stadium

เจาะกลยุทธ์ Diamond Food VC ทีมหญิง ก่อตั้ง 3 ปี พิชิตแชมป์ลูกยางลีก

12 เมษายน 2564

Diamond Food VC ทีมแชมป์วอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีกหญิง ซีซั่น ล่าสุด เป็นความสำเร็จที่มากจากการทำทีมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จากวิสัยทัศน์ของทีมตั้งแต่วันเปิดตัวสโมสรก่อนฤดูกาลจะเริ่ม เราสัมผัสได้ถึงแพสชั่น ตั้งแต่ผู้บริหารทีมส่งต่อมาถึงทีมงานสตาฟฟ์โค้ช จนมาถึงนักกีฬา จนถึงวันนี้ที่วันที่พวกเขาก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์วอลเลย์บอล ไทยแลนด์ ลีก ครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร พร้อมทำสถิติไม่แพ้ให้กับทีมไหนเลยในรอบ 4 ทีมสุดท้าย


อะไรคือกุญแจสำคัญที่ทำให้ ไดมอนด์ ฟู้ด วีซี ไขความสำเร็จได้ทั้ง ๆ ที่เป็นสโมสรน้องใหม่ที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นได้ไม่ได้เกิน 3 ปี วันนี้เรามีคำตอบ

 

 

แพสชั่นของคนทำทีม

 

ด้วยความรักในกีฬาวอลเลย์บอลเป็นชีวิตจิตใจ ทำให้ในปี 2016 คุณเดชา สุวลักษณ์ ผู้บริหารไดมอน ฟู้ด ผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋อง ในฐานะแฟนวอลเลย์บอลตัดสินใจพลิกบทบาทจากแฟนวอลเลย์บอล กระโดดเข้ามาร่วมพัฒนาวงการลูกยางไทย ก่อตั้งสโมสรไดมอนด์ ฟู้ด วีซี ขึ้นมาในปี 2018 พร้อมส่งแข่งในลีกอาชีพ โดยหวังที่จะช่วยยกระดับและสร้างอาชีพให้กับเยาวชน

 

อันที่จริงแล้ว คุณเดชา นั้นมีบทบาทกับวงการลูกยางไทยมาก่อนหน้านี้สักระยะ โดยแรกเริ่มมาในฐานะผู้สนับสนุนหลักของทีม ไดมอนด์ ฟู้ด - มทร. พิษณุโลก และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการทีมอยู่ประมาณ 2 ปี ก่อนตัดสินใจแยกทางขอมาทำทีมเป็นของตัวเองในปี 2018 เริ่มต้นสร้างทีมชาย ก่อนไต่เต้าเป็นแชมป์โปรชาลเลนจ์ลีกได้ตั้งแต่ปีแรก คว้าตั๋วเลื่อนชั้นสู่วอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีก และตลอด 2 ฤดูกาลบนลีกสูงสุดทำได้ดีที่สุดเพียงแค่รองแชมป์

 

ขณะที่ทีมหญิงก่อตั้งขึ้นในปี 2019 แจ้งเกิดได้เหมือนทีมชาย เพราะเพียงแค่ปีแรกที่ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันก็สามารถคว้าแชมป์โปรชาเลนจ์ลีกและเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุด ส่วนผลงานบนลีกสูงสุดเมื่อฤดูกาลที่แล้วถือว่าผิดเป้าไปเล็กน้อย จบอันดับ 5 ไม่ผ่านเข้ารอบไฟน่อล โฟร์ 

 

แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คุณเดชา สุวลักษณ์ ยังคงเดินหน้าทุ่มทุนทุ่มเทเพื่อยกระดับทีมต่อไป เพราะเขาได้บอกกับเราไว้ว่า ยิ่งเขาทุ่มเงินมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ทีมอื่นอยากยกระดับขึ้นมาให้เหมือนกับเขา และที่สำคัญเขาอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับวงการวอลเลย์บอลไทยให้เป็นระดับอาชีพมากขึ้น เพราะมันจะส่งผลดีต่อทีมชาติ

 

 

แพ้ไม่ใช่ทางเลือก ปฏิเสธทุกความพ่ายแพ้

 

ใน VTR วันเปิดตัวสโมสรก่อนจะเริ่มต้นซีซั่น 2020-2021 มีประโยคเด็ดที่น่าสนใจอยู่ 2 คำ คือ Lost isn't an option และ Refuse to lose แปลเป็นไทยคือ ความพ่ายแพ้ไม่ใช่ทางเลือกและปฏิเสธทุกความพ่ายแพ้ อ่านดูแล้วเหมือนประโยคเท่ ๆ ประโยคนึง แต่มันกลับสร้างอิมแพ็คได้มากกว่าคิด เป็นคำแฝงเอาไว้ด้วยความมุ่งมั่น  ราวกับ DNA ความเป็นผู้ชนะถูกปลูกฝังไว้กับนักกีฬาทุกคนในทีม ให้ต่อสู้ด้วยหัวใจที่เกินร้อย ไม่ใช่แค่นักกีฬา แต่ยังหมายถึงทีมงานผู้ฝึกสอนและผู้บริหารด้วยเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับบทสัมภาษณ์บนเวทีของคุณเดชา ที่กล่าวไว้ว่า

 

"เป้าหมายของทีมทุกปีคือการคว้าแชมป์ เพราะเราเตรียมทีมเพื่อเป็นแชมป์อยู่แล้ว ไม่ได้เตรียมทีมมาเพื่อเป็นที่ 2 หรือที่ 3”

 

 

แก้จุดอ่อน พัฒนาจุดแข็ง

 

2 ฤดูกาลหลังแม้ว่าทีมชายจะจบที่ 2 แต่ต้องยอมรับว่าองค์ประกอบของทีมชายนั้นจัดว่าอยู่ในระดับสูง ดีอยู่แล้วเพียงแต่ต้องปรับรายละเอียดการเล่นเล็ก ๆ น้อยในสนาม แต่ในส่วนของทีมหญิงช่องว่างระหว่างทีมหัวตารางกลับพวกเขาดูเหมือนจะยังมีระยะห่างอยู่พอสมควร การเสริมตัวเล่นชื่อดังระดับทีมชาติอย่าง หัตถยา บำรุงสุข , ฑิฆัมพร ช้างเขียว , ธนัชชา สุขสด รวมไปถึงดีลเซอร์ไพร์สอย่าง นุศรา ต้อมคำ ในเลกสอง ทำให้ขุมกำลังของทีมดีขึ้นทั้งในเชิงลึกและเชิงคุณภาพ และเมื่อรวมกับผู้เล่นตัวเก๋าอย่าง อรอุมา สิทธิรักษ์ , มลิกา กันทอง , อำพร หญ้าผา , จรัสพร บรรดาศักดิ์ จึงช่วยลดช่องว่างระหว่างทีมท็อปโฟร์กับ ไดมอน ฟู้ดส์ วีดี ลงได้แบบเห็นได้ชัด

 

อีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจ คือการดึง "โค้ชด่วน" ดนัย ศรีวัชรเมธากุล หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย มาคุมทีม พร้อมกับขยับ วรรณา บัวแก้ว เฮดโค้ชซีซั่นที่แล้วมาเป็นผู้ช่วย จะทำให้ระบบการเล่นของทีมแน่นขึ้น โค้ชด่วนเองก็คุ้นเคยนักกีฬาในทีมอยู่ไม่น้อย เชื่อว่าน่าจะงัดศักยภาพของนักกีฬาออกมาได้เต็มประสิทธิภาพ

 

 

 

ความสำเร็จมีราคาที่ต้องจ่าย

 

การดึง โค้ชด่วน มาคุมทีมในซีซั่นนี้ได้ รวมไปถึงการได้ผู้เล่นมากฝีมือและประสบการณ์อย่าง นุศรา ต้อมคำ , หัตถยา บำรุงสุข , ฑิฆัมพร ช้างเขียว , ธนัชชา สุขสด เข้ามา แน่นอนว่าต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อยในการดึงดูดนักกีฬาระดับนี้ นุศรา ไม่ต้องพูดถึงฝีมือเธออยู่ในระดับโลกค่าเหนื่อยมหาศาล ส่วน หัตถยา บำรุงสุข อันที่จริงแล้วเธอก็มีฝีมืออยู่ในระดับทีมชาติเพียงแต่ถูกอาการบาดเจ็บเล่นในงานช่วงหลัง ขณะที่ ฑิฆัมพร ช้างเขียว ก็เคยประสบความสำเร็จในเป็นแชมป์สโมสรทวีปเอเชียกับบางกอกล๊าส วีซี มาแล้ว รวมไปถึง ธนัชชา ดาวรุ่งอนาคตไกลก็เคยไปพิสูจน์ฝีมือในวอลเลย์บอลวีลีก ลีกอาชีพที่ประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว

 

เมื่อรวมกับค่าเหนื่อยของ อรอุมา สิทธิรักษ์ , มลิกา กันทอง ที่ต้องยอมรับว่าค่าเหนื่อยของ 2 คนนี้ไม่ใช่ตัวเลขน้อย ๆ  เพราะทั้งคู่นั้นเป็นกำลังสำคัญของทีมชาติไทยมาตลอดและยังเล่นอยู่ในมาตรฐานระดับสูง บอกเลยทั้งหมดนี้ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เท่าที่ทราบมาจากประธานสโมสร ท่านแอบกระซิบว่าทำทีมมา 3 ปี หมดไปไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท

 

แต่ก็นะ ทำยังไงได้ ก็ความสำเร็จมันมีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ!!

 

 

เป้าหมายชัดเจนทำทีมเพื่อเป็นแชมป์

 

บทสรุปทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมาในข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการทำทีมที่ชัดเจนว่าต้องการทำทีมเพื่อประสบความสำเร็จ ไม่ได้ทำทีมเล่น ๆ มาแล้วก็ไป เป็นเหมือนตัวประกอบเหมือนหลาย ๆ ทีมก่อนหน้านี้ ที่เข้ามาสร้างความหวือหวาเท่านั้น แต่พอขาดทุนหรือไปต่อไม่ไหวก็ต้องหันหลังกลับ แต่สำหรับ ไดมอน ฟูดส์ วีซี พวกเขาทำทีมเป็นของตัวเอง และมีความต้องการยกระดับให้เกิดเป็นทีมอาชีพแบบจริงจัง ต้องการสร้างความสำเร็จ สร้างรายได้ให้กับนักกีฬา มีการจำหน่ายสินค้าที่ระลึกของสโมสร เฟ้นหาบุคลากรคุณภาพเข้ามาพัฒนาทีม เพื่อพาทีมไปสู่เป้าหมายนั่นคือการเป็นแชมป์

 


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

MAR 2024 KV