stadium

"Football Analysis" เมื่อฟุตบอลยุคปัจจุบันกลายเป็นวิทยาศาสตร์ที่ตัดสินผลแพ้ชนะได้

29 พฤศจิกายน 2563

#แบกเป้ดูบอลไทย

"Football Analysis" เมื่อฟุตบอลยุคปัจจุบันกลายเป็นวิทยาศาสตร์ที่ตัดสินผลแพ้ชนะได้

 

เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา หากใครยังจำกันได้ จะเห็นว่าทางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้เป็นประธานการประชุมหารือด้านการพัฒนาเทคนิคฟุตบอลไทย ‘Thai Football Analysis Conference 2020’ พร้อมด้วย พาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการสมาคมฯ, การ์เลส โรมาโกซา ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคสมาคมฯ

 

โดยการประชุมครั้งนี้ได้จัดขึ้นร่วมกับคณะผู้ฝึกสอนระดับ AFC โปรไลเซนส์ นำโดย วิทยา เลาหกุล, เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, ธชตวัน ศรีปาน, จเด็จ มีลาภ, วรวุธ ศรีมะฆะ, สุรชัย จตุรภัทรพงศ์, ศิริศักดิ์ ยอดญาติไทย, รังสรรค์ วิวัฒน์ชัยโชค ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อยกระดับ และพัฒนาทุกๆ องค์ประกอบของฟุตบอลไทย 

เพราะโลกของฟุตบอลยุคปัจจุบัน หาใช่เพียงแค่การใช้แพสชั่น และความรู้สึกแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่การยิบยกฟุตบอลให้กลายเป็น “วิทยาศาสตร์” แขนงหนึ่ง ที่มีความละเอียด และลึกซึ้งดั่งศาสตร์ๆ หนึ่ง ฉะนั้น จึงเป็นที่มาของการพัฒนาในทุกๆ องค์ประกอบของฟุตบอลไทยอย่างสมดุล ทั้งการวางรากฐานฟุตบอลตั้งแต่ระดับเยาวชน เปิดคอร์สอบรมผู้ฝึกสอนในระดับต่างๆ จัดการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ จัดการแข่งขันฟุตบอลระดับชาติ การยกระดับผู้ตัดสิน นำเทคโนโลยี VAR เข้ามาช่วยสร้างมาตรฐาน และความยุติธรรมให้เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของฟุตบอลทั้งสิ้น

 

เมื่อสักครู่เราพูดในเชิงของภาพกว้างถึงความสำคัญของ "Football Analysis" แต่ถ้าเรามาลงรายละเอียดถึงการนำมาปฏิบัติจริงแล้วจะพบว่า นี่คือสิ่งที่แทบจะทุกสโมสรในไทยล้วนแต่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับ “การวิเคราะห์” เป็นอย่างยิ่ง

 

คำว่า “วิเคราะห์” ในที่นี้ ไม่ได้หมายความถึงการวิเคราะห์แต่คู่แข่งเท่านั้น หากแต่ยังต้องวิเคราะห์ทีมตัวเองประกอบคู่กันไปด้วย เพื่อทราบทั้งจุดแข็ง และจุดอ่อนของทีมตัวเอง

 

นั่นจึงเป็นที่มาของหน้าที่ “นักวิเคราะห์ประจำทีม” ราวกับเราเล่น Football Manager เองอย่างงั้น

ความสำคัญ และบทบาทของ “นักวิเคราะห์ประจำทีม” นั้นเรียกได้ว่ามีรายละเอียดมหาศาล เพราะต้องเริ่มตั้งแต่การตีโจทย์ และความต้องการของเฮดโค้ชให้แตกว่า อะไรคือคำตอบที่ทีมต้องการเพื่อการเตรียมความพร้อมก่อนเกมนัดต่อไป ความอดทนในการดูแมตช์ย้อนหลังซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งทีมตัวเอง และคู่แข่ง ตลอดจนการนำข้อมูลจากอุปกรณ์การฝึกซ้อมอาทิ GPS เพื่อกลั่นออกมาเป็นคำตอบ นี่จึงเป็นภารกิจด่านหินในการเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาล เพื่อมาย่อยเป็น “จุดสำคัญ” ที่ทีมควรทำ และไม่ควรทำในสนาม

 

ปรัชญาจาก ซุนวู ที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” คือสัจธรรมที่เที่ยงตรงไม่มีเปลี่ยน โลกของฟุตบอลก็เช่นกัน คุณไม่สามารถลงไปเล่นโดยสนามโดยที่มีเพียงแค่ความเก่งกาจ หรือความมั่นใจส่วนตัวแต่เพียงอย่างเดียว อีกทั้งแทคติกฟุตบอลสมัยใหม่ก็ไม่ได้เอื้อให้คุณเล่นแบบ “วัน แมน โชว์” กระชากลากเลี้ยยสิบคนเข้าไปยิงได้อีกแล้ว ฉะนั้น จึงเป็นที่มาของ “แทคติกสมัยใหม่” ที่ทุกคนต้องมีบทบาททั้งเกมรุก และรับ การเล่นเป็นทีม ความเข้าใจในเกม การช่วงชิงจังหวะ รู้หน้าที่ความรับผิดชอบในสนาม ตลอดจน การรู้ว่าหากคู่แข่งเล่นแบบนี้ แล้วเราจะต้องจัดการกับสถานการณ์ตรงหน้าแบบไหน พร้อมกับต้องคิดภาพต่อไปว่าตัวเองจะทำอะไร และเพื่อนน่าจะวิ่งไปตรงไหน

 

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากสัญชาตญาณแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์ การวางแผน และข้อมูลจาก “นักวิเคราะห์ประจำทีม” ที่ต้องจำลองสถานการณ์แบบนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าในสนามซ้อม นี่คือศาสตร์ที่เกิดจากการเตรียมตัวที่ดี ไม่ได้เกิดจากโชค หรือความบังเอิญแต่อย่างใด

 

แน่นอนว่าคุณสมบัติของการเป็น “นักวิเคราะห์” ที่ดีก็คือ คุณต้องเป็นมนุษย์ที่พร้อมจะอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า “ฟุตบอล” ตลอดเวลา พูดง่ายๆ คือต้องมีความหลงใหลมากกว่าคนที่ชอบดูฟุตบอลปกติ มีความอดทนที่จะใช้ความคิด การเปิดกว้างในการรับข้อมูลแบบน้ำไม่เต็มแก้ว การความเด็ดขาดในการตัดสินใจว่าจะเลือกใช้ข้อมูลชุดไหนที่เป็นประโยชน์ต่อทีมมากที่สุด และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญก็คือ “ภาษา” เนื่องจากต้องยอมรับว่าการเข้าถึงศาสตร์ฟุตบอลที่ดีส่วนมากแล้วยังเป็นภาษาอังกฤษนั่นเอง

 

นี่คือความสำคัญของอีกหนึ่งคนเบื้องหลังที่ทำงานหนักไม่แพ้นักเตะ หรือเผลออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะ “นักวิเคราะห์ประจำทีม” ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ใช้ประสบการณ์ค่อนชีวิตการทำงาน ในการสรุปทุกอย่างออกมาเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย และถ่ายทอดได้ครบในระยะเวลาไม่เกิน 20 นาทีในการประชุมทีมแต่ละครั้ง นั่นคือความหินของการเป็น “นักวิเคราะห์ประจำทีม” ที่ยอมรับว่าปัจจุบันทุกทีมจะขาดไม่ได้ เพราะนี่คือวิทยาศาสตร์ที่สามารถตัดสินผลแพ้ชนะได้ใน 90 นาที


stadium

author

เก้น นิติพงษ์ ยวนตระกูล

ผู้จัดการสื่อสารการตลาด & มีเดีย หนุ่มไฟแรง : ผู้บรรยายฟุตบอล - ฟุตซอล ที่คลั่งไคล้มนต์เสน่ห์ลูกหนัง

MAR 2024 KV