stadium

จักรินทร์ หอมหวล : ความอ้วนทำให้ผมเป็นแชมป์โลก

20 มกราคม 2563

เชื่อว่าคงไม่มีใครมีความสุขกับการโดนคนอื่นดูถูกเหยียดยามหรือการบูลลี่เรื่องรูปลักษณ์ภายนอก เพราะคนที่ถูกพาดพิง คงยิ้มไม่ออกหรือรู้สึกตลกไปกับเรื่องเหล่านี้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนพิการที่ต้นทุนชีวิตไม่เหมือนคนปกติทั่วๆไป 

 

สำหรับ “รุ่ง” จักรินทร์ หอมหวล ดีกรีแชมป์โลกแบดมินตันคนพิการก็เช่นกัน เขาเคยเจอคนสบประมาทว่าอ้วนจนเกินไป ไม่เหมาะกับการเป็นนักกีฬา

 

ตอกกลับคำดูถูก ด้วยผลงานในสนาม
ก่อนที่เขาจะมาเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยได้ เคยถูกบูลลี่ว่าอ้วนจนเกินไป ซึ่งเจ้าตัวนั้นก็มีรู้สึกไม่พอใจเป็นอยากมาก แต่ก็ทำได้เพียงแค่เก็บไว้ในใจ และเลือกที่จะไม่สนใจคำพูดเหล่านั้น คำสบประมาททั้งหมดที่เคยเจอมากับตัว ถูกเปลี่ยนเป็นแรงผลักดันให้มุ่งมั่นเล่นกีฬาแบดมินตันให้ดียิ่งขึ้น จนวันนี้เขาก้าวขึ้นมาคว้าแชมป์โลกมาแล้วถึง 2 ครั้ง

 

“ช่วงเริ่มต้นเลย มีคนชอบล้อว่าเราอ้วน ยอมรับว่าเราเองก็โกรธมาก แต่จะไปทำอะไรเขาได้  เพราะส่วนหนึ่งที่เขาพูดมันก็เป็นความจริง และอีกส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ตัวเราว่า จะก้าวข้ามคำว่าอ้วนไปได้ยังไง จนผมคิดอยู่อย่างหนึ่งว่า ต้องลบคำสบประมาทนั้นให้ได้ ด้วยการซ้อมให้หนักขึ้น หลังจากนั้นผมจึงมุ่งมั่นกับการฝึกซ้อมในทุกๆวัน จนวันนี้ความอ้วนของผมทำให้ผมไปสู่ผลสำเร็จที่ผมได้ทำมา”

 

“ตั้งแต่ปี 2009 จนถึงทุกวันนี้ตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา ผมไม่เคยห่างหายจากความสำเร็จเลยในการเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยเลย ถ้าผมเก็บเอาคำดูดเหล่านั้นมาคิดมากโดยไม่ทำอะไรเลย ชีวิตผมก็คงไม่มีทุกวันนี้ แต่กลับกันผมใช้คำว่าอ้วนนี่แหละที่เป็นแรงผลักดันสร้างความสำเร็จ ซึ่งมันก็ทำให้ชีวิตผมดีขึ้นและมีทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นผมก็ควรแคร์คำพูดคนอื่น หรือควรเดินหน้าต่อเพื่อครอบครัวและคนที่รัก ผมเลือกอย่างหลัง จึงประสบผลสำเร็จเพราะความอ้วนของผม”

 

 

ความโหดร้าย กับ ชีวิตที่เลือกเกิดไม่ได้

ตั้งแต่เกิดมา จักรินทร์ เคยใช้ชีวิตแบบคนปกติไม่ถึงครึ่งปี ย้อนกลับไปเมื่อช่วงแรกเกิดแม้ว่าจะยังไม่รู้ประสีประสาอะไรมากนัก แต่ก็กลับต้องมาเจอกับเรื่องโหดร้ายที่สุดในชีวิต

 

“ผมกระดูกสันหลังหลุดตั้งแต่อายุ 5-6 เดือนเท่านั้น ครอบครัวก็พยายามพาผมไปรักษา แต่ก็ยังไม่หาย พอเริ่มเข้าเรียนตอนอนุบาลก็เรียนกับคนปกติ จนกระทั่งวันหนึ่งหมอว่าไม่มีทางรักษาให้หายแล้ว ก็ใช้ทำใจอยู่พสมควรกว่าสภาพจิตใจจะดีขึ้น จากนั้นก็เริ่มใช้ชีวิตกับคนปกติทั้งด้านการเรียนและการใช้ชีวิตเป็นอยู่ทั่วไป”

 

ประวัติ วะโฮรัมย์ - เรวัตร์ ต๋านะ 2 ต้นแบบที่จุดประกายฝันการเป็นนักกีฬา

หลังจากเริ่มใช้ชีวิตปกติไปได้สักระยะหนึ่ง ด้วยเหตุผลหลายๆอย่างทำให้เขาต้องย้ายมาเรียนโรงเรียนคนพิการ และด้วยเป็นคนที่มีใจรักกีฬาตั้งแต่เด็กๆ มีความฝันอยากเป็นนักกีฬาทีมชาติ แม้สภาพร่างกายไม่ปกติแล้ว แต่ตัวเขายังอยากอยู่ในเส้นทางสายนี้ จึงตัดสินเข้าไปเรียนที่โรงเรียนศรีสังวาล ซึ่งเป็นสถานศึกษาของคนพิการที่ให้ความสำคัญเรื่องกีฬาไม่แพ้การเรียน

 

“ผมเป็นคนชอบเล่นกีฬามาก อยากมีรายได้ อยากมีชื่อเสียง เพราะตอนเด็กๆผมดูโทรทัศน์ผมเห็นพวกรุ่นพี่ ประวัติ วะโฮรัมย์ นักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง เจ้าของ 7 เหรียญทองพาราลิมปิก ,  เรวัตร์ ต๋านะ นักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง 1 เหรียญทองพาราลิมปิก แข่งกีฬาแล้วมีเหรียญรางวัล ก็ทำให้เรามีแรงบันดาล ตอนอยู่ชั้น ป.4 มีครูคนหนึ่งเห็นผมสนใจเรื่องกีฬามาก จึงพาผมไปสมัครเรียนที่โรงเรียนศรีสังวาล ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวกับฮีโร่ของผมทั้งสองคน ยิ่งทำให้ผมมีกำลังใจอยากตามรอยไอดอล”

 

ปี 2549 อ.พิพัฒน์ จันทร์ไพจิต ซึ่งเป็นผู้ตัดสินกีฬาคนพิการชั้นนำของเมืองไทย ได้ไปทำหน้าที่ติดสินกีฬาที่ต่างประเทศบ่อย และเกิดไอเดียนำกีฬาวีลแชร์แบดมินตันมาเผยแพร่ที่เมืองไทย โดยหวังจะให้คนพิการได้เล่นกีฬาหลายชนิดมากขึ้น และเพียงแค่ปีเดียวก็มีคนพิการสนใจเล่นกีฬาชนิดนี้เป็นจำนวนมาก

 

ปี 2550 จึงได้มีการประกาศคัดตัวนักกีฬาทีมชาติเกิดขึ้น ซึ่ง จักรินทร์ ก็ไม่พลาด หลังใช้เวลาหัดเล่นไม่นานจึงตัดสินใจมากร่วมคัดตัวและได้เป็นนักตัวแทนทีมชาติในที่สุด จนถึงทุกวันนี้เป็นเวลาเกือบ 13 ปี 

 

เบื้องหลังความสำเร็จ และ แรงผลักดัน

ในชีวิตของ จักรินทร์ มีอยู่ 2 สิ่งที่เขาให้ความสำคัญมากกว่าเรื่องอื่นๆ 1.เป็นนักกีฬาทีมชาติ 2.ครอบครัว ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ จักรินทร์ ได้พยายามทำให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างถูกต้องพร้อมๆกัน เริ่มต้นจากการเป็นนักกีฬาทีมชาติ และกำลังใจที่ดีจากครอบครัว ทำให้เขาประสบความสำเร็จในเส้นทางนักกีฬาจนเป็นแชมป์ จึงมีรายได้มีจุนเจือครอบครัวให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

 

ทุกครั้งที่ผมได้เงินรางวัลจากเล่นกีฬา ผมจะให้ครอบครัวหมดเลย ผมอยากให้ครอบครัวผมอยู่สบาย ตอนนี้ผมยังมีแรง เหนื่อยกับการเล่นกีฬาไม่เป็นไร แต่พ่อแม่ต้องให้ท่านอยู่สบายตอนเรายังมีแรงไว้ก่อน ผมว่าสิ่งนี้แหละที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จ”

 

ท้อแต่ไม่เคยถอย

ในชีวิตของ จักรินทร์ ต้องเจอกันความรู้สึกท้อแท้กับโชคชะตาชีวิตมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ว่าตัวเขาไม่เคยถอดใจเลยสักครั้ง เพราะเขารู้ดีว่าครอบครัวที่คอยดูแลเขามาตลอดนั้นลำบากมากขนาดไหน

 

“ก็มีท้อบ้างบางครั้ง เวลาที่ทำอะไรได้ไม่เหมือนคนอื่น แต่ท้อได้แปปเดียวก็ต้องเริ่มใหม่  และหันไปทำในสิ่งที่ทำได้ อะไรที่เราทำได้แล้วเป็นจุดเด่น เดี๋ยวความท้อแท้มันหายไปเอง”

 

 

รับใช้ชาติคือความภูมิใจ

ตลอดระยะเวลาเกือบ 13 ปี ในนามทีมชาติไทย จักรินทร์ คว้าแชมป์มานับไม่ถ้วนในระดับนานาชาติ ที่โดดเด่นสุดคือการเป็นแชมป์โลกถึง 2 ครั้ง ในปี 2013 และ 2017 

 

เกียรติประวัติ ของจักรินทร์ หอมหวน

2007 คว้า 3 เหรียญทองแดงอาเซียนพาราเกมส์ที่ไทย 

2009 รองแชมป์โลกประเภทชายคู่ที่เกาหลีใต้

2011 แชมป์อาเซียนพาราเกมส์ที่อินโดนีเซีย

2013 แชมป์โลกคู่ผสม ที่เยอรมนี

2014 แชมป์คู่ผสมเอเชียนพาราเกมส์ ที่เกาหลีใต้

2015 รองแชมป์โลกคู่ผสมที่อังกฤษ คู่อำนวย

2016 แชมป์เอเชียคู่ผสม ที่จีน

2017 แชมป์โลกที่เกาหลีใต้

2019 รองแชมป์โลกคู่ผสม ที่สวิตเซอร์แลนด์

 

“ถามว่าเหรียญรางวัลไหนที่ภูมิใจที่สุด คงเลือกไม่ได้ เพราะว่าผมภูมิใจทุกครั้งที่ได้เหรียญรางวัลกลับมาให้คนไทยได้ชื่นชม ภูมิใจที่ได้รับใช้ชาติ”

 

ไม่น่าเชื่อว่าด้วยผลงานทั้งหมดที่เขาทำได้ จะยังไม่ดีพอที่จะได้พาราลิมปิกเลยสักครั้ง ด้วยอายุที่มากขึ้น ดังนั้นพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ที่ญี่ปุ่น จึงเป็นเป้าหมายสุดท้ายที่เขาอยากทำให้ได้

 

“ตอนนี้กำลังเร่งเก็บคะแนนรายการต่างๆเพื่อให้ติด 1 ใน 8 ของโลก เพื่อจะได้ไปพาราลิมปิกให้ได้ ซึ่งเป็นรายการเดียวที่ยังผมไม่เคยเข้าร่วม และก็รอมา 10 กว่าปีแล้ว มันจึงเป็นความฝันที่จะต้องเข้าร่วมให้ได้ ถึงแม้จะคว้าเหรียญรางวัลไม่ได้ก็ตาม


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator

โฆษณา