stadium

"ช่างภาพสโมสร" ผู้ถ่ายทอดอารมณ์บนฟลอร์หญ้า สู่สายตาแฟนลูกหนัง

2 ธันวาคม 2563

ช่างภาพสโมสร" ผู้ถ่ายทอดอารมณ์บนฟลอร์หญ้า สู่สายตาแฟนลูกหนัง

#แบกเป้ดูบอลไทย

 

ว่ากันว่า “ภาพถ่าย” เปรียบได้ดั่งการหยุดเวลาเหตุการณ์ๆ หนึ่งเอาไว้ให้คงอยู่ตลอดกาล ภาพถ่ายคือการบันทึกความจริงที่เกิดขึ้น และไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานแค่ไหน ภาพถ่ายนั้นจะยังคงเปี่ยมไปด้วยคุณค่าอยู่ไม่เสื่อมคลาย

 

โลกของฟุตบอลก็เช่นกัน ภาพถ่ายคือการบันทึกเรื่องราว และอารมณ์ในสนาม แม้ว่าภาพถ่ายจะไม่สามารถบันทึกเสียง กลิ่น หรือภาพเคลื่อนไหวได้ หากแต่ภาพถ่ายดีๆ จากการลั่นชัตเตอร์เพียงแค่ครั้งเดียว ก็เพียงพอที่จะให้แฟนบอลสามารถจินตนาการถึงความทรงจำในแมตช์นั้นๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่เห็นภาพดังกล่าวในเสี้ยววินาที

 

ใช่ครับ วันนี้เราจะมาพูดถึง “ช่างภาพสโมสร” มดงานเบื้องหลังที่มาถึงสนามเป็นคนแรก และกลับออกจากสนามเป็นคนท้ายๆ เสมอ…

 

การเป็นช่างภาพนั้นไม่ใช่เรื่องที่ยากแต่อย่างใด แต่การจะเป็นช่างภาพสโมสรฟุตบอลนั้นย่อมมีความแตกต่างออกไปจากศาสตร์ของการถ่ายภาพแขนงอื่นพอสมควร เพราะคุณสมบัติแรกที่คุณต้องมีคือ ความรัก และความหลงใหลในฟุตบอล อย่าลืมว่าการถ่ายภาพแต่แต่ละแมตช์นั้นคุณจะต้องใช้เวลาในการทำงานไม่ต่ำกว่า 120 นาที นี่ยังไม่รวมช่วงเวลาของการเซ็ตค่า หรือปรับแต่งไฟล์ต่างๆ ที่ต้องทำอย่างรวดเร็วเพื่อตอบโจทย์กับทีมมีเดียสโมสร และสื่อมวลชนที่ต้องการรายงานผลการแข่งขันแบบทันท่วงที นั่นจึงทำให้ภาพถ่ายจาก “ช่างภาพสโมสร” นั้นเปี่ยมไปด้วยความสำคัญในแง่ของการสื่อสาร

 

นอกเหนือความรัก แพสชั่น และความหลงใหลในมนต์เสน่ห์ลูกหนังแล้ว “ช่างภาพสโมสร” ยังต้องมีทักษะในการประเมินสถานการณ์ข้างหน้าที่ท้าทายการทำงานเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฟ้าฝน และลมต่างๆ การบาลานซ์สายตาผ่านเลนส์กับแสงที่อยู่ตรงข้างหน้าซึ่งเป็นงานประสบการณ์ที่ไม่มีใครลอกเลียนแบบกันได้ ไหนจะเรื่องของสภาพแวดล้อมแต่ละสนามที่อาจจะมีปัญหากวนใจแตกต่างกันอาทิ แมลง ยุง ความชื้น ความร้อนอบอ้าวจากพื้นดิน ทั้งหมดนี้คือความท้าทายที่ “ช่างภาพสโมสร” จะต้องผ่านมันไปให้ได้โดยไม่มีข้อแม้

 

นี่ยังไม่รวมถึงอุปกรณ์ที่เปรียบดั่งอาวุธเด็ดสำหรับอาชีพนี้ ว่ากันว่าทั้งเลนส์ และกล้องบวกกันบางทีมอาจจะมีแตะหลักครึ่งล้าน (ต่อหนึ่งคน) และส่วนใหญ่ก็มักจะแตะหลักแสน ซึ่งเหลือเชื่อว่าส่วนใหญ่มักจะเป็นการลงทุนส่วนตัวของช่างภาพ หากแต่ในความเป็นจริง ก็คงไม่ใช่ทุกคนที่สามารถมีกล้องระดับนั้นได้ นั่นคือการบ้านที่แต่ละสโมสรฯ ในบ้านเราคงต้องนำไปถกกันพอสมควรว่า ถึงเวลาแล้วรึยังที่แต่ละทีมจะให้ความสำคัญถึงการสนับสนุนอุปกรณ์ให้กับช่างภาพ เพราะอย่าลืมว่า “ภาพถ่ายที่ดี เปรียบเสมือนหน้าต่างบานแรกในการเชื้อเชิญให้แฟนบอลเข้ามาเยี่ยมชม สนใจ หรือสนับสนุนสโมสร” อีกทั้งภาพทั้งหมดที่ถ่ายมา ก็เป็นลิขสิทธิ์ของทีมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงมีเดีย หรือเชิงพาณิชย์ได้อีกมากมาย

 

แต่ถ้ามองในอีกมุม ภาพถ่ายในวงการฟุตบอลไทยส่วนใหญ่ก็ถือว่าอยู่ในมาตรฐานที่ดี และช่วยให้ฟุตบอลไทยดูมีความน่าสนใจมากขึ้นๆ ทุกปี เราจึงเริ่มเห็นการจับมือกันระหว่างค่ายกล้องต่างๆ กับทางสโมสรฯ เพื่อให้การลั่นชัตเตอร์แต่ละครั้งนั้นทรงประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ผมมีโอกาสได้คุยกับช่างภาพรุ่นพี่ รุ่นน้องในหลายๆ สโมสร พบว่า คาแรกเตอร์อย่างหนึ่งที่หลายๆ คนมีเหมือนกันนั่นก็คือ ทุกคนมีความตั้งใจที่จะทำงานให้ดีที่สุดภายใต้อุปกรณ์ที่ตัวเองถืออยู่ และรักในการเป็นคนเบื้องหลัง (เลนส์) ในการส่งต่อทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในสนามทั้งรอยยิ้ม การดีใจ เสียงหัวเราะ ความสุข ตลอดจนน้ำตา ความผิดหวัง และความเสียใจ ไปยังแฟนบอล และสื่อมวลชนทั้งประเทศได้รับรู้ว่า ฟุตบอลยังคงเป็นอะไรที่เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวที่คาดเดาไม่ได้เสมอ คล้ายๆ กับแต่ละวินาทีของการลั่นชัตเตอร์ นั่นคือความสุข และความสุขของคนที่ทำอาชีพนี้

 

ยิ่งฟุตบอลเป็นกีฬามหาชนที่เข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย ในปัจจุบัน เราจึงเห็นช่างภาพทุกเพศทำงานอยู่ในสนามโดยไม่มีการแบ่งแยก ทุกคนต่างก็ทำหน้าที่ด้วยความทุ่มเท และให้เกียรติกัน นั่นคือความงดงามที่พี่น้อง “ช่างภาพฟุตบอล” ต่างคอยช่วยเหลือกันจนทำให้ฟุตบอลไทยเรามีช่างภาพหญิงฝีมือดีๆ ขึ้นมาประดับวงการมากมายในปัจจุบัน

 

“ผมไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าการได้ลงไปในสนาม (ฟุตบอล) ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้ทำอาชีพนี้ (ช่างภาพสโมสร) เพราะจุดที่ผมนั่งทำงานนั้นมันใกล้นักบอลยิ่งกว่าใครในสนาม ผมก็เป็นแค่คนที่รักฟุตบอล รักมาก ผมมีความสุขเวลาได้เห็นแฟนบอลแชร์รูปที่เราถ่าย” นี่คือประโยคที่รุ่นน้องผมคนหนึ่งได้กล่าวไว้ในฐานะ “ช่างภาพสโมสร” แน่นอนว่า นี่คืออีกหนึ่งมุมความสุขของคนที่รับหน้าที่บันทึกเรื่องราวในสนาม และผมอยากขอขอบคุณ “ช่างภาพสโมสร” ทุกๆ คนที่คอยร่วมเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนฟุตบอลไทยไปด้วยกัน พวกคุณคืออีกหนึ่งกลุ่มคนเบื้องหลังที่แม้จะไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนัก แต่อยากบอกให้คุณรู้ว่า การถ่ายทอดอารมณ์ในสนามจากพวกคุณด้วย “ภาพถ่าย” นั้นสำคัญจริงๆ...  

 

ทุกภาพที่คุณถ่าย มีความหมายสำหรับแฟนบอล และคนที่รักฟุตบอลเสมอ...


stadium

author

เก้น นิติพงษ์ ยวนตระกูล

ผู้จัดการสื่อสารการตลาด & มีเดีย หนุ่มไฟแรง : ผู้บรรยายฟุตบอล - ฟุตซอล ที่คลั่งไคล้มนต์เสน่ห์ลูกหนัง

MAR 2024 KV