stadium

วูบคาสนาม: ภัยร้ายใกล้ตัวนักกีฬาอันตรายถึงชีวิต

5 พฤศจิกายน 2563

วูบคาสนาม เป็นอาการที่มองข้ามไม่ได้สำหรับนักกีฬา เพราะถือเป็นภัยร้ายแรงที่ส่งผลถึงขั้นเสียชีวิต ในอดีตมีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นให้เห็นก่อนจบลงด้วยการเสียชีวิตเป็นกรณีศึกษามาแล้ว

 

ล่าสุดในเกมฟุตบอลระดับไทยลีก 3 คู่ระหว่าง นครราชสีมา ยูไนเต็ด กับ ยโสธร เอฟซี ผู้ตัดสิน อนันต์ อาบาตสมบัติ เกิดอาการวูบระหว่างทำหน้าที่จนต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล ทาง Stadium TH  ขอส่งกำลังใจขอให้อาจารย์อนันต์พ้นขีดอันตรายกลับมาแข็งแรงโดยเร็ว

 

กลับมาที่อาการวูบคาสนามกันต่อ ในระยะหลังวงการแพทย์ทั่วโลกหันมาศึกษาและให้ความสำคัญกับการป้องกันมากขึ้น เพราะถือเป็นโศกนาฏกรรมในวงการกีฬาในรูปแบบหนึ่ง สามารถเกิดขึ้นได้กับนักกีฬาทุกคนรวมถึงผู้ตัดสิน แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะมีร่างกายที่แข็งแรงกว่าคนทั่วไปก็ตาม

 

 

อันตรายใกล้ตัวที่มองไม่เห็น

ข้อมูลจาก www.khonkaenram.com  ของโรงพยาบาลขอนแก่น ราม เปิดเผยว่าอาการดังกล่าวเกิดขึ้นจาก กล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงานเฉียบพลัน เลือดไม่สามารถสูบฉีดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่างๆ ได้ เช่น สมองและหัวใจ จึงหมดสติไปกะทันหัน และจบด้วยการเสียชีวิต

 

การออกกำลังกายอย่างหนัก อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการผิดปกติได้ แต่ก็มีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลร่วมด้วย เช่น การเสียสมดุลของระดับเกลือแร่ในกระแสเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีระดับโพแทสเซียมและแมกนีเซียมในเลือดต่ำ การใช้สารเสพติด การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติที่มากผิดปกติ ซึ่งเมื่อเกิดอาการจะทำให้มีการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ 

 

สำหรับคนอายุ 35 ปีขึ้นไปมักเกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันจนทำให้เกิดการเสียชีวิตในเวลาต่อมา แต่สำหรับคนอายุน้อยหรือในหมู่นักกีฬานั้นเกิดได้ขึ้นจากหลายสาเหตุ ที่พบมากที่สุดเกิดจากหัวใจผิดปกติโดยกำเนิดเป็นผลมาจากพันธุกรรม จะมีผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวเกินไป , เส้นเลือดหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด , กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 

 

 

คำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

โลกกีฬาในอดีตเคยสูยเสียนักฟุตบอลอาชีพจากการวูบในสนามมาแล้วหลายคน อาทิ มาร์ค วิเวียน โฟเอ้ , เกรกอรี เมอร์เทนส์ , แพทริค เอก็อง , ชีค ติโอเต้ ฯลฯ ทำให้วงการแพทย์ทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับภัยร้ายดังกล่าว เริ่มมีการป้องกันอย่างจริงจัง มีการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ซักประวัติอย่างจริงจัง พร้อมทำอัลตร้าซาวด์หัวเพื่อประเมินความเสี่ยงต่างๆในตัวนักกีฬา

 

นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านหัวใจและหลอดเลือด สถาบันโรคทรวงอก เคยให้ความรู้ผ่านบทสัมภาษณ์กับ Posttoday ไว้เมื่อปี 2560 โดยบอกไว้ว่าอาการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นทั้งกับคนที่มีและไม่มีโรคประจำตัว ดังนั้นสนามกีฬาควรจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำอยู่ทุกสนาม

 

“เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้นสนามฟุตบอลและสนามกีฬา ควรมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ผ่านการอบรมการกู้ชีพประจำอยู่ทุกสนาม พร้อมกับมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ เพื่อช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ให้เลือดยังสามารถหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้เพียงพอก่อนไปถึงโรงพยาบาล”

 

 

ขณะที่ นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ อดีตแพทย์ประจำทีมชาติไทย  ปัจจุบันเป็น ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้แนะนำวิธีรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นไว้ดังนี้

 

ขั้นตอนแรกประเมินอาการจากการหมดสติมี 2 แบบ 1. เกิดจากการกระแทกของผู้เล่นจนหมดสติ 2. คือการล้มลงแบบหมดสติลงไปเอง ให้ตรวจสอบว่านักฟุตบอลยังสามารถหายใจ และหัวใจยังเต้นอยู่ไหม ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนปฐมพยาบาล 

 

เรื่องของอุปกรณ์ หากเกิดในสนามสิ่งที่ทุกสโมสรหรือทีมชาติควรมี คือ เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED เป็นเครื่องมือที่พกพาได้ ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้มากถึง 60-85 % โดยมีข้อแม้ว่าอุปกรณ์นี้ต้องถึงตัวนักกีฬาที่มีภาวะหัวใจผิดปกติให้เร็วที่สุดภายใน 2 นาที ยิ่งจะส่งผลให้เครื่องนี้ทรงประสิทธิภาพในการช่วยเหลือมากขึ้น

 

ขณะที่ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดย ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ หัวหน้า ภ.ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด ได้เผยวิธีป้องกันง่าย ๆ คือหมั่นสังเกตุความผิดปกติของตัวเองอยู่เป็นประจำ หากพบความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากภัยร้าย

 

“การป้องกันที่ดีที่สุดนอกจากอยู่ที่ตัวนักกีฬาที่ควรหมั่นสังเกตุความผิดปกติของร่างกายแล้ว อีกส่วนที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ การเตรียมพร้อมทางการแพทย์ในสนามแข่งขัน อย่างน้อยควรมีผู้มีความรู้ในการทำซีพีอาร์ (การช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้น) ยิ่งถ้าโค้ช หรือเพื่อนในทีมนักกีฬาสามารถทำได้ก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ เพราะคนที่เกิดอาการวูบ เลือดจะไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ หากได้รับการปฐมพยาบาลช้า อย่างดีก็ได้แค่รักษาชีวิตไว้และเป็นเจ้าหญิงหรือเจ้าชายนิทราไปตลอดชีวิต บางคนโชคร้ายต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร”


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

La Vie en Rose