปิกเกมส์จบไปแล้ว และในช่วงปลายปีแบบนี้ก็เป็นเวลาพักผ่อนของนักกีฬา ที่กรำศึกหนักมาตลอดทั้งปี แต่คำว่า “ถ้าหาก” นี้ ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะโรคระบาดอย่างโควิด-19 เป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุม และทำให้การแข่งขันกีฬาหลายๆอย่างต้องหยุดชะงัก แต่ท้ายที่สุดนักกีฬาทุกคน ก็ต่างได้แต่ยอมรับ และทำตัวให้พร้อมกับการแข่งขัน โดยไม่มีข้อแม้

 

 

รัชนก : “จริงๆแล้วตอนนี้เมย์เองก็น่าจะรู้ผลไปแล้ว ว่าในโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 3 ของตัวเอง จะประสบความสำเร็จหรือไม่ หรือ ทิศทางของชีวิตจะเป็นไปในทางไหน แต่ตอนนี้ก็ทำได้แค่อดทนและยอมรับกับสิ่งที่เราเจอ

 

ในเรื่องไวรัสโควิด-19 มันเป็นเรื่องที่ไม่ดีอยู่แล้วสำหรับทุกคน แต่มันก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เมื่อเจอกับปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว เราก็ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับมัน ทำตัวเองให้ปลอดภัย เพราะมันเป็นปัญหาที่เราต้องเผชิญหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

โอลิมปิกที่รอคอย

 

รัชนก : “เมย์ไม่ได้มองว่านี่คือโอลิมปิกที่จะตัดสินเส้นทางการเป็นนักแบดมินตันของตัวเอง แต่รู้สึกว่าโอลิมปิกเกมส์ ครั้งนี้ มันเป็นปีที่เรามองว่ามันเหมาะสมและสำคัญ ในช่วงอายุของเรา เป็นโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 3 เรามีประสบการณ์มาจาก 2 ครั้งก่อนหน้านี้ และด้วยอายุของเรารวมไปถึงคู่แข่งเอง ก็เป็นช่วงอายุที่กำลังพีคด้วย”

 

“ถ้าเทียบกับโอลิมปิก 2 ครั้งที่ผ่านมา จากครั้งแรกที่ ลอนดอนเกมส์ 2012 ตอนนั้นเมย์ไปแบบไม่มีความกดดัน เล่นด้วยความสนุก ผลงานเลยออกมาดี แต่ก็แอบเสียดายที่มีโอกาสแล้วทำไม่ได้ ส่วนที่ ริโอ เกมส์ 2016 ถือว่าเรามีประสบการณ์มากขึ้น ทุกคนตั้งความหวังไว้ที่เรา ส่วนเราเองก็หวังจะทำผลงานได้ดี แต่เหมือนว่าปัจจัยนอกสนามทั้งเรื่องอาการบาดเจ็บ หรือ เรื่องอื่นๆ จะไม่เป็นใจให้กับเราซักเท่าไหร่”

 

 

 

“ส่วนที่ถามว่า การแข่งขันในรายการอาชีพ แตกต่างจากโอลิมปิกเกมส์ ยังไง บอกได้เลยว่าไม่ต่างกันเท่าไหร่ คู่แข่งที่เราเจอก็คนเดียวกัน บรรยากาศความกดดันก็มีเหมือนกัน แต่สิ่งที่มันทำให้เราต้องพยายามให้มากกว่าเดิม คือ การที่โอลิมปิกเกมส์ในแต่ละครั้งจะต้องรอถึง 4 ปี ทำให้เราเองไม่อยากจะพลาดตรงนี้ไป”

 

สำหรับ รัชนก อินทนนท์ ในวัย 25 ปี ผ่านการแข่งขันโอลิมปิกมาแล้ว 2 สมัย ในครั้งแรก รัชนก ลงแข่งขัน ในศึก ลอนดอนเกมส์ 2016 ที่ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งในขณะนั้นเธออายุ 17 ปี และรั้งมือ 10 ของโลก ซึ่งในครั้งนั้น รัชนก หยุดเส้นทางในการแข่งขันไว้ที่รอบก่อนรองชนะเลิศ  ด้วยการแพ้ให้กับ หวัง ซิน คู่แข่งชาวจีน มือวางอันดับ 2 ของโลก (ในขณะนั้น) ไปอย่างน่าเสียดาย ขณะที่โอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 2 ของเธอ คือ ริโอเกมส์ 2016 ที่ กรุง ริโอ เดอ จานิโร ประเทศบราซิล รัชนก ลงแข่งขันในวัย 21 ปี ในฐานะมือ 4 ของโลก แต่ก็ต้องจอดป้ายเพียงแค่รอบ 16 คนสุดท้าย ด้วยการแพ้ต่อ อากาเนะ ยามากูชิ มือ 12 ของโลก (ในขณะนั้น) 

บทเรียนจากโควิด

 

รัชนก :  “โควิด-19 ครั้งนี้ทำให้เมย์เองได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง เช่นเรื่องของการรับมือสิ่งที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ อย่างเรื่องไวรัสแพร่ระบาด เมย์ เองก็ไม่ได้คิดว่าจะกระทบในเรื่องของการเป็นนักกีฬาของเรา ทั้งการเลื่อนหรือยกเลิกโปรแกรม ทั้งๆที่เราเตรียมตัวเพื่อรอแข่งขันแล้ว จากตอนแรกที่รู้สึกไม่ดี ก็เปลี่ยนมาเป็นการมองในจุดที่เราก็ต้องเตรียมพร้อมต่อไป 

 

 

 

ในเรื่องนี้มันก็คล้ายๆกับทุกครั้งที่เมย์จะไปแข่งขันรายการต่างๆ ในสนามฝึกซ้อมต่อให้เมย์ ลบข้อผิดพลาด หรือ เสริมจุดแข็งให้กับตัวเองขนาดไหน เมื่อลงไปในสนามแข่งขัน เราก็มักจะไปเจออุปสรรคใหม่เสมอ และสิ่งนี้เองที่ทำให้เมย์ได้เรียนรู้ว่า นอกจากเราต้องเตรียมตัวให้พร้อมแล้ว การมีความพยายามในการต่อสู้กับสิ่งที่เราเจอแบบไม่คาดฝัน ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเอาชนะให้ได้ ”

 

โอลิมปิกเกมส์ 2020+1

 

รัชนก : “แม้ว่าโอลิมปิกเกมส์นี้จะต้องเลื่อนไปถึงปีหน้า มันทำให้เราได้ฝึกความอดทน รวมไปถึงเราก็ยังมีเวลาในการทบทวนตัวเอง มีเวลาในการฝึกซ้อม ทำสิ่งที่เราดีอยู่แล้วให้ดีกว่าเดิม ส่วนอะไรที่ยังไม่ดีก็ต้องพยายามทำให้มันดีขึ้น และไม่ว่าจะเจออะไรในสนามแข่งขันที่คาดเดาไม่ได้ เราก็ต้องผ่านมันไปให้ได้ เหมือนกับที่เราเคยผ่านวิกฤติโควิด-19 ในครั้งแรกมาแล้ว”

 

 


stadium

author

ศิรกานต์ ผาเจริญ

StadiumTH Content Creator // ผู้ก่อตั้งเพจสนามตะกร้อ

โฆษณา