stadium

Pumptrack SlideAway : ชุมชนคนรักเอ็กซ์ตรีม

6 พฤศจิกายน 2563

สนามกีฬาปั๊มแทร็คในประเทศส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นอยู่ในพื้นที่ของโรงแรมดัง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ใช้เวลาพักผ่อนร่วมกับครอบครัว ในบรรยากาศสบายๆในวันหยุด แต่สำหรับสนาม Pumptrack SlideAway ปทุมธานี นั้นแตกต่างออกไป

 

สนามแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยความเรียบง่ายไม่ซับซ้อน พื้นที่ของสนามมีความเอียงลาดที่ไหลลื่นอย่างต่อเนื่อง เด็กเล็กเล่นได้ เหมาะสำหรับผู้เล่นหน้าใหม่ที่ไม่มีพื้นฐานแต่อยากฝึกการทรงตัว และด้วยความเป็นกันเองที่เราสัมผัสได้จากเจ้าของสถานที่ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมสนามปั๊มแทร็คแห่งนี้ถึงได้มีคนเล่นจากทั่วทุกสารทิศพาเหรดเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก จนวันนี้เราอาจเรียกได้ว่าเป็น  Extreme community หรือชุมชนคนรักกีฬาเอ็กซ์ตรีมไปแล้ว

 

ทั้งหมดนี้ถูกเนรมิตและบริหารงานโดย “นิก” กรินทร์ มนุญปิจุ ช่างภาพระดับอินเตอร์ เจ้าของที่ดินที่ตัดสินโฉมพื้นแปลงที่กว่า 5 ไร่ ให้กลายเป็นสนาม Pumptrack SlideAway และวันนี้เราเดินทางมาพูดคุยกับเขาเพื่อฟังมุมมอง วิธีคิดไปพร้อมกัน

 

Photo : FB สนาม Pumptrack SlideAway ปทุมธานี

 

กำนิด Pumptrack SlideAway

“มันคือธุรกิจบวกกับความฝัน เราอยากมีพื้นที่ที่สามารถทำสิ่งที่เราชอบร่วมกับคนที่มีความชอบเหมือนเรา โดยที่เราก็สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ด้วย หลายคนอาจไม่เคยรู้จักปั๊มแทร็คมาก่อน เราอยากให้เขาได้มาลอง มาร่วมกันเปิดประสบการณ์และต่อยอดไปด้วยกัน” ช่างภาพหนุ่มวัย 33 ปี พูดถึงเป้าหมายก่อนจะเล่าย้อนไปยังจุดเริ่มไห้เราฟัง

 

“ที่ดินผืนนี้เป็นมรดกของครอบครัวตั้งแต่ยุคคุณปู่คุณย่า พื้นที่ประมาณ 5 ไร่ เป็นพื้นที่ตาบอดหลบอยู่ในซอยเล็กๆหลังโรงเรียน โชคดีที่มีถนนตัดและอยู่ติดริมน้ำ เพราะเมื่อก่อนชาวบ้านแถวนี้สัญจรกันโดยเรือ ตอนผมเด็กๆ พ่อแม่ปล่อยให้คนอื่นเช่าทำนา คิดค่าเช่าถูกมาก พอไม่มีคนเช่าเลยกลายเป็นพื้นที่รกร้าง จนวันหนึ่งพ่อกับแม่ตัดสินใจว่าอยากจะใช้พื้นที่ตรงนี้ทำอะไรสักอย่างเพื่อดูแลครอบครัว” 

 

“มีการประชุมญาติพี่น้องทุกคนมีความคิดเห็นตรงกันว่าอยากจะทำธุรกิจสนามฟุตบอลหญ้าเทียม เพราะทุกคนคิดว่าฟุตบอลคือกีฬาอันดับหนึ่งของไทย ถ้ามองในแง่ธุรกิจน่าจะดี เพราะช่วงนั้นสนามหญ้าเทียมได้รับความนิยมค่อนข้างมาก”

 

“ตามโปรเจกต์จะมีทั้งสนามฟุตบอล คอร์ทแบดมินตัน ลึกๆตอนนั้นก็ไม่เห็นด้วย แต่เราเป็นแค่ส่วนหนึ่งในที่ประชุมเท่านั้น”

 

เมื่อมติในครอบครัวเห็นตรงกันโปรเจกต์สร้างสนามฟุตบอลหญ้าเทียมจึงเกิดขึ้น และถูกเปิดใช้งานครั้งแรกในปี 2015 แต่ด้วยปัจจัยหลากหลายด้าน ทั้งพิษเศรษฐกิจและคู่แข่งในเชิงธุรกิจค่อนข้างสูง รวมไปถึงพื้นที่ตั้งอยู่ในเขตชุมชนทำให้คนเข้ามาใช้บริการนั้นไม่เป็นไปตามที่คิด

 

“ฟุตบอลเป็นกีฬาอันดับหนึ่งก็จริง แต่ข้อเสียคือมันดึงคนได้แค่เฉพาะในชุมชนเท่านั้น มีการแข่งขันสูง ค่าเช่าเราถูกมาก กลางวันชั่วโมงละ 700 บาท กลางคืน 900 บาท แต่ก็ยังมีสนามอื่นที่คิดราคาถูกกว่า ลูกค้าก็เลือกไปสนามที่ถูกกว่า แต่มันก็ยังพอไปได้เพราะเป็นที่ดินเรา”

 

ในวันที่ธุรกิจดาวน์ลง คนเริ่มไม่มาใช้บริการ ความเห็นของคนในครอบครัวก็เริ่มแตกไปคนละทาง แต่สำหรับช่างภาพหนุ่มที่ทำเป็นแค่ผู้ฟังในวันนั้น กลับมีโปรเจกต์ที่ใหญ่กว่า และสามารถดึงดูดคนเล่นกีฬาได้ทั่วประเทศนั่นก็คือสร้างสนามปั๊มแทร็ค

 

“ช่วงที่ทำสนามหญ้าเทียมเรายังไม่ได้ทำโดยตรง เพราะด้วยหน้าที่การงาน เราเป็นช่างภาพโฆษณาทำงานโปรดักชั่นซัพพอร์ทให้กับฝรั่งจึงไม่มีเวลามาช่วยดูแล”

 

“แต่เราเห็นแล้วว่าที่ตรงนี้มันไม่เหมาะทำสนามฟุตบอล พอมีจังหวะให้เราเข้ามาดูแล เราก็ตัดสินใจแล้วว่าจะสร้างสนามที่ดึงดูดคนทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่คนในปทุมธานี พื้นที่ที่เหลือประมาณ 3 ไร่ก็สร้างสนามปั๊มแทร็ค ในประเทศไทยมีสนามประเภทนี้น้อยมาก ฟุตบอลจะเล่นที่ไหนก็ได้ แต่ถ้าจะเล่นปั๊มแทร็คต้องมาหาเราเท่านั้น”

 

 

ปั๊มแทร็คคืออะไร?

ปั๊มแทร็ค คือ คือสนามกีฬาประเภทหนึ่งเหมาะสำหรับอุปกรณ์ที่มีล้อ อย่างเช่น จักรยาน ,  สเกตบอร์ด หรือโรลเลอร์เบลด ฯลฯ ทั้งหมดจะใช้หลักการเดียวกัน คือการ ย่อขา ยืดตัว เรียกง่ายๆว่าปั๊มแรงตามจังหวะขึ้นลงเนินในสนาม ทุกครั้งที่ขึ้นลงเนินจะมีแรงส่งให้เราเคลื่อนที่ไปข้างหน้า

 

ปัจจุบันในบ้านเรานั้นมีสนามปั๊มแทร็คไม่กี่สนาม อาทิ พัทยา , บางพระ , บางนา , จ.สระแก้ว , จ.อุบลราชธานี , สนามบินสุวรรณภูมิ , จ.นครปฐม , สามโคก และ จ.ปทุมธานี ฯ 

 

นิก เล่าต่อว่า “เราเป็นคนชอบปั่นจักรยานตั้งแต่เด็ก เสือหมอบ ฟิกเกียร์ เสือภูเขา ทัวร์ริ่ง ยกเว้นบีเอ็มเอ็กซ์ นอกนั้นลองมาหมดแล้วทุกรูปแบบ” 

 

“ช่วงที่ไปเมืองนอกได้เจอกับสนามปั๊มแทร็คตอนแรกก็ไม่รู้เรียกว่าอะไร แต่ลองเล่นแล้วรู้สึกสนุกก็จำมาตลอด แล้วเรามีเพื่อนปั่นบีเอ็มเอ็กซ์เรซซิ่ง แล้วเราได้เห็นภาพสนามปั๊มแทร็คที่สระแก้วเห็นแล้วดูน่าสนุก ก็เลยลองหาข้อมูลจริงจัง”

 

“ช่วงที่ผมหัดบีเอ็มเอ็กซ์เรซซิ่ง ล้มหัวทิ่มหัวตำตลอดเป็นเพราะเราไม่เข้าใจมัน ไม่เข้าใจสนาม ปั้มแทรคมีจุดประสงค์ของมันอยู่แล้ว มันไม่ใช่สนามปั่น คุณมาเล่นที่ปั้มแทรค คุณแทบไม่ต้องปั่นเลย คุณแค่ปั้มอย่างเดียว จากที่เราเข้าใจว่าจักรยานทุกประเภทจะต้องปั่น แต่สนามประเภทนี้ใช้วิธีปั้ม ใช้วิธีการย่อยืด ดันรถออกไป ดึงรถเข้าหาตัว โดดได้โดด บันไดแทบจะไม่ได้หมุน จุดประสงค์ของสนามหนึ่งรอบคุณต้องไม่ได้ปั่นเลยแม้แต่ครั้งเดียว นั่นคือสนามปั้มแทร็คที่ดี”

 

“เราทำสนามปั๊มแทรคต้องการให้กลุ่มคนเล่นจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ เรซซิ่ง , จักรยานเดิร์ทจั๊มพ์ ได้เข้ามาเล่น แต่ในช่วง 2-3 ปีมานี้ที่ต่างประเทศมีการเอาลองบอร์ดมาเล่นในสนามปั้มแทรค บวกกับช่วงที่ผ่านมากลุ่มดาวน์ฮิลล์ก็เข้ามาเล่นด้วยกัน เลยทำให้สนามปั๊มแทร็คในปัจจุบันเป็นเหมือนศูนย์รวมจักรยานและสเกตบอร์ด

 

“ที่เมืองนอกมีมานานแล้ว แต่เพิ่งเข้ามาในไทยได้พักใหญ่ อาจจะยังไม่ดังมาก คนจะรู้จักในฐานะสนามจักรยานเด็กตรงสนามบินสุวรรณภูมิมากกว่า ขณะที่สนามอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะทำซัพพอร์ทกับโรงแรม เช่น ที่พัทยาทำปั้มแทร็คขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรม ไม่เก็บค่าใช้จ่ายเปิดให้คนที่มาพักใช้ฟรี จุดประสงค์คือให้เด็ก ๆ เล่นเหมือนที่สุวรรณภูมิ”

 

“เราจึงเกิดไอเดียอยากทำสนามปั๊มแทร็คให้ทุกคนเล่นได้ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น บาลานซ์ไบค์ , บีเอ็มเอ็กซ์ , สเกตบอร์ด โจทย์ในการออกแบบคือเป็นปั้มแทร็คที่เล่นง่าย มีความต่อเนื่องไม่ยากจนเกินไป คนมาครั้งแรกเล่นได้เลย”

 

 

Photo : FB สนาม Pumptrack SlideAway ปทุมธานี

 

พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

ช่วงต้นปี 2020 สนาม Pumptrack SlideAway เปิดให้บริการเป็นครั้งแรกในวันที่ 19 มกราคม กระแสตอบรับในช่วงนั้นยังคงเงียบเหงา มีคนมาใช้บริการในแต่ละวันแค่หลักหน่วย ส่วนใหญ่เป็นคนคุ้นหน้าในวงการเอ็กซ์ตรีมมากกว่า 2 เดือนต่อมาอย่างที่ทุกคนทราบกันดีในเดือนมีนาคม ไวรัสโควิด-19 ระบาดหนักในไทย รัฐบาลสั่งล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ส่งผลกระทบให้ Pumptrack SlideAway ที่เพิ่งเปิดได้ไม่ถึง 3 เดือนต้องปิดให้บริการชั่วคราว ซ้ำร้าย นิก ก็ถูกยกเลิกงานถ่ายภาพด้วยเช่นกัน

 

เป็นช่วงวิกฤตสุดในชีวิตก็ว่าได้ ไม่มีรายได้เข้ามาเลยสักทาง แต่ความลำบากนี่แหละที่ทำให้คนเราเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ช่างภาพหนุ่มวัย 33 ปี อาศัยจังหวะนี้ทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับสิ่งเขาที่สร้างขึ้นมา แม้โอกาสอยู่รอดเพียงน้อยนิดในวิกฤตก็พลิกชีวิตให้ดีขึ้นได้เหมือนกัน

 

ในแต่ละวันเขาใช้เวลาถ่ายภาพสนามแต่ละมุม โพสต์โปรโมทขึ้นเฟซบุ๊ค อัพเดทความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดแม้ไม่ได้เปิดทำการ ทำแบบนี้ซ้ำ ๆ จนกระทั่งรัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์กลางเดือนพฤษภาคม

 

“เพราะโควิด เรารับงานถ่ายภาพไม่ได้ ทำให้เรามีเวลาอยู่ตรงนี้มากขึ้น ผมทำรูปโพสต์โซเชียลทุกวัน ช่วงคลายล็อกมีคนส่งข้อความมาถามในเพจว่าสนามเปิดหรือยัง จากคนสองคนก็เริ่มทักมาถามกันเยอะขึ้น”

 

“เขาคงเห็นเพจเรามีความเคลื่อนไหวตลอด รวมไปถึงกลุ่มคนที่เคยมาเล่นแล้วโพสต์รูปลงบนสื่อออนไลน์ คนอาจไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร แต่ช่วงล็อกดาวน์เกือบ 3 เดือนเป็นเวลาที่ทุกคนรู้สึกอึดอัดอยากออกจากบ้าน อยากทำกิจกรรม ซึ่งภาพพวกนี้มันอาจจะถูกเผยแพร่ออกไปให้คนเห็นว่ามีสนามแบบนี้อยู่ด้วย”

 

“โพสต์ที่เราบอกว่าเอาจจะได้กลับมาเปิดเร็ว ๆ นี้มันกลายเป็นไวรัล เราตัดสินใจทำสนามดินซึ่งมันพังไปแล้ว เพราะคิดว่าถ้ากลับมาเปิดมันต้องทำอะไรสักอย่างให้เป็นกระแส แล้วมันก็เป็นกระแสจริง ๆ คนก็เริ่มสงสัยว่ามีอะไรมันอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี จังหวัดเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีอะไรขยับขยายมานานกว่า 10 ปี”

 

“พอเราประกาศเปิด คนก็แห่มาทั่วเลยทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ บาลานไบค์ จักรยาน สเกตบอร์ด เดือนนั้นเดือนเดียวเปิดทุกวันไม่ได้พักเลยสักวัน เดือนพฤษภาคมครึ่งเดือนยอดทะลุมาก วันธรรมดาที่จอดรถเต็มจนเกือบควมคุมไม่ได้ ต้องเปิดให้จองล่วงหน้าจำกัดจำนวนสูงสุดวันละ 50 คน”

 

 

 

บาลานซ์ธุรกิจและความฝัน

หากมองโลกด้วยความเป็นจริง ปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้ทำตามความฝันนั้นต้องสามารถเลี้ยงดูครอบครัวให้ดีควบคู่กันไป มาถึงจุดนี้ทิศทางบริหารงานของ นิก ดูจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและถือว่ามาไกลเกินกว่าคิดเอาไว้มาก จนเกิดเป็นความภูมิใจและอยากจะต่อยอดผลักดันให้มีนักกีฬาทีมชาติไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันระดับโลก

 

“ความฝันและธุรกิจต้องเกิดและโตและไปพร้อมกัน” น้ำเสียงของนิกเริ่มหนักแน่นและจริงจังมากขึ้น

 

“แรกเริ่มอย่างที่บอกมันคือกิจกรรม แต่พอเห็นเด็กเก่ง ๆ เรารู้สึกว่าเด็กพวกนี้ไปได้อีก โตขึ้นได้อีก ถ้าเราส่งเขาขึ้นไปได้หล่ะจะเป็นยังไง วันนี้เราไม่ได้รวยถึงขั้นสนับสนุนทุกคน แต่ถ้ามันมีโอกาสที่สามารถทำได้เราจะทำ จะพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดีโดยหวังว่าผู้ใหญ่จากหลาย ๆ วงการมองเห็นตรงนี้แล้วมาช่วยกันซัพพอร์ทเด็ก ๆ ขึ้นไป”

 

“เราอยากสร้างนักกีฬาไทยไปสู่ระดับโลก เราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปั๊มแทร็คนั้นเติบโตในประเทศไทย เรารู้ว่ากีฬาชนิดนี้ไม่ใช่อันดับ 1 แต่เรานึกถึงวันที่มันบูม ดูอย่างเทนนิส คนหันมาเล่นเพราะมีฮีโร่อย่าง ภราดร ศรีชาพันธุ์ วันนี้เทนนิสก็ยังอยู่ในระดับที่ดูแลตัวเองได้้แม้ผลงานจะไม่เหมือนเดิม”

 

“เป้าหมายผมตอนนี้อยากทำให้ปั๊มแทร็คบูมในไทย อยากส่งนักกีฬาสักคนที่ถูกปั้นจากสนามแห่งนี้ขึ้นไปสู่ระดับโลก คว้าแชมป์ มีชื่อเสียงจนเกิดเป็นฮีโร่ ทำให้ผู้ใหญ่ในวงการได้เห็นว่าเด็กไทยก็ทำได้ ตอนนี้เรามีปัจจัยหลายอย่างค่อนข้างพร้อม เมื่อเราจับมือกับสนามต่าง ๆ ทั่วประเทศได้ เราก็ทำได้”

 

“ปัจจุบันปั๊มแทร็คถูกบรรจุอยู่ในการดูแลของสหพันธ์กีฬาจักรยานานาชาติ (UCI) มีการจัดการแข่งขันชิงแชมป์โลกภายใต้การดูแลของบริษัท Velosolution บริษัทผู้สร้างสนามปั๊มแทร็คมาตรฐาน  แต่ในส่วนของนักกีฬาไทยเรายังไม่มีกีฬาประเภทนี้ในการแข่งขันระดับประเทศที่ได้รับการรับรองจากสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย เนื่องจากยังเป็นเพียงกีฬาน้องใหม่ยังไม่แพร่หลายมากนัก”

 

“เรามีเครือข่ายที่รู้จักกันพยายามติดต่อกันให้มากสุด ผมติดต่อทำความรู้จักกับพี่เบนเจ้าของสนามที่สระแก้ว พยายามเข้าไปเล่นเรื่อย ๆ ทุกสนามในประเทศไทย ไม่ว่าจะบางพระ พัทยา เราพูดคุยกันหมด เราจะพยายามดึงคนเข้ามาเล่นให้มากที่สุดเพื่อให้ปั้มแทรคโตขึ้น”

 

“สนามที่จะจัดแข่งระดับโลกได้จะต้องถูกสร้างโดย Velosolution ซึ่งในไทยมี 2 แห่ง คือ จ.สระแก้ว กับสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ที่สุวรรณภูมิเล่นไม่ได้อยู่แล้วเพราะเปิดให้เฉพาะให้เด็กเล่น ฉะนั้นอยากให้ติดตามการแข่งขันที่ จ.สระแก้ว ให้ดี เพราะจะเป็นสนามแรกเราจัดการแข่งขันระดับโลก”

 

“ธุรกิจก็คือธุรกิจ ความฝันคือความฝันต้องแยกออกจากกัน การที่เราจะให้อะไรใครสักคนเราต้องทำให้ได้มากกว่านั้น สมมติเราอยากให้เขา 10 บาท เราต้องหาได้ 20 บาทเพื่อที่จะให้ 10 บาทเขาไป เพราะฉะนั้นเราต้องทำงานหนักเป็นสองเท่ากับสิ่งที่เราอยากจะให้ ธุรกิจทำเพื่อให้ความฝันเดินไปข้างหน้าได้ ทุกวันนี้เราทุ่มเทจริงจังร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุ่มหมดทุกอย่างในชีวิตไปแล้ว (หัวเราะ) เพราะมันเป็นความสุข ยิ่งเราฝันไกลก็ยิ่งทำให้เราเหนื่อยมากขึ้นเป็นพันเท่า แต่อย่างที่บอกก็ต้องหาให้ได้มากกว่าการให้ มันคือการกดเราเพื่อให้ทุกคนอยู่ได้ เราอยู่ได้ ไม่ใช่ว่าเหนื่อยโดยไม่มีอะไรเหลือเลยมันคือการบาลานซ์ธุรกิจและความฝัน”

 

 

Extreme community

สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสจากการมาเยือนสนามแห่งนี้ คือภาพความอบอุ่นของคนกลุ่มคนที่มาใช้บริการ หลาย ๆ ครอบครัวจะพาเด็กเล็กมาหัดปั่นจักรยาน ได้เห็นรอยยิ้มของเด็ก ๆ ได้ยินเสียงหัวเราะของผู้ปกครองขณะที่แลกบทสนทนากันอย่างสนุกสนาน ขณะเดียวกันเราเองก็สัมผัสได้ถึงความเป็นกันเองของ นิก ที่ดึงดูดให้ลูกค้าขาประจำมาแล้วต้องกลับไปอีก เป็นเสน่ห์ที่แตกต่างต่างจากสนามกีฬาเอ็กซ์ตรีมสถานที่อื่น ๆ ที่เราเคยไปมา ราวกับว่าที่แห่งนี้เป็นชุมชนของคนรักกีฬาเอ็กซ์ตรีมไปแล้ว

 

“สนามเราเล่นง่าย เพราะเราให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ทุกเนินไหลลื่นต่อเนื่อง ไม่มีการขึ้นไปแล้วหักตกลงมา คนที่มาไม่จำเป็นต้องเล่นสนามใหญ่ก็ได้ เล่นแค่สนามเล็กก็สนุกแล้ว สนามของเราไม่เหมือนปาร์ค เพราะเราเล่นไปทางเดียวกัน จะไม่มีการซ้อนทับกัน” นัยน์ตาของนิกเริ่มโตสดใส มีประกายของความสุขอยู่เต็มดวงตา ก่อนทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มว่า

 

“เรามีสอนสเกตบอร์ดและจักรยาน มีทั้งที่เป็นคลาสทั้งส่วนตัว เหมาะกับเด็ก ๆ ที่อยากทดลองเรามีครูสอนเพื่อให้เล่นเป็น หรือถ้าอยากจริงจังแนะนำให้เรียนแบบเจาะลึกส่วนตัว และถ้าหากคุณไปต่อได้ก็จะมีการโค้ชชิ่งกันอีก ซึ่งก็เป็นโปรเจกต์ในอนาคตที่เราจะจัดตั้งทีมขึ้นมา”

 

 “อีกภาพที่เราเห็นคือการใช้เวลาว่างของครอบครัว ตอนนี้มันกลายเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้นนเรื่อย ๆ ไปแล้ว เราไม่ได้สร้างลูกค้า แต่เราสร้างมิตรภาพ เรามีเพื่อนมากขึ้น เรามีกลุ่มคนที่มาเล่นจนรู้จักกันแลกไลน์ไว้นัดกินเหล้า เราเห็นพ่อแม่ที่พาลูกมาเล่น แล้วเขาเข้ามาคุยกับกลุ่มคนพวกนี้อย่างสนุกสนาน ไม่มีใครนั่งรอแบบเบื่อนั่งคอยหงอยเหงา มันสร้างความสุขให้กับเรา”

 


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

La Vie en Rose